Error message

Deprecated function: The each() function is deprecated. This message will be suppressed on further calls in menu_set_active_trail() (line 2385 of /home/budnetorg/domains/budnet.org/public_html/sunset/includes/menu.inc).

สติกับยาระงับปวด

-A +A

          …รับสั่งบอกว่าจะตายเดี๋ยวนี้แล้ว แล้วพลิกพระองค์หันพระพักตร์สู่เบื้องตะวันตก รับสั่งบอกอีกว่าจะตายเดี๋ยวนี้แล้ว แล้วก็ทรงภาวนาว่า อรหัง สัมมาสัมพุทโธ ทรงอัดนิ่งไปแล้วผ่อนอัสสาสปัสสาสเป็นคราวๆ ยาวแล้วผ่อนสั้นเข้าทีละน้อยๆ หางพระสุรเสียงมีสำเนียงดังโธๆ ทุกครั้ง สั้นเข้าโธก็เบาลงทุกที ตลอดไปจนยามหนึ่งก็ดังครอกเบาๆ พอระฆังยามหอภูวดลทัศไนย์ย่ำก่างๆ นกตุ๊ดก็ร้องขึ้นตุ๊ดหนึ่ง 

          พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จสู่สวรรคต เวลาเต็มปฐมยาม ท่าบรรทมเมื่อสวรรคตเหมือนกับท่าพระไสยาสน์ในวัดบวรนิเวศฯ พระสรีรร่างกายและพระหัตถ์พระบาทจะได้กระดิกกระเดี้ยเหมือนสามัญชนทั้งหลายนั้น หาบมิได้…[๑]

 

          การครองสติไว้ได้เพื่อระลึกถึงเป้าหมายสูงสุดของชีวิตตามความเชื่อ สิ่งดีงามที่ได้กระทำหรือพบเห็นมา ในช่วงเวลาที่ลมหายใจสุดท้ายของตนเองจะหมดลง เป็นความปรารถนาสูงสุดอย่างหนึ่งของคนไทย ความเชื่อความปรารถนาดังกล่าว ยังคงสืบทอดฝังลึกอยู่ในวัฒนธรรมไทยจนถึงยุคปัจจุบัน ถึงแม้สภาพสังคม ลักษณะความเจ็บป่วย และความก้าวหน้าในการรักษาพยาบาล จะมีความเปลี่ยนแปลงซับซ้อนมากขึ้น ดังบันทึกของคุณหทัยภรณ์ กสิกิจนำชัย บรรยายถึงช่วงเวลาสุดท้ายของบุตรชายวัย ๒๒ ปี ที่กำลังจะจากไปด้วยโรคมะเร็งระยะสุดท้าย

 

          …ลูกฉันปวดจนหน้าเบ้ แต่ไม่ร้องโอดครวญสักนิด ฉันเอามือลูบหลังตรงที่เขาปวดแล้วก็ต้องตกใจ

          “ลูก หลังทำไมน่วมแบบนี้ เฉพาะตรงที่ลูกปวดนิ่มไปหมดเลย” ฉันเริ่มคำนวณเวลา น่าจะเป็นเวลาที่ยาแก้ปวดควรจะออกฤทธิ์แล้ว ทำไมลูกกลับเริ่มมีอาการปวด จะปวดมากๆ ประมาณสองชั่วโมงแล้วหายไป เว้นระยะอีกสองถึงสามชั่วโมงก็กลับมาปวดอีก ยาแก้ปวดไม่ได้ช่วยอะไรได้เลย

          ลูกน่ารักมาก แม้เวลาปวดมากๆ ลูกได้แต่กำมือ กัดฟัน แล้วชกหมอนเบาๆ ฉันหมดทางจริงๆ สงสารลูกมาก… 

          …“มันจะปวดอย่างไรก็ให้มันปวดไป อดทนให้ถึงที่สุดนะลูก ใจเราก็ภาวนาไปเรื่อยๆ พยายามแยกจิตกับแยกกายที่ปวดดูซิว่าจะทำได้หรือเปล่า จิตเราไม่ปวดนะลูก แต่กายเรามันปวดใช่ไหม เพราะมันเหมือนบ้านที่กำลังผุพังแล้ว เมื่อถึงเวลาเราก็ทิ้งมันไป ไปหาเอาใหม่นะลูก อย่าไปเสียดายมัน”…

          …“อย่าร้องไห้ลูก ลูกกำลังจะเข้าเฝ้าพระพุทธองค์ ไม่ต้องห่วงหม่าม้า ไม่ต้องห่วงป่าป๊า และน้อง ทุกคนดูแลตนเองได้ สัตว์โลกเป็นไปตามกรรมนะลูก คิดถึงบุญกุศลที่เราได้ทำมานะ”…[๒]

 

          ความปวดเป็นอุปสรรคหนึ่งของการครองสติ แต่มีคนจำนวนไม่น้อยที่ใช้ความปวดของตนเองเจริญสติ การดูแลรักษาความปวดให้บรรเทาลง ด้านหนึ่งเป็นการช่วยให้ผู้ที่กำลังเผชิญความทุกข์ทรมานมีโอกาสครองสติได้ดีขึ้น แต่ในทางตรงกันข้าม ผลอันไม่พึงประสงค์ของยาระงับปวดบางตัว อาจทำให้ความสามารถในการครองสติลดลง ทำให้มีคนไข้หลายคนปฏิเสธหรือพยายามเลี่ยงการใช้ยาระงับปวดเท่าที่จะทำได้ ดังเช่น คุณสุภาพร พงศ์พฤกษ์ นักเขียนและวิทยากรเรื่องธรรมะกับการเยียวยา ในวัย ๔๖ ปี กล่าวกับเพื่อนผู้ดูแล ขณะตนเองกำลังเผชิญกับความปวดจากมะเร็งที่ลุกลามไปกระดูกในวาระสุดท้ายของชีวิตว่า

 

          “ฉันขอทำสมาธิ สักยี่สิบนาทีก่อนนะ” [๓]

 

          บทความจึงต้องการทบทวนผลกระทบของยาระงับปวดต่อการครองสติ และนำเสนอแนวทางการใช้ยากลุ่มนี้ ในคนไข้ที่ต้องการครองสติขณะเผชิญความทุกข์ทรมานจากความปวด

 

คำว่าสติ

          ในบทความให้ความหมายของ สติ กว้างกว่า ความรู้สึกตัว แต่หมายถึง ความรู้ตัวทั่วพร้อม (awareness) ต่อกระบวนการรู้-คิด หรือ พุทธิปัญญา (cognitive process) และเนื้อหาเหล่านั้นในจิตใจ (content of the mind) ของแต่ละบุคคล ซึ่งจะเอื้อให้เกิดปัญญา สามารถเข้าถึงเป้าหมายสูงสุดของชีวิตตามความเชื่อในพุทธศาสนา

          กระบวนการและความสามารถในการรู้-คิด ประกอบด้วย 

  • การใส่ใจ (attending) 
  • การรับรู้ (perception) การระลึกได้ (remembering) 
  • การคิดอย่างมีเหตุผล (reasoning) 
  • การจินตนาการ (imaging) การวางแผนคาดการณ์ล่วงหน้า (anticipating) 
  • การตัดสินใจ (deciding) การแก้ปัญหา (problem solving) 
  • การสื่อสาร (communicating) 
  • การจัดกลุ่มสิ่งต่างๆ (classifying) และการตีความ (interpreting)

          เนื้อหาของกระบวนการรู้-คิดในจิตใจ ได้แก่ ความคิด ความรู้สึกต่างๆ ต่อสิ่งกระตุ้นภายนอกและภายใน ดังตัวอย่างลุงเชื้อ...คนไข้มะเร็งปอดที่โรคลุกลามไปกระดูกหลายแห่ง กล่าวถึงความรู้สึกและความคิดของตนขณะเผชิญกับความปวด ดังนี้

 

          “เรื่องปวดน่ะ ตอนนี้ความจริงไม่มากหรอกหมอ แต่มันกลัวมากกว่า กลัวว่าพอเป็นหนักแล้วจะปวดทรมานกว่านี้ เหมือนพ่อผมที่เป็นมะเร็งเหมือนกัน ก่อนตาย...แกทรมานจริงๆ ผม...คนเฝ้า ก็ทำอะไรไม่ถูก ได้แต่เอามือลูบตามตัวตามขาให้แกจนไป มันเหมือนมีเจ้ากรรมนายเวรคนเดียวกัน ก็พยายามทำบุญให้เขา ทำแล้วก็…เบาใจขึ้น ไม่ต้องไปคิดถึงมัน”

 

ความปวด

          ความปวด ตามนิยามของสมาคมศึกษาความปวดนานาชาติ (IASP) หมายถึง ประสบการณ์ที่ไม่สบายทั้งความรู้สึกและอารมณ์ ซึ่งเกิดร่วมกับการทำลาย มีศักยภาพ หรือถูกบรรยายประหนึ่งว่ามีการทำลายเนื้อเยื่อของร่างกาย ความปวดจึงขึ้นกับคนไข้แต่ละคน อาจเกิดโดยไม่มีสาเหตุทางกายหรือสิ่งกระตุ้นภายนอก แต่เกิดจากกระบวนการรู้-คิดในจิตใจหรืออารมณ์ก็ได้ แพทย์จึงต้องระมัดระวัง ไม่ประเมินคนไข้ว่าไม่ปวด เมื่อไม่รู้สึกตัว ไม่สามารถแสดงออกหรือสื่อสารกับผู้อื่นทั้งด้วยวาจาและภาษากายแล้ว 

 

ผลของยาระงับปวดต่อการครองสติ

          การศึกษาผลกระทบของยาระงับปวดต่อกระบวนการและความสามารถในการรู้-คิดของคนไข้กระทำได้ยาก เนื่องจากมีปัจจัยหลายด้านที่เกี่ยวข้อง ทั้งจากความปวดหรือตัวโรคเอง และจากการดูแลรักษา ได้แก่ ภาวะที่มีผลกระทบต่อสมองโดยตรงและทางอ้อม เช่น การลุกลามของมะเร็งไปสมอง ฯลฯ ผลของสารเคมีในร่างกาย ผลของสภาพจิตใจและอารมณ์ เช่น ความกังวลและซึมเศร้าเมื่อรับรู้ว่าเป็นโรค ผลของอาการทางกายอื่นๆ เช่น อ่อนเพลียไม่มีแรง รวมทั้งการใช้ยาที่มีผลต่อจิตประสาทอื่นๆ เช่น ยานอนหลับ เป็นต้น 

          สามารถแบ่งการศึกษาผลของยาระงับปวดต่อกระบวนการและความสามารถในการรู้-คิดตามกลุ่มประชากร ได้สามกลุ่ม คือ กลุ่มอาสาสมัครปกติ กลุ่มคนไข้ที่มีความปวดจากโรคที่ไม่ใช่มะเร็ง และกลุ่มคนไข้ที่มีความปวดจากโรคมะเร็ง

แนวทางการใช้ยาระงับปวดในคนไข้ที่ให้ความสำคัญกับการครองสติ 

          การให้ความช่วยเหลือคนไข้กลุ่มนี้ สามารถนำหลักการ สนใจ - เปิดใจ - เข้าใจ - ร่วมใจ - ใส่ใจ ซึ่งเป็น หัวใจของการบริบาลบรรเทา มาเป็นแนวทางดำเนินการ คือ

          สนใจ ควรสนใจพฤติกรรมการใช้ยาระงับปวดของคนไข้ ซึ่งดูได้จากปริมาณการใช้ยาที่มีอยู่เดิม จากแบบบันทึกปริมาณการใช้ยา หรือ พฤติกรรมการขอยาระงับปวดเมื่อมีอาการปวดเป็นครั้งคราว คนไข้บางคนยอมทนปวดและไม่บอกความจริงกับผู้ดูแลหลักหรือบุคลากรสุขภาพด้วยเหตุผลแตกต่างกันไป ความกลัวในผลอันไม่พึงประสงค์ของยาระงับปวด เป็นเหตุผลหนึ่งที่คนไข้ปฏิเสธหรือใช้ยาน้อยกว่าที่ควรจะเป็น ผู้ดูแลหลักและบุคลากรสุขภาพ จึงต้องไวต่อพฤติกรรมลักษณะดังกล่าว อย่าละเลยมองข้ามเมื่อคนไข้ไม่พูดถึง ดังเช่นกรณี ลุงทน...คนไข้ผู้ชายอายุ ๖๒ ปี ที่เป็นมะเร็งลุกลามไปกระดูกสันหลัง เข้ารักษาในโรงพยาบาลด้วยอาการปวดหลัง ต้นขาและหัวเข่าซ้าย ขณะแรกรับอาการปวดมากจนต้องให้มอร์ฟีนชนิดฉีด ก่อนเปลี่ยนมาเป็นชนิดน้ำเชื่อมรับประทานภายหลัง

 

          ด้วยสีหน้าสบายขึ้น คนไข้บอกกับแพทย์เป็นประโยคแรกว่า "ปวดดีขึ้นมากครับหมอ ตอนนี้ได้หลับบ้าง" 

          แพทย์ก็ดีใจที่การรักษาได้ผล แต่ก็ถามต่อ "แล้วตอนนี้ ให้คะแนนเรื่องปวดกี่แต้ม" 

          "สักห้าหรือหกครับ" คนไข้ตอบ เพราะรู้ว่าจะต้องบอกระดับความปวดกับพวกหมออย่างไร

          แพทย์เริ่มสงสัย ความปวดระดับนี้ก็เข้าข่ายปวดปานกลางแล้ว เลยถามต่อ "แล้วกินยาน้ำบ่อยแค่ไหน"

          "ปวดแล้ว ผมก็ขอ" เขาตอบ

          "ต้องขอบ่อยมั้ย พยาบาลไม่เอายามาให้กินตามเวลาหรือครับ" แพทย์เริ่มยิงคำถามเป็นชุด เพราะคาดว่า คนไข้น่าจะได้ยาแบบตามเวลา ไม่ต้องขอ 

          "ปวดที ขอทีครับ" คนไข้ตอบ ยืนยัน

          แพทย์ดูบันทึกการใช้ยา พบว่า คนไข้ใช้มอร์ฟีนชนิดน้ำเชื่อมเป็นครั้งคราว วันละ ๒-๔ ครั้งๆ ละ ๑๐ มก. จึงกลับไปถามคนไข้ใหม่ "ฟังดู รู้สึกว่าลุงก็ยังปวดอยู่ แต่เห็นไม่ค่อยขอยา ตกลงมันยังไงนะลุง"

          "มันดีขึ้น แต่ก็ยังปวด กลางคืนถ้าปวดก็นอนไม่หลับ"

          ความเข้าใจของแพทย์เริ่มเปลี่ยนไปจากเดิม "แล้วลุงขอยาหรือเปล่าครับ"

          "เปล่า"

          “อ้าว...” แพทย์ชักงง เลยย้อนถามไปว่า "ลุงยังกลัว ไม่กล้าใช้ยาแก้ปวดหรือเปล่า" เพราะตอนเจอกันครั้งแรก คนไข้กับภรรยาที่เป็นมะเร็งเต้านม เคยบอกว่า เขากลัวเรื่องติดยาอยู่บ้าง และคิดว่าถ้าใช้ยานี้หมายถึงโรคเป็นหนัก

          "ไม่กลัว หมออธิบายผมแล้ว"

          "ลุง นี่สรุปว่า ลุงยังต้องทนปวดอยู่ใช่มั้ย" แพทย์สรุป

          "ครับ" คนไข้ตอบ "ผมขอโทษคุณหมอด้วย ที่ไม่บอกหมอตามตรง" เสียงคุณลุงเปลี่ยนไป ขอโทษขอโพย

 

          ความสนใจ ยังรวมถึงการให้ความสำคัญกับภูมิหลังของคนไข้ เช่น อายุ ลักษณะนิสัย ความเชื่อหรือการนับถือศาสนา การเข้าร่วมกิจกรรมตามความเชื่อหรือศาสนา และผลกระทบต่อความเจ็บป่วยต่อกิจกรรมเหล่านั้น เป็นต้น นอกจากนั้น ยังควรให้ความสนใจกับปัจจัยอื่นๆ ที่อาจมีผลต่อความสามารถในการรู้-คิดของคนไข้ เช่น ความผิดปกติในสมอง ภาวะเกลือแร่ผิดปกติ สภาพจิตใจและอารมณ์ อาการทางกายอื่นๆ และการใช้ยาที่มีผลต่อจิตประสาท เป็นต้น

 

          เปิดใจ ควรเปิดใจรับฟังความคิด ความรู้สึกของคนไข้ต่อความปวด การใช้ยาระงับปวด ผลข้างเคียงของยาระงับปวด และการครองสติของตนเอง ว่าคนไข้ให้ความหมายกับเรื่องเหล่านี้อย่างไร ให้ความสำคัญกับเรื่องใดมากที่สุด โดยไม่ด่วนตัดสินเสียก่อน จึงจะทำให้ได้ข้อมูลที่สามารถนำมาปรับความช่วยเหลือคนไข้ได้อย่างเหมาะสม โดยไม่ขัดแย้งกับความเชื่อเดิมของแต่ละฝ่าย เพราะความเชื่อและวิธีคิดของคนไข้และครอบครัว อาจแตกต่างตรงกันข้ามกับชุดความคิดของบุคลากรสุขภาพอย่างสิ้นเชิง ดังเช่นกรณี คุณระเบียบ..คุณครูวัย ๕๒ ปี คนไข้มะเร็งเต้านมที่ลุกลามไปกระดูกหลายแห่ง ซึ่งให้เหตุผลกับแพทย์ เมื่อไม่ยอมรับประทานมอร์ฟีนที่แพทย์จัดให้ แต่พยายามทนปวดอย่างถึงที่สุด 

 

          คุณครูให้เหตุผลว่า “มันผิดศีล มันเป็นสารเสพติด พี่รู้สึกว่าตัวเองรับมันไม่ได้ ถ้าไม่ปวดมาก พี่ก็พยายามไม่กิน”

          ลูกสาวที่มาด้วย เสริมว่า “ถ้าแม่ไม่ปวดจนทนไม่ได้ แม่ก็จะไม่กินยาน้ำเลย แล้วพอแม่กิน แม่จะหลับยาว ยาวมาก”

          แพทย์จึงถามกลับว่า “แล้วแม่เขามีอาการหลง สับสน คุยไม่รู้เรื่อยด้วยหรือเปล่า”

          “เปล่าค่ะ”

          แพทย์ถามต่อ “แล้วเวลาหลับ พอตื่นขึ้นมา มีอาการมึน หัวหนักๆ มั้ย”

          “ไม่มีค่ะ” คราวนี้คนไข้ตอบเอง

          “แต่หนูกลัวว่าแม่เขาจะหลับ แล้วไม่ตื่นค่ะ” ลูกสาวบอกความกังวลของตน

          “แล้วน้องทำยังไง” แพทย์ถาม

          “หนูก็เลยลองปลุกแม่” ลูกสาวหยุดพูดชั่วครู่ ก่อนเล่าต่อ “...แล้วแม่ก็ตื่น” 

 

          เข้าใจ ควรแสดงการยอมรับ เข้าใจและให้ความสำคัญกับความรู้สึกและความคิดของคนไข้ สำหรับคนไข้บางคน เช่น คุณระเบียบในตัวอย่างข้างบน การใช้ยาระงับปวดอาจกระทบต่อคุณค่าของตนเองที่ถือปฏิบัติมาตลอดชีวิต ความทุกข์ทรมานทางใจที่เกิดจากการไม่สามารถปฏิบัติในสิ่งที่ตนเองเชื่อหรือสั่งสอนผู้อื่น มีผลกระทบต่อความปวดไม่น้อยไปกว่าพยาธิสภาพทางกาย นอกจากนั้น ยังมีคนไข้ส่วนหนึ่งที่ต้องการ สามารถใช้ความปวด ความทุกข์ทรมานที่เกิดขึ้นกับตนเอง พิจารณาความไม่เที่ยง ความทุกข์ การไม่มีตัวตน จนเกิดปัญญาเข้าถึงเป้าหมายสูงสุดของชีวิตได้อีกด้วย ดังเช่นกรณี ลุงสงบ...คนไข้ผู้ชายอายุ ๖๖ ปี ที่สะท้อนมุมมองของชีวิตตนเองเมื่อเป็นมะเร็งปอด ว่า 

 

          “ความเจ็บไข้เป็นเรื่องธรรมดา ไม่มีใครหนีเรื่องนี้ไปได้หรอกหมอ เวลามันเจ็บ มันปวดขึ้นมา ถ้าเรามัวแต่ดิ้นรน มัวแต่กังวลว่าเมื่อไหร่มันจะเลิกปวด มันจะหายเสียที มันก็ยิ่งทำให้เราปวดมากขึ้น เวลาผมปวด ผมก็รู้ว่าปวด แล้วยอมรับมัน ไม่ผลักไสมันออกไปทั้งเรื่องปวด เรื่องกังวล…” 

 

          อย่างไรก็ตาม ไม่ง่ายนักที่คนไข้ซึ่งไม่มีพื้นฐานการปฏิบัติ หรือไม่ได้ศึกษาคุ้นเคยกับความจริงแห่งธรรมชาติข้อนี้มาก่อนเหมือนลุงสงบ จะสามารถยอมรับความเจ็บไข้ของตนเองได้ โดยเฉพาะเมื่อต้องเผชิญกับความปวดอย่างรุนแรง ดังเช่นกรณี คุณระเบียบ

 

          “ตั้งแต่ไม่สบาย พี่ก็สนใจเรื่องธรรมะมากขึ้น รักษาศีลห้า เนื้อสัตว์พี่ก็ไม่กิน” คุณระเบียบเล่าถึงตนเอง

          “พี่ทำอย่างนั้น เพื่ออะไรครับ” แพทย์ถาม

          “จะได้หาย จะได้ช่วยให้พี่ดีขึ้น …ถ้าเราไม่เบียดเบียนเขา โรคจะได้ไม่เบียดเบียนเรา”

          “แล้วเรื่องรักษาศีลล่ะ” แพทย์ถามต่อ

          “ใจเราจะได้บริสุทธิ์ เข้าถึงธรรมะมากขึ้น” คุณครูตอบ

          “แต่คุณแม่ดูเครียดค่ะหมอ เข้มงวดกับตัวเองมาก…” คราวนี้ลูกสาวแทรกขึ้นมา ลากเสียงยาว

          “พี่รู้สึกเครียดกับมันรึเปล่า” แพทย์สงสัย

          “ก็บางที ยิ่งเวลาปวด… มันก็อดไม่ได้” คุณระเบียบสารภาพ

          “แล้วเวลาพี่ปวด พี่ว่า พี่เข้าถึงธรรมะได้มั้ย” แพทย์ใช้คำเดียวกับคนไข้

          “ไม่เลย เวลาแม่ปวด เอาแต่นอนนิ่งๆ หนังสือธรรมะก็ไม่อ่าน” ลูกสาวตอบแทน

          “มันอ่านไม่ไหว...” ฝ่ายคนไข้เสริม

          “ถ้าอย่างงั้น ผมอยากให้พี่ลองคิดดู ระหว่างปวด กับกินยาแล้วมึน อันไหนทำให้พี่เข้าถึงธรรมะได้ยากกว่ากัน” แพทย์ถาม

          “..ปวด”

 

          นอกจากการแสดงความเข้าใจคนไข้แล้ว ควรช่วยให้คนไข้เข้าใจตนเองมากขึ้น ให้ได้เปรียบเทียบข้อดีข้อเสียของการใช้หรือไม่ใช้ยาด้วยตนเอง รวมไปถึงการอธิบายให้คนไข้เข้าใจมุมมองทางการแพทย์การพยาบาลในเรื่องนี้ด้วยเช่นกัน ประเด็นที่ควรสื่อสารให้คนไข้รับทราบ คือ ความปวดมีผลต่อความสามารถในการรู้-คิด และผลกระทบจากยาระงับปวดไม่ได้เกิดกับคนไข้ทุกคน ส่วนใหญ่จะเกิดกับคนไข้ที่ใช้ยาฉีด คนไข้เพิ่งเริ่มใช้ยา การเพิ่มปริมาณยาต่อวัน ฯลฯ สำหรับการใช้ยาในปริมาณคงที่ระยะหนึ่ง คนไข้อาจเกิดความเคยชินหรือทนทาน ทำให้มีผลต่อเรื่องนี้น้อยลงได้

 

          ร่วมใจ ควรใช้วิธีการดูแลรักษาความปวดหลายๆ ด้านร่วมกัน ทั้งการใช้ยาและไม่ใช้ยา ครอบคลุมทุกมิติทั้งร่างกาย จิตสังคม และปัญญา จึงเป็นเรื่องที่บุคลากรสุขภาพ คนไข้ และผู้ดูแลหลัก จำเป็นต้องร่วมมือร่วมใจวางแผนการดูแลรักษาด้วยกัน โดยคำนึงถึงภูมิหลัง มุมมองของแต่ละคน ดังเช่นกรณีของคุณสุภาพร พงศ์พฤกษ์ ที่ใช้สมาธิบำบัดร่วมกับการใช้ยาระงับปวดเมื่อจำเป็น ในตัวอย่างข้างบน หรือกรณีของยะ…คนไข้ผู้หญิงอายุ ๒๖ ปี ที่นับถือศาสนาอิสลาม ดังนี้

 

          “ยะเป็นมะเร็งโพรงหลังจมูกลุกลามไปปอดตั้งแต่รับการรักษาครั้งแรก ต่อมาโรคลุกลามไปกระดูกหลายแห่ง ต้องฉายรังสีบรรเทาปวดบริเวณหลังและเชิงกราน แต่คนไข้ คลื่นไส้อาเจียนจากการรักษามาก คนไข้ไม่ค่อยรับประทานมอร์ฟีนชนิดน้ำเชื่อมเพราะคลื่นไส้อาเจียนเช่นกัน ในที่สุดต้องเข้ารักษาในโรงพยาบาล คนไข้มีอาการซึมเศร้าและสามีมีสีหน้าอมทุกข์ตลอดเวลา เมื่อพยาบาลพูดคุยด้วย จึงทราบว่า ทั้งคู่กังวลเรื่องค่าใช้จ่ายที่ต้องหยิบยืมมาเพื่อการรักษา และไม่สามารถปฏิบัติกิจกรรม ทางศาสนาในขณะเจ็บป่วยได้ หลังจากแพทย์ พยาบาล บุคลากรที่เกี่ยวข้องหลายฝ่ายได้ประชุมร่วมกัน จึงวางแผนการรักษาซึ่งประกอบด้วย การหยุดฉายรังสี การปรับเปลี่ยนยาระงับปวด การอ่านพระคัมภีร์ให้คนไข้ฟังโดยอาสาสมัคร ความช่วยเหลือทางการเงินและการส่งต่อไปโรงพยาบาลใกล้บ้าน ต่อมาคนไข้อาการปวดดีขึ้น จนสามารถเดินทางกลับไปเสียชีวิตที่บ้านได้หลังจากนั้น ๖ สัปดาห์”

 

          ใส่ใจ ควรใส่ใจติดตามการเปลี่ยนแปลงต่างๆ ของคนไข้อย่างสม่ำเสมอและใกล้ชิด เพราะความปวด อาการทุกข์ทรมานต่างๆ รวมถึงความคิดความรู้สึกของคนไข้จะเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา ทั้งจากการดำเนินโรค ผลการรักษา ผลข้างเคียงจากการรักษา และสาเหตุอื่นๆ ที่ไม่เกี่ยวข้องกับโรคก็ได้ ควรสำรองยาระงับปวดให้ไว้กับคนไข้และผู้ดูแลหลักเสมอ ถึงแม้คนไข้จะปฏิเสธการใช้ยาดังกล่าว และควรแนะนำให้คนไข้นำยานี้ติดตัวไปด้วยขณะต้องเดินทาง เพื่อจะได้มียาพร้อมใช้เมื่อคราวจำเป็น รวมทั้งหากคนไข้ยินยอมใช้ยาระงับปวด ก็ควรค่อยๆ ปรับปริมาณของยาที่ใช้ทีละน้อย และให้การดูแลรักษา เมื่อมีผลกระทบต่อความสามารถในการรู้-คิดของคนไข้จากการใช้ยา ด้วยการปรับเปลี่ยนประเภทของยา การลดปริมาณของยา หรือเปลี่ยนวิธีการใช้ยา เป็นต้น

 

          การครองสติไว้ได้เป็นความปรารถนาสูงสุดอย่างหนึ่งของคนเรา ความปวดเองอาจมีผลต่อความสามารถในการรู้-คิดและการครองสติของคนไข้ เช่นเดียวกับการใช้ยาระงับปวดกลุ่มโอปิออยด์ โดยเฉพาะผู้ที่ใช้ยาฉีด ผู้เพิ่งเริ่มใช้ยา การเพิ่มปริมาณยาต่อวัน หรือการใช้ยาเสริมเพิ่มจากปริมาณสม่ำเสมอประจำวัน การดูแลรักษาคนไข้กลุ่มนี้จึงต้องอาศัยความ สนใจ - เปิดใจ - เข้าใจ - ร่วมใจ - ใส่ใจ ซึ่งเป็น หัวใจการบริบาลบรรเทา มาเป็นแนวทางดำเนินการ จึงจะตอบสนองและแก้ปัญหาของคนไข้ครอบคลุมทั้งด้านร่างกาย ปัญญา และจิตสังคม

 

 

สัมภาษณ์พระไพศาล วิสาโล 

เมื่อวันที่ ๒๑ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๖ ณ บ้านเรือนไทย นครปฐม

 

สติมีความสำคัญอย่างไรต่อการดูแลผู้ป่วยระยะสุดท้าย

ประการแรก สติช่วยให้ไม่ถลำเข้าไปในความปวด ปกติคนเราเวลาปวดถ้าไม่มีสติ ใจจะเผลอเข้าไปยึดความปวด ทำให้รู้สึกปวดทั้งกายทั้งใจ แต่ถ้ามีสติก็ดูความปวดโดยไม่ถลำเข้าไปในความปวด หรือดูจิตเวลารู้สึกทุกข์ ปฏิเสธ ผลักไส เกิดโทสะ ฯลฯ ทำให้ปวดกายแต่ไม่ปวดใจได้ 

           โดยเฉพาะในเวลาใกล้ตาย ใจที่ฟุ้งซ่าน นึกห่วงลูกหลาน ทรัพย์สมบัติ โกรธคนโน้น รู้สึกผิดอย่างนี้ ทำให้เกิดความทุกข์ ไปซ้ำเติมความปวดกายให้มากขึ้น ถ้ามีสติอยู่กับปัจจุบัน เรื่องที่ผ่านไปแล้วให้ปล่อยวาง เรื่องที่ยังไม่เกิดขึ้นอย่าไปห่วงกังวล รวมถึงคนใกล้ตายจะเกิดนิมิต ภาพ หรือเสียงต่างๆ มากมายที่เกี่ยวโยงกับประสบการณ์ในอดีตทั้งที่เป็นกุศลและอกุศล ถ้าเป็นอกุศลจะทำให้ทุรนทุราย แต่สติจะช่วยได้ 

           คนโบราณให้ความสำคัญกับสติมาก ต้องไม่หลงตาย ถ้ามีสติตลอดเวลา จะทำให้ตายดี แต่ถ้าหลงตาย จะตายไม่ดี เป็นความเชื่อเรื่องอสันกรรม คือกรรมตอนใกล้ตาย ถ้าสภาวะจิตเป็นกุศลก็ไปดี ถ้าเป็นอกุศลก็ไปไม่ดี ความกังวล ความโกรธ ความห่วง ความแค้น ความรู้สึกผิด เวลาเกิดขึ้นจะไม่ทันรู้ตัว ควบคุมไม่ได้ แต่ถ้ามีสติจะรู้ทันและปล่อยวางได้ 

 

การครองสติในยามใกล้ตาย

วิธีที่ชาวพุทธไทยนิยมทำกันคือ นิมนต์พระมาบอกอะระหัง หรือผู้เฒ่าผู้แก่มานำทางให้นึกถึงพระรัตนตรัย ให้ปล่อยวางจากสิ่งทั้งปวง หรือมีวิธีเพื่อให้ใจสงบ เช่นการสวดมนต์ การขอขมา การรับศีล รวมถึงการทำสังฆทาน ซึ่งมีส่วนช่วยทำให้ผู้ป่วยไม่ตื่นตระหนกตกใจ ทำให้ใจเป็นกุศลได้ รวมถึงนำพระพุทธรูปไปให้ผู้ป่วยดู พิจารณา หรือกำพระพุทธรูป พระเครื่องไว้ให้ระลึกนึกถึง ซึ่งส่วนใหญ่ให้ผลทางด้านความอบอุ่นใจ เป็นที่พึ่ง เพราะเชื่อว่ามีพระพุทธคุณมาช่วยทำให้ความทุกข์ทรมานลดลง

 

ในปัจจุบัน มีการใช้ยาเข้ามาควบคุมความปวดกันมาก จะมีผลอย่างไรต่อเรื่องสติ

คนที่ไม่มีพื้นฐานในด้านการปฏิบัติธรรม ถ้ามีความปวดมากจะเอาไม่อยู่ ต้องอาศัยยา แม้ว่ายาจะทำให้เบลอ แต่การควบคุมความปวดในปัจจุบันมีเจริญก้าวหน้ามาก สามารถกำหนดได้ว่าจะให้ลดความเจ็บปวดเท่าใดโดยจิตยังมีสติอยู่ แต่ถ้าปวดมากอาจต้องใช้ยามาก ซึ่งจะทำให้ผู้ป่วยเบลอ เพราะถ้ามีความปวด จิตจะมีโทสะ ทุกข์ทรมานมาก ทำให้จิตใจย่ำแย่ แต่ถ้าใช้ยาระงับปวดมากจนเบลอจะทำให้เกิดโมหะ ในสถานการณ์เช่นนี้ โมหะมีผลเสียน้อยกว่าโทสะ เพราะถ้าโทสะแรงกล้า จะทำให้จิตใจเร่าร้อนและคิดลบ คนรอบข้างก็เป็นทุกข์ ทำให้ไปไม่ดีได้ เช่นเดียวกับโมหะ แต่ผลเสียของโมหะในกรณีดังกล่าวอาจจะน้อยกว่าการเกิดโทสะเพราะความปวดบีบคั้น 

           แต่ถ้าผู้ป่วยมีพื้นฐานในเรื่องการเจริญสติ ก็ไม่เอาทั้งโทสะและโมหะ ไม่ต้องใช้ยาถึงขนาดที่ทำให้เบลอ เพราะมีวิธีที่ดีกว่าอยู่แล้ว คือ ใช้สติสมาธิทำให้ใจไม่ทุกข์ทรมานจนเกิดโทสะ และไม่ต้องพึ่งยาถึงขนาดเกิดโมหะอีกด้วย

------- 

เอกสารอ้างอิง

[๑]เจ้าพระยามหินทรศักดิ์ธำรง. จดหมายเหตุ เรื่องพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงประชวร. พิมพ์ครั้งแรก. พระนคร: โรงพิมพ์พระจันทร์ ๒๔๙๐.

[๒]หทัยภรณ์ กสิกิจนำชัย. ส่งลูกไปเข้าเฝ้าพระพุทธเจ้า. พิมพ์ครั้งที่ ๒. กรุงเทพมหานคร ๒๕๕๒.

[๓]สำนักวิจัยสังคมและสุขภาพ กระทรวงสาธารณสุข. มรณานุสรณ์ สุภาพร พงศ์พฤกษ์ เรียนรู้การเผชิญความตายอย่างสงบและงดงาม [แผ่นวีซีดี]: บริษัท จินตนาการ.

------- 

* รศ. นพ.เต็มศักดิ์ พึ่งรัศมี  คณะกรรมการฝ่ายวิชาการ ชมรมบริบาลผู้ป่วยระยะท้ายแห่งประเทศไทย

 

คอลัมน์: