ดูแลใจด้วยงานศิลปะ
งานดูแลผู้ป่วยระยะท้ายหรือผู้ป่วยที่ช่วยเหลือตนเองไม่ได้ เป็นงานหนักและต่อเนื่อง ต้องอาศัยความทุ่มเททั้งแรงกายแรงใจและเวลา เพราะผู้ป่วยบางรายอาจต้องดูแลตลอด ๒๔ ชั่วโมง ดังนั้นผู้ดูแลทั้งที่เป็นบุคลากรสุขภาพหรือเป็นญาติผู้ป่วย ต่างต้องเหนื่อยล้า ประสบภาวะเครียด ท้อแท้ หงุดหงิดรำคาญใจ ซึ่งเกิดขึ้นได้ทั้งจากแรงกดดันรอบข้างหรือแรงกดดันที่สร้างและคาดหวังกับตนเอง ดังนั้นผู้ดูแลต้องไม่ลืมที่จะหันกลับมาดูแลและเยียวยาใจตนเอง เพื่อฟื้นฟูคุณค่าภายในและเป็นกำลังใจให้ตนเองมีพลังเดินหน้าต่อ
เครือข่ายพุทธิกาและโครงการขับเคลื่อนมิติสุขภาวะทางปัญญาผ่านการดูแลผู้ป่วยระยะท้ายจึงได้จัดกิจกรรมถ่ายทอดทักษะและเครื่องมือในการเยียวยาตนเองให้กับบุคลากรสุขภาพที่ทำงานดูแลผู้ป่วยระยะท้าย โดยมุ่งหวังให้ผู้เข้าร่วมกิจกรรมได้มีโอกาสสัมผัสประสบการณ์ในการดูแลตนเอง และนำประสบการณ์เหล่านั้นไปใช้เยียวยาผู้อื่นต่อได้ และเครื่องมือสำคัญชิ้นหนึ่งที่ช่วยดูแลเยียวยาจิตใจให้รู้สึกผ่อนคลายได้ คือ “ศิลปะ”
กิจกรรมศิลปะบำบัด (Art Therapy)* เป็นการจัดกระบวนการให้ผู้เข้าร่วมได้มีโอกาสทำงานศิลปะที่หลากหลาย โดยผู้เข้าร่วมกิจกรรมไม่จำเป็นต้องมีทักษะ หรือความสามารถทางศิลปะมาก่อน และงานศิลปะที่ทำไม่เน้นความสวยงาม กิจกรรมหนึ่งที่น่าสนใจคือ การให้ผู้เข้าร่วมกิจกรรมระบายสีเล่าเรื่องราว “ชีวิต” ของตนด้วยสีน้ำ สีอะครีลิค บนกระดาษโดยอิสระ ต่างคนต่างทำงานศิลปะของตนอย่างตั้งใจ หลายคนทำผลงานออกมาสวยจึงภูมิใจ และบางคนยอมรับว่าเครียดเมื่อเริ่มทำเพราะไม่ถนัดงานศิลปะ แต่เมื่อเห็นผลงานตนเองแล้ว รู้สึกดีและชื่นชม
แต่ขั้นตอนของกิจกรรมนี้ยังไม่จบ เมื่อวิทยากรขอให้ทุกคน “ฉีก” ผลงานของตนเอง โดยฉีกตรงกลางภาพและค่อยๆ ฉีกเป็นชิ้นเล็กชิ้นน้อย ผู้ร่วมกิจกรรมบางคนฉีกได้ทันที แต่หลายคนลังเล อิดออดที่จะฉีก หลังจากนั้นให้สร้างสรรค์ผลงานจากกระดาษชิ้นเล็กชิ้นน้อยของภาพที่ฉีกไปขึ้นมาใหม่ โดยใช้อุปกรณ์ต่างๆ อาทิ กาว เศษผ้า ลูกปัด ริบบิ้น กระดาษสี ฯลฯ ที่แจกเพิ่มให้ หลังผลงานเสร็จสิ้น บางคนยังเสียดายภาพวาดแรกของตน พยายามประกอบสร้างขึ้นใหม่ให้ใกล้เคียงเรื่องราวเดิม บางคนชอบผลงานที่สร้างขึ้นทีหลังมากกว่า ชอบการเสริมเติมแต่งขึ้นมาเป็นงานชิ้นใหม่ แต่ละคนมีความรู้สึกแตกต่างกันไป
* ขอขอบคุณเป็นพิเศษสำหรับข้อมูลจากคุณเพ็รชลดา ซึ้งจิตสิริโรจน์ วิทยากรผู้เชี่ยวชาญด้านศิลปะบำบัด ส่วนสำคัญที่ผู้เข้าร่วมกิจกรรมเรียนรู้และสะท้อนออกมาพบว่า เขาได้เปรียบเทียบ การฉีก เหมือนกับการทำลายชีวิตทั้งหมดที่สร้างขึ้น (ภายใต้ภาพวาดชิ้นแรก) เกือบทุกคนรู้สึกเสียใจ เจ็บ หัวใจสลาย และเสียดาย แต่ก็ได้เรียนรู้ว่าเหมือนกับชีวิตจริงที่ต้องเจออุปสรรค ไม่มีความแน่นอน ต้องสะดุด ต้องพลาดบ้าง และเมื่อได้สร้างผลงานอีกครั้ง ทำให้พบว่ามันคือ “โอกาส” ที่จะเริ่มต้นใหม่ และมีหลายคนยอมรับว่าชอบผลงานชิ้นที่สองมากกว่าภาพวาดที่ฉีกไป การทำงานศิลปะมีส่วนทำให้เราอยู่กับตัวเองในปัจจุบัน ช่วยปลดปล่อยความรู้สึกค้างคาใจที่ไม่อาจระบายเป็นคำพูดได้ ได้เรียนรู้การคลี่คลายอารมณ์ออกมาโดยไม่ต้องเปิดเผยถ้อยคำใด งานศิลปะยังเป็นการเชื่อมตัวตนภายในออกมาเป็นผลงานที่เป็นรูปธรรม นำไปสู่การเข้าใจ ยอมรับ และเปลี่ยนแปลงตนเอง ในแง่มุมที่หลากหลายขึ้น นอกจากนี้ยังเป็นเครื่องมือสำคัญและเหมาะต่อการเยียวยาจิตใจให้ผู้ดูแลที่เหนื่อยหรือท้อแท้จากงานที่หนัก รวมทั้งนำไปประยุกต์กับผู้ป่วย ญาติผู้สูญเสีย หรือเพื่อนร่วมงานต่อไปได้ |