Error message

  • Deprecated function: Methods with the same name as their class will not be constructors in a future version of PHP; views_display has a deprecated constructor in require_once() (line 3066 of /home/budnetorg/domains/budnet.org/public_html/sunset/includes/bootstrap.inc).
  • Deprecated function: The each() function is deprecated. This message will be suppressed on further calls in menu_set_active_trail() (line 2385 of /home/budnetorg/domains/budnet.org/public_html/sunset/includes/menu.inc).

ตาย-เป็น (Being Mortal)

-A +A

         ตายเป็น หรือตายให้เป็น ตายให้ดีนั้นทำอย่างไร คุณหมออาทูล กาวานดี ศัลยแพทย์ชาวอเมริกันเชื้อสายอินเดีย ซึ่งทำงานอยู่ในโรงพยาบาลเมืองบอสตัน สหรัฐอเมริกา บอกเล่าในหนังสือ ตาย-เป็น หรือ Being Mortal ถึงกระบวนทัศน์ระบบสุขภาพในการดูแลผู้สูงอายุและผู้ป่วยของสังคมอเมริกัน ฉายภาพให้เห็นถึง "ภาวะใกล้ตาย" "ภาวะชรา" และ "ภาวะเจ็บป่วย" ที่ต้องเผชิญและจัดการดูแล ก็เพื่อที่จะ “เตรียมตัว” ตายให้เป็นนั่นเอง

         จริงๆ แล้วเราต่างไม่เคยตาย เราจึงไม่รู้จักว่าความตายเป็นเช่นไร ทำให้กลัวและหวาดหวั่น แต่หากลองทบทวนดู สิ่งที่เรากลัวอาจเป็นความทุกข์ทรมานก่อนตาย และการสูญเสียตัวตนในวัยชราและในสภาพเจ็บป่วย

         ในภาวะชราและเจ็บป่วย โรงพยาบาลและบ้านพักคนชรา (nursing home) คือสถานที่ที่จัดบริการสำหรับภาวะดังกล่าว แต่ผู้สูงวัยอาจไม่ต้องการใช้ชีวิตที่เป็นระเบียบ มีกำหนดเวลา เพราะเหตุผลเรื่องความปลอดภัยทางสังขารเท่านั้น แต่พวกเขาอาจต้องการอิสระและยังคงคุณค่าในการใช้ชีวิตอยู่ที่บ้านด้วย ในสังคมอเมริกัน สถานที่ใช้ชีวิตโดยได้รับความช่วยเหลือ (assisted living facility) เป็นแนวคิดของ เคเรน บราวน์ วิลสัน (Keren Brown Wilson) ซึ่งค่อยๆ แปลงให้เป็นรูปธรรมในชื่อ พาร์กเพลซ (Park Place) ที่เมืองพอร์ตแลนด์ ที่นี่ผู้สูงอายุที่พิการหรือเจ็บป่วยจะอยู่ในฐานะผู้เช่า ไม่ใช่ผู้ป่วย พวกเขามีห้องส่วนตัว มีครัว และห้องน้ำ พวกเขามีสัตว์เลี้ยงได้ เลือกเฟอร์นิเจอร์เองได้ รวมทั้งเลือกคนและเวลาที่จะให้เข้าไปใน “บ้าน” ของพวกเขาได้ ที่สำคัญพาร์กเพลซยังจัดการเรื่องความช่วยเหลือขั้นพื้นฐานให้ทุกด้าน ทั้งพยาบาล ยา อาหาร ปุ่มกดขอความช่วยเหลือทุกเวลา ผู้สูงอายุจะไม่ถูกตัดขาดจากเพื่อนและโลกภายนอก พวกเขาจะนอนดึกตื่นสายอย่างไรก็ได้ แนวคิดสำคัญคือ ไม่ควบคุมผู้สูงวัยให้ใช้ชีวิตตามตารางเวลา ซึ่งโครงการดังกล่าวพบว่าช่วยเรื่องศักดิ์ศรี ความกระตือรือร้นในการดำเนินชีวิตต่อ และลดทอนสภาพ "เหงา เบื่อหน่าย หดหู่" ที่มักพบได้ทั่วไปในบ้านพักคนชรา

         ส่วนในภาวะใกล้ตาย ระบบการดูแลแบบประคับประคอง (palliative care) ที่จัดให้ที่บ้าน ช่วยลดภาระค่าใช้จ่ายทางการแพทย์เพื่อยื้อชีวิต ในสหรัฐอเมริกา ค่าใช้จ่ายร้อยละ ๒๕ ของระบบประกันสุขภาพสำหรับผู้สูงอายุ ถูกใช้ไปกับผู้ป่วยร้อยละ ๕ ในช่วงปีสุดท้ายของชีวิต ค่าใช้จ่ายสำหรับผู้ป่วยมะเร็งชนิดร้ายแรง จะเพิ่มขึ้นในช่วงท้ายของการรักษา เช่น ผู้ป่วยโรคมะเร็งเต้านมระยะแพร่กระจาย มีค่าใช้จ่ายประมาณ ๙๔,๐๐๐ ดอลลาร์โดยเฉลี่ยในช่วงปีสุดท้ายของชีวิต สูงกว่าค่าใช้จ่ายในการรักษาปีแรก ๓-๔ เท่า ที่สำคัญการดูแลแบบประคับประคองจะมีส่วนช่วยให้ผู้ป่วยได้ตัดสินใจว่าเมื่อวาระนั้นมาถึง เขาจะยินดีจากไปหรือจะสู้ เพื่อที่คนข้างหลังจะได้ไม่ต้องสับสน ช่วยตัดสินใจแทน เพราะผู้ป่วยมะเร็งบางคนตัดสินใจสู้ ยอมรับการผ่าตัดและผลที่ตามมาได้ ขอเพียงให้มีชีวิตต่อเพื่ออยู่กับสิ่งที่รัก เช่น การกินไอศกรีมและดูฟุตบอล ขณะที่ผู้ป่วยบางคนยอมรับการต่อสู้ในบางระดับ หากผลการรักษาเสี่ยงทำให้ต้องกลายเป็นอัมพาต เขาเลือกยอมรับและเตรียมพร้อมที่จะจากไปมากกว่า การตัดสินใจเหล่านี้เป็นความกล้าหาญ และการยอมรับความจริง

         กรณีศึกษาและโครงการต่างๆ ที่ผู้เขียนได้ศึกษาและนำเสนอไว้ในหนังสือเล่มนี้ล้วนน่าสนใจ ตัวอย่างเช่น การทดลองของคุณหมอบิล ธอมัส (Bill Thomas) ที่สถานดูแลผู้สูงอายุเชสเมมโมเรียล ซึ่งนำต้นไม้สีเขียวมาไว้ในทุกห้อง ดัดแปลงสนามหญ้าให้เป็นแปลงผักและสวนดอกไม้ และยังนำสัตว์เลี้ยงเข้ามาอาศัยด้วย โดยปัจจุบัน เชสเมมโมเรียลมีนกแก้วเล็ก ๑๐๐ ตัว สุนัข ๔ แมว ๒ รวมทั้งไก่และกระต่ายอีกฝูง ผลการทดลองนี้ถูกนำมาศึกษาเปรียบเทียบกับสถานดูแลผู้สูงอายุอีกแห่งในบริเวณใกล้เคียงกัน และพบว่าจำนวนการสั่งยาต่อจำนวนผู้สูงอายุของเชสเมมโมเรียลลดลงไปครึ่งหนึ่ง และการเสียชีวิตลดลงร้อยละ ๑๕ คุณหมอทอมัสได้เติม “ชีวิตชีวา” ให้กับที่นี่ สิ่งมีชีวิตทั้งต้นไม้และสัตว์เลี้ยงต่างช่วยเพิ่มความสุขในชีวิตให้กับผู้สูงวัย

         หากบุคลากรสุขภาพหรือผู้ดูแลผู้ป่วย/ผู้สูงอายุได้อ่าน อาจนำมาปรับใช้และทดลองบ้างในสังคมไทย ที่สำคัญจะได้หันกลับมาทบทวนชีวิตของตนอีกสักรอบ

 

คอลัมน์:

frontpage: