เยียวยาด้วยใจรัก
“มีพบย่อมมีพลัดพราก หรือจากลา” เป็นคำที่เราคุ้นหู หรือได้ยินบ่อยๆ ซึ่งในยามปกติเราอาจจะไม่มีความรู้สึกใดๆ ต่อคำพูดนี้ หรืออาจจะรู้สึกว่า เออ ก็จริงนะ แต่เมื่อเกิดความสูญเสียกับเรา เราจะรู้สึกทันทีว่า “จริง” และอาจจะรู้สึกว่า ทำไมต้องเป็นฉันด้วย ซึ่งในความเป็นจริง ชีวิตคนเราย่อมต้องผ่านประสบการณ์ลักษณะนี้มาอย่างน้อยสักครั้งหนึ่งในชีวิต บางครั้งอาจจะไม่ได้เป็น “คน” แต่เป็น “สัตว์เลี้ยง” ที่รักและผูกพันมาก
ในคอลัมน์นี้ผู้เขียนจะขอเป็นกระบอกเสียงของสัตว์ เพื่อเล่าถึงพฤติกรรมหรือการแสดงออกของสัตว์ที่อยู่ด้วยกัน แล้วอีกตัวหนึ่งมาตายจากไป เราเองในฐานะมนุษย์อาจจะสงสัยว่าสัตว์สามารถรับรู้การตายของอีกฝ่ายได้ไหม และแสดงออกอย่างไร
ผู้เขียนเองมีความเชื่อว่า สัตว์แต่ละชนิดหรือแต่ละตัวเข้าใจเรื่องความตาย และมีพฤติกรรมการแสดงออกแตกต่างกันไป บางตัวอาจจะซึมเศร้า บางตัวอาจจะมีพฤติกรรมแปลกๆ ที่มนุษย์อย่างเราอาจจะไม่รู้ว่าหมายถึงอะไร หรือพยายามจะบอกอะไรกับเรา เริ่มจากสัตว์ใหญ่อย่างช้าง เมื่อเพื่อนที่อยู่ด้วยกันตายจากไป ช้างอีกตัวที่อยู่ด้วยจะแสดงอาการซึมเศร้า บางตัวอาจจะมีน้ำตาไหลออกมา หรือลิงชิมแปนซี เมื่อรับรู้ว่าเพื่อนกำลังจะจากไปอย่างไม่มีวันกลับ ลิงชิมแปนซีตัวอื่นๆ จะนั่งอยู่ข้างๆ ปัดเศษหญ้าหรือฟางออกจากหน้าเพื่อน แล้วสางผมเพื่อนเบาๆ เหมือนกำลังบอกลาเป็นครั้งสุดท้าย สัตว์ตัวเล็กๆ ที่เราคุ้นเคยกันดี เช่น สุนัข หรือแมวก็เช่นกัน เราอาจจะเคยได้ยินเรื่องเล่าที่ว่า สุนัขนั่งเฝ้าเพื่อน หรือเจ้าของที่ตายแล้ว ไม่ยอมไปไหน จนมีคนมาพบเจอก็หลายครั้ง กับสัตว์ที่ผู้เขียนเองคุ้นเคยดีอย่างแมว ก็แสดงปฏิกิริยาหลากหลายกันไป จากประสบการณ์ที่เลี้ยงมาหลายตัว หลายรุ่น ต้องผ่านประสบการณ์ความสูญเสียมาบ้าง ผู้เขียนพบว่า แมวสามารถรับรู้การตาย หรือการพลัดพรากที่เกิดขึ้นได้
เช่น แม่บุ้ง ตอนที่ลูกแมวอายุไม่ถึงเดือนมีอาการป่วย และเสียชีวิตในเวลาต่อมา ผู้เขียนพยายามจะเข้าไปอุ้มเอาลูกแมวที่ตัวเย็นแล้วออกมา ทำให้แม่บุ้งกระวนกระวายมาก ไม่ยอมให้จับออกมา ทั้งส่งเสียงขู่ และเอาตัวมาบังไว้ แม้จะเอาออกมาได้สำเร็จแต่ดูเธอจะไม่ไว้ใจผู้เขียนเมื่อไปอยู่ใกล้ลูกๆ ที่เหลืออยู่ ต้องใช้เวลาเป็นเดือนกว่าเธอจะยอมให้ลูบ จับตัว หรือเล่นกับลูกๆ ของเธอได้ดั่งเดิม รวมถึงพฤติกรรมที่มักจะร้องเรียก หรือเดินหาตามที่ต่างๆ ในบ้าน เพราะคิดว่าลูกไปอยู่ที่อื่นก็ค่อยๆ หายไปด้วย
ต่างจากแม่เหมี่ยว เมื่อตอนที่ลูกเธอตายด้วยเหตุที่ไม่คาดคิดมาก่อน ตอนที่ไปเอาลูกแมวออกมาจากตัวเธอ ผู้เขียนพูดเพื่อให้เธอรับรู้ว่าลูกแมวจากไปแล้ว ให้เธอได้ดมลูกเธอเป็นครั้งสุดท้าย ดูจากแววตาที่มองมาเห็นความเศร้าปนอยู่ในนั้น คราวนี้ผู้เขียนใช้เวลาอยู่กับเธอนานกว่าแต่ก่อน กอดหรือลูบตัวเพื่อปลอบใจเธอ ซึ่งเห็นได้ชัดว่าทำให้เธอกลับมาเป็นปกติได้เร็วกว่า ไม่เดินร้องเรียกหาลูกเหมือนกับแม่บุ้งแม้จะเป็นกรณีเดียวกัน
หรือกรณีของหมูเงิน ตอนที่เมฆหมอก ลูกแมวที่เอามาเลี้ยงตอนหมูเงินโตแล้ว วันที่ให้ทั้งสองเจอกันครั้งแรก เราบอกหมูเงินว่า ต้องรักน้อง ดูแลน้องนะ ซึ่งหมูเงินก็รัก และยอมน้องมาตลอด จนวันหนึ่งเมื่อเมฆหมอกมาตายจากไป แม่ของผู้เขียนเดินไปพบหมูเงินนั่งเฝ้าน้องซึ่งนอนหมดลมหายใจแล้วอยู่บนระเบียงบ้าน นับแต่วันนั้น หมูเงินก็มักจะนั่งรอน้องอยู่ตรงนั้นเป็นเวลานานๆ เวลายิ่งผ่านไป หมูเงินก็ดูเหมือนจะมีอาการซึมเศร้า ไม่ค่อยยอมกินอาหาร และมักจะไปนอนอยู่ตรงที่ที่น้องนอนเสียชีวิต หรือไปอยู่ในที่ที่น้องมักจะชอบไปอยู่ ผู้เขียนแม้จะพยายามให้ความรัก แต่ดูเหมือนความเป็นคน กับความเป็นสัตว์จะมีความต่างกันอยู่ ทำให้บางครั้งก็ทดแทนกันยาก
ข้อค้นพบสำคัญอีกอย่างคือ การทำความเข้าใจกับความสูญเสียที่เกิดขึ้นคือส่วนที่ยากที่สุด เพราะความสัมพันธ์ระหว่างกันเกิดจากปัจจัยที่เรามองไม่เห็นด้วยตา แต่อาจจะเป็นความทรงจำหรือประสบการณ์ที่เคยมีร่วมกัน ซึ่งเราที่เป็นคน อาจจะเข้าใจความผูกพันระหว่างสัตว์ยาก แต่ทั้งหมดนี้ก็คงไม่ยากเกินกว่าหัวใจที่มีความรัก ความเมตตาให้กับเพื่อนร่วมโลกใบเดียวกันจะทำความเข้าใจ และดูแลซึ่งกันและกันได้ เพราะเราเองเมื่อสูญเสียก็ย่อมต้องการความรัก ความเข้าใจจากคนรอบข้าง สัตว์เองก็ย่อมไม่ต่างกัน เพียงแต่มนุษย์อย่างเราจะแปลสัญญาณที่เขาส่งมาถูกไหม