Error message

  • Deprecated function: Methods with the same name as their class will not be constructors in a future version of PHP; views_display has a deprecated constructor in require_once() (line 3066 of /home/budnetorg/domains/budnet.org/public_html/sunset/includes/bootstrap.inc).
  • Deprecated function: The each() function is deprecated. This message will be suppressed on further calls in menu_set_active_trail() (line 2385 of /home/budnetorg/domains/budnet.org/public_html/sunset/includes/menu.inc).

“ตัดกรรม รำแม่มด” พิธีกรรมรักษาใจ

-A +A

          การเกิดแก่เจ็บตายจะเป็นเรื่องธรรมดาของชีวิต แต่มนุษย์ทุกยุคสมัยยังพยายามคิดค้นและสรรหาร้อยแปดวิธีมาเพื่อยับยั้งหรือบรรเทา โดยเฉพาะความเจ็บป่วยที่ทำให้มนุษย์ทุกข์ทรมานทั้งกายและใจ แม้ว่าปัจจุบันการแพทย์เจริญก้าวหน้าไปมาก แต่อาจเป็นการรักษาบรรเทาเพียงอาการทางกาย มนุษย์ยังต้องการพลังทางใจที่จะมาช่วยเยียวยา

          เมื่อข้าพเจ้ามีโอกาสได้เยี่ยมผู้ป่วยเรื้อรังร่วมกับทีมสุขภาพ palliative care จากโรงพยาบาล ๔ แห่งในจังหวัดสุรินทร์* ทำให้พบว่าการไปเยี่ยมผู้ป่วยที่บ้าน นอกจากจะเป็นการอำนวยความสะดวกให้กับผู้ป่วยหนัก ผู้ป่วยติดเตียง หรือผู้ป่วยระยะสุดท้ายที่ไม่ต้องเดินทางมาโรงพยาบาลแล้ว ทีมสุขภาพซึ่งประกอบด้วย พยาบาล จิตอาสาและพระสงฆ์ยังช่วยกันดูแลได้ทั้งผู้ป่วยและญาติ ครอบคลุมทั้งทางกายและใจ

          หลังทักทายญาติผู้ป่วย ทีมจะเริ่มติดตามอาการของผู้ป่วยทั้งการรับประทานอาหารและยา การดูแลความสะอาดและความสุขสบายของผู้ป่วย พูดคุยกับญาติเพื่อแจ้งให้รับรู้ข้อมูลการดำเนินโรค และถามความต้องการของผู้ป่วย (ในกรณีที่ยังพูดคุยได้) และญาติว่า “ต้องการทำบุญหรือไม่” เนื่องจากนิมนต์พระมาเยี่ยมอยู่แล้ว จึงไม่ใช่เรื่องยากหากผู้ป่วยต้องการทำบุญ และส่วนใหญ่ไม่มีใครปฏิเสธโดยเฉพาะผู้เฒ่าผู้แก่ที่เมื่อครั้งยังแข็งแรงก็มักไปวัดเป็นประจำ เมื่อล้มป่วย เดินทางไม่สะดวก มีพระมาเยี่ยมและยังได้ประกอบพิธีบุญ ย่อมเกิดปีติในใจด้วยกันทั้งนั้น

          พิธีบุญนี้มิได้มีขั้นตอนยุ่งยากซับซ้อนใดๆ บางครั้งชาวบ้านเรียกว่า “พิธีตัดกรรม” ใช้สิ่งของรอบตัวที่เรียบง่ายในการประกอบพิธี มีเพียงดอกไม้ธูปเทียนบูชาพระ ผ้าไตร และถังสังฆทาน (สองสิ่งหลัง มักได้รับอนุเคราะห์จากเจ้าหน้าที่โรงพยาบาล หรือจากพระสงฆ์ที่ได้รับเกินจำเป็น) สำหรับธูปเทียนแต่ละบ้านมักมีอยู่แล้ว และหาเก็บดอกไม้จากรอบๆ บริเวณบ้านได้ (จากภาพจะเห็นว่าแม้ไม่มีดอกไม้ ก็ยังสามารถเด็ดกิ่งก้านใบมาบูชาพระได้เช่นกัน) ญาติจะนำดอกไม้ธูปเทียนมาสัมผัสมือผู้ป่วย สวดมนต์ร่วมกัน ถวายสังฆทาน พระสงฆ์ให้ศีลให้พร และกรวดน้ำ ซึ่งใช้เวลาราว ๑๐ นาที แต่ทำให้ทั้งผู้ป่วยและญาติมีความสุขทางใจ ก่อเกิดกุศล บางครั้งผู้ป่วยมีอาการดีขึ้น และแน่นอนผู้ป่วยหลายรายเสียชีวิตหลังจากประกอบพิธีไม่กี่วัน แต่ญาติมักบอกเล่าภายหลังว่าผู้ป่วยได้ทำบุญแล้วจึง “ไปสบาย”

          การเยียวยาใจผู้ป่วย นอกจากพิธีพุทธดังกล่าวแล้ว ยังมีพิธีกรรมความเชื่อแต่ละท้องถิ่นที่น่าสนใจ จังหวัดสุรินทร์มีผู้คนหลากหลายเชื้อชาติทั้งไทย จีน ลาว และเขมร ความเชื่อเรื่อง ผี เทพ เทวดา ซึ่งเป็นวัฒนธรรมร่วมของท้องถิ่นอีสานยังคงปรากฏให้เห็นโดยทั่วไป ตามความเชื่อของเขมรโบราณ เมื่อมีคนในบ้านเจ็บป่วยไม่สบาย นอกจากการพาไปหาหมอ (ไม่ว่าแผนโบราณหรือปัจจุบัน) แล้ว จะต้องประกอบพิธีกรรมเชิญร่างทรงมาเพื่อขออภัยต่อเทพที่นับถือ หรือผีบรรพบุรุษ เรียกว่า “รำแม่มด” หรือบางท้องถิ่นเรียก “รำผีฟ้า”

          เป็นโชคดีของข้าพเจ้าที่มีโอกาสได้เห็นรำแม่มด เมื่อไปเยี่ยมผู้ป่วยร่วมกับทีมสุขภาพในพื้นที่อำเภอปราสาท จังหวัดสุรินทร์ ที่ลานกว้างหน้าบ้านหลังหนึ่ง มีชาวบ้านมารวมตัวกันประมาณ ๒๐-๓๐ คน มีวงดนตรีให้เสียงกลองและฉิ่งฉับจังหวะง่ายๆ มีอาหารคาวหวานและสุราเป็นของเซ่นไหว้ ชาวบ้านนั่งบนเสื่อเป็นกลุ่มๆ จุดเด่นอยู่ที่ร่างทรงแม่มดที่กำลังร่ายรำ ร่างทรงเป็นชายวัยไม่น่าจะเกิน ๓๐ ปี เขาเคี้ยวหมาก นุ่งผ้าถุง มีผ้าคล้องคอ โพกศีรษะ และมีเล็บปลอมยาวสวมใส่ที่นิ้วทั้งสิบ จังหวะการร่ายรำไม่มีท่วงท่าพิเศษ แต่เข้ากันกับเสียงดนตรีตีเคาะวงเล็กๆ นั้น ชาวบ้านบอกว่านี่เป็นการรำแม่มดในพิธีขึ้นบ้านใหม่ ครอบครัวนี้ไม่มีคนเจ็บป่วย แต่ยืนยันว่ายังมีการรำแม่มดเพื่อบรรเทาโรคภัยที่รักษาไม่หายอยู่ทั่วไปในหมู่บ้านแถบนี้

          บางครั้งอาการป่วยที่กายก็สามารถบรรเทาได้ด้วยการรักษาที่ใจ ไม่ว่าจะเป็นพิธีกรรมทางพุทธที่มีพระสงฆ์น้อมนำใจ หรือพิธีกรรมเชิงไสยที่มีร่างทรงเป็นตัวแทนนำไป ทางใดที่มนุษย์เชื่อว่าช่วยบรรเทาทุกข์ได้ก็จะเลือกทำด้วยศรัทธา เมื่อใจได้ผ่านพิธีกรรมเสริมสร้างความเข้มแข็งก็จะมีพลังพิเศษเพื่อเยียวยากายตนต่อไป

_______________

* เครือข่ายพุทธิกาทำงานขับเคลื่อนให้มีทีมสุขภาพดูแลผู้ป่วยระยะท้ายร่วมกับจังหวัดสุรินทร์ โดยมีโรงพยาบาลร่วมดำเนินงาน ๔ แห่ง คือ โรงพยาบาลสุรินทร์ โรงพยาบาลสนม โรงพยาบาลท่าตูม และโรงพยาบาลปราสาท

 

คอลัมน์:

frontpage: