Error message

  • Deprecated function: Methods with the same name as their class will not be constructors in a future version of PHP; views_display has a deprecated constructor in require_once() (line 3066 of /home/budnetorg/domains/budnet.org/public_html/sunset/includes/bootstrap.inc).
  • Deprecated function: The each() function is deprecated. This message will be suppressed on further calls in menu_set_active_trail() (line 2385 of /home/budnetorg/domains/budnet.org/public_html/sunset/includes/menu.inc).

สร้างเสริมสุขภาวะในระยะท้ายและการตายดี (1)

-A +A


>> ชมภาพกิจกรรม <<

สร้างเสริมสุขภาวะในระยะท้ายและการตายดี (1)
วันที่ 21 พฤศจิกายน 2559

          เมื่อวันเสาร์-อาทิตย์ที่ 21-22 พฤศจิกายน ที่ผ่านมา Peaceful Death มีโอกาสไปร่วมงานน่าสนใจเกี่ยวกับการดูแลผู้ป่วยระยะท้าย ที่โรงแรมเซ็นทรา ศูนย์ราชการฯ แจ้งวัฒนะ ที่สมาคมบริบาลผู้ป่วยระยะท้ายเป็นผู้จัด (www.thaps.co.th) คืองานประชุมวิชาการเรื่อง “สร้างเสริมสุขภาวะในระยะท้ายและการตายดี” เพื่อสื่อสารผลการทำงานในรอบหลายปีที่ผ่านมา ไม่ว่าจะเป็น “การสร้างความตระหนักรู้” เรื่องการตายและสุขภาวะที่ดีในระยะท้ายแก่สังคมวงกว้าง ซึ่งทำงานร่วมกับโครงการความตาย พูดได้ หรือ “การพัฒนาระบบ” บริการสาธารณสุข “การพัฒนาบุคลากรผ่านหลักสูตรการเรียนรู้อย่างเข้มข้น” สำหรับแพทย์ พยาบาล เภสัชกร และจิตอาสา ฯลฯ ตลอดจน “การสร้างและจัดการความรู้” ที่ได้จากการปฏิบัติจริง

          ปรากฏว่ามีคนลงทะเบียนเข้าร่วมงานมากถึง 800 คน จนเต็มห้องประชุมทุกวัน นับว่าเกินความคาดหมายของผู้จัด แสดงถึงความก้าวหน้าในเรื่องดังกล่าวที่น่าจับตามอง ส่วนรายการเสวนาบนเวทีมีความหลากหลายและครอบคลุมประเด็นต่างๆ ที่กล่าวไว้ข้างต้นอย่างน่าสนใจ 

 

(1) “วิถีสู่การตายอย่างสงบ (Path to the Peace)”

          การประชุมเริ่มด้วยการพูดคุยถึงการสื่อสารเรื่องความตายในภาคประชาชน จากประสบการณ์ตรงของคุณอรทัย ชะฟู ผู้ป่วยมะเร็งที่พลิกเปลี่ยนทางจิตใจจากความทุกข์มาเป็นการยอมรับ และเกิดปัญญาในการจัดการกับชีวิต จนสามารถอยู่กับมะเร็งได้อย่างเป็นมิตรมานานนับสิบปี และใช้เวลาที่เหลืออยู่ถ่ายทอดประสบการณ์ดังกล่าวตลอดจนเป็นจิตอาสาคอยช่วยดูแลผู้ป่วยในชุมชน 

          คุณวรรณวิภา มาลัยนวล อาสาข้างเตียง ผู้เรียนรู้ชีวิตจากผู้ป่วยระยะท้าย จนเกิดการเติบโตทางจิตวิญญาณ กระทั่งกลายเป็นจัดกระบวนการเรียนรู้จากความตาย และชักชวนให้ผู้คนมาพูดคุยกันเรื่องความตายร่วมกับโครงการความตาย พูดได้ โดยอาศัยเครื่องมือต่างๆ เช่น เกมไพ่ไขชีวิต และสมุดเบาใจ เป็นต้น ซึ่งทำให้การพูดคุยเรื่องความตายมีความนุ่มนวล แต่สามารถทำให้คนเล่นกลับเข้าไปค้นหาภายในตัวเอง และเกิดการใคร่ครวญว่าจะใช้ชีวิตอย่างไร ด้วยคำถามง่ายๆ เช่น ถ้าคุณป่วยในระยะสุดท้าย คุณอยากให้และไม่อยากให้ใครพาเราเข้าห้องน้ำ เป็นต้น 

          และคุณประสิทธิ วิทยสัมฤทธิ์ นักสื่อสารสร้างสรรค์ กับความพยายามในการสื่อสารต่อผู้คนในสังคมว่า การตายที่ดีไม่ได้มีแค่การนอนโรงพยาบาลอย่างเดียว แต่มีเลือกอื่นๆ อีก เช่น การตายที่บ้านได้ด้วย และเป็นไปได้ที่จะตายอย่างมีความสุข ละมุนละไม เหมือนงานวันเกิด 

 

(2) “นโยบายด้านการดูแลแบบประคับประคอง”

          หลังจากภาคประชาชนเปิดงานประชุมไปแล้ว จึงต่อด้วยตัวแทนจากฝ่ายนโยบาย โดย พญ.ฉันทนา หมอกเจริญพงศ์ ตัวแทนจากสำนักบริหารการสาธารณสุข ฉายภาพรวมการดูแลแบบประคับประคองของไทยจากสายตานานาชาติ พบว่าจากการจัดอันดับการตายดีใน 80 ประเทศทั่วโลก ประเทศไทยอยู่อันดับที่ 44 เพราะยังมีระบบบริการเป็นหย่อมๆ และมีการเข้าถึงบริการ Palliative Care ได้ในระดับที่ต่ำมากๆ เพียงแค่ 0.4 เปอร์เซ็นต์ เนื่องจากมีอุปสรรคหลายอย่าง เช่น ความไม่พร้อมของบุคลากร การเข้าถึงยาแก้ปวดยังทำได้ยาก (มีตัวเลขว่าผู้ป่วยมากถึง 83 เปอร์เซ็นต์เข้าไม่ถึงยาแก้ปวด) เป็นต้น จึงต้องมีงานอีกหลายอย่างที่ต้องทำ ไม่ว่าจะเป็นการแก้ไขกฎระเบียบ การฝึกอบรมบุคลากร ผู้ดูแล รวมถึงบูรณาการระบบบริการสาธารณสุขทุกภาคส่วนเข้าไปในการดูแลที่บ้าน เพื่อดูแลผู้ป่วยสูงอายุซึ่งส่วนใหญ่จะนอนติดเตียงอยู่ที่บ้าน 

          ที่น่าสนใจอีกอย่างหนึ่งแต่ยังไม่ค่อยเข้าใจนัก คือ การมีคณะกรรมการพัฒนาประสิทธิภาพการจัดบริการกรณีเฉพาะ (Central Reimbursement) ที่ครอบคลุมเรื่องการดูแลผู้ป่วยแบบประคับประคองด้วย โดยคณะกรรมการดังกล่าวจะเข้าไปค้นหาจุดอ่อนของระบบบริการ ทรัพยากร และนโยบาย รวมถึงหาแนวทางแก้ไข ซึ่ง Peaceful Death คงจะหาโอกาสนำข้อมูลในรายละเอียดมานำเสนอต่อไป

          ทางด้าน นพ.ชูชัย หาญชำนิ รองเลขาฯ สปสช. กล่าวถึงนโยบายเบิกจ่ายว่า กำลังจัดทำเกณฑ์ผู้ป่วยระยะสุดท้าย และคู่มือการดูแล เพื่อให้สามารถผ่องถ่ายเงินในการผู้ป่วยระยะสุดท้ายจำนวนมาก ลงไปสู่ระบบบริการสุขภาพระดับปฐมภูมิได้ (สอดคล้องกับที่ พญ.ฉันทนา พูดถึงข้างต้น) เช่น การเบิกจ่ายค่าอุปกรณ์ต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นเครื่องฉีดยา เตียงน้ำ เป็นต้น รวมถึงลงไปทำงานกับกองทุนตำบล และกองทุนชุมชนต่างๆ แก้ไขกฎระเบียบที่เป็นข้อติดขัดเรื่องการจ่ายยาแก้ปวด เพื่อส่งเสริมการดูแลผู้ป่วยที่บ้าน เพราะการดูแลผู้ป่วยควรจะอยู่ในชุมชนเป็นหลัก โดยจะทำงานร่วมกับเครือข่ายดูแลสุขภาพระดับอำเภอของกระทรวงสาธารณสุข 

 

(3) “คุณค่าของอาสาสมัคร”

          การดูแลผู้ป่วยระยะท้าย นอกจากบุคลากรทางการแพทย์จะต้องทำงานประสานกันเป็นทีมสหวิชาชีพแล้ว ส่วนหนึ่งของทีมที่จะขาดไม่ได้เลยคือจิตอาสา สมาคมบริบาลฯ จึงมีโครงการพัฒนาผู้ดูแลในครอบครัวและจิตอาสาในการดูแลผู้ป่วยแบบประคับประคอง และได้เชิญตัวแทนทีมพยาบาลกับจิตอาสาจากภาคเหนือและภาคใต้ มาบอกเล่าประสบการณ์การดูแลผู้ป่วยที่บ้านหลังจากผ่านหลักสูตรการอบรมอย่างเข้มข้นของสมาคมบริบาลฯ ไปแล้ว 

          คุณศศธร จันทร์สว่าง พนักงานบริษัท เดินเข้าไปเป็นจิตอาสาของโรงพยาบาลสงขลา เพราะต้องการได้ความรู้มาดูแลผู้สูงอายุในครอบครัว แต่เมื่อได้เข้าไปช่วยดูแล ด้วยการนวด ช่วยฝึกเดิน จัดหาอุปกรณ์ แม้กระทั่งดูแลผู้ป่วยระยะท้าย ไปร่วมงานศพ และเยี่ยมเยียนญาติหลังผู้ป่วยเสียเพื่อให้กำลังใจ เพราะคิดว่าต้องดูแลไปให้ตลอดรอดฝั่ง จนกว่าเขาจะตาย ให้มีคุณภาพชีวิตที่ดี ไม่ถูกทอดทิ้งกลางวัน เป็นความภาคภูมิใจที่การดูแลของเธอทำให้ผู้ป่วยเปิดใจและมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นได้ 

          ที่น่าสนใจคือ คุณจำรัส คำใจ เล่าถึงการทำงานของกลุ่มจิตอาสาโรงพยาบาลชุมชนบ้านธิ เชียงใหม่ ว่ามีความมุ่งมั่นแต่เริ่มแรก รวมกลุ่มกันมาขอเข้าร่วมอบรมการดูแลผู้ป่วยกับสมาคมบริบาลฯ มากถึง 10 คนโดยออกเงินค่าใช้จ่ายเอง โรงพยาบาลเพียงแค่สนับสนุนเรื่องรถเดินทาง ก่อนจะนำความรู้ที่ได้กลับไปทำงานอย่างจริงจัง และขยายเครือข่ายออกไปโดยไม่ต้องใช้ทุน โดยประกาศรับจิตอาสาในชุมชน และสร้างระบบฝึกคนแบบรุ่นพี่ดูแลรุ่นน้อง จนทำให้คนในชุมชนไว้วางใจและเห็นความสำคัญของเรื่องดังกล่าว จึงสามารถระดมทรัพยากรจากในชุมชนมาขยายงานจนจิตอาสาไม่ต้องพึ่งโรงพยาบาลเลย แต่กลับเป็นที่พึ่งให้โรงพยาบาล และเกิดการทำงานร่วมกันเป็นเครือข่าย จนปัจจุบันมีจิตอาสามากกว่า 100 คน รวมถึงพระสงฆ์ด้วย และที่น่าสนใจคือ การสร้างจิตอาสาเยาวชนคนรุ่นใหม่ในชุมชน โดยพาเยี่ยมผู้ป่วยในวันหยุดเรียนที่กำลังดำเนินไปด้วยดี ทำให้ผู้ฟังในห้องเกิดแรงบันดาลใจอย่างมาก

 

(4) “ความรู้ที่งอกงาม”

          การทำงานดูแลผู้ป่วยแบบประคับประคอง ไม่สามารถเรียนรู้เฉพาะจากในตำราได้ แต่ต้องเรียนรู้จากประสบการณ์ตรง แล้วนำมาแลกเปลี่ยนกัน จึงทำให้เกิดความงอกงาม กระบวนการจัดการความรู้เพื่อนำประสบการณ์ที่หลากหลายของแต่ละคนมาแบ่งปันและช่วยสกัดความรู้ออกมาจึงเป็นสิ่งสำคัญ เพราะนอกจากจะช่วยเติมเต็มให้แก่คนทำงานด้วยกันแล้ว ยังทำให้ความรู้เกิดความงอกงามและคนอื่นนำไปใช้ต่อได้ด้วย 

          วิทยากร 3 คนที่ผู้จัดเชิญมาสนทนาบนเวที จึงเป็นผู้มีประสบการณ์ดูแลผู้ป่วยระยะท้ายในแง่มุมที่แตกต่างกัน คือ เป็นแพทย์ พยาบาล และจิตอาสา

          คุณเทวี ไชยเศรษฐ์ พยาบาลวิชาชีพจากโรงพยาบาลสกลนคร นอกจากจะเป็นผู้บุกเบิกงานด้านการดูแลผู้ป่วยแบบประคับประคองแล้ว ยังเป็นผู้ป่วยอีกด้วย เธอพูดถึงเครื่องมืออย่างหนึ่งที่มีประโยชน์ในการดูแลผู้ป่วยระยะท้ายมาก คือ การวางแผนการดูแลรักษาล่วงหน้า (advance care plan) ว่าไม่ใช่เรื่องกายภาพ แต่เป็นเครื่องมือที่ช่วยให้กลับมาถามตัวเองว่าเป้าหมายชีวิตคืออะไร แล้วเวลาที่เหลืออยู่ จะใช้ชีวิตอย่างไร และการเข้าร่วมเวทีจัดการความรู้ ช่วยเติมเต็มความเข้าใจและทำให้เกิดความมั่นใจในการทำงานกับผู้ป่วย

          คุณมนต์ศักดิ์ ชัยวีระเดช สนใจและเข้ามาดูแลผู้ป่วยระยะท้ายในฐานะอาสาข้างเตียงของโครงการเผชิญความตายอย่างสงบ เพื่อเตรียมตัวเองและใช้ในการดูแลพ่อแม่ แต่ทันทีที่ทราบข่าวว่าแม่ป่วยเป็นมะเร็ง เขากลับพบว่าตนเองรู้สึกสั่นสะเทือนกว่าที่คิดมาก และเป็นมาอย่างยาวนานถึง 3 ปี โดยเฉพาะในช่วง 2-3 เดือนสุดท้ายของชีวิตแม่ ที่เขาตัดสินใจเดินทางกลับบ้านที่หาดใหญ่ไปดูแลแม่ทุกอาทิตย์จนท่านจากไป แม้จะเหนื่อยและเจอความกดดันมากมาย แต่เมื่อกลับมาทบทวนตัวเองหลังจากเหตุการณ์ผ่านไปแล้ว เขารู้สึกว่าเป็นการตัดสินใจที่ถูกต้อง เพราะคุณแม่มีความหมายกับตัวเขามากที่สุด 

          แต่จากการเข้าร่วมในเวทีจัดการความรู้กระบวนการคลายโศกในเวลาต่อมา ทำให้เขาพบว่าความตายหรือประสบการณ์ดูแลผู้ป่วยในระยะท้าย จะมีประสบการณ์บางอย่างร่วมกัน แตกต่างกันแค่ในรายละเอียด การได้เล่าหรือแบ่งปันความสุขทุกข์ และความทรงจำดีๆ ให้คนอื่นรับรู้ นอกจากจะช่วยเยียวยาความรู้สึกของตนเองแล้ว ยังทำให้ได้ทบทวนและเห็นมุมมองหลายอย่างที่ไม่เคยเห็นมาก่อน โดยเฉพาะความงดงามที่เกิดกับแต่ละคน

          นพ.ธารินทร์ เพ็ญวรรณ แพทย์เวชศาสตร์ครอบครัว จากมหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ บอกว่าตนเองประทับใจเวทีเสวนาเรื่องตายดีที่บ้าน เพราะงานเยี่ยมบ้านต้องเป็นสหวิชาชีพจริงๆ ทำให้เกิดการต่อยอดความรู้เยอะมาก เช่น เรื่องการคุยกับคนในครอบครัวและผู้ป่วย เป็นต้น ทำให้เกิดความเข้าใจอย่างชัดเจนว่า หัวใจสำคัญของการตายที่ดี คือทีม รวมถึงต้องมีคนในครอบครัวและจิตอาสาในชุมชนคอยดูแลด้วย เพราะผู้ป่วยต้องใช้เวลาส่วนใหญ่อยู่กับบ้าน กระบวนการจัดการความรู้จึงช่วยเติมเต็มหลายอย่าง นอกจากจะทำให้เห็นว่ามีเพื่อนร่วมอุดมการณ์แล้ว ยังได้ความรู้นอกตำราค่อนข้างมาก

          ที่สำคัญ วงจัดการความรู้สามารถเกิดได้ทุกที่ เพียงแค่ หนึ่ง เลือกจากคนมีประสบการณ์ตรง ทำงานจริงๆ ไม่ได้ฟังคนอื่นมาเล่า สอง มีคนที่รู้สึกว่าตนเองมีประสบการณ์บางอย่างที่มีคุณค่าและอยากจะแบ่งปัน ถ้าเพียงแค่มีการเปิดพื้นที่ให้ ความรู้จะถ่ายเทออกมาเองตามธรรมชาติ

 >> อ่านต่อตอนที่ 2

ที่มา:

frontpage: