Error message

Deprecated function: The each() function is deprecated. This message will be suppressed on further calls in menu_set_active_trail() (line 2385 of /home/budnetorg/domains/budnet.org/public_html/sunset/includes/menu.inc).

A Simple Life ชีวิตคือความจริงใจและเรียบง่าย

-A +A

          เมื่อ พ.ศ. ๒๕๕๕ ภาพยนตร์ฮ่องกงฟอร์มเล็กเนื้อเรื่องเรียบง่ายเรื่องหนึ่ง ชื่อ แค่เธอยิ้ม หัวใจก็อิ่มรัก หรือ A Simple Life กำกับโดย แอนน์ ฮุย (หรือ สวีอันฮุย) ผู้กำกับหญิงมากฝีมือของฮ่องกง ร่วมทุนสร้างและนำแสดงโดยพระเอกภาพยนตร์ที่คนไทยรู้จักกันดีคือ หลิวเต๋อหัว โดยนำโครงเรื่องมาจากชีวิตจริงของ โรเจอร์ ลี ผู้อำนวยการสร้างที่คร่ำหวอดอยู่ในธุรกิจภาพยนตร์ของฮ่องกงมานาน ได้สร้างปรากฏการณ์กวาดรางวัลใหญ่ในวงการภาพยนตร์ฮ่องกงและไต้หวันรวมถึงเวทีประกวดในประเทศอื่นๆ มามากมาย แล้วยังติด ๒๐ อันดับแรกภาพยนตร์ที่ทำรายได้สูงสุดของฮ่องกงประจำปีอีกด้วย 

          เป็นเรื่องของความผูกพันและการดูแลกันและกันระหว่างชุงชุนเถา หรืออาเถา (แสดงโดย เยี่ยเต๋อเสียน) หญิงรับใช้ผู้ซื่อสัตย์ของตระกูลเหลียงมานานถึง ๔ รุ่นกว่า ๖๐ ปี กับลูกชายของตระกูลเหลียงชื่อ โรเจอร์ (แสดงโดย หลิวเต๋อหัว) ที่ยังคงอาศัยอยู่ในฮ่องกง ขณะที่ครอบครัวอพยพไปสหรัฐอเมริกากันหมดแล้ว อาเถาเกิดอาการเส้นเลือดในสมองแตกทำให้ร่างกายเคลื่อนไหวได้ไม่เหมือนเดิม จึงขอลาออกจากงานและเข้าไปอยู่บ้านพักคนชรา เนื่องจากตนเองไม่มีครอบครัว แม้สภาพความเป็นอยู่ที่บ้านพักคนชราจะไม่ดีนัก แต่ดูเหมือนอาเถาพอจะอยู่ได้และมีเพื่อนใหม่ๆ ในบ้านพักคนชราแห่งนั้น เช่น มุ่ยกู ผู้ป่วยโรคไตเรื้อรัง ลุงคิม คนแก่หัวใจหนุ่ม ป้ากัม แม่ซึ่งรักลูกชายที่ไม่เคยดูแลตนเองมากกว่าลูกสาว เป็นต้น 

          โรเจอร์คอยมาดูแลอาเถาอย่างสม่ำเสมอ แต่ต่อมาสุขภาพของอาเถาแย่ลงเรื่อยๆ ด้วยอาการแทรกซ้อนต่างๆ จากที่เคยช่วยตัวเองได้บ้าง ต้องมานั่งรถเข็น เมื่ออาเถากลับไปเยี่ยมบ้านกับโรเจอร์ จึงเห็นว่านายน้อยควรจะจ้างคนรับใช้ใหม่ แต่หาได้ยากมากเนื่องจากเธอต้องการคนที่ทำหน้าที่ได้ดีเท่าที่เธอเคยทำมา แม่ของโรเจอร์เดินทางจากสหรัฐอเมริกามาเยี่ยมอาเถา และคิดจะมอบแฟลตที่ครอบครัวเคยอาศัยอยู่ให้อาเถาไว้พักแทนบ้านพักคนชรา แต่ท้ายที่สุดเส้นเลือดในสมองของอาเถาเกิดแตกอีกครั้งจนเสียชีวิตในที่สุด

          อาเถาคือหนึ่งในผู้อพยพจำนวนมากจากจีนแผ่นดินใหญ่ในช่วงเศรษฐกิจตกต่ำทั่วโลกราวๆ พ.ศ. ๒๔๗๓ (ค.ศ. ๑๙๓๐) ต่อเนื่องมาถึงยุคสงครามจีน-ญี่ปุ่น และยุคสงครามกลางเมืองในประเทศจีน ผู้หญิงจีนจำนวนมากโดยเฉพาะทางตอนใต้ต้องออกหางานทำในต่างแดน เนื่องจากไม่มีงานทำในบ้านเกิด พวกเธอพากันเดินทางออกมายังแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และฮ่องกงเพื่อแสวงหาชีวิตที่ดีกว่าเดิม โดยส่วนมากเลือกหนทางลืมตาอ้าปากโดยการเป็นคนรับใช้ แม้ว่าส่วนใหญ่จะเลือกมาทำงานด้วยตนเอง แต่ยังมีจำนวนไม่น้อยที่ถูกขายมาเป็นคนรับใช้ตั้งแต่ยังเล็ก รวมไปถึงการพัวพันกับเรื่องการค้ามนุษย์ (แต่จะยังไม่กล่าวถึง) 

          อาเถาเดินทางจากแผ่นดินใหญ่เข้ามาทำงานในฮ่องกงอย่างยาวนาน และดูเหมือนว่าเธอจะไม่มีครอบครัวเหลืออยู่ในแผ่นดินใหญ่อีกแล้ว เธอเป็นลูกกำพร้า พ่อบุญธรรมของเธอเสียชีวิตในสงครามจีน-ญี่ปุ่น แม่บุญธรรมจึงส่งเธอมาเป็นคนรับใช้ของตระกูลเหลียง เมื่อเวลาผ่านไปจึงเหลือเพียงตระกูลเหลียงที่เธอทำงานรับใช้อยู่ ที่เธอมีความผูกพันกับทุกคนในครอบครัว นับแต่พ่อแม่ของโรเจอร์ ชารอนน้องสาว เจสันลูกชายของชารอน แต่ที่ผูกพันมากเป็นพิเศษคงไม่พ้นตัวโรเจอร์เอง

          โรเจอร์เป็นผู้อำนวยการสร้างภาพยนตร์ ทำหน้าที่ดูแลการเงินให้กับกองถ่ายทำ เขายังไม่มีครอบครัว เพราะหน้าที่การงานทำให้เขาต้องเดินทางไปในที่ต่างๆ อยู่เสมอ ไม่ค่อยจะได้อยู่บ้าน เมื่อคนอื่นๆ ในครอบครัวพากันย้ายไปอยู่ที่อเมริกาหมดแล้ว อาเถาจึงเป็นเสมือนครอบครัวเพียงคนเดียวที่ยังเหลืออยู่ในฮ่องกง 

          ภาพยนตร์เปิดฉากมาให้เราได้เห็นการดูแลโรเจอร์ของอาเถา ตั้งแต่ภาพอาเถาออกไปจ่ายตลาดอย่างตั้งใจ เมื่อกลับมาห้องพักก็ทำอาหารให้โรเจอร์ซึ่งกำลังจะเดินทางไปทำงานในแผ่นดินใหญ่ จัดโต๊ะอาหาร ตักข้าว เตรียมผ้าเช็ดมือ ผลไม้ เก็บถ้วยชาม โรเจอร์แค่นั่งรอเฉยๆ แถมยังสั่งอาเถาให้ทำอาหารที่เธอคิดว่าไม่ดีต่อสุขภาพของเขา เนื่องจากเคยผ่าตัดหัวใจมาก่อน แต่ที่สุดอาเถาก็ทำให้ด้วยความรักและใส่ใจ 

          ภาพโรเจอร์ที่เราเห็นคือนายน้อยที่นั่งไข่วห้างรอเวลาให้มีคนมาจัดการเรื่องต่างๆ โดยไม่ต้องทำอะไร แต่หลังจากการเดินทางครั้งนั้น โรเจอร์กลับมาพบอาเถานอนหมดสติเนื่องจากเส้นเลือดในสมองแตก โรเจอร์คิดจะหาแม่บ้านมาช่วยงานอาเถา แต่เธอกลับขอลาออกจากงานไปอยู่ที่บ้านพักคนชรา 

          เมื่อโรเจอร์ออกตระเวนหาบ้านพักคนชราให้อาเถา ภาพยนตร์ได้สะท้อนให้เรารับรู้สภาพการดูแลระยะยาวในบ้านพักคนชราของฮ่องกงซึ่งโดยมากดำเนินงานโดยบริษัทเอกชน การคิดค่าใช้จ่ายมีรายละเอียดที่ซับซ้อนตามบริการที่เลือก เช่น ในกรณีต้องการผู้ดูแลเป็นการเฉพาะ ถ้าเลือกผู้ดูแลเป็นแรงงานต่างด้าวค่าใช้จ่ายจะถูกสุด แต่ถ้าเป็นชาวจีนแผ่นดินใหญ่ราคาจะสูงขึ้นระดับหนึ่ง ถ้าเลือกคนที่มีบัตรประชาชนฮ่องกง ราคาจะสูงขึ้นอีก มีการคิดค่าบริการด้านสุขภาพต่างๆ เพิ่มเติม เช่น การนวด การทำกายภาพ หรือการฝังเข็ม ฯลฯ หรือหากจะใช้อุปกรณ์อื่น ต้องจ่ายเพิ่มตามคุณภาพของสินค้า เป็นต้น 

          เจ้าของบ้านพักคนชราในเรื่องบังเอิญเป็นเพื่อนเก่าของโรเจอร์อธิบายให้เขาฟังเพิ่มเติมอีกว่า ธุรกิจบ้านพักคนชราทำกำไรให้เขามาก เนื่องจากฮ่องกงได้กลายเป็นสังคมผู้สูงอายุไปแล้ว เขาได้ขยายสาขาออกไปอีกหลายแห่งจนคิดว่าในอนาคตอาจจะมีมากพอๆ กับร้านสะดวกซื้อ 

          บ้านพักคนชราที่อาเถาไปอยู่มีสภาพค่อนข้างแออัด แบ่งซอยออกเป็นห้องเล็กๆ ไม่มีเพดานและมีเพียงแค่ผ้าม่านแทนประตู เสียงของเพื่อนร่วมบ้านดังออกมาให้ได้ยินอยู่ตลอดเวลา ของส่วนตัวทุกชิ้นต้องติดป้ายชื่อไว้กันหาย เพราะทางบ้านพักจะไม่รับผิดชอบ คนชราที่ช่วยตัวเองไม่ได้ต้องนั่งเรียงแถวเหมือนเด็กๆ ให้พี่เลี้ยงนั่งเก้าอี้ล้อเลื่อนสไลด์ไปมาเพื่อป้อนข้าว คนดูแลมีจำนวนน้อย สภาพของบ้านพักไม่ค่อยสะอาด บางคนที่มาอยู่สามารถทำเรื่องขอการสนับสนุนจากรัฐบาลได้ มีผู้ป่วยเรื้อรังอย่างเช่น ผู้ป่วยโรคไตเข้ามาพักด้วยเนื่องจากไม่มีคนดูแลที่บ้าน คนชราส่วนใหญ่ในบ้านพักมักจะไม่ค่อยมีคนมาเยี่ยม ยิ่งคนที่ได้รับเงินอุดหนุนจากรัฐบาลยิ่งถูกทิ้งลืมไปเลย 

          โรเจอร์บอกคนที่บ้านพักคนชราว่า เขาเป็นลูกบุญธรรมของเธอ อาเถาอยู่ที่นั่นโดยพยายามช่วยตัวเองหลายๆ เรื่อง ด้วยความเป็นคนขี้เกรงใจเธอจึงไม่ต้องการรบกวนโรเจอร์และครอบครัว ไม่ว่าเรื่องทรัพย์สินเงินทองหรือเวลา แม้ว่าเธอจะต้องการให้โรเจอร์มาเยี่ยมบ้างแต่กลับปากแข็งไม่เคยบอกเขา ขณะเดียวกันเธอเองก็แสดงความมีน้ำใจต่อคนอื่นๆ ที่อยู่ด้วยกันในบ้านพักคนชราเสมอ อย่างเช่น อาคิมที่โกหกเธอเพื่อขอเงินไปเที่ยวผู้หญิง แม้เธอจะรู้แต่ไม่เคยปฏิเสธ เพราะเห็นว่านั่นเป็นความสุขในบั้นปลายชีวิตของเขา 

          ฝ่ายโรเจอร์เมื่อไม่มีอาเถาคอยดูแลเหมือนเดิม เขาเริ่มปรับตัวที่จะดูแลตนเองมากขึ้น และพยายามไปดูแลอาเถาให้มากเท่าที่จะทำได้ เขาเริ่มรู้สึกว่าอาเถามีความสำคัญต่อเขามากแค่ไหน บางทีอาจจะมีความหมายไม่น้อยไปกว่าแม่ของเขาเอง เมื่อตอนที่เขาต้องอยู่กับแม่เพียงลำพังตอนเธอมาเยี่ยมอาเถาที่ฮ่องกง แม่ยังรู้สึกว่าเขาทำตัวเหินห่าง ถามคำตอบคำ แตกต่างกับตอนที่เขาอยู่กับอาเถา ซึ่งโรเจอร์แสดงความเป็นตัวของตัวเองออกมา พูดเล่นหยอกล้อกับอาเถาอย่างสบายใจ ในหนังเราจะเห็นได้เห็นโรเจอร์ระลึกถึงสิ่งต่างๆ ที่อาเถาทำให้เขามาตั้งแต่เล็กราวกับแม่คนที่สอง แม้ว่าเธอจะเป็นเพียงคนรับใช้ ตอนที่ครอบครัวของโรเจอร์พาอาเถาไปดูแฟลตหลังเก่าที่ปรับปรุงใหม่เพื่อมอบให้เธอพำนักในบั้นปลายชีวิต โรเจอร์กับน้องสาวได้คุยกันและเธอบอกกับเขาว่า เธออิจฉาเขาเสมอเพราะอาเถารักโรเจอร์มากกว่า พร้อมกับย้ำว่าสิ่งที่โรเจอร์ทำให้กับอาเถาเป็นเรื่องสมควรกับสิ่งที่อาเถาทำให้กับเขาแล้ว เพราะหากโรเจอร์ไม่สำนึกในบุญคุณของอาเถาและดูแลอย่างเต็มที่ อาเถาคงอยู่ลำบากเช่นเดียวกับอีกหลายคนที่อยู่ในบ้านพักคนชรา

          บทบาทผู้ดูแลที่เคยเป็นของอาเถามากว่า ๖๐ ปี ได้สลับกลับมาเป็นของโรเจอร์ แต่หากอาเถาไม่ได้ล้มป่วยลง โรเจอร์อาจไม่เกิดสำนึกว่า ตนเองควรปฏิบัติต่ออาเถาอย่างไรดี มีอยู่ตอนหนึ่งที่เขาบอกกับน้องสาวว่า เมื่อตอนที่เขาต้องผ่าตัดหัวใจ อาเถาคอยดูแลและให้กำลังใจจนเขาผ่านวิกฤตมาได้ คราวนี้เป็นโอกาสที่เขาจะได้ตอบแทนอาเถาบ้าง แต่อาการของอาเถาแย่ลงไปเรื่อยๆ เพราะเส้นเลือดในสมองแตกเพิ่ม ร่างกายไม่ตอบสนอง โรเจอร์ต้องตัดสินใจว่าจะยื้อชีวิตของอาเถาหรือปล่อยให้เธอจากไป แต่ในช่วงเวลาแห่งความเป็นความตาย เขามีงานต้องไปทำ แม้จะทำใจได้ยากแต่เขาเลือกจะไปทำงาน โดยรู้ว่าอาจไม่มีโอกาสได้ดูใจเธอก่อนตาย เพราะเขาบอกหมอว่าไม่ต้องยื้อชีวิตเธอไว้ ปล่อยให้อาเถาจากไปอย่างสงบ

          A Simple Life เป็นเรื่องของคนชราและความตายที่บอกเล่าอย่างเรียบง่าย ไม่มีการใช้เทคนิคมากมาย ไม่มีภาพเหตุการณ์หรือบทสนทนาที่ปรุงแต่งเพื่อบีบคั้นอารมณ์ความรู้สึกของคนดู ไม่มีการประกาศความวิเศษของอุดมการณ์หรือคุณค่าใดๆ ผ่านปากของตัวละคร มีแต่การแสดงออกธรรมดาๆ เหมือนในชีวิตประจำวันของเราทุกคน แต่จังหวะของภาพและการลำดับเรื่องราวทำให้เรารู้สึกถึงความโดดเดี่ยว ความรัก ความกตัญญู และที่สุดคือ ความเป็นมนุษย์อบอวลอยู่ตลอดเรื่อง 

          มีแง่มุมหลากหลายที่เราจะเรียนรู้ได้จากภาพยนตร์ หากแต่สารอย่างหนึ่งที่เราอาจจะรับมาได้ไม่ยากคือ หัวใจของการดูแลอยู่ที่ความรัก ไม่ว่าจะมาจากใครไปสู่ใคร 

 

ตัดทอนและเรียบเรียงจากบทความเรื่องเดียวกัน 
ใน สุขศาลา ปีที่ ๖ ฉบับที่ ๒๓ พ.ศ. ๒๕๕๘
คอลัมน์ หนังกลางแปลง

 

คอลัมน์:

ผู้เขียน: