มั่นคงในปัจจุบัน เพื่อเท่าทันความธรรมดา
-๑-
เราต่างรู้ดีว่าเป็นเรื่อง “ธรรมดา” ทั้งคนสูงวัย ผู้ใหญ่วัยทำงาน คนหนุ่มคนสาว หรือแม้แต่เด็กน้อยวัยซุกซน ล้วนสามารถเจอกับความป่วยไข้แบบหนักหนาได้ทั้งนั้น ขนาดว่ารู้ทั้งรู้ เมื่อเสียงวินิจฉัยจากแพทย์ผู้เชี่ยวชาญบอกว่า “คุณมีความเสี่ยงต่อโรคมะเร็ง” คนส่วนใหญ่ย่อมตกใจ และไม่น้อยถึงขั้นกังวลจนไม่เป็นอันกินอันนอน
จันทิมา รักษาเสรี หรือ “อาจารย์แต๋ม” อดีตข้าราชการครูตรวจพบก้อนเนื้อบริเวณเต้านมก่อนเกษียณไม่กี่ปี ก้อนเนื้อของเธออยู่ในระดับ 4B (ถ้าระดับ ๕ เท่ากับว่าเป็นมะเร็ง) ซึ่งคำวินิจฉัยบอกว่า มีโอกาสเป็นมะเร็งค่อนข้างสูง คำแนะนำจากหมอและพยาบาลบอกว่าเธอควรผ่าตัด
“พบความผิดปกตินะ ไม่น่ากังวลมาก แต่ก็วางใจไม่ได้เลย ขอแนะนำว่าต้องมาผ่าตัด” เป็นคำแนะนำของพยาบาลที่เธอจำได้ดี
เท่าที่เธอได้ยินมา การผ่าตัดเต้านมอาจมีผลข้างเคียงที่กินเวลาทั้งชีวิต เธอไม่อยากแบกรับความเสี่ยงนั้น จึงตัดสินใจรักษาด้วยการดูแลตัวเองในแบบต่างๆ โดยนึกย้อนถึงการใช้ชีวิตที่ไม่ถูกต้องตลอดมา ทั้งอาหารการกินที่ตามใจปาก ออกกำลังกายไม่สม่ำเสมอ และพักผ่อนน้อยจากการโหมงานหนักในอาชีพที่รักมาหลายสิบปี ตั้งแต่เริ่มรับราชการครู (กรมสามัญศึกษา) พ.ศ. ๒๕๑๙ ที่โรงเรียนยานนาเวศวิทยาคม ๑ ปี ก่อนจะย้ายไปยังโรงเรียนสตรีวิทยา ๒ ตั้งแต่ พ.ศ. ๒๕๒๐ จนกระทั่งเกษียณอายุราชการเมื่อกันยายน ๒๕๕๗ เธอจึงเลือกกลับมาใส่ใจในชีวิตประจำวันที่เหลืออยู่
อาจารย์แต๋มเริ่มต้นด้วยการปรึกษาแพทย์ที่โรงพยาบาลเจ้าพระยาอภัยภูเบศรและศึกษาศาสตร์ต่างๆ ด้วยตัวเอง ก่อนจะลงเอยด้วยการรับประทานสมุนไพรหลากหลาย อาทิ หญ้าปักกิ่ง ขมิ้นชัน ใบย่านาง เธองดเนื้อสัตว์และใช้ผักปลอดสาร(เคมี)มาปรุงอาหาร และเนื่องจากภาระหน้าที่ยังไม่เอื้อให้ออกกำลังกายได้สะดวกนัก เธอจึงใช้วิธีขี่จักรยานจากบ้านไปทำงานที่โรงเรียนสตรีวิทยา ๒ เป็นระยะทางไปกลับกว่า ๒๐ กิโลเมตร
หลังจากกลับมาดูแลตัวเองมากขึ้น ผ่านไป ๖ เดือน เธอกลับไปตรวจและได้พบข่าวดีว่า ชิ้นเนื้อที่ตัดออกมาตรวจไม่มีเซลล์มะเร็ง แต่เธอก็ยังไม่สามารถวางใจได้เต็มที่ ในทางทฤษฎีแล้ว การตัดชิ้นเนื้อบางส่วนมาตรวจไม่สามารถรับประกันได้ว่าปลอดภัย เพราะส่วนที่เหลือยังมีโอกาสเป็นเนื้อร้ายได้ เธอจึงต้องกลับไปตรวจทุกๆ ๖ เดือนเป็นระยะเวลา ๒ ปี หลังจากนั้นจึงลดเหลือปีละหนึ่งครั้ง
เมื่อชีวิตยังอยู่กับความสุ่มเสี่ยง หมอและพยาบาลจึงแนะนำว่าเธอควรผ่าตัดเอาก้อนเนื้อนั้นออกไปเลย แต่ในเมื่อระยะเวลา ๖ เดือนกับการปรับเปลี่ยนชีวิตประจำวันปรากฏผลน่าพอใจ อาจารย์แต๋มจึงเลือกที่จะดูแลตัวเองด้วยวิธีเดิมด้วยความเชื่อว่า ร่างกายมนุษย์มีกลไกที่สามารถเยียวยาตัวเองได้
แม้ยังไม่สามารถรับประกันได้ว่าปลอดภัย แต่อาจารย์แต๋มมองว่านั่นเป็นเรื่องปกติของทุกคน ต่อให้หมอยืนยันว่าก้อนเนื้อนั้นไม่มีเซลล์มะเร็งเลย เธอก็ยังมีสิทธิเจอกับเรื่องไม่คาดคิด ซึ่งเป็นสิ่งเดียวกับที่ทุกๆ คนต้องเจอ ดังนั้น หนทางที่ควรเป็นก็คือ การเบิกบานกับแต่ละวันที่เหลืออยู่ให้เต็มที่
น่าสนใจว่าสิ่งใดเป็นปัจจัยให้เธอมั่นคงในปัจจุบันขณะ ที่แม้ความป่วยไข้จะเป็นเรื่องที่ใครๆ ก็ต้องเผชิญ แต่ก็ไม่ง่ายเลยกับการต้องเจอด้วยตัวเอง
“การเป็นคนโสดมีส่วนนะ ไม่ได้หมายความว่าโสดดีกว่าชีวิตคู่ แต่เพราะเราไม่มีห่วง ทั้งลูกมาห่วงและเราห่วงลูก ความผูกพันทำให้เรากลัวการจากไป” เธอพูดถึงปัจจัยสำคัญที่ทำให้วางใจได้ “อีกอย่างคือการที่เราสนใจในพุทธศาสนา ได้ฟังเรื่องกฎไตรลักษณ์มาบ่อยๆ อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา เราก็ซึมซับมันเข้ามาในชีวิต”
-๒-
“ตัวเองไม่รู้สึกกลัวตาย แต่กลัวคนที่เรารักจะจากไปมากกว่า” เป็นคำอธิบายสั้นๆ ที่อาจารย์แต๋มมีต่อความตาย
อาจเพราะเธอเป็นคนโสด ความผูกพันกับลูกๆ ที่เป็นตัวแปรให้ต้องกังวลกับความสูญเสียจึงมีไม่มากนัก และอาจเพราะเธอสนใจธรรมะทั้งอ่านหนังสือและพาตัวเองไปปฏิบัติธรรมมาอย่างต่อเนื่อง จึงทำให้มีมุมมองต่อความตาย (ต่อตัวเอง) ว่าเป็นเรื่องปกติของชีวิต – เธอลองวิเคราะห์ต้นทุนของตัวเอง
แล้ววันหนึ่งสิ่งที่เธอกลัวก็ส่งสัญญาณ เมื่อพ่อของอาจารย์แต๋มเส้นโลหิตในสมองแตกจนต้องเข้าไปรักษาตัวที่โรงพยาบาล สามวันสามคืนที่ครึ่งตัวของพ่อขยับไม่ได้ เมื่อออกมาพักฟื้น อาจารย์แต๋มต้องจัดสรรเวลาทำงาน หมั่นพาพ่อไปทำกายภาพบำบัด ชวนไปเดินออกกำลังกาย และดูแลเรื่องต่างๆ อย่างใกล้ชิด จนกระทั่งพ่อเดินได้คล่องมากขึ้น
“เราเตรียมใจว่าพ่อก็แก่ลงเรื่อยๆ เราพูดคุยเรื่องเตรียมตัวตายกันตลอดนะคะ” อาจารย์แต๋มเล่าถึงบทสนทนากับพ่อ
๖ เดือนสุดท้ายของชีวิต หลังจากเคยนิ่งจนต้องส่งโรงพยาบาล ทำบอลลูน ใส่อุปกรณ์ที่ช่วยกระตุ้นหัวใจเวลาหยุดเต้น บทสนทนาเกี่ยวกับความตายก็เข้มข้นขึ้น เพื่อนของพ่อเสียชีวิตไปสองคน โดยทั้งสองใช้เครื่องช่วยหายใจจนลมหายใจสุดท้าย อาจารย์แต๋มจึงหยิบเรื่องนี้มาพูดคุยเพื่อเตรียมพร้อมเมื่อถึงวันที่ต้องตัดสินใจ ราว ๒-๓ เดือนก่อนเสียชีวิต ญาติคนหนึ่งที่พ่อโกรธเคืองมาเยี่ยม อาจารย์แต๋มใช้โอกาสนี้เป็นการปรับความเข้าใจ จนพ่อสามารถผ่อนคลายได้มากยิ่งขึ้น
ปกติแล้วอาจารย์แต๋มกับพ่อจะพักคนละที่ วันหนึ่งเธอเดินทางไปเยี่ยม ทั้งสองเริ่มคุยกัน จากเรื่องผิวหนังของพ่อที่แห้งเหี่ยวตามกาลเวลา จนกระทั่งได้รับรู้ว่าวันนั้นพ่อไม่กลัวความตาย
“เราคุยกับพ่อว่า ‘อยู่อีก ๒๐ ปีได้ไหม’ พ่อบอกว่า ‘มันจะไม่ถึงล่ะมั้ง’ เราก็ถามต่อ ‘ถ้าไม่ถึง พ่อกลัวตายหรือเปล่า’ เมื่อพ่อตอบว่าไม่กลัว เราก็ยิ้มมีความสุข บอกว่าดีใจมาก พอพ่อไม่กลัว แต๋มก็ไม่กลัวด้วย แล้วพ่อก็ยิ้มออกมา มันรู้สึกเหมือนได้ปลดปล่อย” เธอนึกย้อนถึงบรรยากาศตอนนั้น
อาจารย์แต๋มกับครอบครัวพูดคุยกันเรื่องความตายมาโดยตลอด เธอมักจะนำธรรมะที่ศึกษามาบอกเล่า การได้พูดคุยอีกครั้งในวาระสุดท้ายของชีวิต เป็นทั้งการเตรียมตัวพ่อและเตรียมตัวเธอไปพร้อมๆ กัน
“ก่อนพ่อเสียชีวิต เราบอกท่านว่า พ่อนึกถึงพระ นึกถึงสิ่งที่เคารพ นึกถึงสิ่งนั้นแล้วกลับมาที่ลมหายใจ แม่ฟังอยู่ด้วย เราก็บอกแม่ว่าถ้าวันไหนเกิดเหตุการณ์แล้วแต๋มไม่สะดวก ให้ช่วยดูแลพ่อเรื่องนี้ด้วย ก่อนพ่อจะเสีย ท่านอยู่โรงพยาบาล ๗ วัน พ่อมีอาการติดเชื้อที่ปอด ไอทั้งวันจนไม่มีแรง หมอบอกว่าความดันตกมาก ต้องให้เครื่องช่วยหายใจ ต้องเอาท่อต่อไปเกือบถึงปอด พ่อก็พูดไม่ได้ ทรมาน หมอท่านหนึ่งบอกว่าใช้เครื่องช่วยหายใจก็มีโอกาสรอดไม่มาก คุยกับพี่น้องก็มีทั้งอยากให้ใช้และไม่อยาก เราอยู่กับพ่อมารู้ว่าท่านไม่อยากใช้ เลยตัดสินใจว่าไม่ใช้และรักษาตามอาการ
“ช่วงที่อยู่โรงพยาบาล ทุกๆ เช้าจะพาพ่อสวดมนต์ แล้วจึงออกไปทำงาน พอวันที่เจ็ด ก็ไปทำงานตามปกติ ประมาณ ๔ โมงเย็น โทรศัพท์ก็ดังขึ้น บอกว่าพ่อเสียแล้ว น้ำตามันร่วง ผ่านมาเจ็ดวัน เราคิดว่าพ่อฟื้นแน่ เดี๋ยวก็หายและได้กลับบ้าน พี่สะใภ้เล่าให้ฟังว่า ก่อนพ่อจะเสีย น้องสาวพาพระมาคุยด้วย พ่อพูดไม่ได้ก็พยักหน้า แล้ววันนั้นแม่ก็เดินเข้าไปคุยกับพ่อ ขออโหสิ พี่ให้อภัยน้องนะ น้องก็จะให้อภัยพี่ ฟื้นเมื่อไหร่จะพาไปวัดที่พ่อชอบ แต่ถ้าพ่อไม่อยากอยู่ก็ไม่ต้องห่วงแม่นะ ลูกๆ เขาเลี้ยงได้ หลับนะ พักผ่อนนะ พุทโธ พุทโธ พุทโธ สักพักพ่อก็หลับตา ทุกคนก็นึกว่าพ่อหลับปกติ พยาบาลเดินมาดูก็บอกว่า ‘คุณยายคะ คุณตาสิ้นแล้ว’ สิ่งที่เราเคยฝากแม่ไว้ แม่ก็ช่วยดูแลพ่อในส่วนนี้ แม่บอกว่าตอนพูดก็ไม่ได้คิดว่าพ่อจะตาย แค่อยากขออโหสิตอนที่ยังมีชีวิตอยู่”
-๓-
อุบัติเหตุทางรถยนต์ครั้งแรกเกิดขึ้นตอนอาจารย์แต๋มอายุราวสามสิบ ขณะขับอยู่บนถนนพหลโยธิน รถของเธอถูกตัดหน้า เธอหักหลบ แต่ความเร็วที่ขับมาทำให้ไปชนท้ายรถอีกคันแบบเฉียดๆ ก่อนจะไถลเสียดสีกับฟุตบาท ไต่ขึ้นเกาะกลาง และไปหยุดลงจากการชนต้นไม้ เธอไม่บาดเจ็บอะไรมาก ยังสามารถเปิดประตูลงมาถามไถ่คู่กรณีอย่างมีสติครบถ้วน
ครั้งที่สองเกิดขึ้นราวสิบปีก่อน รถของเธอขับอยู่บนสะพานที่มุ่งหน้าไปยังศูนย์การค้าย่านลาดพร้าว จู่ๆ พวงมาลัยก็บังคับไม่ได้ รถของเธอส่ายไร้ทิศทาง เลื้อยไปชนกับผนังสะพานเกือบจะตกลงไป แต่แล้วก็เหวี่ยงกลับเข้ามา ก่อนจะพลิกหงายและคว่ำพาดกับผนังสะพาน เธอปลอดภัยดี โดยไม่ตกใจต่อสิ่งที่เกิดขึ้น ยังค่อยๆ แก้ไขสถานการณ์ไปทีละขั้นอย่างมีสติ
ทั้งที่เป็นประสบการณ์เฉียดตาย แต่น่าสนใจว่าเพราะอะไรเธอถึงมีสติอยู่กับทุกวินาทีได้อย่างแจ่มชัด
“เวลาไปปฏิบัติธรรมไม่เคยสงบนิ่งได้นานเป็นครึ่งชั่วโมงเลย ก็คิดว่าตัวเองยังปฏิบัติไม่ค่อยได้เท่าไร เราคิดว่าไม่สงบ แต่มันอาจเป็นสิ่งที่สะสมอยู่ในตัว พอเกิดเหตุการณ์ขึ้นมา มันเอามาใช้ได้ เราไม่ตกใจ เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นไม่ถึงหนึ่งนาที แต่เรารู้ทุกขั้นตอน เหมือนกับว่าเวลามันยืดออกไป เหมือนกับคิด แต่มันเป็นความรู้สึกตัว อาจารย์ว่าต้องเป็นผลจากการปฏิบัติ” อาจารย์แต๋มพูดถึงการปฏิบัติธรรมที่เป็นต้นทุนสำคัญเมื่อเธอประสบอุบัติเหตุครั้งใหญ่ๆ ถึงสองครั้ง
-๔-
ชีวิตหลังเกษียณอายุราชการ เมื่อตระหนักดีว่าไม่มีใครหนีความตายได้พ้น อาจารย์แต๋มจึงเริ่มตระเตรียมในเรื่องการจัดการทรัพย์สินต่างๆ ไปพร้อมๆ กับการเตรียมใจ นั่นคือให้เวลากับการปฏิบัติธรรมอย่างจริงจัง
“การเข้าใจธรรมะเป็นสิ่งที่ควรต้องทำมากที่สุด เรื่องเที่ยวไว้ทีหลัง เที่ยวก็สนุกนะ แต่เหมือนแค่คั่นเวลาที่เรากำลังจะเดินทางไป เพราะการตายเราหนีไม่พ้นแน่นอน แล้วการตายเราเตรียมตัวได้ มันเป็นเรื่องที่ใกล้ตัวทุกคน ไม่ต้องโรคภัยไข้เจ็บ อุบัติเหตุตายก็ได้
“เราไม่ได้ปฏิเสธความสนุกสนาน ตัวเองก็มีกิจกรรมที่ชอบ ขี่จักรยาน ว่ายน้ำ ตีกอล์ฟ หรือท่องเที่ยว สิ่งเหล่านั้นก็เป็นความสุข แต่ความรู้สึกที่เป็นปกติ มีอะไรเกิดขึ้นแล้วไม่ทุกข์ หรือถ้าทุกข์แล้วสามารถจัดการได้ ไม่จมอยู่กับความทุกข์ อาจารย์ว่าสิ่งนี้สำคัญ”
เราปิดบทสนทนาด้วยการถามอาจารย์แต๋มว่า ในฐานะที่ประสบกับเรื่องเฉียดตาย และมีคนใกล้ตัวจากไป เธออยากบอกอะไรกับคนที่ยังมองว่าความตายช่างแสนไกลตัว
“จะพูดให้เขาฟังว่ามันใกล้ตัวมาก เราต้องเตรียมตัวตาย มันเป็นเรื่องที่บอกได้ แต่เขาจะอินหรือเปล่า ก็บอกยาก
“การศึกษาธรรมะเป็นสิ่งที่น่าทำ แค่เอาธรรมะของพุทธองค์มาเพื่อการมีชีวิตที่ดีในสังคม ความกตัญญูรู้คุณ ความเมตตา การให้อภัย และการพึ่งตัวเองนี่สำคัญมาก ถ้าเราเจ็บป่วยแล้วต้องกินยาอย่างเดียว เราต้องพึ่งยาตลอดชีวิต แต่ถ้าเราคิดว่าสามารถบำบัดตัวเองได้ ไม่ต้องพึ่งหมอมากนัก มันจะค่อยๆ นำไปสู่เตรียมพร้อมไปเอง การนำธรรมะมาใช้ในชีวิตประจำวันกับตัวเอง กับการอยู่ร่วมกันในสังคม มันจะค่อยๆ สร้างความแข็งแกร่งให้กับจิตใจเราเอง”
คอลัมน์:
ผู้เขียน:
คำสำคัญ:
บุคคลสำคัญ:
frontpage:
- show