Error message

  • Deprecated function: Methods with the same name as their class will not be constructors in a future version of PHP; views_display has a deprecated constructor in require_once() (line 3066 of /home/budnetorg/domains/budnet.org/public_html/sunset/includes/bootstrap.inc).
  • Deprecated function: The each() function is deprecated. This message will be suppressed on further calls in menu_set_active_trail() (line 2385 of /home/budnetorg/domains/budnet.org/public_html/sunset/includes/menu.inc).

ก่อนวันพ่อออกเดินทาง

-A +A

           พ่อเป็นคนไข้โรคไตระยะสุดท้ายและจากไปในห้องไอซียูแล้ว ด้วยภาวะติดเชื้อในกระแสเลือดเมื่อวันที่ ๓ พฤศจิกายน ๒๕๕๘ ฉันและพ่อได้เรียนรู้อะไรหลายอย่างเกี่ยวกับความจริงของชีวิต พ่อได้มอบช่วงเวลาของการตายที่งดงามที่สุดในความรู้สึกให้แก่ฉัน เมื่อมองย้อนดูประสบการณ์ครั้งนั้นผ่านบันทึกหน้าเฟซบุ๊กของฉันเอง ฉันมองเห็นเส้นทางการเรียนรู้ที่อาจพอเป็นประโยชน์ต่อผู้ดูแลผู้อื่นในวาระสุดท้ายของชีวิต 

           ครั้งหนึ่งเมื่อปีก่อน (๒๕๕๗) วันที่เพื่อนรักไม่อาจไปงานเผาศพของหนุ่มคนรักได้ ฉันเต็มใจอย่างยิ่งที่จะเป็นตัวแทนเพื่อนส่งมอบความรักในช่วงเวลาสุดท้ายก่อนร่างกายจะสลายไปในเตาไฟ ฉันเป็นดวงตาแทนเพื่อนมองหน้าชายหนุ่มด้วยความรู้สึกว่าจะไม่มีโอกาสนี้อีกแล้ว ครั้งนั้นฉันอิ่มใจที่ได้ทำหน้าที่แทนเพื่อนรัก ผ่านไปเกือบปี ฉันเพิ่งเข้าใจถึงความหมายของการไปงานศพเมื่อกลางปีที่ผ่านมานี้เอง ฉันบันทึกไว้ว่า

           ๑๐ มิ.ย. ๕๘

           วันก่อนเพื่อนสนิทเล่าให้ฟังว่า หนึ่งปีแล้วที่ไม่เคยดูรูปถ่ายงานศพของคนใกล้ตัว ดังนั้นความทรงจำที่มีต่อเขาถูกหยุดไว้ก่อนที่เขาจะเสียชีวิต ขวบปีที่ผ่านมาเขาจึงยังคงโลดแล่นอยู่ในความคิดคำนึงเหมือนยังมีชีวิตอยู่ กระทั่งผ่านไปเกือบปีถึงมีโอกาสเห็นภาพถ่ายในงานเผาศพอย่างไม่ได้ตั้งใจ เพื่อนฉันสะดุ้งใจว่าร่างกายเขาสลายไปในเตาไฟแล้ว เขาไม่มีชีวิตอยู่แล้ว ฉันผู้อยู่ในงานศพวันนั้นด้วยบอกกับเพื่อนว่า งานศพเป็นเหมือนช่วงเวลาที่เราได้เป็นประจักษ์พยานของการจากไป และในเวลาเดียวกัน ก็เป็นช่วงเวลาหลายชั่วโมงของใจเราในการยอมรับความเป็นจริงตรงหน้า ถึงการเดินทางจากภพภูมินี้สู่ภพภูมิถัดไปอย่างไม่มีวันย้อนกลับมา…

           การเรียนรู้เรื่อง “การเป็นประจักษ์พยานของความจริง” นี้ ช่วยฉันได้มากเมื่อฉันต้องอยู่กับความจริงเรื่องการเจ็บป่วยของพ่อ พ่อมีอาการไตเสื่อมมาหลายปี มีการพบหมอโรคไตประจำสม่ำเสมอ จนเมื่อภาวะไตเสื่อมเริ่มเข้าสู่ระยะท้าย พ่อเริ่มฟอกไตเป็นครั้งแรก เมื่อ ๒๐ ส.ค. ๕๘ ทำการฟอกสัปดาห์ละ ๒ ครั้ง และเพิ่มเป็นสัปดาห์ละ ๓ ครั้ง โดยพี่สาวคนโตของฉันเป็นคนที่ดูแลพ่ออย่างใกล้ชิดเพียงคนเดียว เพราะเป็นเดือนที่ฉันต้องเดินทางต่างจังหวัดทำงานอย่างไม่ขาดสาย ทำได้เพียงแวะเยี่ยมสัปดาห์ละครั้ง ด้วยความรู้สึกผิดที่ไม่ได้อยู่ดูแลพ่ออย่างที่ตั้งใจ

           ๒๒ ส.ค. ๕๘ 

           ระหว่างขับรถเดินทางไปหาป่าป๊า คนข้างตัวเล่าให้ฟังว่า "ลูกเกิดมาเป็นของขวัญของพ่อแม่ ให้คอยดูแลเอาใจใส่ และพ่อแม่เมื่ออายุ ๗๐ ก็จะกลายเป็นของขวัญของลูก ให้ลูกได้ดูแลเอาใจใส่" ช่วงเดือนนี้เป็นเวลาที่จักรวาลส่งแบบฝึกหัดมาให้ ว่าเราจะสามารถดูแลของขวัญชิ้นสำคัญนี้ได้แค่ไหน

           วันก่อนเชียงใหม่ วันนี้อยุธยา พรุ่งนี้สัตหีบ กับการดูแลของขวัญจากจักรวาล ชีวิตกำลังบอกอะไรเรา? ขอบคุณไช้ที่เดินทางอยู่ข้างกัน

           เรื่องเล่าของไช้ทำให้ฉันเรียนรู้ที่จะวางใจว่าการดูแลพ่อไม่ใช่ภาระ แต่เป็นการดูแลของขวัญที่มีความหมาย และเป็นเรื่องท้าทายว่าเราจะทำได้ดีแค่ไหน

           ๒๘ ส.ค. ๕๘

           “เมื่อมองลงมายังผืนแผ่นใจ-ในเช้าวันสารทจีน”

           ใกล้หกโมงเช้า ฉันตื่นมาก็พบว่าป่าป๊าไม่อยู่ที่เตียงนอน ตั่วเจ้พาป่าป๊าไปฟอกเลือดที่ศูนย์ไตเทียมแล้ว นี่เป็นการฟอกครั้งที่ ๔ ของการฟอกถาวรตลอดชีวิต ส่วนฉันทำหน้าที่ขับรถพาหม่าม้าไปซื้อกระเพาะปลามาไหว้สารทจีน และอาหารเช้าหลาน ระหว่างทางหม่าม้าพึมพัมว่า ป่าป๊าเหมือนเด็กไม่ยอมกินข้าว ชอบทำเป็นอ๊วก อย่างกับเด็กๆ ฉันหวนถึงสิ่งที่ได้ยินเมื่อวานว่า ถ้าทำให้กินแล้วไม่กิน อย่าหวังว่าจะทำให้กินอีก ฉันจุกอกพูดไม่ออกเพราะเข้าใจความรู้สึกของทั้งหม่าม้าและป่าป๊า

           พอกลับถึงบ้าน ฉันช่วยหม่าม้าตั้งโต๊ะไหว้หน้ารูปอากงอาม่า หลานชายวัย ๘ ขวบ เห็นขนมกุ๋ยช่ายก็บอกเสียงดังเลยว่าชอบๆ ทอดกรอบๆ ชอบๆ ฉันเลยบอกว่าเย็นนี้เลิกเรียนแล้วกลับมานะ เดี๋ยวให้อาโกวทอดกรอบๆ ให้กิน แถมอาม่าตั้งใจเก็บพิซซ่าหน้าที่ชอบไว้ให้ด้วยนะ แต่ระหว่างที่หาถุงเท้า หลานเงยหน้าขึ้นมาสบตาแล้วถามฉัน

           หลาน: เย็นนี้ไปกับแม่ได้ป่าววว?

           ฉัน: อ้าว แล้วไม่กลับมากินกุ๋ยช่ายกับพิซซ่าหรอ?

           หลาน: กิน แต่ไปซื้อเอาข้างนอกก็ได้

           ฉันงงไปครู่หนึ่ง แล้วก็เข้าใจขึ้นมาทันทีว่าหลานเลือกที่จะอดกินของชอบ เพื่อแลกกับการได้ไปนอนกับแม่ในทุกคืนวันศุกร์ถึงอาทิตย์ เพราะเมื่อวานถูกตั่วโกวชวนให้อยู่กินแล้วค่อยไปหาแม่วันอื่น ฉันพยักหน้าอย่างไว

           ฉัน: ได้ซี อยากไปกับแม่มากกว่าช่ายป่าวววว แต่เดินไปบอกอาม่าหน่อยนะ อาม่าจะได้รู้กัน

           หลานรีบเดินไปบอกอาม่าในครัว

           หลาน: อาม่าาาา เย็นนี้ไปกับแม่ได้ป่าววว? หม่าม้าเปิดประตูโผล่จากครัว 

           หม่าม้า: ให้แม่มาส่งที่นี่ก่อน มากินกุ๋ยช่ายกับพิซซ่าก่อน แล้วค่อยให้แม่พากลับบ้านแม่

           ฉัน: คราวหลังมีอะไรให้บอกอาม่านะ อาม่าช่วยหาทางออกให้ได้ อย่างนี้ดีมั้ย

           หลานหน้าบานกระโดดลิงโลดไปใส่ถุงเท้ารองเท้าไปโรงเรียน เพราะได้กินของชอบและได้ไปนอนกับแม่อย่างที่ตั้งใจ หลังจากหม่าม้าจัดการอาหารเช้าให้เด็กนักเรียนเสร็จ ก็มาง่วนกับการไหว้ต่อ

           หม่าม้า: จะรีบอาบน้ำจะได้ไหว้เจ้าก่อน ส่วนไหว้อากงอาม่าสายหน่อยก็ได้

           ฉันอาบน้ำและเก็บกระเป๋าเตรียมเดินทางขึ้นเชียงใหม่เป็นเที่ยวที่สามในรอบเดือนนี้ ฉันหิ้วเป้ คอมพ์ กระเป๋าลงมาข้างล่าง หม่าม้าบอกว่าจะเดินไปบ้านน้องชายที่ไม่ไกลนักเพื่อช่วยดูความเรียบร้อยของการไหว้บ้านนั้น ขณะหม่าม้ากำลังตั้งท่าจะออกบ้าน แต่ก็หันกลับมาลาขนมกุ๋ยช่ายที่รีบไหว้แต่เช้ามาทอดให้ฉันเป็นอาหารเช้าและลาขนมไข่มาให้ฉันกินกับกาแฟ แล้วหม่าม้าก็รีบจ้ำๆ ออกจากบ้านไป

           เหลือเพียงฉันกับอาหารเช้าและความเงียบในบ้าน ในความเงียบและไร้การเคลื่อนไหวของใคร 

           ฉันมองตามหลังแม่ไวไว ฉันเห็นความรับผิดชอบอย่างเต็มที่ของแม่คนหนึ่งที่มีต่อทุกคนในบ้าน ฉันมองกระเพาะปลาของโปรดของพ่อ ฉันเห็นความทุกข์ของพ่อที่ไม่สามารถกินของชอบได้อีกแล้ว ฉันมองขนมกุ๋ยช่ายของโปรดของหลาน ฉันเห็นการตัดสินใจไม่กินของชอบเพื่อแลกกับการได้ไปนอนกับแม่ ฉันมองตัวเองที่จ้าละหวั่นกับการเดินทางตลอดเดือน ฉันเห็นความกังวลและความอึดอัดในวิธีจัดการเรื่องไม่ยอมกินข้าวของพ่อ ฉันเห็นความรู้สึกผิดที่ตัวเองไม่ได้อยู่ดูแลพ่อ

           ในความเงียบ ฉันมองโต๊ะไหว้ ฉันเห็นความสุขความทุกข์ของคนในบ้านไหลเวียนวนผลัดกันไม่ขาดสาย ในห้วงคำนึงบนเครื่อง ฉันมองพื้นล่าง ฉันเห็นผืนดินคละเคล้าหมู่เมฆอย่างไม่อาจมองแยกจากกันได้

           “สุขทุกข์ต่างอยู่ในหนึ่งเดียวกัน” ความสงบที่มากพอให้เราได้เห็นและตระหนักรู้ในความจริงตรงหน้า เป็นเรื่องสำคัญ ฉันมักสร้างโอกาสให้ตัวเองได้อยู่กับความสงบภายใน เมื่อ ๒๔ ก.ย. ๕๘ ฉันใช้วิธีระลึกถึงความหมายของภาพภูเขาและเมฆที่ฉันเคยถ่ายไว้ ฉันบันทึกไว้ว่า “เช้าตรู่นี้ขอระลึกถึงความมั่นคงของภูเขา ความโปร่งเบาของปุยเมฆ” ๒๙ ก.ย. ๕๘ ขณะนั่งเครื่องกลับจากหาดใหญ่ ฉันสงบ ฉันเห็น และบันทึกว่า “ท่ามกลางเรื่องราวมากมายบนพื้นโลก แสงงามยังคงปรากฏบนท้องฟ้า” ความจริงของธรรมชาติเหล่านี้ช่วยวางใจฉันให้ตั้งมั่นท่ามกลางวิกฤติของชีวิตในเดือนถัดมา ที่ฉันเลือกใช้เวลาเกือบทั้งหมดอยู่ข้างๆ เตียงพ่อ

           ๘ ต.ค. ๕๘

           สัปดาห์ก่อนติดดูแลพ่อ อดตามไปเจอครู(อาจารย์ประมวล เพ็งจันทร์)ที่สวนโมกข์กรุงเทพฯ ครูยังอุตส่าห์ฝากคนใกล้ตัวโทรมาบอกฉันฟังไปก็หูอื้อไป พอจับความได้บ้างว่า

           "เวลาของพ่อก็เหลือตามความจริงของชีวิต เราต้องยอมรับทุกอย่างที่พ่อเป็น และไม่เห็นประโยชน์ของการเปลี่ยนแปลงความจริงของร่างกาย ถ้าเป็นคนหนุ่มสาวเราก็จะเห็นการเติบใหญ่แข็งแรงขึ้น แต่สำหรับร่างกายพ่อ ขอให้ใช้เวลาที่เหลืออยู่ ให้พ่อมีความสุขตามสมควรที่แกจะได้รับในช่วงท้ายของชีวิต"

           ฟังจบรู้สึกตื้นขึ้นมา ใจที่หนักก็เบาขึ้นมา รู้สึกขอบคุณคุรุ ที่สอนให้รู้จักวางใจอย่างนี้

           หลังจากยุ่งมาทั้งสัปดาห์ ก็ได้มีเวลานั่งลงบันทึกระหว่างเฝ้าข้างเตียง ...ในวันที่แอดมิตพ่อเข้าโรงพยาบาล...

 

           ๑๓ ต.ค. ๕๘

           ใ น ค ว า ม ส งั ด

 

           ๑๔ ต.ค. ๕๘

           ระหว่างทางของความยากลำบาก แสงงามยังปรากฏบนท้องฟ้า

 

           ๔ พ.ย. ๕๘

           ในวันที่พ่อออกเดินทางต่อ...

           พ่อแอดมิตเข้าโรงพยาบาลได้ ๖ วัน ก็ทรุดย้ายเข้าห้องไอซียู ๒๒ วัน ในระหว่าง ๒๒ วันนี้ พ่อทรุด แล้วพ่อดีขึ้น แล้วก็ทรุดลง ฉันได้เรียนรู้ที่จะอยู่กับความไม่อาจจะคาดเดาได้แบบวันต่อวัน คืนต่อคืน

           คืนที่ ๒ ในห้องไอซียู พี่น้องและแม่ต้องตัดสินใจว่าถ้าพ่อหยุดหายใจจะกระตุ้นหรือไม่ ต้องตัดสินใจว่าจะใส่ท่อช่วยหายใจทางปากหรือไม่ ฉันเลือกไม่กระตุ้นด้วยศรัทธากับการจากไปตามธรรมชาติ พี่ชายผู้ไม่ได้ดูแลใกล้ชิด ขอให้กระตุ้นเพื่อจะได้บึ่งรถมาให้ทันได้บอกลากัน ฉันเลยได้เรียนรู้ว่า การฝืนความตายก็มีความหมายมากกับบางชีวิต

           วันที่ ๙ ในห้องไอซียู เป็นวันที่พ่อฟื้นตัว แข็งแรง สื่อสารได้ว่าอยากกลับบ้าน และหมอกำหนดวันถอดเครื่องช่วยหายใจในอีก ๔-๕ วันข้างหน้า

           วันที่ ๑๐ ในห้องไอซียู พ่อบอกน้องชายเราว่า ให้เอาเสื้อมีกระเป๋า กางเกงเอว ๓๑ และมือถือมาให้ ประมาณสองทุ่มสี่สิบห้า พ่อดึงสายอาหารออกมาจากจมูกได้คืบนึง พยาบาลต้องขอยึดมือไว้กับข้างเตียง ประมาณห้าทุ่ม พ่อดึงสายอาหารและท่อช่วยหายใจออกมาได้สำเร็จ พยาบาลเล่าว่า เข้าใจว่าคุยกันรู้เรื่อง เลยมัดไว้หลวมๆ ที่สุดพยาบาลต้องใส่ท่ออาหารและท่อช่วยหายใจทางปากกลับเข้าไป พ่อระบมแผลในหลอดลมหลายวัน พ่อมีอาการดีขึ้นสลับทรุดลง

           คืนที่ ๒๑ ครบกำหนดที่ต้องปลดท่อช่วยหายเพื่อไม่ทำลายหลอดลม ขณะที่พ่อก็ยังหายใจเองไม่ได้ ไข้สูงมาก พี่น้องและแม่ต้องตัดสินใจอีกครั้ง ว่าจะเจาะคอแทนการใช้ท่อช่วยหายใจทางปากหรือไม่ สี่พี่น้องเลือกที่จะปล่อยให้พ่อได้หายใจกำหนดการมีชีวิตด้วยตัวเอง อีกสองพี่น้องเลือกเจาะคอ เผื่อพ่อมีโอกาสได้ค้นพบความหมายของชีวิตแม้เพียงสิบนาทีก็เอา และเผื่อพ่อมีโอกาสได้บอกว่าพ่อต้องการอะไร รู้สึกอย่างไร สำหรับฉันเลือกให้พ่อเป็นเจ้าของลมหายใจของตัวเอง แต่ผลสรุปของการตัดสินใจคือเลือกการเจาะคอเพื่อไม่ให้ใครที่มีชีวิตอยู่ต้องติดค้างในใจ ซึ่งฉันต้องเป็นคนแจ้งข้อสรุปนี้กับหมอ พรุ่งนี้เช้า

           เช้าที่ ๒๒ ระหว่างรอเจอหมอ แจ้งผลการตัดสินใจว่ายอมเจาะคอ พ่อมีอาการไม่ปกติ ค่าการเต้นหัวใจสูงมาก ไข้สูง ๔๐.๕ ความดันตก ๕๔/๑๗ เที่ยงวันที่ ๒๒ พยาบาลเรียกฉันให้เข้าไปดูพ่อ ฉันเห็นพ่อนอนในท่าที่สบาย ไม่ถูกยกหัวสูงหรือตะแคงตัว พี่พยาบาลค่อยๆ อธิบายว่า หมอให้ยาเพิ่มความดันเข้มข้นเป็นสองเท่า แต่ก็เหมือนไม่มีผลกับความดัน อาหารเหลวที่ให้ไม่ย่อย ตกค้างอยู่ในกระเพาะ ออกซิเจนในเส้นเลือดก็วัดไม่ได้ กำลังพยายามประคบร้อนเผื่อเครื่องอ่านได้ แล้วลองดูตาคุณพ่อนะคะ ตาขวาสู้แสงตาซ้ายไม่สู้แสง เธอบอกขณะฉายไฟไปที่ตาพ่อ ฉันถามว่าหมายความว่าอย่างไร พี่พยาบาลพูดต่อ หมายความว่าตาที่สู้แสงคือประสาทตายังทำงานอยู่ ถ้าไม่สู้แสงคือประสาทตาไม่ทำงานแล้ว เลยอยากให้ญาติมาดูเป็นระยะๆ เธอค่อยๆ บอกความหมายต่างๆ อย่างนุ่มนวล นิ่ง มั่นคง ฉันเข้าใจความหมายทั้งหมดของพี่พยาบาลแล้ว!

           ฉันรีบยกหูโทรบอกตั่วเจ้ที่เดินอยู่แถวโรงพยาบาลให้รีบขึ้นมา ป๊าใกล้จะไม่ไหวแล้ว เธอสื่อสารถึงทุกคนในบ้าน ว่าร่างกายพ่อไม่ไหวแล้วนะ หลังส่งข่าว ตั่วเจ้ ฉัน และไช้เข้าไปอยู่ในห้องกับพ่อ ไช้ชักชวนให้เราสวดมนต์ ๕ บทตามนี้ อิติปิโส พาหุง ชินบัญชร คาถากันภัยสิบทิศ และยันทุน ปิดท้ายด้วยบทแผ่เมตตาที่ได้ยินมาแต่สมัยเป็นนักเรียน ฉันสวดพึมพำตามไปด้วยความรู้สึกมั่นคง สวดเสร็จ ไช้อธิบายความหมายของบทสวดมนต์ให้พ่อฟัง

           - ให้พ่อมีคุณทั้งสามเป็นที่พึ่งในการเดินทางต่อ

           - สรรเสริญบารมี ๘ ประการที่พุทธองค์เอาชนะอุปสรรคต่างๆ

           - เสริมพลังด้วยบารมีของพระพุทธเจ้าและอรหันต์ ๒๘ องค์คุ้มครองภัยในวาระสุดท้ายของชีวิต

           - เชิญคุณพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ จาก ๘ ทิศมาหนุนนำป้องกันพ่อในการออกเดินทาง

           - บทสุดท้ายเพื่อน้อมให้สิ่งติดค้างในใจพ่อให้ได้คลายหายไปในวาระสุดท้าย

           อธิบายความหมายเสร็จ เราทั้งสามรวมถึงพ่ออยู่ในความสงัด

           ฉันเริ่มสังเกตว่ามีเลือดซึมๆ ให้เห็นที่รูจมูกและในลำคอ ฉันเหลียวขึ้นไปมองตัวเลข ค่าการเต้นหัวใจคือ ๑๗ จากที่เคยเห็นต่ำสุดก็แปดเก้าสิบ ฉันหันไปส่งสัญญาณให้ตั่วเจ้ดู และรีบหันกลับไปดูเครื่อง ตัวเลขลดลง ๑๖ ๑๕ . . . ๐ พร้อมเส้นชีพจรกลายเป็นเส้นเกือบตรง ไช้พูดว่า ZERO แล้ว ฉันหันกลับมามองหน้าพ่อ

           เหมือนคนหลับที่ดูสบายตัวกว่าหลายคืนของความเจ็บปวดที่ผ่านมา เหมือนคนที่หลับลึกขึ้น ลึกขึ้น สงบขึ้น จนสงบนิ่ง ฉันยิ้มให้และขอบคุณพ่อ ฉันรู้สึกว่าพ่อเจ๋งมากกก เจ๋งกว่าที่ฉันคิด พ่อจากไปตอนเที่ยงครึ่งพอดี

           เสียงเปิดประตูดังขึ้น คุณหมอหัวใจกระหืดกระหอบเข้ามาจากการโทรตามของพยาบาล ไช้พูดสวนกลับไปว่า เซต ZERO แล้วครับคุณหมอ “อ้าว...กำลังจะมาดูว่าจะกระตุ้นหัวใจให้คุณตามั้ย” ฉันยิ้มตอบคุณหมอว่าไม่เป็นไรค่ะ คุณพ่อไปแล้ว ขอบคุณค่ะ ฉันหันกลับมาอยู่กับพ่อและนึกขอบคุณทุกคนที่ดูแลพ่อ ขอบคุณไช้ ขอบคุณพี่พยาบาลคนสุดท้ายนี้ พี่พยาบาลคนนี้ชมพ่อว่าเก่ง “ปกติรายอื่นจะอ่อนแรงลงๆๆ แต่คุณตามีอาการหิวอากาศ ปากขยับงับเป็นระยะๆ” เหมือนพ่อสู้จนเฮือกสุดท้ายของชีวิต พี่พยาบาลเดินออกไปน้ำตาซึมๆ ฉันรีบเดินตามออกไป เพื่ออยากบอกว่าพี่ไม่ต้องเสียใจ พี่ดูแลพ่อหนูดีมากๆ ดีที่สุดแล้ว หนูขอบคุณพี่มากๆ ขอบคุณจริงๆ

           หลายคนถามว่าฉันเป็นอย่างไรบ้าง ฉันตอบกลับไปว่า ฉันไม่รู้สึกมีอะไรค้างใจ ไม่มีอะไรให้เสียใจ พ่อทำดีที่สุด ฉันทำดีที่สุด เที่ยงถึงเที่ยงครึ่งของวันที่ ๓ พฤศจิกายน ๒๕๕๘ พ่อให้ช่วงเวลาของการตายที่งดงามที่สุดในความรู้สึกฉัน

 

คอลัมน์: