Error message

  • Deprecated function: Methods with the same name as their class will not be constructors in a future version of PHP; views_display has a deprecated constructor in require_once() (line 3066 of /home/budnetorg/domains/budnet.org/public_html/sunset/includes/bootstrap.inc).
  • Deprecated function: The each() function is deprecated. This message will be suppressed on further calls in menu_set_active_trail() (line 2385 of /home/budnetorg/domains/budnet.org/public_html/sunset/includes/menu.inc).

อานิสงส์ของการเตรียมตัวตาย

-A +A

          คุณธวัชชัย โตสิตระกูล นักพัฒนาเอกชนผู้คร่ำหวอดอยู่ในแวดวงงานพัฒนาชุมชนมาอย่างยาวนาน เกิดและเติบโตมาในร้านขายโลงศพอันเป็นธุรกิจของครอบครัว จึงคุ้นเคยกับเรื่องความตาย และได้คติชีวิตบางอย่างติดตัวมาแต่ยังเด็ก แม้ไม่เคยมีประสบการณ์ถึงขนาดเฉียดตายมาก่อน แต่การได้เรียนรู้เรื่องความตายจากการเข้าร่วมอบรมการเผชิญความตายอย่างสงบเครือข่ายพุทธิกา กระทั่งมาเป็นกระบวนกรการอบรมฯ ในเวลาต่อมานานหลายปีเป็นก้าวสำคัญที่ช่วยทำให้เขาได้เรียนรู้และขยายความเข้าใจจนเห็นความสำคัญของการเจริญมรณสติและการภาวนาอย่างจริงจัง โดยนอกจากจะนำมาใช้ในชีวิตประจำวันและส่งผลดีอย่างมากต่อความคิดจิตใจของตนเองแล้ว ยังช่วยให้เขาใช้ในการดูแลทางจิตใจแก่ผู้ที่กำลังจะจากไปและครอบครัวได้อีกด้วยนับเป็นประสบการณ์ที่น่าศึกษาอย่างยิ่งกรณีหนึ่ง

          “บ้านมีอาชีพขายโลงศพ เวลาขายโลง ลูกค้ามักจะขอให้ทำพิธีบรรจุศพใส่โลงด้วย ตอนเด็กๆ จะตามพ่อไปบ่อยมากทั้งที่บ้านและโรงพยาบาล เพราะคนจีนมีประเพณีว่าพอมีคนใกล้ตาย จะไปจองโลงศพและเตรียมตัวเสื้อผ้าแต่งให้ศพไว้ แต่ส่วนใหญ่จะไม่ค่อยรู้เรื่องพิธีกรรม เลยอาศัยร้านขายโลงช่วยทำให้ เลยจะคุ้นชินกับศพ กับเรื่องความตาย เห็นเป็นเรื่องธรรมดาเวลาพูดคุยเรื่องความตาย เวลาเล่นโป้งแปะกับเพื่อนยังเคยไปแอบในโลงที่พ่อยังประกอบไม่เสร็จเลย”

          “จำได้ว่า ตอนเด็กๆ อายุประมาณ ๑๑-๑๒ ขวบ เวลาตามพ่อไปบรรจุศพลงโลง จะมีพิธีป้อนข้าวคนตาย มีอาหาร มีข้าว มีเต้าหู้ และลูกหลานต้องเอาตะเกียบด้านหัว คีบอาหารป้อนให้คนตาย สมมุติว่าเป็นพ่อตาย จะพูดว่า “ป๊า ลื้อฉี่อวตั่วอั้วฉี่ลื่อเหลา” หมายถึง “พ่อเลี้ยงผมจนโต ผมเลี้ยงพ่อตอนแก่” แล้วคีบข้าวคีบเต้าหู้วางไว้ที่ปาก เรายืนดูเกิดความคิดว่า มาป้อนตอนเขาตาย เขากินไม่ได้ ไม่รู้ว่าตอนพ่ออยู่จริงๆ ได้เลี้ยงดูพ่ออย่างที่พูดหรือเปล่า เลยเป็นคติสอนใจตัวเราเองด้วยว่า จะทำดีกับใคร ควรทำกับเขาตอนที่ยังเป็นๆ อยู่ อย่ารอมาทำตอนที่เขาตาย” 

          นั่นเป็นความประทับใจในวัยเด็กที่คุณธวัชชัยยังคงจดจำได้จนถึงวันนี้ ไม่ว่าภาพ เหตุการณ์ หรือความคิดในขณะนั้น

          “ต่อมาในช่วงวัยทำงานใหม่ๆ ตอนอายุ ๒๑-๒๒ มีเพื่อนจากองค์กรที่ใช้สำนักงานร่วมกันเป็นมะเร็งต่อมน้ำเหลืองและเสียชีวิตไป ช่วงใกล้กันนั้นตัวเองไปทำงานที่ปราจีนบุรี แล้วเป็นไข้ มีผื่นคล้ายหัดเยอรมัน ไปตรวจแล้ว หมอก็ไม่สามารถบอกได้ว่าเป็นโรคอะไร แต่ต่อมน้ำเหลืองโตทั่วตัว หวั่นใจว่าเราจะเป็นมะเร็งต่อมน้ำเหลืองเหมือนเพื่อนที่ตายไปก่อนหน้าหรือเปล่า แต่ไม่ได้รู้สึกกลัว พอเป็นครบเดือนแล้วก็หายเอง และเป็นเช่นนี้อยู่ ๓ ปีติดกัน ในช่วงเดือนเดียวกัน

          “แม้โดยทั่วไปจะบอกว่าไม่กลัวตาย แต่ในบางขณะ เวลาทำมรณานุสติหรือคิดถึงความตายก็มีบางแวบที่ใจหายเหมือนกันว่าตัวเองกำลังจะตาย รู้สึกว่าตัวตนจะหายไป 

          “ส่วนประสบการณ์อื่นๆ เกี่ยวกับความตาย ในชีวิตจริง เรามีโอกาสอยู่กับคนขณะกำลังตาย นับได้ ๘ คน เห็นอาการที่คนตายต่อหน้าต่อตา ตั้งแต่คุณตา พ่อกับแม่ ชาวบ้านที่เราดูแลเขา เพื่อนเอ็นจีโอ กับหลังจากที่มาทำอบรมเรื่องการเผชิญความตายอย่างสงบ จะมีคนรู้จักขอให้ไปเยี่ยมดูแลคนป่วยบ้าง บางคนได้ดูแลขณะที่เขากำลังสิ้นใจ แต่ก่อนที่จะมีความรู้เกี่ยวกับการดูแลผู้ป่วยระยะสุดท้าย ไม่ได้รู้วิธีปฏิบัติ เพียงแต่เราได้อยู่ในเหตุการณ์แล้วรู้สึกว่าคนตายเป็นแบบนี้เอง 

          “ก่อนจะศึกษาหาความรู้เรื่องการเผชิญความตายอย่างสงบ ไม่รู้ว่าตัวเองควรทำอะไรให้กับผู้ป่วยที่กำลังจะตาย เพียงแค่อยู่เป็นเพื่อนกัน แต่ไม่รู้ว่าจะต้องดูแลเขาอย่างไร หรือตระหนักว่าจะต้องทำอะไร พอศึกษาแล้ว เรารู้ว่าตัวเองมีส่วนจะช่วยคนตายได้บ้าง ก็ทำตามความรู้ที่เราได้เรียนมา

          “ทัศนคติที่มีต่อความตายโดยเฉพาะหลังจากได้มาทำเรื่องการอบรมเผชิญความตายอย่างสงบ มีผลต่อชีวิตในด้านอื่นๆด้วย ทำให้เราเอาเรื่องมรณานุสติมาใช้ในชีวิตประจำวันอยู่เรื่อยๆ และสังเกตว่ามีความเปลี่ยนแปลง อย่างแรก ปล่อยวางง่ายขึ้น โดยเฉพาะเกี่ยวกับทรัพย์สิน วัตถุ เช่น ตอนกำลังเปลี่ยนโทรศัพท์เมื่อสองวันที่ผ่านมา ข้อมูลหายหมด เมื่อก่อนเวลาข้อมูลหายจะรู้สึกเดือดร้อนมาก เพราะหลายเรื่องเป็นข้อมูลเรื่องงาน เรื่องการติดต่อที่จำเป็น ทำให้เรื่องที่ค้างคาอยู่ต้องเริ่มต้นใหม่ แต่ครั้งนี้ไม่ได้รู้สึกทุกข์ใจ แม้จะรู้สึกเสียดายว่า ไม่น่าจะพลาดเลย น่าจะรอบคอบกว่านี้ น่าจะเก็บข้อมูลไว้ก่อน แต่ก็ปล่อยวางได้เร็วขึ้น เป็นแค่แวบเดียวแล้วหาย ต่างจากเมื่อก่อนที่เวลาทำผิดพลาดแล้วจะอยู่ในใจนาน วางไม่ค่อยได้ 

          “อีกเรื่องหนึ่งที่นานๆ จะเอามาใช้ที คือมีบางช่วงมีปัญหาในงานเยอะ เครียดมาก เวลานอนใจจะคิดจะฟุ้งซ่าน บางครั้งทำให้หลับยาก มีคราวหนึ่งที่ยังจำฝังใจ เรานึกว่าถ้าคืนนี้เราตายจะเป็นอย่างไร แล้วจินตนาการเหมือนว่าเราตายแล้วจริงๆ ปรากฏว่าเรื่องที่แบกไว้หายหมดไปเลย รู้สึกปลอดโปร่งโล่ง ความเครียดหายไปแบบปลิดทิ้งเลย เป็นอีกเหตุการณ์หนึ่งที่ยังจำได้ดีอยู่

          “ส่วนเรื่องเตรียมตัวตาย ได้ทำพินัยกรรมชีวิตตั้งแต่ตอนไปเข้าอบรมเผชิญความตายอย่างสงบ ก่อนจะมาเป็นกระบวนกร เพื่อเป็นการเตรียมตัวเองและอยากสนองงานพระอาจารย์ไพศาล วิสาโล จำได้ว่าเป็นปี ๒๕๕๐ตั้งใจว่าจะผ่อนเบาจากงานประจำทำแค่เพียงเพื่อให้มีรายได้มายังชีพ แล้วขอไปอุปัฏฐากหลวงพี่และใช้ชีวิตอยู่กับพระกับวัดเป็นส่วนใหญ่ ตอนนั้นพักงานสามเดือนไปภูหลง และได้คุยกับหลวงพี่ แต่ท่านบอกว่าไม่ได้ต้องการคนอุปัฏฐาก ถ้าอยากช่วยท่านให้ไปช่วยงานเครือข่ายพุทธิกา เลยเริ่มมาเป็นกระบวนกรในโครงการตายสงบ เพราะตอนนั้นงานอบรมมีเยอะจนทีมกระบวนกรเดิมทำไม่ไหว มีการคุยว่าจะขยายทีมกระบวนกร โดยเตรียมตัวฝึก(กระบวนกรใหม่)แล้วทำร่วมกันก่อนจะแยกสายกันไปทำได้ในเวลาต่อมา

          “หลังจากทำพินัยกรรมชีวิตในช่วงอบรมแล้ว จึงกลับมาเล่าให้ภรรยาและน้องสาวฟัง ไม่ว่าจะเรื่องทรัพย์สิน เรื่องคน เรื่องงานศพของตัวเอง ยิ่งจัดอบรมยิ่งตระหนักว่า ถ้าเราอยากตายดีอย่างที่ต้องการ จะต้องสื่อสารให้กับคนรอบข้าง ครอบครัวรู้ด้วย ถ้าเขาไม่รู้หรือไม่มั่นคงในเจตนาของเรา เราจะถูกจัดการไปตามความนิยมของสังคม เช่น ส่งไปโรงพยาบาลรักษาเต็มที่ ซึ่งบางทีเราอาจจะไม่ต้องการ ถ้าเราป่วยเรื้อรังจนไม่สามารถดำรงชีวิตด้วยตัวเองได้ ต้องอาศัยอุปกรณ์ทางการแพทย์ช่วยหายใจ เราขอตายตามธรรมชาติดีกว่า ไม่ต้องการเทคนิคทางการแพทย์เพื่อยืดชีวิต

          “ส่วนลูกๆ เคยใช้เกมไพ่ไขชีวิตเปิดประเด็นคุย แม้บางทีคำถามไม่ได้ตรงกับสิ่งที่เราจะสื่อทั้งหมด แต่ในเกมมีคำถามนำที่ชวนให้พูดคุยกันต่อได้ อย่างเช่น ถ้าต้องตาย ตอนนี้เป็นห่วงอะไรบ้าง ทำให้ได้พูดว่าจะจัดการเรื่องนี้เรื่องนั้นอย่างไร หรือคิดอย่างไร 

          “อีกเรื่องหนึ่งที่พยายามทำคือ สวดมนต์และภาวนาให้เป็นนิสัย เพราะความตายจะเกิดขึ้นตอนไหนไม่รู้ เราต้องฝึกจิตให้คุ้นเคยกับกุศลจิต ซึ่งการสวดมนต์เป็นแบบหนึ่ง ทำให้ความคิดเรื่องการสวดมนต์เปลี่ยนไปเลย ต่างจากสมัยที่บวชซึ่งคิดว่าเป็นเรื่องเสียเวลา ไม่ได้พัฒนาอะไร สวดแต่บทซ้ำๆ เหมือนนกแก้วนกขุนทอง แต่ตอนนี้รู้สึกว่าการสวดมนต์เป็นการน้อมจิตให้เป็นกุศล ถ้าเราทำบ่อยๆ จะกล่อมเกลาจิตเราให้เป็นกุศลได้ เดี๋ยวนี้ในรถจะมีแต่ซีดีธรรมะ บางทีขับรถไปสวดมนต์ไป ไม่ค่อยกลัวรถติดหรือขับรถนาน เพราะได้ฟังธรรมะไปด้วย บางช่วงเราก็ขับรถไปดูจิตไป อยู่กับปัจจุบัน เลยกลายเป็นว่ารถติดหรือเดินทางมากทำให้เราได้ภาวนามากไปด้วย

          “แต่ก่อนเรารู้สึกว่าชีวิตมีความหมายต่อเมื่อประสบความสำเร็จ เวลาทำงานแล้วมีปัญหาหรือไม่สำเร็จ จะมีทุกข์มาก แต่มาช่วงหลัง ถึงปัญหาในงานจะยังมีอยู่ แต่รู้สึกว่าตัวเองปล่อยวางเรื่องงานได้มากขึ้น เคยทำโรงสีข้าวกับชาวบ้าน มีทั้งช่วงที่สำเร็จและขาดทุน ช่วงที่ขาดทุนมีแต่แย่ไปเรื่อยๆ เพราะไม่เห็นปัจจัยบวก เป็นช่วงที่เครียดยาวๆ เพราะต้องวนอยู่ในปัญหาที่หาทางแก้ไม่ออก ทิ้งก็ไม่ได้ ทำให้ดีขึ้นก็เกินกำลัง ต้องทนอยู่เป็นปีๆ รู้สึกว่าตัวเองไม่มีความสามารถที่จะแก้ปัญหาให้ทะลุไปได้ แต่บางทีพอนอนแล้วนึกถึงเรื่องความตาย จะโล่งหมดเลย เพราะไม่ต้องแบกภาระอีกต่อไปแล้ว แม้จะเป็นความโล่งชั่วคราว แต่เหมือนกับเราได้เรียนรู้วิธีปลดปล่อยตัวเองมากขึ้น ถึงนิสัยเก่าๆ จะกลับมาบ้าง แต่ก็สร้างความทุกข์ไม่ได้มากเท่าเดิม เพราะเรารู้วิธีจัดการแล้ว

          “เคยทะเลาะกับเพื่อนที่ทำงานด้วยกัน บางคนเราทะเลาะกันรุนแรงจนกระทั่งไม่พูดกัน โกรธกัน หรือเบื่อว่าอย่ามาทำงานด้วยกันเลย แต่พอเหตุการณ์ผ่านไป เราก็กลับได้บทเรียนว่าจริงๆ แล้ว ความคิดอ่านที่ไม่ตรงกันไม่สำคัญมากเท่ามิตรภาพ ทำให้เรารู้สึกว่า ถ้ามีความขัดแย้งกัน อย่างน้อยรักษามิตรภาพไว้ดีกว่ายืนยันความคิดที่เราเชื่อว่าถูกต้อง

          “การเป็นกระบวนกรช่วยในเรื่องการอยู่อย่างไรมากกว่าการเตรียมตัวตายอย่างไร เรามักจะแชร์ในที่อบรมเสมอว่า หนึ่ง มันทำให้เราได้ตระหนักเรื่องความตาย และอยากทำดีกับคนใกล้ตัว หรือรักคนรักของเราให้มากขึ้น แม้กระทั่งเรื่องการปล่อยวาง สังเกตตัวเองว่ามีหลายเหตุการณ์ที่เราต้องสูญเสีย ผิดหวัง แต่เราทุกข์น้อยลง หายทุกข์ได้เร็วขึ้น

          “สองสัปดาห์ก่อนชวนเพื่อนรุ่นพี่คนหนึ่งมาเล่นเกมไพ่ไขชีวิต พอดีมีประเด็นแลกเปลี่ยนกันเรื่องการเตรียมตัวตาย แกบอกว่าเตรียมตัวตายอยู่ แต่ไม่แน่ใจว่าหากเกิดความเจ็บปวดทางกายอย่างหนักขณะจะตายจะประคองตัวเองให้ใจมีสติเป็นกุศลได้หรือเปล่า เราเลยแชร์ความรู้สึกส่วนตัวว่า เคยคิดเรื่องนี้เหมือนกัน แต่ไม่กังวล ไม่ห่วงหรือกลัวว่าจิตเป็นอกุศลช่วงที่กำลังจะตาย เพราะห่วงกังวลไปก็ไม่มีประโยชน์ เห็นผู้เข้าร่วมอบรมหลายคนกังวลเรื่องนี้เหมือนกัน คือกลัวว่าความเจ็บปวดทรมานทางกายจะดึงให้ใจทุกข์จนไม่สามารถตั้งสติได้ แต่เรารู้สึกว่าสิ่งนั้นเราควบคุมไม่ได้ สิ่งที่เราควบคุมได้ก็คือการฝึกใจตัวเองให้เกิดกุศลจิตบ่อยๆ เพราะจะเป็นหลักประกันให้ตายดีได้ แต่ถ้าหากจิตจะเป็นอกุศลในขณะตาย ก็คิดเสียว่าไม่เป็นไร เพราะสิ่งดีๆ ที่เราทำไว้ก็จะตามมาให้ผลอยู่ดี เพียงแต่อาจจะช้าหน่อย เราได้แค่ทำเหตุ ฝึกจิตให้คุ้นเคยด้วยการสวดมนต์ คิดกุศลบ่อยๆ และทำดีไป

          “ท่านเจ้าคุณประยุทธ์ (พระพรหมคุณาภรณ์) บอกว่าเวลาคนกำลังจะตาย โดยทั่วๆ ไปสภาพจิตก็จะอยู่ในระดับเดียวกับพื้นจิตของเขา (เกิดจากการทำบางอย่างบ่อยๆ จนเป็นนิสัย) ว่าเป็นกุศลหรืออกุศล เช่น พื้นจิตบางคนขี้โมโห บางคนเป็นคนใจดีมีเมตตา เรามีพื้นจิตอย่างไรขณะตายก็จะเป็นอย่างนั้นแหละโดยส่วนใหญ่ ยกเว้นแต่มีเหตุที่ผิดปกติมากๆ

          “ถ้าเราตระหนักในเรื่องนี้ เราต้องหมั่นสร้างเหตุปัจจัยต่อไป เพราะคุณภาพจิตเป็นเรื่องการสั่งสม โดยการทำบ่อยๆ เลยทำให้เห็นอานิสงส์ของการสวดมนต์

          “สรุปแล้วการเตรียมตัวตายหรือระลึกถึงความตายบ่อยๆ ให้อานิสงส์ ๓-๔ เรื่องคือ หนึ่ง อยากทำดีในขณะที่ยังมีชีวิตอยู่ ไม่ว่าต่อตัวเองหรือคนใกล้ๆ ภาษาพระเรียกว่าไม่ประมาทที่จะทำความดี สอง ความปล่อยวาง ความยึดติด ไม่ว่าจะเป็นของหาย ข้อมูลหาย หรือสูญเสียของรัก เป็นแค่แวบเดียวแล้วปล่อยได้เร็วขึ้นๆ สาม ทำให้เรารู้สึกว่าทุกวันเป็นวันที่โชคดีที่เรายังมีชีวิตอยู่ มีความสุขง่ายขึ้น ไม่ต้องรอให้มีนั่นมีนี่ แค่เรายังไม่ตาย คนที่เรารักยังอยู่กับเรา ทรัพย์สินที่เรามียังอยู่กับเรา ก็ดีแล้ว และสุดท้าย มีหลายครั้งที่เอามาใช้ในลักษณะที่เรามีเมตตาต่อคนอื่นมากขึ้น เพราะบางทีมีคนที่ขัดแย้งหรือโจมตีเรา แต่พอเรารู้สึกว่าถ้าเขาตายไป เราจะสมน้ำหน้าเขาหรือสงสารเขา จะออกไปทางสงสารมากกว่า เลยไม่ค่อยไปผูกโกรธเขา แต่เห็นใจที่เขามีความทุกข์”

 

คอลัมน์:

ผู้เขียน: