Error message

  • Deprecated function: Methods with the same name as their class will not be constructors in a future version of PHP; views_display has a deprecated constructor in require_once() (line 3066 of /home/budnetorg/domains/budnet.org/public_html/sunset/includes/bootstrap.inc).
  • Deprecated function: The each() function is deprecated. This message will be suppressed on further calls in menu_set_active_trail() (line 2385 of /home/budnetorg/domains/budnet.org/public_html/sunset/includes/menu.inc).

พลังแห่งจิต

-A +A

 

           จากการอบรมอาสาดูแลผู้ป่วยเรื้อรังและระยะสุดท้าย (อาสาข้างเตียง) มีจิตอาสาบางคนกังวลว่าจะวางตัวอย่างไร และพูดอะไรกับคนไข้ เพราะมีข้อควรระวังเต็มไปหมด เช่น อย่าถามถึงอาการของคนไข้ เพราะจะเป็นการเน้นย้ำให้คนไข้หวนนึกถึงโรคของตัวเอง ไม่ก็เป็นเพราะคนไข้ต้องตอบคำถามพวกนี้ซ้ำๆ มาหลายรอบแล้ว หรือ ระวังเกี่ยวกับการพูดคำว่า “ไม่เป็นไร” เพราะถ้าคนไข้กำลังอยู่ในอารมณ์ที่กำลังซึมเศร้า หงุดหงิดกับอาการของตัวเอง บางทีคำว่าไม่เป็นไร อาจกลายเป็นคำจุดชนวนให้อารมณ์ระเบิดออกมาก็ได้ …

           ทุกคนอยากทำให้ดีที่สุด เพราะ ความใหม่ต่อเรื่องที่ทำ เมื่อผสมรวมกับ ความอยากทำให้ดีที่สุด ทำให้เกิดความกังวล ประหม่า ยิ่งเรากังวล ประหม่า กลัวว่าจะทำไม่ถูกต้อง ก็จะทำให้เราระวังตัว “เกินไป” และนั่นอาจกลายเป็นการ เพิ่มโอกาสที่เราจะทำพลาดโดยไม่ตั้งใจ ให้มากขึ้น

 

           ในการถ่ายทำโฆษณาของแป้งเด็กยี่ห้อหนึ่ง มีตัวแสดงหลักคือ หนูน้อยอายุเพียงสามวัน และดาราสมทบ คือ หญิงชายวัยประมาณ ๒๐-๓๐ ปีซึ่งถูกสมมุติเป็น พ่อแม่ เพราะหนูน้อยนางเอกของเรื่องอายุเพียงสามวัน และฉันเองเป็นคนที่ไปเจรจากับแม่ของเธอที่โรงพยาบาลตั้งแต่เธอเพิ่งลืมตามาดูโลกได้เพียงหนึ่งวัน ทำให้ฉันได้รับโอกาสมาช่วยงานนี้ในฐานะ “พยาบาลกองถ่าย” เพื่อดูแลความสุขสบายและความปลอดภัยสำหรับ “นางเอก” 

           สาวน้อยที่แสดงเป็นแม่ เธอเคยมีประสบการณ์ในการเลี้ยงเด็กเล็กเพราะที่บ้านเปิดเป็น Nursery ในขณะที่หนุ่มน้อยผู้รับบทเป็นพ่อนั้นไม่เคยเลย ไม่มีแม้แต่น้องหรือหลานตัวน้อยให้ดูแลด้วยซ้ำ ท่าทีเขาดูเก้งก้าง สีหน้าตื่นๆ ครึ่งกลัวครึ่งกล้า ทุกครั้งที่ “นางเอก” อยู่ในอ้อมกอดของเขาเป็นต้องหลับหูหลับตาร้องไห้จ้า เป็นเหตุให้ต้องเทคซ้ำๆ ถึงสามครั้ง ในที่สุดผู้กำกับต้องสั่งพักกอง

           “สงสารนางเอกน่ะ” คือ เหตุผลที่ผู้กำกับบอกกับฉัน

           ระหว่างที่ฉันกำลังจัดให้ “นางเอก” ได้หลับพักอย่างสบายนั้น ชายหนุ่มผู้รับบท “พ่อ” ก็เข้ามาเมียงมองอยู่ใกล้ๆ คงอยากจะมาทำความคุ้นเคยกับเธอ สีหน้าของเขาดูละอายปนลำบากใจ 

           “น้องต้องมั่นใจในตัวเองก่อนว่า น้องรักเธอ น้องดูแลเธอได้ ใส่ความเชื่อลงไปในตัวของน้องให้ได้ก่อน แล้วเธอถึงจะมั่นใจ ไม่กลัว ไม่ร้องไห้” ฉันพูดขึ้นลอยๆ โดยไม่เหลียวมา จนเมื่อจัดท่าให้เธอเสร็จจึงได้หันมาสบตาเขา เห็นชายหนุ่มทำสีหน้างงๆ จึงพูดเสริมว่า 

           “ความมั่นใจที่น้องมีจะส่งผ่าน มือ ที่สัมผัสกับตัวเธอ นั่นแหละเธอถึงจะไว้ใจและยอมให้น้องอุ้ม ลองดูสิ แค่บอกตัวเองเบาๆ เท่านั้นแหละว่า น้องรักเธอ น้องดูแลเธอได้ บอกตัวเองก่อนจะเดินไปเข้าฉากกับเธอ” สีหน้าของชายหนุ่มดูลังเล ไม่แน่ใจ แต่ก็ไม่ได้ค้านอะไร

           เมื่อสั่งถ่ายอีกครั้ง แม้ท่าทางที่เขาเดินไปอุ้มเธอจะยังเก้ๆ กังๆ แต่ดูจากแววตาก็รู้ได้ว่า เขามั่นใจมากขึ้น ครั้งนี้เธอยอมให้อุ้ม แถมยังยกมือยกไม้ไขว่คว้า แถมยังมีรอยยิ้ม ส่งเสียงอ้อแอ้ทักทายให้เป็นรางวัลอีกต่างหาก เมื่อสั่งคัท เขาหันหน้ามาทางฉันพร้อมกับรอยยิ้ม …

 

           ที่ห้องพยาบาลแห่งหนึ่ง เจ้าของบริษัทฯ ฝ่ายหญิงเป็นคนเกรี้ยวกราด โมโหร้าย ไม่ได้อะไรดั่งใจก็มักจะโมโหอาละวาดทุกครั้ง และเมื่อทุกอย่างเข้าที่เข้าทาง เธอก็จะสงบลงราวกับไม่เคยมีอะไรเกิดขึ้น คงเพราะเธออาละวาดบ่อยแทบจะเรียกได้ว่าทุกวัน คนในบริษัทฯ ก็เลยจะคอยหลบหน้าเธอกันเสมอ “ป้าติ๋ม” แม่บ้านเล่าให้ฟังว่า เวลาที่เธออยู่บ้าน เธอจะใจดี ยิ้มแย้มแจ่มใส มีน้ำใจ เวลาคนงานที่บริษัทฯ ไปช่วยงานที่บ้านเธอ เธอจะเลี้ยงดูให้อิ่มหนำสำราญ แถมยังให้หอบอาหารที่เหลือกลับไปอีกต่างหาก แต่ถ้าอยู่ที่บริษัทฯ เธอมักจะอาละวาดบ่อยครั้ง ป้าติ๋มเองก็โดนบ่อยจนขยาด ไม่ค่อยกล้าเข้าหน้าเธอ พอเธอเรียกหาก็จะรีบงุดๆ ทำให้แล้วก็จะรีบไป ขนาดว่าพยายามระวังแล้วก็มักจะผิดนิดพลาดหน่อยอยู่ร่ำไป “โดนเอ็ด อาละวาดประจำเลยแหละคุณภัส เฮ้อ” 

           “ลองพูดกับตัวเองซ้ำๆ ทุกวันก่อนนอนดูสิว่า ป้าติ๋มรักเธอ เธอเป็นคนน่ารัก ใจดี” ฉันลองแนะดู เมื่อเห็นป้าติ๋มดูยังลังเล ก็เลยสำทับซ้ำ

           “ป้าติ๋มเองก็เคยบอกไม่ใช่หรือว่าจริงๆ เธอใจดี ก็แค่ลองพูดกับตัวเองดู ไม่เห็นเสียหายอะไรนี่ น่า ดีกว่าไม่ลองนะ” ฉันพูดยิ้มๆ แล้วก็เปลี่ยนเรื่องไป 

           จนผ่านไปกว่าเดือนนับจากวันที่ฉันเจอกับป้าติ๋มครั้งสุดท้าย ฉันได้กลับไปทำงานที่ห้องพยาบาลนั้นอีกครั้ง ป้าติ๋มได้แวะมาขอยาที่ห้องพยาบาล ระหว่างที่รอรับยา เธอก็พูดเชิงเล่าว่า

           “ป้าลองทำดูอย่างที่บอกแล้วนะ ที่บอกให้พูดก่อนนอนว่า รักเธอ รักเจ้านายน่ะ เธอเป็นคนน่ารัก ใจดี แปลกนะ พักนี้เธอไม่ค่อยอาละวาดกับป้า แล้วตอนนี้ป้ายังกล้าที่จะเข้าไปค้นของ จัดห้องให้เธออีกต่างหาก ไม่ต้องคอยหลบหน้าเธอเหมือนก่อน” สีหน้าป้าติ๋มขณะพูดดูสบายใจ มีความสุข

           เวลาเราไปอยู่ใกล้ใครสักคนหนึ่ง ถ้าคนๆ นั้นเป็นคนน่ารัก อัธยาศัยดี แม้จะไม่ได้พูดกัน ไม่ได้มีรอยยิ้มให้กัน เพียงแค่เราบังเอิญมายืนใกล้กัน เราก็จะรู้สึกสบายใจ ไม่อึดอัด ในขณะที่ถ้าเราไปอยู่ใกล้คนที่อารมณ์เกรี้ยวกราด โมโหร้าย แม้เขาจะไม่พูด ไม่มองหน้าเรา ไม่แม้แต่จะสังเกตเห็นว่ามีเราอยู่ตรงนั้นด้วยซ้ำ แต่เราก็จะรู้สึกอึดอัด ไม่สบายใจเลย ทั้งที่ ณ เวลานั้นเขาก็ไม่ได้โกรธ ไม่ได้โมโห ไม่ได้อาละวาดใคร เพียงแต่เขายืนเฉยๆ เท่านั้นเอง

           ในทางกลับกัน … ถ้าเรากลัว ไม่ชอบใครสักคน เมื่อเราเข้าใกล้คนๆ นั้น ความรู้สึกที่อยู่ในใจเราก็จะ แผ่กระจายออก ทำให้เขารู้สึกอึดอัด ไม่ชอบใจ ไม่พอใจเราเช่นกัน

           ฉันบอกกับเพื่อนๆ จิตอาสาว่า “สำรวจตัวเองให้แน่ใจว่า เราทำทุกอย่างด้วยความรัก ความปรารถนาดีต่อเขา บอกกับตัวเองทุกวัน สร้างความมั่นใจว่าทุกอย่างเกิดจากความรัก ความหวังดีอย่างแท้จริง คนไข้จะรับรู้ความรู้สึกนั้นๆ ได้ แล้วเหตุการณ์จะชี้นำเองแหละว่าเวลานั้นเราควรพูด ควรทำอะไร ยังไง”

           และที่สำคัญ ถ้าวันนั้นเราบังเอิญทำอะไรพลาดไป ทบทวนให้แน่ใจว่า ทุกอย่างที่เกิดขึ้นไม่ได้เกิดจากเจตนาของเรา เป็นแค่ความพลาดเท่านั้น ทบทวน แก้ไขสิ่งที่ผิดพลาดในส่วนของเรา แล้วขอบคุณเหตุการณ์นั้นๆ ที่ช่วยสั่งสอน ให้ประสบการณ์ที่ดีแก่เรา ขอบคุณที่ยังให้โอกาสเราได้แก้ตัวอีกครั้ง และเราจะทำครั้งต่อไปให้ดียิ่งขึ้นทุกๆ วัน

 

คอลัมน์: