ยายผีสาว (ภาค ๒) Ghostgirl
ยายผีสาวภาคแรก จบเรื่องราวด้วยการที่ชาร์ลอต ยายผีสาวภาคแรกของเราในที่สุดภายหลัง การผจญภัยมามากมาย และเธอสามารถยอมรับและเรียนรู้ความหมายการมีคุณค่าในตัวเอง และบทเรียนเรื่องการปล่อยวาง การเสียสละเพื่อคนที่เธอรัก และเพื่อผองเพื่อนส่วนรวมของเธอ เธอและเพื่อนร่วมชั้นเรียน (หลังความตาย) สามารถเดินทางไปภพภูมิที่ดีกว่าต่อไปได้
กระนั้นเรื่องราวยังไม่จบ ภพภูมิที่ดีที่คาดหมาย หาเป็นเช่นนั้นไม่ พวกเธอต้องไปชั้นเรียนถัดไป นั่นคือ การฝึกทดลองงาน (หลังความตาย) ก่อนที่จะไปภพภูมิอื่นต่อไปอีก คราวนี้ผู้เขียนคือ ทอนย่า เฮอร์ลีย์ นำพาผู้อ่านตามติดชีวิตภาคปรภพของชาร์ลอตอีก ในคราวนี้เรื่องราวซับซ้อนขึ้นด้วยการให้วิญญาณของคนเป็นได้เข้ามาทำภารกิจบางอย่างในดินแดนคนตาย ด้วยการตามหาวิญญาณที่หลงทางในดินแดนนี้ขณะที่เจ้าของร่างกำลังอยู่ในภาวะโคม่า แน่นอนพวกเขามีเวลาจำกัด
เรื่องราวภาคสอง เริ่มต้นด้วยดินแดนที่ชาร์ลอตและเพื่อนๆ ได้เดินทางต่อไปนั้น หาใช่ดินแดนในฝันเช่นที่คาดหวังไม่ หากจำได้ ภาคแรกของเรื่องราว พวกเหล่าเด็กตายเหล่านี้ต้องเข้าชั้นเรียนความตายเป็นการศึกษาภาคบังคับ เพื่อเรียนรู้สิ่งสำคัญบางประการก่อนจบภาคการศึกษา ในภาคสอง ดินแดนที่พวกเขาได้ไปต่อ คือ ภาคการศึกษาทดลองงาน ชาร์ลอตและเพื่อนๆ มีหน้าที่รับโทรศัพท์เพื่อพูดคุยสื่อสารกับเหล่าเด็กวัยรุ่นทั้งหลายในโลกคนเป็น ผ่านกระแสเสียงในรูปจิตสำนึกและจิตใต้สำนึกของเด็กวัยรุ่นที่ต้องการความช่วยเหลือ โชคร้ายที่สายโทรศัพท์ของชาร์ลอตมักเงียบงันอยู่เสมอ สร้างความเซ็ง เบื่อหน่ายกับเธออย่างยิ่ง ขณะที่เพื่อนส่วนใหญ่มีสายโทรเข้าแทบตลอดเวลา
ความเบื่อหน่าย ความเซ็งทำให้ชาร์ลอตรู้สึกโดดเดี่ยวมากขึ้นเรื่อยๆ เพื่อนๆ ก็ไม่มีเวลาให้กับเธอเลย ความห่างเหินค่อยๆ กัดเซาะความเชื่อมั่นในมิตรภาพระหว่างเธอกับเพื่อนๆ กระทั่ง เพื่อนใหม่ “แมนดี” ได้เข้ามาในชีวิตมาเป็นเพื่อนสนิทคนใหม่ เพียงแต่เพื่อนคนนี้มีอะไรแปลกๆ
ยายผีสาวภาคนี้ นำเสนอรูปธรรมความสัมพันธ์และบทพิสูจน์ความรัก ความสัมพันธ์ที่เข้มข้นขึ้น เพทูลาตัวร้ายจากภาคแรก สาวแสบผู้หลงภาพลักษณ์ตนเองมีอันต้องตกอยู่ในภาวะโคม่า กายวิญญาณของเธอหลงติดอยู่ในปรภพ ซึ่งหมายถึงหากเวลาเนิ่นนานออกไป เธอก็จะตายในที่สุด น้องสาวของเธอจึงตัดสินใจถอดวิญญาณเพื่อไปดินแดนแห่งคนตาย ขอความช่วยเหลือจากชาร์ลอตเพื่อช่วยกันตามหาวิญญาณของเพทูลา ก่อนที่ทุกอย่างจะสายไป
แต่ละบทตอน ผู้เขียนได้สอดแทรกแง่มุมชีวิตที่สะท้อนแนวคิด ข้อสังเกต ข้อเตือนใจบางประการประกอบในแต่ละบทตอนด้วย ดังเช่นผู้เขียนได้วิเคราะห์ความสัมพันธ์อันห่างไกลระหว่างคนรักที่อยู่ห่างไกลกันว่า สิ่งที่ยากคือ การมีความทรงจำร่วมกันที่เปราะบาง และขาดแคลนความรู้สึกเชื่อมโยงกันที่มีความหมายเท่าที่ควร เรื่องราวการพูดคุยก็น้อยลงเรื่อยๆ ความรู้สึกก็จางคลาย ขณะเดียวกันตัวตนที่แท้จริงกับตัวตนในภาพฝันก็แย่งชิงพื้นที่การรับรู้ของอีกฝ่ายมากขึ้นเรื่อยๆ
หรือในเรื่องการเรียนรู้ ผู้เขียนเน้นย้ำความสำคัญว่า “คุณจะออกมาข้างนอกได้ ก็ด้วยการมองเข้าไปข้างใน” สิ่งสำคัญในภาคนี้คือ ผู้เขียนได้ให้โอกาสกับเพทูลาได้เรียนรู้บางสิ่งที่มีคุณค่าจากประสบการณ์ใกล้ตายคราวนี้ เธอได้พบบางส่วนเสี้ยวของตัวเธอในเวอร์จิเนีย เด็กหญิงที่มีโชคชะตาชีวิตอยู่กับการประกวดความงาม เพทูลาได้เรียนรู้ความรัก ความเสียสละและน้ำใจที่คนรอบตัวมีแก่เธอ ผู้อ่านจะพบว่าเราทุกคนต่างมีศักยภาพที่จะเติบโตทางจิตวิญญาณได้ ดังเช่นการที่เพทูลาได้เรียนรู้คุณค่าของมิตรภาพที่แท้จากการมีเพื่อนที่ดีอยู่รอบตัว คุณค่าและความหมายของคำว่า “ขอบคุณ” “ช่วยเหลือ”
ที่น่าสนใจ ชาร์ลอตในภาคนี้เติบโตและมีวุฒิภาวะมากขึ้น ภายใต้ท่าทีที่ดูคล้ายเหยื่อผู้ไร้ทางสู้ ชาร์ลอตเลือกที่จะซ่อนเร้นความสามารถในการเข้าใจเรื่องราว เข้าใจคนรอบตัว แยกแยะได้ว่าใครคือ มิตร หรือผู้หวังร้าย ภายใต้ท่าทีที่ดูโอนอ่อนผ่อนตาม และที่สำคัญคือ ชาร์ลอตพบว่าแท้จริงชีวิตของเพทูลาเป็นอย่างไร บุคคลที่เธออยากเป็นแท้จริงต้องพบอะไรบ้างกับการอยู่ในภาพลักษณ์และตัวตนแบบเพทูลา ชาร์ลอตได้เรียนรู้ที่จะมีความสุขและพอใจในความเป็นตัวของตัวเอง
ลักษณะการนำเสนอแง่มุม ทัศนคติบางประการของวรรณกรรมเล่มนี้ เป็นลักษณะบอกเล่า ไม่ได้ยัดเยียด ไม่ได้สั่งสอน แต่เป็นเหมือนการบอกกล่าวมากกว่า ดังเช่น เวลาที่เราทำอะไรตามใจตนเอง และพยายามหาเหตุผลเข้าข้างมาสนับสนุน ผู้เขียนก็ไม่ได้ตำหนิหรือมีท่าทีตัดสินว่าถูกหรือผิด เพียงบอกแง่มุมบางอย่างให้เห็นมากกว่า ดังเช่น “ปัญหาก็คือ การใช้จ่ายตามอารมณ์ชั่ววูบมักนำมาซึ่งบทเรียนราคาแพงของผู้ซื้อ”
และสำหรับเรื่องราว ตัวร้ายหรืออุปสรรคเป็นส่วนประกอบสำคัญที่ขาดไม่ได้ แต่ตัวร้ายคราวนี้มาในรูปของบุคคลที่ทำทีเสมือนเพื่อนผู้หวังดี แต่เบื้องหลังมีเจตนาร้ายแฝงอยู่ โลกของวัยรุ่นที่ให้คุณค่ากับการแสวงหาการยอมรับ การมีหมู่คณะชื่นชม มีชื่อเสียงเด่นดัง จึงเป็นช่วงเวลาหัวเลี้ยวหัวต่อ สิ่งสำคัญ คือ การมีเพื่อนที่ดี เหมือนกับมิตรภาพที่ชาร์ลอตมีแก่เพื่อนๆ
โดยรวม ยายผีสาวภาคนี้จึงดูมีท่วงทำนองชีวิตของคนเป็น มากกว่าประเด็นบทเรียนจากความตาย เช่นภาคแรก กระนั้นความน่าสนใจก็ยังมีอยู่เต็มเปี่ยม เพราะชีวิตกับความตายก็อยู่ใกล้กันตลอดเวลา