พระ(สงฆ์)ดี มีอยู่จริง
ระยะเวลาราว ๒ ปีที่เครือข่ายพุทธิกาดำเนินโครงการขับเคลื่อนมิติสุขภาวะทางปัญญาผ่านการดูแลผู้ป่วยระยะสุดท้าย โดยมุ่งสนับสนุนให้พระสงฆ์เข้ามามีบทบาทเป็นผู้ดูแลผู้ป่วยร่วมกับบุคลากรสุขภาพและจิตอาสา ด้วยความเชื่อมั่นว่าพระสงฆ์เป็นกลไกสำคัญหนึ่งในชุมชน และท่านจะมีบทบาทในการเป็นผู้นำด้านสุขภาวะทางปัญญา (จิตวิญญาณ) อีกทั้งมั่นใจว่ายังมี “พระดี” จำนวนมากท่ามกลางกระแสข่าวที่ไม่ดีเกี่ยวกับพระในสังคม
พระสงฆ์เองท่านทราบดีว่าสังคมมีมุมมองต่อท่านอย่างไร พระครูสุทธิวิโมกข์ จากวัดบ้านเฉนียง อำเภอเมือง จังหวัดสุรินทร์ เป็นหนึ่งในพระสงฆ์ที่เข้าร่วมทำงานกับโครงการฯ กล่าวว่า “อยากจะลบภาพพจน์ความเป็นอยู่ของพระบางอย่าง โดยเขาจะมองในลักษณะที่ว่าบิณฑบาต ฉัน แล้วก็นอน ทำอะไรก็ไม่รู้อยู่ในวัด เวลานิมนต์ไปสวดอะไรไม่เคยจะบอกว่าไม่ว่าง เวลาไปรับสังฆทานไม่เคยจะบอกว่าไม่ว่าง (แต่)เวลาเขามีงานอาสาให้ทำ บอกไม่ว่าง เราอยากจะลบภาพพจน์ลักษณะนี้” และเมื่อท่านเข้าร่วมทำงานดูแลผู้ป่วย ท่านก็พบว่าบทบาทนี้เกิดประโยชน์ทั้งต่อสังคมและต่อท่านเอง
“ที่ทำงานทุกวันก็เห็นว่ามันคงจะมีประโยชน์กับตนเองบ้าง อย่างน้อยบุคคลหนึ่งอยู่ในสังคมควรจะมีประโยชน์กับเขา อย่าให้เป็นบุคคลที่ตายไปเปล่าประโยชน์เหมือนกับที่ท่านว่า อย่างน้อยมีความประทับใจ ความรู้สึกของตัวเองรู้อยู่แล้วว่าเราทำอะไร คือว่าจะจุดประกายให้พระสงฆ์มีความตื่นตัว เมื่อเขาว่าพระเป็นกาฝากสังคม พระก็พลิก พลิกตัวมาเป็นกาที่เอาอะไรไปฝากสังคม ไปดูแลผู้ป่วยก็ดีแล้ว มีธรรมะไปฝาก เราไม่มีปัจจัยอะไรไปช่วย อย่างน้อยเป็นบุคคลที่ให้กำลังใจ ไปเยี่ยมเยียนไปเห็นหน้าเห็นตา คือพระไม่ได้ไปสวดกุสะลาธัมมาเวลาตาย แม้ว่าตอนเป็นๆ อยู่ยังมีความเป็นห่วงกัน” (พระครูวิสุทธิโมกข์ เวทีถอดบทเรียนเหลียวหลังแลหน้างาน Palliative Care เครือข่ายจังหวัดสุรินทร์ ๘ มิถุนายน ๒๕๕๙)
ประเด็นสำคัญอีกข้อหนึ่งที่อาจถูกตั้งคำถามคือ การดูแลผู้ป่วยนั้นใช่หน้าที่ของพระ หรือเรียกว่าเป็น “กิจของสงฆ์” หรือไม่ ซึ่งแน่นอนว่าสังคมอาจจะยังไม่คุ้นเคยกับการที่พระสงฆ์มาเยี่ยมผู้ป่วย เพราะเคยเห็นเพียงท่านมารับบาตร รับสังฆทานในโรงพยาบาลบ้าง ทว่าการมาเยี่ยมของพระสงฆ์ท่านๆ ยินดีที่จะเป็นผู้ให้แก่ญาติโยม โดยไม่ต้องการสิ่งใดตอบแทน
“พระทำหน้าที่อนุเคราะห์ญาติโยม ช่วยเสริมเรื่องกำลังใจ ตามหลักธรรมของพระพุทธเจ้า...พระสงฆ์มีบทบาทเป็นผู้นำด้านจิตวิญญาณ โดยเฉพาะแนวทางของพระอาจารย์ไพศาล (วิสาโล) และพระอาจารย์ครรชิต (อากิญฺจโน) ว่าทำอย่างไรให้คนที่ใกล้ตาย ตายอย่างมีสติหรือตายดี ส่วนใหญ่คนป่วยมักจะไม่ตายดี เพราะเขากระวนกระวาย จิตกระสับกระส่าย หลายอย่างยังปลดปล่อยไม่ได้ คือยังห่วงอยู่ ยังกังวลอยู่...ส่วนใหญ่จะปฏิเสธความตาย กลายเป็นตายไม่ดี น่ากลัว ยิ่งน่ากลัวจิตใจเรายิ่งเศร้าหมอง พระสงฆ์เข้าไปก็ช่วยเรื่องกำลังใจ ให้แนวทาง อยู่กับปัจจุบัน จากจิตที่เศร้าหมอง จากทุคติเป็นสุคติได้ เป็นการช่วยอนุเคราะห์ด้วยใจ ไปช่วยโดยไม่ได้หวังอะไร ก็เป็นบทบาทของพระสงฆ์ส่วนหนึ่ง และที่ทำได้เพราะเรามีใจรัก มีเมตตา ที่ทำได้เพราะคิดว่าคนเราเกิดมาก็เป็นเพื่อนร่วมเกิดแก่เจ็บตาย” (พระครูสังฆรักษ์วิเลน วิโรจโน สำนักวิปัสสนาเกษตรใหม่ธรรมธราราม อำเภอสันทราย จังหวัดเชียงใหม่ เวทีถอดบทเรียนเหลียวหลังแลหน้างาน palliative care เครือข่ายจังหวัดเชียงใหม่ ๔ กรกฎาคม ๒๕๕๙)
นี่เป็นเพียงตัวอย่างส่วนหนึ่งของพระสงฆ์ที่สะท้อนบางแง่มุมที่ท่านได้เรียนรู้ ซึ่งโครงการฯ พบว่าท่านเข้าใจ และยินดีอย่างยิ่งต่อบทบาทหน้าที่ส่วนนี้ เป็นการช่วยยืนยันความมุ่งมั่นตั้งใจในการส่งเสริมบทบาทพระสงฆ์ในด้านการดูแลผู้ป่วย และยังช่วยทำให้เห็นว่า พระสงฆ์ในสังคมไทยไม่ใช่เพียง “ผู้สวด” หรือ “ผู้ประกอบพิธีกรรมทางศาสนา” เท่านั้น ท่านยังเป็นผู้ให้ เป็นผู้น้อมนำหลักธรรมให้แก่บั้นปลายชีวิตของผู้คน และเป็นตัวแทนของพระพุทธเจ้าอย่างแท้จริง
คอลัมน์:
ผู้เขียน:
frontpage:
- show