จิตตปัญญาศึกษา...สู่ชีวิตที่ดีงาม (Contemplative Education: The Right Livelihood)
วันที่ ๕-๖ พฤศจิกายน ๒๕๕๘ ที่ผ่านมา ศูนย์จิตตปัญญาศึกษา มหาวิทยาลัยมหิดล ได้จัดงานการประชุมวิชาการประจำปี จิตตปัญญาศึกษา ครั้งที่ ๗ ขึ้น เพื่อพัฒนากระบวนการเรียนรู้เพื่อการตื่นรู้ให้เกิดการเปลี่ยนแปลงพื้นฐานและเกิดจิตสำนึกใหม่ มุ่งให้เกิดประโยชน์กับเพื่อนมนุษย์อย่างเต็มกำลังความสามารถ เพื่อเจริญรอยตามพระราชปณิธานของสมเด็จพระราชบิดา ที่ว่า “True success is not in the learning, but in its application to the benefit of mankind.” ความสำเร็จที่แท้ มิใช่อยู่ที่การเรียนรู้เท่านั้น แต่อยู่ที่ความสามารถในการประยุกต์ใช้ความรู้นั้น ให้เกิดประโยชน์แก่มวลมนุษยชาติ
หนึ่งในกิจกรรมวันนั้น คือปาฐกถาเกียรติยศของคุณพ่อซีริล นิพจน์ เทียนวิหาร ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยและฝึกอบรมศาสนาและวัฒนธรรมชุมชนเชียงใหม่ ท่านได้กล่าวไว้ตอนหนึ่งว่า “ความรอดของโลกจะเป็นไปได้เมื่อมนุษย์สามารถที่จะเห็นธรรมชาติแล้วรู้สึกมหัศจรรย์ ว่าธรรมชาติให้ชีวิตคนเรา ไม่ว่าการหายใจ ดื่มน้ำ รับประทานอาหาร ฯลฯ ล้วนมาจากธรรมชาติทั้งสิ้น ซึ่งต่างจากความคิดทางระบบวัตถุนิยม ที่จะ ‘ปู้ยี่ปู้ยำ’ ต่อธรรมชาติอย่างไรก็ได้ เพราะเห็นทุกสิ่งเป็น object เป็นเพียงวัตถุ ไม่เห็นทุกสิ่งเป็น subject ที่เป็นคู่สัมพันธ์และให้ชีวิตกับมนุษย์เรา ต่อเมื่อเราสอนเด็กให้รู้ว่า ‘ดิน’ ไม่ใช่ ‘ขี้’ แต่เป็น ‘แม่’ เด็กจะเปลี่ยนจากการมองแบบ object ไปสู่ subject ที่ว่า เขาจะไม่มีชีวิตอยู่ได้ ถ้าไม่มีแม่ธรณี นี่คือเซนส์ของการที่จะเปลี่ยนจิตเปลี่ยนใจ เปลี่ยนโลกทัศน์แห่งการเรียนรู้ที่จะอยู่กับธรรมชาติและไม่ทำร้ายธรรมชาติ”
จากประสบการความเจ็บป่วยที่นำพาความเติบโตทางปัญญา ท่านเล่าให้ฟังว่า “สามเดือนแห่งการเป็นอัมพาต คือประสบการณ์ชีวิตด้านใน ไปสู่ความเข้าใจการสัมพันธ์กับโลก ตอนเกิดมาไม่รู้หรอกว่า อากาศ ดิน น้ำ ครอบครัว ทุกสิ่งอย่างสำคัญ ต่อเมื่อมือ เท้ากระดิกไม่ได้เลย กลับกลายเป็นช่วง contemplative (ใคร่ครวญอย่างลึกซึ้ง) ที่ดีที่สุด ที่จะต้องยอมตายต่อตัวเอง การยอมรับความจริงที่ไม่ใช่แค่ระดับสมอง การยอมรับที่ระดับ concious (จิตสำนึก) ยังไม่พอ ต้องไปสู่การยอมรับในระดับ unconcious (จิตไร้สำนึก) และ subconcious (จิตใต้สำนึก) ว่ายอมตาย ตายก่อนตายไม่ง่าย แต่เมื่อผ่านไปสามเดือน มีคืนหนึ่งเกือบจะตายแล้ว หายใจไม่ออก เหมือนคนจมน้ำ ขอให้ญาติช่วยลูบหลังแล้วบอกว่า ให้ยอมตายๆ ไปเรื่อย จนกระทั่งตื่นขึ้นมาอีกครั้ง พบว่าเมื่อยอมตายจากตัวเองจริงๆ ในระดับจิตใต้สำนึก ร่างกายกลับมาเริ่มกระดิกนิ้วได้ เป็นมหัศจรรย์ของชีวิต ทำให้เห็นว่ามีพลังในทุกสรรพสิ่ง และสำนึกว่าเรามีชีวิตไม่ใช่เพราะเรา แต่เป็นเพราะทุกสรรพสิ่งที่อยู่รอบด้าน และนี่คือสภาวะที่เรียกว่า ‘ชีวิตที่ดีงาม’ การดำรงชีวิตที่ชอบธรรมและไปสู่คุณงามความดี”
จากคำถามที่ว่า จะนำการเรียนการสอนเรื่องเหล่านี้ไปใช้ในการสอนเยาวชนคนรุ่นใหม่ได้อย่างไร คุณพ่อให้ข้อแนะนำว่า “ต้องให้เด็กมีประสบการณ์ตรงกับธรรมชาติและช่วยให้เขาได้สัมผัสกับดิน กับน้ำ และธรรมชาติต่างๆ เพื่อดึงให้เขาตระหนักรู้ว่า ชีวิตของเขานั้นล้วนมาจากสิ่งเหล่านี้ และถ้าไม่มีสิ่งเหล่านี้ ตัวเขาก็ต้องตาย ระบบการศึกษาต้องเปลี่ยนจากด้านวัตถุ ไปเป็นเข้าหา ‘Source of life’ (แหล่งกำเนิดชีวิต) ว่าทุกสรรพสิ่งในโลกนี้ให้ชีวิตเรา เราก็ต้องรักษาสรรพสิ่งด้วย ให้เด็กมี interconnect, interrelation และ interdependent (ความเชื่อมโยงสัมพันธ์อิงอาศัยกันและกัน) ถ้าเด็กตระหนักได้ว่าจำเป็นต้องมีชีวิตอย่างสอดคล้องกลมกลืน ก็จะเปลี่ยนแปลงความคิดได้ ส่วนการศึกษาเรื่องศาสนานั้น แทนที่จะศึกษาแต่เพียงแบบ dogma หรือ หลักเกณฑ์คำสอนแต่ควรต้องศึกษาแบบอยู่ในชีวิตประจำวัน ว่าศาสนาคือ relation (ความสัมพันธ์) และสอนให้มีประสบการณ์ตรงด้วยตัวเองกับข้อธรรมะต่างๆ”
นอกจากนี้ในงานยังมีการนำเสนอผลงานวิจัยของบัณฑิตจิตตปัญญาศึกษา รวมถึงเปิดให้มีเวทีการเรียนรู้ด้วยกระบวนการแบบจิตตปัญญาโดยแยกเป็น ๔ ห้องย่อย คือ ๑. หนทางแห่งจิตตปัญญาศึกษาในการวิจัย เป็นเวทีที่มุ่งเน้นที่การร่วมกันศึกษางานวิจัยแนวใหม่ๆ ที่เปิดพื้นที่ให้หนทางแห่งจิตตปัญญาศึกษา ๒. กระบวนการเรียนรู้เพื่อการมีชีวิตที่หลอมรวมในห้องเรียนชีวิตที่หลอมรวมกับธรรมชาติที่ชวนให้ผู้เรียน ได้มีโอกาสค้นพบคุรุผู้ประเสริฐแห่งตนเอง ๓. ลมหายใจสุดท้าย สู่ชีวิตที่ดีงาม การเข้าใจโลกและชีวิต เห็นและยอมรับทุกสิ่งได้ตามความเป็นจริง ตลอดหนทางแห่งชีวิตเพื่อนำไปสู่การตายที่ดีงาม และ ๔. สื่อสารศิลป์เพื่อการตระหนักรู้ สื่อเพื่อการตระหนักรู้ และศิลป์เพื่อการเปลี่ยนแปลง รวมถึงการสำรวจและค้นพบความเป็นตัวเองอย่างถ่องแท้ในฐานะคนทำสื่อ
ทุกกิจกรรมในการอบรมนี้ ล้วนมุ่งเป้าให้ผู้เข้าร่วมซึ่งเป็นคณาจารย์และผู้สนใจ ได้รับแนวความคิดเพื่อก้าวให้พ้นวิกฤตแห่งการศึกษา โดยใช้หลักการการศึกษาในฐานวัฒนธรรมโดยเอาชีวิตเป็นตัวตั้งแทนการนำเอาวิชามาเป็นตัวตั้งและเน้นกระบวนการทางวิทยาศาสตร์ ที่เสริมด้วยจิตตปัญญาศึกษาเพื่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงและจิตสำนึกใหม่
นอกจากนี้โครงการ ‘ความตาย พูดได้’ โดย เครือข่ายพุทธิกาฯ ยังได้ร่วมกิจกรรมจัดบูธนิทรรศการ และให้คำแนะนำกิจกรรม รวมถึงแจกหนังสือและเอกสารต่างๆ ของโครงการเพื่อชีวิตและความตายที่ดีงามอีกด้วย