Error message

  • Deprecated function: Methods with the same name as their class will not be constructors in a future version of PHP; views_display has a deprecated constructor in require_once() (line 3066 of /home/budnetorg/domains/budnet.org/public_html/sunset/includes/bootstrap.inc).
  • Deprecated function: The each() function is deprecated. This message will be suppressed on further calls in menu_set_active_trail() (line 2385 of /home/budnetorg/domains/budnet.org/public_html/sunset/includes/menu.inc).

Hospis Malaysia

-A +A

            บทความนี้เขียนขึ้นจากประสบการณ์การไปดูงานที่ Hospis Malaysia ประเทศมาเลเซีย เมื่อเดือนพฤศจิกายน-ธันวาคม พ.ศ.๒๕๕๓ เป็นเวลา ๑ เดือน เป็นส่วนหนึ่งของหลักสูตรประกาศนียบัตรบัณฑิตสาขาสุขอนามัย (พาลลิเอทีฟแคร์) ซึ่งจัดอบรมที่ประเทศสิงคโปร์ โดยความร่วมมือของ มหาวิทยาลัยฟลินเดอร์ ประเทศออสเตรเลีย และ เครือข่ายฮอสพิซพาลลิเอทีฟแคร์ภาคพื้นเอเชียแปซิฟิก (APHN: Asia Pacific Hospice Palliative Care Network) เหตุผลที่ผู้เขียนสนใจเลือกดูงานที่ประเทศมาเลเซีย เนื่องจากเป็นประเทศที่อยู่ในกลุ่มอาเซียนและมีพัฒนาการทางเศรษฐกิจที่ไม่ห่างจากประเทศไทยมากนัก และจะเห็นได้ว่าพัฒนาระบบการดูแลแบบประคับประคองไปได้ไกลเพียงใด ซึ่งจะเป็นผลดีในการเปรียบเทียบระบบการดูแลผู้ป่วยบนความขาดแคลน และสามารถที่จะมีโอกาสปรับใช้ได้มากกว่าการดูงานในประเทศที่มีความพร้อมทุกด้าน

 

ลักษณะทั่วไป

            Hospis Malaysia ตั้งอยู่ในกัวลาลัมเปอร์ เมืองหลวงของประเทศมาเลเซีย เป็นองค์กรสาธารณกุศลที่ก่อตั้งเมื่อปี พ.ศ.๒๕๓๔ เงินรายได้ทั้งหมดในการดำเนินการมาจากการรับบริจาคและจากการจัดอบรมทางวิชาการ โดยมิได้รับเงินสนับสนุนจากรัฐบาลแต่ประการใด Hospis Malaysia เป็นองค์กรที่ดูแลผู้ป่วยและครอบครัวที่ประสบกับโรคระยะสุดท้าย เป็นหน่วยงานเดียวในกัวลาลัมเปอร์ที่มีระบบดูแลผู้ป่วยที่บ้านแบบประคับประคอง (palliative home care) นอกจากนี้ ยังจัดกิจกรรมให้ผู้ป่วยมาพบปะสังสรรค์กัน (hospice day care) และมีระบบอาสาสมัครดูแลผู้ป่วยแบบประคับประคอง มีบุคลากรทางการแพทย์ ประกอบด้วยแพทย์เฉพาะทางด้านพาลลิเอทีฟแคร์ ๔ คน พยาบาล ๗ คน, เภสัชกร ๑ คน และ นักกายภาพบำบัด ๑ คน ตลอดจนยังมีบุคลากรฝ่ายสนับสนุน ทั้งผู้จัดการ งานธุรการ งานการเงิน รวมถึงศูนย์รวมเครื่องมือการแพทย์เพื่อให้ผู้ป่วยยืม เช่น เตียง ที่นอนลม เครื่องผลิตออกซิเจน เป็นต้น

 

ระบบการทำงาน

            Hospis Malaysia มีการเยี่ยมบ้าน ๗๐๐ กว่าครั้งต่อเดือน และมีผู้ป่วยมากกว่าหนึ่งพันรายต่อปี ผู้ป่วยทุกรายที่เข้าสู่การดูแลของที่นี่ต้องมีที่พักอาศัยในกัวลาลัมเปอร์ และได้รับการส่งตัวจากโรงพยาบาล พร้อมสรุปประวัติการรักษา โดยประวัติจะถูกส่งมาจากโรงพยาบาลด้วยแฟกซ์ เมื่อรับผู้ป่วยจากการจ่ายเคสให้พยาบาลเจ้าของพื้นที่ (พยาบาลจะแบ่งเขตการดูแลเป็นโซน) 

            การดูแลอาการทุกข์ทรมานต่างๆ มียาที่บำบัดอาการอย่างครบถ้วน มีการพิจารณาว่ารายใดต้องการอุปกรณ์ ก็สามารถจะมีให้ผู้ป่วยยืมได้โดยถือหลักความจำเป็น โดยทุกบริการไม่เสียค่าใช้จ่ายใดๆ ทั้งสิ้น และในกรณีที่มีความจำเป็นต้องรักษาเพิ่มเติมที่โรงพยาบาล เช่น การเจาะระบายน้ำในปอด อาจต้องมีการประสานส่งตัวผู้ป่วยโดยการเขียนจดหมายหรือโทรศัพท์ติดต่อแพทย์โดยตรง

  

 

คณะทำงาน

            การดูแลผู้ป่วยระยะสุดท้ายของ Hospis Malaysia จะทำงานเป็นทีมแบบสหสาขาวิชาชีพที่ทุกฝ่ายมีความสำคัญและประสานงานกันตลอดเวลา 

พยาบาล

            พยาบาลทำหน้าที่เป็นเจ้าของไข้และติดตามผู้ป่วยทั้งการประเมินอาการ ติดตามผลการรักษาและทำหัตถการที่จำเป็น เช่น ทำแผล ฉีดยา โดยพยาบาลแต่ละคนมีคนไข้ในความรับผิดชอบประมาณ ๒๐-๓๐ คน การพบผู้ป่วยครั้งแรก พยาบาลจะพูดคุยถึงแนะนำตัวระบบการดูแลผู้ป่วยกับญาติและคนไข้ เรื่องไม่ต้องมีค่าใช้จ่าย มีอุปกรณ์อะไรบ้าง และขอคำอนุญาตจากผู้ป่วยว่ายินดีจะรับการดูแลจากทีมไหม หลังจากลงชื่อในใบยินยอมให้การดูแลแล้ว พยาบาลจะเริ่มประเมินอาการอย่างละเอียด ตรวจร่างกาย (พยาบาลได้รับการฝึกเป็นอย่างดีและมีความสามารถมาก) เมื่อประเมินเรียบร้อยจะโทรศัพท์ปรึกษาแพทย์และให้การดูแลรักษาตามคำแนะนำของแพทย์ พยาบาลจะให้หมายเลขโทรศัพท์ในกรณีฉุกเฉิน สามารถโทรติดต่อเบอร์โทรศัพท์ดังกล่าวได้ เพราะจะมีพยาบาลผลัดเปลี่ยนหมุนเวียนกันให้คำปรึกษา และหากมีความจำเป็น พยาบาลอาจไปเยี่ยมบ้านในกรณีฉุกเฉินได้ทันท่วงที

            พยาบาลทุกคนจะใช้รถส่วนตัวและเดินทางไปคนเดียวเพื่อดูแลผู้ป่วยในพื้นที่ของตัวเอง ค่าน้ำมันจะสามารถเบิกได้ทั้งหมดจากองค์กร ทำให้พยาบาลแต่ละคนจะเยี่ยมผู้ป่วยได้ ๖-๘ รายต่อวัน 

            จะเห็นได้ว่า พยาบาลมีบทบาทสำคัญอย่างมากในการดูแลผู้ป่วยและระบบงานของ Hospis Malaysia เป็นอย่างยิ่ง พยาบาลที่นี่มีความรู้และประสบการณ์มาก บางคนตัดสินใจได้แม่นยำพอๆ กับแพทย์เลยทีเดียว ที่เป็นเช่นนี้เนื่องจาก Hospis Malaysia ให้ความสำคัญกับการพัฒนาองค์ความรู้ ทั้งการสนับสนุนให้ทุนพยาบาลศึกษาต่อในต่างประเทศ โดยเฉพาะหลักสูตรประกาศนียบัตรบัณฑิตสาขาสุขอนามัย (พาลลิเอทีฟแคร์) ซึ่งจัดอบรมที่ประเทศสิงคโปร์ โดยปีนี้มีพยาบาลรุ่นเดียวกับผู้เขียนบทความได้ทุนศึกษาต่อถึงสองคน

แพทย์

            แพทย์มีบทบาทเป็นที่ปรึกษาของทีม และจะไปเยี่ยมบ้านในกรณีของผู้ป่วยที่ได้รับการประเมินจากพยาบาลแล้ว โดยแพทย์จะรับโทรศัพท์ ตัดสินใจในการรักษา และเยี่ยมบ้านผู้ป่วยที่จำเป็น รับสอนพยาบาล และนักศึกษาแพทย์ รวมถึงการทำวิจัยในงานพาลลิเอทีฟแคร์ด้วย

เภสัชกร

            เป็นผู้ที่มีความรู้อย่างยิ่งทางยา โดยสามารถอธิบายกลไกทางยาละเอียดมาก เป็นที่ปรึกษาให้ทั้งแพทย์ พยาบาลในเรื่องขนาดยา การเตรียมยา รวมถึงบริหารจัดการสต๊อคยาและอุปกรณ์การแพทย์ อีกทั้งผลิตมอร์ฟีนน้ำออกฤทธิ์เร็ว ตรวจสอบคุณภาพยาที่ได้รับบริจาคมาว่าอยู่ในสภาพใช้งานได้หรือไม่ 

นักกายภาพบำบัด

            นักกายภาพบำบัดมีส่วนสำคัญอย่างมากในเรื่องการเพิ่มคุณภาพชีวิตผู้ป่วย เพราะการที่จะใช้ชีวิตที่เหลืออยู่ได้อย่างปกติที่สุด นักกายภาพบำบัดสามารถแนะนำวิธีที่จะทำให้ผู้ป่วยสามารถพึ่งตัวเองได้มากที่สุด เวลาที่ไปที่บ้านผู้ป่วยในรายที่พยาบาลดูว่าคุมอาการได้ดีแล้ว และต้องการคำแนะนำจากนักกายภาพบำบัด 

 

          มีนักกายภาพบำบัดคนหนึ่งที่ฮอสพิซมาเลเซีย ชื่อเรย์มอนด์ เป็นคนน่ารักมาก เขาไม่ใช่คนสอนให้คนไข้ยกแขนยกขาเพื่อให้แข็งแรงขึ้น แต่สิ่งที่เขาทำคือไปนั่งคุยกับคนไข้ ถามคนไข้ว่าชีวิตที่ผ่านมาเป็นอย่างไร เคยฝันอะไร คนไข้ส่วนใหญ่จะบอกว่า พอไม่สบายถึงจุดหนึ่งฝันจะหายไป เรย์มอนด์จะถามต่อว่าแล้วในเวลาที่เหลืออยู่ เขาอยากจะทำอะไรให้เป็นจริงบ้าง มีคนไข้คนหนึ่งบอกว่าสมัยเป็นแม่บ้านเธอต้องไปช็อปปิ้งในตลาดนัด อยากจะไปตลาดนัดด้วยสภาพร่างกายอ่อนแรงครึ่งตัว เรย์มอนด์บอกว่าคุณทำได้ แต่มีเงื่อนไขว่าต้องร่วมมือกับเขา เขามีอุปกรณ์ที่จะช่วยให้ผู้ป่วยสามารถไปในที่ที่ต้องการไปได้ภายในหนึ่งสัปดาห์ จะร่วมมือไหม เมื่อผู้ป่วยยินยอม ไม่นานจะมีอุปกรณ์ที่เหมาะกับคนไข้มาให้ เรย์มอนด์จะสอนคนไข้ ให้กำลังใจญาติ พอเขามาครั้งแรกคนไข้สามารถย้ายจากเตียงไปนั่งที่โต๊ะอาหารได้ ญาติคนไข้ทึ่งมาก เรย์มอนด์บอกว่าอีกสองวัน เราจะเริ่มไปหน้าระเบียง อีกหนึ่งอาทิตย์คุณจะได้ไปช็อปปิ้งที่ตลาด แต่เขาคุยกับหมอด้วยว่า หมอต้องปรับยาแก้ปวดให้ผม เพื่อให้คนไข้ได้ทำสิ่งดีๆ ที่คนไข้ต้องการ เป็นการดูแลที่เป็นไปได้ในเมืองไทยเหมือนกัน เพราะมาเลเซียทำได้ 

 

 

อาสาสมัคร

            อาสาสมัครที่นี่มีทั้งผู้สูงอายุและวัยทำงาน มารวมกลุ่มกันจัดกิจกรรมให้ผู้ป่วยสัปดาห์ละหนึ่งครั้ง โดยแต่ละคนจะแบ่งหน้าที่กันว่าใครจะเตรียมอาหาร ใครจะไปรับผู้ป่วยที่มาเองลำบาก ใครจะนำกิจกรรม บางคนมีความสามารถพิเศษด้านการนวดฝ่าเท้าให้ผู้ป่วย เป็นต้น

 

กิจกรรมประจำวัน

            ในช่วงเช้ากิจกรรมประจำวันคือ จะมีพยาบาลเจ้าของไข้ นำเสนอเคสที่ตัวเองดูแลมานำเสนอ โดยจะมีแพทย์ นักกายภาพบำบัด และ เภสัชกร การวางแผนการดูแลแต่ละรายร่วมกัน ในกรณีที่ผู้ป่วยนอนโรงพยาบาล จะมีพยาบาลสองคนที่จะเดินทางไปเยี่ยมที่หอผู้ป่วยและนำมาแจ้งรายละเอียดการดูแลที่เกิดขึ้นในโรงพยาบาล แสดงให้เห็นถึงการวางระบบที่มีการดูแลต่อเนื่องบนพื้นฐานของทีมสหสาขาวิชาชีพ มีนักศึกษาแพทย์ นักศึกษาพยาบาลมาร่วมกิจกรรมทุกเช้าและร่วมออกเยี่ยมบ้านกับแพทย์และพยาบาล และมีกิจกรรมการเรียนการสอน หลังจากการประชุม พยาบาลก็จะแยกย้ายกันไปเยี่ยมผู้ป่วยที่บ้านตลอดทั้งวัน 

            ในแต่ละปีจะมีกิจกรรมวิชาการที่ Hopis Malaysia จัดขึ้นเพื่อบุคลากรทั้งภายใน และจัดเพื่อบุคลากรต่างสถาบัน (ในมาเลเซีย) เข้ามาศึกษาเรียนรู้กัน วิทยากรอาจมาจากต่างประเทศ โดยพยาบาลและแพทย์ใน Hospis Malaysia เองก็ต้องฝึกที่จะบรรยายรวมถึงจัดทำเวิร์คชอปด้วย

 

บทเรียนจากมาเลเซียเพื่อใช้ในบริบทไทย

            ในเมืองไทยการเกิดของการดูแลผู้ป่วยระยะสุดท้ายยังมีฐานอยู่ในโรงพยาบาลเป็นส่วนใหญ่ ซึ่งเป็นการยากที่จะดูแลผู้ป่วยและครอบครัวได้เป็นอย่างดี การเตรียมความพร้อมบุคคลากรดูแลผู้ป่วยที่บ้านโดยเฉพาะระบบบริการปฐมภูมิ จะมีส่วนช่วยให้การดูแลเป็นไปได้ดีขึ้น 

            อีกประเด็นที่เห็นได้ชัดคือ การมีส่วนร่วมของภาคประชาชนต่อการดูแลผู้ป่วยระยะสุดท้ายมีความจำเป็นทั้งทางด้านการระดมทุนและ การดูแลกันในชุมชน ประเด็นสุดท้ายคือ การจัดตั้งฮอสพิซในเมืองไทยคงจะมีความจำเป็นในอนาคตอย่างแน่นอน และรูปแบบที่เป็นไปได้โดยใช้งบประมาณต่ำกว่าก็คือการดูแลแบบ Hospis Malaysia คงจะเป็นโจทย์สำคัญของผู้บริหารระดับสูงของกระทรวงสาธารณสุขว่าจะมีแนวคิดจริงจังกับเรื่องนี้มากน้อยเพียงใด

 

 

 

 

           ฮอสพิซ มาเลเซีย เป็นองค์กรสาธารณกุศล ที่ให้บริการดูแลผู้ป่วยระยะสุดท้ายอย่างมืออาชีพ กับผู้ป่วยป่วยด้วยโรคที่รักษาไม่หาย และอาศัยอยู่ในเขตหุบเขากลัง (Klang Valley) กินอาณาเขตในกรุงกัวลาลัมเปอร์และปริมณฑล การดูแลของ ฮอสพิซ มาเลเซีย ไม่ได้ถูกจำกัดด้วย อายุ เพศ วัฒนธรรม ศาสนา และกลุ่มทางสังคมใด และยังเป็นการให้บริการโดยไม่คิดมูลค่า

ฮอสพิซ มาเลเซีย ไม่ได้เป็นส่วนหนึ่งขององค์กรทางการเมือง ศาสนา หน่วยงานรัฐบาล หรือองค์กรเอกชน หากได้รับทุนก้อนหลักจากการสนับสนุนสาธารณชนและบริษัทห้างร้านต่าง ๆ นอกจากการรับบริจาคแล้ว ยังมีการจัดกิจกรรมเพื่อหาทุนโดยฮอสพิซเอง ทุนที่ได้รับมาจะมีทีมงานอาสาสมัครจากสมาชิกสภาขององค์กร เข้ามาทำการบริหารจัดการ ในฐานะตัวแทนของกองทุน ในส่วนของเจ้าหน้าที่ซึ่งปฏิบัติงานเต็มเวลา ที่มีผู้นำคือ หัวหน้าคณะบริหาร/ผู้อำนวยการฝ่ายการแพทย์ จะทำหน้าที่ดูแลการปฏิบัติงานอื่นๆ ของฮอสพิซ

ในหลายปีที่ผ่านมา ฮอสพิซ มาเลเซีย ได้พยายามสร้างหน่วยงานของตนเอง ให้เป็นผู้สนับสนุนการดูแลแบบประคับคองอย่างมืออาชีพในประเทศมาเลเซีย โดยได้รับการยอมรับจากในระดับนานาชาติ และยังทำงานอย่างใกล้ชิดกับกระทรวงสาธารณสุขของมาเลเซีย รวมถึงมหาวิทยาลัยและคลินิกอีกหลายแห่ง โดยเฉพาะความร่วมมือจากเครือข่ายการดูแลแบบประคับคองในระดับนานาชาติ ซึ่งให้ความช่วยเหลือในด้านศูนย์ฝึกและศูนย์เรียนรู้การดูแลแบบประคับประคองในประเทศ เช่น ศูนย์การดูแลแบบประคับประคองนานาชาติแห่งออกซฟอร์ด (The Oxford International Centre for Palliative Care : OICPC) ได้รับการแต่งตั้งจากองค์การอนามัยโลก ให้เป็นศูนย์ความร่วมมือสำหรับการดูแลแบบประคับประคอง และเครือข่ายฮอสพิซพาลลิเอทีฟแคร์ภาคพื้นเอเชีย-แปซิฟิก (The Asia Pacific Hospice Palliative Care Network : APHN) ซึ่งทำหน้าที่เชื่อมประสานสมาชิกที่สนใจการพัฒนาฮอสพิซและการดูแลแบบประคับประคองในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก

 

-----
*นายแพทย์โรจนศักดิ์ ทองคำเจริญ
หมอครอบครัวแห่งโรงพยาบาลแม่สอด จังหวัดตาก ผู้สนใจศึกษาและริเริ่มระบบการดูแลผู้ป่วยระยะสุดท้ายอย่างต่อเนื่องที่บ้านในเขตอำเภอแม่สอดมานานหลายปี

 

 

คอลัมน์: