Error message

Deprecated function: The each() function is deprecated. This message will be suppressed on further calls in menu_set_active_trail() (line 2385 of /home/budnetorg/domains/budnet.org/public_html/sunset/includes/menu.inc).

พิธีกรรมกับการเยียวยา

-A +A

           คำว่า “พิธีกรรม” มักเข้าใจกันว่า คือ การบูชาหรือแบบแผนต่างๆ ที่ปฏิบัติในทางศาสนา หรือทางวัฒนธรรม เป็นรูปแบบที่ทำต่อๆ กันมาตามความเชื่อ โดยไม่เข้าใจว่าปฏิบัติไปทำไม จนทำให้มีความหมายว่า คือสิ่งที่ทำๆ กันไปอย่างนั้นเอง หรือสักแต่ว่าทำ เช่นพูดกันว่าทำพอเป็นพิธี คนจำนวนไม่น้อยจึงมองว่าเป็นสิ่งรกรุงรัง ปราศจากคุณค่าหรือสาระอะไร แต่ในความจริงแล้ว คำว่าพิธีกรรมหมายถึงการกระทำที่เป็นพิธี เป็นวิธี หรือการกระทำเพื่อนำไปสู่ผลที่ต้องการ โดยตัวพิธีกรรมเองแม้จะเป็นเพียงรูปแบบ แต่หากนำมาใช้อย่างเหมาะสม ย่อมเกิดประโยชน์หลายอย่าง โดยเฉพาะหากทำให้มีความน่าประทับใจ เป็นไปตามความหมายแท้ คือมีความเรียบร้อย เป็นระเบียบ เช่น การสวดมนต์อย่างพร้อมเพรียง ทำให้เกิดความงดงามในตัว สามารถเป็นพลังน้อมนำจิตให้เกิดความสงบ เสื่อมใส สมาธิ และศรัทธา จนนำไปสู่สาระหรือความมุ่งหมายที่ผู้ประกอบพิธีต้องการได้ (พิธีกรรม ใครว่าไม่สำคัญ – พระพรหมคุณาภรณ์)

 

พิธีกรรมกับการเยียวยาผู้ป่วยระยะท้าย

           ความรู้และเทคโนโลยีทางการแพทย์อาจเป็นเครื่องมือสำคัญในการดูแลอาการทางกายเพื่อให้ผู้ป่วยมีคุณภาพชีวิตที่ดี แต่การดูแลมิติทางจิตใจ สังคม และจิตวิญญาณ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในผู้ป่วยระยะท้าย เพื่อให้ผู้ป่วยตายจากไปอย่างสงบ และญาติไม่รู้สึกผิดจากความรู้สึกค้างคาใจใดๆ จำต้องใช้เครื่องมือแบบอื่นๆ เช่น ความรักความเมตตา การรับฟัง ความเข้าใจ และความศรัทธา เป็นต้น เพราะความตายไม่มีแบบแผนตายตัว ขึ้นอยู่กับบริบทชีวิตของผู้ป่วยและครอบครัวซึ่งมีความจำเพาะไม่เหมือนกัน การเยียวยาผู้ป่วยและญาติจึงจำต้องมีความรู้เข้าใจดังกล่าว ซึ่งอยู่ภายใต้บริบททางวัฒนธรรมความเชื่อของผู้ป่วยและครอบครัว 

           ในวัฒนธรรมโบราณ พิธีกรรมเป็นเครื่องมือสำคัญที่ใช้ในการเยียวยาจิตใจของผู้คนในสังคม แม้ว่าในสายตาของผู้คนในยุคปัจจุบันจะมองว่าเป็นเรื่องไร้สาระไปแล้ว แต่สำหรับธนวัชร์ เกตน์วิมุต หรือครูดล กระบวนกรและจิตอาสาผู้คอยเยียวยาผู้ป่วยและญาติทางจิตใจจนผู้ตายไปอย่างสงบ ผู้อยู่ไม่มีสิ่งใดค้างคาใจ (อ่านเรื่องราวการทำหน้าที่ของครูดลได้ในเยียวยาใจ บท “บนเส้นทางการดูแลผู้ป่วยและญาติ”) พิธีกรรมคือ ขั้นตอนการกระทำบางอย่างที่ผู้คนเห็นแล้วรู้สึกว่าตอบโจทย์ของตัวเองหรือคนที่เขารักในบริบทของความสูญเสียหรือความตาย การได้รับคุณค่าหรือยอมรับให้มีส่วนร่วมในพิธีกรรม ถ้ามีการออกแบบอย่างเหมาะสม และกระทำได้อย่างมีพลัง จะดึงให้ผู้เกี่ยวข้องกลับมาอยู่กับปัจจุบัน ทบทวนตรวจสอบสถานะของตัวเองว่าพิธีกรรมกำลังจะนำไปสู่เรื่องอะไร เช่น เรื่องความตาย มีอะไรที่เขาสามารถเป็นส่วนหนึ่งกับความตายของผู้ที่กำลังจะจากไปได้บ้าง 

           พิธีกรรมที่ดีต้องตอบโจทย์ของทุกคนที่มีส่วนร่วม ไม่ว่าผู้ป่วย ญาติมิตร หรือผู้ให้บริการ จึงควรมีการพูดคุยทำความเข้าใจกันก่อนว่าทำเพื่ออะไร เพื่อไม่ให้เกิดความลังเลสงสัย ความกังวล ว่าผู้ประกอบพิธีกรรมกำลังทำเพื่อใคร เพื่ออะไร จนเป็นอุปสรรคขัดขวางการทำพิธีจนไม่นำไปสู่จุดมุ่งหมายที่ต้องการ

 

พิธีกรรมในรูปแบบ

           พิธีกรรมในรูปแบบที่พัฒนาและสืบทอดต่อมาจนกลายเป็นส่วนหนึ่งของวัฒนธรรมประเพณี เช่น ศาสนพิธีในศาสนาต่างๆ หรือพิธีกรรมชาวบ้าน เช่น รำแม่มด (ดูเรื่อง “ตัดกรรม รำแม่มด” พิธีกรรมรักษาใจ) รำผีฟ้า โนราโรงครู และอื่นๆ อีกมากมาย เป็นเครื่องมือที่คนโบราณใช้ในการเยียวยาหรือให้กำลังใจ ตลอดจนการเรียนรู้เพื่อพัฒนาไปสู่ปัญญาได้ 

           พระมหาสุเทพ สุทธิญาโณ และพระมหาวสันต์ ฐานวโร แห่งกลุ่มพระสงฆ์คิลานธรรมที่สนใจเรียนรู้เรื่องชีวิตและความตายโดยการเป็นจิตอาสาดูแลเยียวยาผู้ป่วยระยะท้าย เห็นว่าศาสนพิธีในพุทธศาสนา เป็นพิธีกรรมหรือขั้นตอนในการทำกิจกรรมเพื่อนำไปสู่การเรียนรู้หยั่งลึกภายใน เป็นบันไดเข้าถึง/สู่แก่นแท้ของธรรมะ ไม่ว่าจะเป็นการกราบพระ รับศีล ฟังพระเจริญพระพุทธมนต์ กรวดน้ำ ขอขมา แล้วจึงทำบุญถวายสังฆทาน แต่ละขณะแต่ละขั้นตอนล้วนมีความสำคัญ เพราะทำให้ผู้ปฏิบัติได้ตระเตรียมจิตใจก่อนจะเข้าไปคลี่คลายความทุกข์ทีละเล็กละน้อย ยกตัวอย่างเรื่องคุ้นเคยสำหรับชาวพุทธ เช่น 

           การกล่าวคำบูชาพระรัตนตรัย การกราบพระ เป็นการแสดงออกทางกายและการเปล่งวาจาซึ่งจะช่วยกล่อมเกลาจิตใจให้มั่นคง ทำให้กลับมาอยู่กับตัวเอง การระลึกถึงพระรัตนตรัยหรือสิ่งที่ผู้ป่วยเคารพ เช่น ผู้มีพระคุณ ทำให้เกิดการรวบรวมสติ สมาธิ จนเมื่อจิตมีกำลังแล้ว จึงชวนสนทนาเพื่อพิจารณาความสุข ความทุกข์ ความเจ็บป่วย จนทำให้สามารถเผชิญกับความทุกข์ได้ ก่อนจะบริจาคทาน กรวดน้ำ แผ่เมตตา เพื่อเพิ่มบุญกุศล ฝึกการสละ การปล่อยวาง และสิ่งสำคัญที่ต้องไม่ละเลยคือเรื่องการขอขมา เพื่อไม่ให้มีสิ่งค้างคาใจใดๆ

           พิธีกรรมและการบำเพ็ญบุญตามขั้นตอนต่างๆ ดังกล่าว ล้วนแต่อยู่ในหลักการ “เป็นอุบายที่น้อมให้กุศลเกิดในใจ ละอกุศลในใจออกไป” ซึ่งส่งผลทางจิตใจจนเกิดการเยียวยาตัวเอง 

 

พิธีกรรมนอกรูปแบบ แต่ในชีวิต

           แต่นอกจากพิธีกรรมในรูปแบบแล้ว ยังมีพิธีกรรมในลักษณะอื่นๆ ที่นอกเหนือจากรูปแบบทางวัฒนธรรม ไม่ใช่พิธีกรรมตามลำดับที่ตายตัว ชัดเจนเหมือนศาสนพิธี แต่เป็นวิธีเฉพาะหน้าเพื่อน้อมให้ใจเกิดความระลึกรู้ ความเข้าใจในชีวิต อย่างเช่น คราวหนึ่งในสมัยพุทธกาล มีผู้เดินทางไกลมาฟังธรรมจากพระพุทธเจ้า แต่พระองค์ทรงพิจารณาว่ายังเหนื่อยอยู่ ไม่พร้อมจะฟังธรรม จึงให้ไปพักผ่อนอาบน้ำก่อน จนเมื่อรู้สึกสบายตัวแล้ว จึงทรงแสดงธรรมจนบรรลุธรรม หรือกรณีนางกีสาโคตมี ผู้อุ้มศพลูกน้อยไปวิงวอนขอให้พระพุทธเจ้าช่วยคืนชีวิต แต่พระพุทธองค์ให้นางไปตามหาเมล็ดพันธุ์ผักกาดในบ้านที่ไม่มีคนตายมาให้ได้เสียก่อน ซึ่งไม่มี ทำให้นางได้สติ มองเห็นความจริงว่าทุกแห่งล้วนมีความตายเป็นธรรมดา ก่อนจะกลับมารับฟังธรรมจากพระพุทธองค์จนบรรลุธรรมในที่สุด จะเห็นว่าพิธีกรรมในลักษณะดังกล่าวแม้จะแตกต่างในทางรูปแบบแต่ความมุ่งหมายตรงกับศาสนพิธี

           ครูดลเคยมีประสบการณ์การใช้พิธีกรรมลักษณะดังกล่าวในการเยียวยาผู้ป่วยและญาติระหว่างและหลังการสูญเสียหลายกรณี ล้วนแล้วแต่น่าสนใจ อย่างเช่น เคยให้ผู้สูญเสียคุยกับที่นอนว่างๆ โดยสมมุติว่าเป็นของคนตาย แล้วให้พูดระบายความรู้สึกผิดที่มีต่อผู้ตายนานนับสิบปีออกมา จากการจมอยู่กับทุกข์เพราะย้อนเวลากลับไปแก้ไขเรื่องราวในอดีตไม่ได้แล้ว หรือใช้การเขียนจดหมายระหว่างญาติกับผู้ตาย ระบายสิ่งที่ยังค้างคาใจต่อผู้ตายออกมาอาทิตย์ละหนึ่งฉบับ แล้วบอกเล่าให้พระพุทธรูปฟัง ก่อนจะนำไปลอยในแม่น้ำ ปรากฏว่าทำให้ผู้สูญเสียเหมือนเป็นคนใหม่หลังจากเขียนจดหมายไปได้เพียงแค่ ๔ ฉบับ เพราะการได้ระบายความอัดอั้นในใจออกมาโดยมีพระรับรู้ความรู้สึก และมีพระแม่คงคานำความรู้สึกดังกล่าวไปถึงผู้ตาย ช่วยคลี่คลายความทุกข์ที่ติดค้างอยู่ภายในใจ เป็นการเยียวยาจิตใจที่วิเศษ แม้ในกรณีที่ผู้ป่วยยังไม่ตาย แต่ปราศจากความรู้สึกตัวแล้ว รวมถึงไม่มีพระสงฆ์เป็นผู้นำพิธีกรรม ญาติที่เป็นผู้สื่อสารกับผู้ป่วยอาจบอกผู้ป่วยให้ฝากกระแสดังกล่าวไปกับพระรัตนตรัย เพราะความศรัทธาที่มีต่อพระพุทธรูปเป็นต้นทุนทางวัฒนธรรมที่สูงสำหรับคนทั่วไปในสังคมไทย 

           อีกกรณีหนึ่ง มีผู้ป่วยหญิงคนหนึ่งอยากทำพิธีกรรมกราบเท้าขอขมาแม่ เพราะเคยท้องแล้วทำให้แม่อับอาย แต่ไม่เคยทำ เพราะไม่อยากให้แม่มาเห็นตนเองใกล้ตาย กลัวท่านทำใจไม่ได้ จึงปิดเรื่องอาการป่วยไม่ให้ทราบ ครูดลจึงปรับจากพิธีกรรมภายนอกมาเป็นการทำพิธีกรรมภายในใจ เมื่อทราบว่าผู้ป่วยนับถือหลวงพ่อโสธรที่สุด จึงให้เธอทำสมาธิแล้วจินตนาการว่าได้ไปกราบหลวงพ่อ โดยพูดสื่อสารไปด้วยเพื่อช่วยให้จินตนาการแจ่มชัด เช่น นั่งอยู่หน้าท่านแล้ว มองพระพักตร์ท่านแล้วเป็นอย่างไร กราบท่าน บอกว่ามาแสดงความเคารพ บอกความรู้สึกผิดในใจออกไป อยากจะกราบขอขมาแม่ ขอให้บารมีหลวงพ่อเชิญจิตวิญญาณแม่มานั่งข้างๆ มากราบหลวงพ่อด้วยกัน แล้วหันไปหาแม่ กราบลงไปตรงหน้า ทำให้ผู้ป่วยยิ้มได้ 

 

พิธีกรรมหลังความสูญเสีย

           เมื่อเกิดการสูญเสียไปแล้วไม่ว่าด้วยสาเหตุใด งานศพเป็นพิธีกรรมหลังการสูญเสียที่สำคัญในทุกสังคม นอกจากความเชื่อว่าเป็นการทำบุญอุทิศส่วนกุศลให้คนตายในโลกหน้า หรือส่งอาหารสิ่งของเครื่องใช้ให้ผู้ตายนำไปใช้ในโลกของคนตาย จากความเคารพรักอาลัย และความระลึกถึงด้วยความกตัญญูกตเวทีแล้ว พระวิชิต ธัมมชิโต แห่งศูนย์ญาณภาวัน วัดโพธิ์เผือก ซึ่งจัดอบรมแก่พระสงฆ์เรื่องการนำพุทธพิธีมาใช้ในการดูแลผู้ป่วยระยะท้าย ยังเห็นว่าการจัดงานศพเป็นกระบวนการช่วยญาติคลายความเศร้าโศก เพราะมีงานต้องทำต้องจัดการ ได้รับกำลังใจ ได้พบพูดคุยกับเพื่อนฝูงญาติมิตร การช่วยเหลือกันและกัน เป็นกระบวนการทำให้ญาติกลับคืนสู่สังคมได้อย่างราบรื่นเป็นปกติ เช่น การที่คนจีนนั่งพับกระดาษเงินกระดาษเงินกระดาษทองในงานศพ ซึ่งเป็นรูปแบบพิธีกรรมอย่างหนึ่งในการระดมคนมานั่งพูดคุยแลกเปลี่ยนกัน คล้ายๆ กับการประดิษฐ์บายศรีในวัฒนธรรมไทย เป็นต้น แม้ว่าในปัจจุบันคุณค่าดังกล่าวได้สูญเสียไปไม่น้อย เพราะการจัดงานศพกลายเป็นหน้าที่ของผู้เชี่ยวชาญ ญาติมีส่วนเพียงแค่ถือเงินไปจ่าย ทำให้ต้นทุนในการจัดงานแพงมาก กลายเป็นภาระของคนที่ยังอยู่จนกลายเป็นสำนวน “คนตายขายคนเป็น” จนมีครอบครัวจำนวนไม่น้อยตระหนักถึงสถานการณ์ดังกล่าว และพยายามทำให้งานศพกลับมามีคุณค่ากว่าที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน 

           ครดูลเล่าถึงประสบการณ์จัดงานศพให้กับครอบครัวหนึ่งว่า ลูกสาวของผู้ตาย (อาม่า) วัย ๙๐ กว่าปีชวนให้ไปทำงานศพโดยไม่ต้องมีพระสวดเหมือนงานศพทั่วไป เพราะรู้สึกไม่มีประโยชน์อะไร แต่เนื่องจะมีญาติพี่น้องมาร่วมงานมาก ครูดลจึงช่วยสะท้อนความเห็นกลับไปยังลูกสาวผู้ตายว่า ถ้าทำตามใจตัวเองเพียงคนเดียวแล้วคนอื่นจะว่าอย่างไร ทำให้เธอฉุกคิด จนเมื่อตรวจสอบบริบทและต้นทุนเจ้าของงาน โดยคำนึงถึงประโยชน์เราและประโยชน์ท่าน สุดท้ายจึงทางครอบครัวจึงตกลงว่าควรทำพิธีศพและกงเต๊กที่วัดเหมือนงานศพทั่วไป แต่ขอให้พระสงฆ์สวดมนต์แบบย่นย่อในบางคืนเพื่อแทรกกิจกรรมบางอย่างเข้าไปประมาณ ๒๐ นาที เพื่อตอบโจทย์ของผู้จัดและผู้มาร่วมงานไปพร้อมๆ กัน

           หลังจากพระสงฆ์สวดมนต์จบแล้ว ครูดลกับพระจิตอาสาอีกรูปหนึ่งจึงเคาะระฆังเรียกสติกลับมารวมกัน แล้วชวนทำสมาธิตามลมหายใจง่ายๆ ปรากฏว่าในศาลาเงียบกริบ จึงรู้สึกขลังและมีพลังมาก หลังจากนำสมาธิแล้วครูดลจึงอธิบายปริศนาธรรมบางอย่างในพิธีกรรมให้ผู้เข้าร่วมงานเข้าใจ เช่น การเคาะโลง การจัดสำรับอาหาร เพื่อเป็นการเจริญปัญญาแก่ผู้เข้าร่วมว่าไม่ใช่เพื่อให้ศพหรือวิญญาณได้กิน เพราะผู้ตายไม่มีทางฟื้นต่อให้เคาะโลงจนมือหัก ถ้าจะดูแลให้ดูแลตอนยังมีชีวิตอยู่ พิธีกรรมดังกล่าวจึงทำเพื่อคนเป็น ไม่ใช่คนตาย แล้วชวนผู้เข้าร่วมทำพิธีต่อว่า หากวิญญาณของอาม่ารับรู้ คงจะดีใจถ้ารู้ว่ามีการให้อภัยในสิ่งที่ติดค้างต่อกัน โดยขอให้ผู้เข้าร่วมตั้งจิตต่อผู้จากไปเลย และผู้ตายคงหวังว่าหากผู้ยังอยู่มีการกระทบกระทั่งกันเล็กๆ น้อยๆ น่าจะถือโอกาสปรับความเข้าใจ ขอขมากันเพื่อให้ผู้ตายได้ไปอย่างสงบ ปรากฏว่าพิธีกรรมดังกล่าวช่วยให้ญาติพี่น้องหลายคนไปขอโทษกันหลังงานศพ เป็นการใช้งานศพเพื่อเยียวยาความสัมพันธ์ของผู้ที่ยังอยู่ 

 



           พิธีกรรมในวัฒนธรรมเป็นสิ่งที่มีอยู่แล้ว แต่มีความเข้าใจสองด้าน ด้านหนึ่งคือความหมายที่แท้จริงของพิธีกรรม แต่คนทั่วไปจะมองเห็นเพียงด้านที่สักแต่ว่าทำ โดยไม่รู้ความหมายว่าคืออะไร 

           การใช้พิธีกรรมให้เป็นประโยชน์สองด้าน หนึ่งคือ อธิบายคุณค่าที่แฝงอยู่ในพิธีกรรมให้คนเข้าใจ สอง ใช้เป็นไปฐานในการนำมาประยุกต์เพื่อตอบโจทย์เฉพาะบุคคลหรือครอบครัว ออกแบบโดยคำนึงถึงต้นทุนทางสังคมของครอบครัว และตอบโจทย์คนที่มาร่วมงาน เช่น ผู้สูงอายุที่ให้ความสำคัญกับพิธีกรรมตามรูปแบบวัฒนธรรม และคนรุ่นใหม่ที่อาจไม่เน้นพิธีกรรม เป็นศิลปะการออกแบบที่ยังคงดูแลความรู้สึก ให้เกียรติทุกคนเท่าที่จะทำได้ - ครูดล

 

           แต่จัดงานศพในปัจจุบัน ควรมีการคิดใหม่โดยทำให้มีคุณค่า ตอบโจทย์ของคนยุคใหม่ คือประหยัด ไม่กระทบสิ่งแวดล้อม และได้ปัญญา (ดู ฉลาดทำศพ) โดยไม่จำเป็นต้องออกแบบใหม่หมดทุกอย่าง แต่สามารถปรับหรือแทรกเข้าไปในรูปแบบเดิมที่มีอยู่แล้ว ดังที่ครูดลได้เคยทำมาข้างต้น หรือดังมีรูปแบบงานศพบางแห่งที่น่าสนใจ เช่น งานศพที่เรียบง่ายของวัดชลประทานฯ ซึ่งทำมานานหลายสิบปี เป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัวจนสังคมยอมรับเงื่อนไขต่างๆ ที่วัดกำหนดว่า มีข้อห้ามเรื่องอะไร เพื่ออะไร และเพราะอะไร เช่น มีการสวดอภิธรรมเพียงจบเดียว แต่มีการเทศน์เป็นหลัก เป็นต้น น่าเสียดายที่รูปแบบดังกล่าวยังไม่แพร่หลายไปยังวัดอื่นๆ เท่าที่ควร เพราะงานศพในปัจจุบันมีลักษณะเป็นธุรกิจมากกว่างานบุญเหมือนในอดีต เป็นแหล่งรายได้ของคนจำนวนไม่น้อย เช่น ร้านดอกไม้ สัปเหร่อ รวมถึงวัดเองด้วย เป็นต้น 

           การจัดงานศพแนวใหม่จึงไม่ใช่เรื่องง่าย แต่มีความเป็นไปได้ เพราะเป็นความต้องการของคนในสังคมจำนวนไม่น้อย เพียงแต่มีทางเลือกที่สะดวกและเหมาะสมอยู่น้อย เพราะต้องอาศัยองค์ประกอบหลายอย่าง ประการแรกคือ วัดและพระสงฆ์ต้องเห็นด้วย สอง ครอบครัวและสังคมรอบข้างต้องเห็นด้วย เพราะงานศพเป็นเรื่องวัฒนธรรมความเชื่อ การทำในสิ่งที่แตกต่างออกไปอาจถูกตำหนิ เจ้าภาพจึงต้องหนักแน่น หรือหากมีพินัยกรรมระบุความต้องการของผู้ตาย จะช่วยสร้างเกราะป้องกันให้แก่ลูกหลานในตอบคำถามให้กับสังคมรอบข้างได้ สาม ต้องออกแบบพิธีกรรมที่ให้คุณค่า ความหมาย ช่วยคลี่คลายความเศร้าโศกของครอบครัวให้เหมาะสมต่อไป 

           พระวิชิตเสนอว่า ในแง่ของการปฏิบัติ อาจจะทดลองสร้างโมเดลทางเลือกในวัดเพียงแค่หนึ่งศาลาเพื่อเป็นตัวอย่างการจัดงานศพที่มีความหมาย คุณค่า และสื่อให้สังคมได้รับรู้ เห็นข้อดี และความแตกต่าง รวมถึงทางเลือกอื่นๆ ในการจัดงานศพ เช่น งานศพที่บ้านแบบน้องกันย์ (ดู “ชีวี วารีล่อง งานศพ(ที่บ้าน)ออกแบบได้” ใน อาทิตย์อัสดง ฉบับที่ ๒๖) เป็นต้น

 

ประยุกต์พิธีกรรมให้สมสมัย

           สำหรับพระวิชิต พระมหาสุเทพ และครูดลแล้ว มีความเห็นตรงกันว่า พระสงฆ์มีต้นทุนสูงในทางวัฒนธรรมไทย จึงเป็นผู้มีบทบาทสำคัญในการประกอบพิธีกรรม โดยเฉพาะสำหรับการดูแลจิตใจผู้ป่วยระยะท้าย ผู้ใกล้ตาย หรือผู้โศกเศร้า หากมีการประดิษฐ์พิธีกรรมโดยรอบคอบ ประณีต ว่าต้องการสื่ออะไรบ้าง ทำให้เข้าถึงใจได้ง่าย จะช่วยเสริมเรื่องการเยียวยาผู้คนได้ในหลายมิติ 

           แต่สิ่งสำคัญคือ ควรมีการสำรวจตรวจตราว่า พิธีกรรมที่มีอยู่ยังสื่อสาระกับผู้คนร่วมยุคสมัยได้ดีหรือไม่ แล้วคอยรักษาความหมายที่แท้จริง ตลอดจนปรับปรุง ขัดเกลา หรือชำระสะสางรูปแบบของพิธีกรรมให้สื่อสาระที่ต้องการแก่ประชาชนได้ และเนื่องจากพิธีกรรมเป็นรูปแบบย่อยอยู่ในรูปแบบใหญ่คือ วัฒนธรรมประเพณี การชำระสะสางพิธีกรรมจึงต้องปฏิบัติอย่างมีสติโดยคำนึงถึงวัฒนธรรมที่เป็นเอกลักษณ์ของสังคมด้วย เพียงแต่ต้องไม่ให้เสียหลักการว่า พิธีกรรมไม่พึงเป็นรูปแบบที่ตายตัว สื่อสาระไม่ได้ จนกลายเป็นเพียงเปลือกที่บดบังคุณค่าเสียเอง เช่น พิธีสร้างปราสาททางเหนือที่เชื่อกันว่าถ้าลูกหลานยิ่งสร้างให้ใหญ่โตยิ่งแสดงความกตัญญูต่อพ่อแม่ แต่มีความสิ้นเปลืองอย่างยิ่ง จนหลายแห่งเริ่มประยุกต์ใช้วัสดุแบบประหยัดมาสร้างแทน หรือแข่งขันกันในเรื่องอื่น เช่น บริจาคเก้าอี้ให้วัด ซึ่งเป็นการให้ความใหม่แก่พิธีกรรมอย่างเหมาะสมกับยุคสมัยและมีคุณค่าในทางธรรม อันเป็นท่าทีที่เหมาะสมและควรสนับสนุนให้นำมาแลกเปลี่ยนและเผยแพร่ในวงกว้างต่อไป

 

คอลัมน์:

ผู้เขียน:

frontpage: