ตะคริว มากกว่าความรำคาญสำหรับผู้ป่วยสูงอายุ
ตะคริว (Cramp หรือ Muscle Cramp) เป็นอาการที่กล้ามเนื้อส่วนใดส่วนหนึ่งหดเกร็งเองอย่างรวดเร็วและค้างอยู่เพียงไม่กี่นาที โดยไม่สามารถสั่งให้กล้ามเนื้อมัดนั้นๆ คลายตัวได้ ส่งผลให้รู้สึกเจ็บเหมือนถูกทุบหรือถูกขยุ้มอย่างแรง และหากขยับเขยื้อนจะเจ็บมากขึ้น
สาเหตุของตะคริวมีหลากหลาย เช่น หนึ่ง ร่างกายขาดน้ำและเกลือ หรือเกลือแร่ในร่างกายไม่สมดุล สอง กล้ามเนื้ออ่อนแอและเกร็งตัวจากการทำงานหรือออกแรงมากและเร็วเกินไป เช่น วิ่งเร็ว หรือแข่งกีฬาหนักๆ โดยไม่อุ่นเครื่องก่อน สาม เลือดไปเลี้ยงกล้ามเนื้อไม่เพียงพอ เช่น อากาศหนาวมาก ใส่ถุงเท้ารัดแน่นมาก ทำให้เลือดไปเลี้ยงปลายเท้าไม่พอ สี่ ความเครียดทำให้กล้ามเนื้อตึงตัวมากเกินไป รวมถึงผลข้างเคียงจากยาลดความดันโลหิต ยาขับปัสสาวะ และยาคุมกำเนิด เป็นต้น
แม้ว่าคนส่วนใหญ่รู้จักตะคริวดี เพราะเป็นอาการพบบ่อย เกิดได้กับทุกคน ไม่ว่าจะเป็นนักกีฬา ผู้ออกกำลังกายเป็นประจำและคนที่ไม่ออกกำลังกาย โดยเฉพาะอย่างยิ่ง “ผู้ป่วยด้วยโรคเรื้อรัง” ดูเหมือนจะเป็นอาการเจ็บปวดที่ไม่ร้ายแรงแต่อย่างใด วิธีการแก้ไขไม่ซับซ้อน สามารถทำได้ด้วยตัวเองหรือให้คนรอบข้างช่วยหาข้อมูลได้ไม่ยากในอินเทอร์เน็ต แต่จากประสบการณ์ของข้าพเจ้าผู้เขียนกลับพบว่า ผู้สูงอายุในละแวกบ้าน รวมถึงผู้เขียนในสมัยก่อนด้วย กลับไม่มีความรู้ในเรื่องดังกล่าว ปล่อยให้ตะคริวรบกวนร่างกาย และจิตใจของตนเอง และผู้ที่เรารักได้อย่างไม่น่าจะเป็น
ผู้เขียนมีประสบการณ์ที่อยากจะบอกเล่า เป็นอาการตะคริวที่เท้าของคุณแม่วัย ๖๖ ปี ของผู้เขียนเอง ท่านมีโรคประจำตัวหลายโรค คือ เบาหวาน ความดันโลหิตสูง และน้ำหนักตัวเกิน แม่บ่นให้ฟังเสมอๆ ว่าเป็นตะคริวตอนนอนมาตั้งแต่ตั้งท้องลูกคนแรก จึงหมายความว่าข้าพเจ้ามีส่วนทำให้แม่เป็นตะคริวตอนที่ท่านอายุเพียง ๑๙ ปี ซึ่งตรงกับข้อมูลว่าอาการตะคริวอาจเกิดกับผู้หญิงระหว่างตั้งครรภ์ได้
ก่อนจะได้ดูแลแม่อย่างจริงจังในช่วง ๕ ปีหลัง ข้าพเจ้ายอมรับว่าไม่สนใจอาการหลายอย่างที่เกิดบ่อยและเกี่ยวเนื่องจากโรคเรื้อรังของแม่มากนัก ไม่ว่าจะเป็นอาการอ่อนเพลีย เสียเหงื่อมาก หิวบ่อย คอแห้ง ตะคริวและปวดหัว จนเมื่อตั้งใจขอเป็นลูกที่จะคอยบริการแม่ เป็นเพื่อนแม่ไปขายของ และทำอาหารให้แม่ทาน ๓ มื้อทุกวัน ข้าพเจ้าจึงเริ่มค้นคว้าหาข้อมูลต่างๆ เพื่อให้สามารถดูแลแม่ได้ด้วยตัวเอง พบว่าการป้องกันตะคริว ต้องมีการดูแลด้านอาหาร เพื่อรักษาความสมดุลของเกลือแร่ การออกกำลังกาย การนวดคลายกล้ามเนื้อเพื่อให้เกิดยืดหยุ่น ส่วนคนที่ไม่มีโรคประจำตัวสามารถทานผลไม้ เช่น กล้วย ส้ม ที่มีโพแตสเซียมสูง ทานนมเพื่อเพิ่มแคลเซียม รวมทั้งการใช้ยาเพิ่มการไหลเวียนของเลือดภายใต้การดูแลของแพทย์ได้
แต่วิธีการทั้งหมดนี้ ไม่เหมาะกับคุณแม่ของข้าพเจ้า เพราะท่านไม่สามารถเพิ่มปริมาณอาหารที่มีแร่ธาตุสูงได้ เนื่องจากจะทำให้ไตที่เริ่มเสื่อมแล้วทำงานหนักขึ้น และหากเป็นตะคริวที่เกิดจากภาวะหลอดเลือดแดงแข็ง ทำให้เลือดไปเลี้ยงขาได้น้อย เช่น ผู้สูงอายุ คนเป็นเบาหวาน ความดันเลือดสูง ไขมันในเลือดสูง หรือสูบบุหรี่จัด ซึ่งมักจะเป็นตอนกลางคืน หรือเวลาอากาศเย็นๆ คงต้องไปขอบัตรคิวพบแพทย์อย่างเดียว
ในช่วงอายุตั้งแต่ ๕๐ ปี แม่จะมีอาการตะคริวถี่มากขึ้น ทำให้ต้องลุกจากเตียง แล้วฝืนใจเดินไปห้องน้ำ เพราะแม่บอกว่า เมื่อเข้าห้องน้ำแล้ว ตะคริวจะหายไป ดังนั้นอาการตะคริวจึงเป็นการรบกวนการนอน ทำให้หงุดหงิดใจและอ่อนเพลียในเวลากลางวัน เนื่องจากแม่เหน็ดเหนื่อยจากการค้าขายนอกบ้านทุกวัน วันละ ๘-๙ ชั่วโมง
เนื่องจากอาการตะคริวไม่สามารถบอกล่วงหน้าได้ว่าจะเป็นเมื่อไหร่ ต่อเนื่องทุกคืนหรือไม่ เมื่อข้าพเจ้าซักถามรายละเอียด แม่จะหงุดหงิดเล็กน้อย เพราะท่านเชื่อว่าแก้ไขไม่ได้ เพราะเป็นมานานแล้ว บางช่วงเป็นทุกคืน ข้าพเจ้ารู้สึกสงสารแม่มาก เพราะข้าพเจ้าเคยเป็นมาบ้าง จึงทราบว่ามันเจ็บ ตึง แข็งมาก ข้าพเจ้าลองแก้ไขตามข้อแนะนำที่พอทำได้มาบ้างแล้ว เช่น ใช้หมอนวางพักเท้าในช่วงนอนสักพัก ผลคือน่องขาแข็ง ตึง เจ็บ หรือการนวดเท้าซึ่งทำให้บางครั้งแม่เป็นตะคริวในคืนนั้น และอารมณ์เสียอีก มีเพียงการสวมถุงเท้าค่อนข้างหนาและขอบสูงถึงน่องเพื่อให้เกิดความอบอุ่นในส่วนน่องจนถึงเท้า โดยไม่รัดแน่นจนเลือดเดินไม่สะดวก ที่พอจะช่วยป้องกันอาการดังกล่าวได้บ้าง แต่ต้องเป็นแบบพื้นฝ่าเท้ามีปุ่มเล็กๆ เพื่อกันลื่นกันล้มจากการลุกเดินเข้าห้องน้ำในช่วงนอนด้วย
คืนหนึ่ง แม่ลุกจากเตียง ตามปกติแม่จะลุกขึ้นจากการนอนด้วย ๒ สาเหตุ คือ เข้าห้องน้ำ หรือเป็นตะคริว การนอนที่นอนนุ่มๆ เป็นเรื่องที่ดีอย่างหนึ่ง คือ คนข้างๆ จะรู้สึกตัวเมื่ออีกคนขยับ ยกเว้นว่าคุณจะขี้เซาอย่างหนัก ข้าพเจ้าเหมือนถูกกดปุ่ม คิดในใจว่าใช่แล้ว แม่เป็นตะคริวแน่ๆ เอาล่ะ คืนนี้ต้องขอลองวิชา
“โอ๊ย...ทำไมแข็งแบบนี้” ข้าพเจ้านึกในใจ เพิ่งเคยสัมผัสตะคริวของแม่เป็นครั้งแรกในชีวิต เท้าและนิ้วเท้าแข็งโป๊กอย่างกับหิน ข้าพเจ้าประคองฝ่าเท้าของแม่ด้วยมือ ค่อยๆ จับนิ้วและฝ่าเท้าให้ตั้งขึ้น แล้วดัดเข้าหาตัว ค่อยๆ ทำอย่างเบาๆ และช้าที่สุด นึกสงสารแม่ ด้วยสัญชาตญาณคิดว่าการดัดต้องอ่อนเบาที่สุด เพราะจะฝืนหักอย่างรุนแรงคงไม่เหมาะ จากสัมผัสแรกที่มีสภาพแข็งโป๊ก ดัดเท้าครั้งที่หนึ่ง ครั้งที่สอง ครั้งที่สาม กว่าเท้าแม่จะอ่อนนุ่มขึ้น การคลายกล้ามเนื้อได้ผล ระหว่างทำ แม่ยังไม่เชื่อว่าจะได้ผล ข้าพเจ้าต้องขอร้องว่าให้รอหน่อยนะ เพราะแม่ร่ำๆ ว่าจะลุกเดิน แล้วเรากลัวท่านจะล้มเพราะการทรงตัวไม่ดี
สรุปว่า คืนนั้นข้าพเจ้าดีใจที่ได้ลองนวดเท้าแก้ตะคริวให้แม่สำเร็จ จึงกำชับท่านว่าให้สะกิดทุกครั้งเมื่อเป็นตะคริว แต่พอเป็นตะคริวจริงๆ แม่ไม่เคยสะกิดเพราะเกรงใจลูก สิ่งที่ท่านทำเสมอๆ คือ ทนเจ็บลุกเข้าห้องน้ำ แม่บอกว่าเมื่อปัสสาวะ อาการตะคริวจะหายไป แต่ความเย็นเหมือนเท้าติดแอร์ (แม่เรียกเอง) ซึ่งเกิดหลังจากแม่รักษาอาการหัวใจล้มเหลวและมีน้ำในปอด เมื่อปี ๒๕๕๔ จะเข้ามาแทนที่
แต่อย่างไรก็ดี ข้าพเจ้าดีใจกับประสบการณ์อันแจ่มชัดนี้ จึงคอยบอกเพื่อนบ้าน หรือผู้สูงอายุหลายๆ ท่านที่รู้จักว่า ให้นวดเท้าแบบนี้ๆๆ เพื่อแก้ไขอาการตะคริวด้วยตัวเอง
ผู้สนใจสามารถค้นคว้าอ่านเพิ่มเติมได้ที่
นิตยสารหมอชาวบ้าน เล่มที่ ๖๒ มิถุนายน ๒๕๒๗, เล่มที่ ๑๐๒ ตุลาคม ๒๕๓๐
https://www.doctor.or.th/ask/detail/1656
http://www.thaijobsgov.com/jobs=57232
http://www.oknation.net/blog/DIVING/2013/03/12/entry-2