สติ มรรคาแห่งการดูแลจิตใจผู้ป่วย
“สติ” หลายคนคำนี้เป็นคำของพระและผู้ปฏิบัติธรรม แต่ความจริงแล้ว สติยังเป็นคำที่ผู้ป่วยและผู้ดูแลควรให้ความสนใจ เพราะสติให้ผลอย่างมากในการนำพาผู้ป่วยให้พ้นจากความทุกข์ แม้กระทั่งสามารถเผชิญความตายได้อย่างสงบ บทความนี้จะกล่าวถึงการนำบทเรียนจากงานอบรมและเวทีแลกเปลี่ยนในโครงการสังฆะดูแลผู้ป่วยเกี่ยวกับเรื่องนำความรู้ความเข้าใจเรื่องสติมาประยุกต์ใช้เยียวยาจิตใจผู้ป่วยในสถานการณ์ต่างๆ
การดูแลโดยให้ผู้ป่วยเป็นศูนย์กลางต้องอาศัยสติ
เรามักได้ยินเสมอว่า การให้ผู้ป่วยเป็นศูนย์กลางในการดูแลเป็นสิ่งสำคัญ ผู้ดูแลควรคำนึงถึงความรู้สึก ความต้องการ และให้การดูแลที่เหมาะสมตามที่ผู้ป่วยต้องการรับ มิใช่การให้ในสิ่งที่ผู้ดูแลต้องการให้ แต่ความเป็นจริง การดูแลโดยให้ผู้ป่วยเป็นศูนย์กลางเกิดขึ้นไม่ง่าย เพราะผู้ป่วยมักอยู่ในสถานภาพที่เปราะบาง ด้อยอำนาจกว่าผู้ดูแล ดังนั้น ผู้ดูแลไม่ว่าจะเป็นญาติหรือบุคลากรสุขภาพจึงต้องมีสติ เท่าทันความคิดและการกระทำของตัวเองว่าการดูแลของตนนั้นคำนึงถึงผู้ป่วยมากน้อยเพียงใด เคารพในศักดิ์ศรีของผู้ป่วยหรือไม่
อยู่กับปัจจุบันขณะ
ดังที่พระสงฆ์ จิตอาสา พยาบาล ผู้ผ่านประสบการณ์ดูแลเยียวยาจิตใจผู้ป่วยสะท้อนการเรียนรู้ “เราไม่มีสูตรสำเร็จ หนึ่ง สอง สาม แต่ต้องอยู่กับสภาวะของผู้ป่วยที่อยู่ตรงหน้า” การเยียวยาผู้ป่วยเป็นศิลปะที่อาศัยจิตใจที่เมตตา มีสติเปิดรับสถานการณ์ของผู้ป่วยทั้งหมดที่อยู่ตรงหน้า แล้วปฏิบัติให้ถูกต้องสอดคล้องกับสิ่งที่เกิดขึ้น
ตัวอย่างเช่น พระสงฆ์รูปหนึ่งได้รับนิมนต์ให้ไปคุยกับผู้ป่วยที่มีอาการซึมเศร้า แต่เมื่อไปถึงเตียงกลับพบว่าผู้ป่วยมีท่าทีปฏิเสธพระ บอกว่าเหนื่อยและต้องการพักผ่อน พระท่านจึงตัดสินใจบอกผู้ป่วยว่า “โยมหลับตามสบายเลยนะ เดี๋ยวอาตมาจะอยู่เป็นเพื่อน” เมื่อพระรูปนั้นไปเยี่ยมครั้งที่สองก็ได้รับการตอบรับอย่างดี การตอบรับในครั้งที่สองเกิดขึ้นได้ เพราะผู้ป่วยรู้สึกดีกับพระที่ไม่เทศน์สอนอย่างยัดเยียด แต่ให้การดูแลอย่างเป็นเพื่อน
ฟังอย่างใส่ใจ
หนึ่งในรูปธรรมของการอยู่กับปัจจุบันขณะกับผู้ป่วย คือการฟังอย่างใส่ใจ ไม่เพียงฟังสิ่งที่ผู้ป่วยพูด แต่ฟังจนได้ยินถึงความรู้สึก ความต้องการ คุณค่าที่ผู้ป่วยให้ความสำคัญที่อยู่ลึกลงไป ไม่รีบแก้ปัญหาแทนผู้ป่วยเร็วเกินไป การฟังอย่างใส่ใจจะช่วยให้ผู้ป่วยรู้สึกว่า มีเพื่อนที่เข้าใจ ได้ระบายสิ่งที่อัดอั้นติดค้าง บางครั้ง ผู้เล่าก็อาจพบทางออกของปัญหาขณะที่เล่า การฟังที่ใส่ใจจะเกิดขึ้นได้ก็ต่อเมื่อผู้ดูแลมีสติในการฟัง
สัมผัสอย่างมีสติ
การสัมผัสอย่างมีสติ ใส่ใจลงในการจับมือ นวดมือ นวดเท้า คลึงหว่างคิ้ว สัมผัสท้องอย่างอ่อนโยน ใส่ใจ จะช่วยให้การสัมผัสนั้นอบอุ่น ชัดเจน และยังมีพลังในการนำผู้ป่วยให้ออกจากความคิดปรุงแต่งมาอยู่กับสัมผัสที่เป็นปัจจุบัน การสัมผัสอย่างใส่ใจยังช่วยสร้างความสัมพันธ์ระหว่างผู้ป่วยกับผู้ดูแล บางครั้งก็ช่วยลดความเจ็บปวดทรมาน ผู้ป่วยเด็กระยะท้ายคนหนึ่งมีความปวด เขาไม่ต้องการสิ่งใดนอกจากการจับมือจากพยาบาลที่ไว้วางใจ สัมผัสได้ครึ่งชั่วโมงความปวดก็บรรเทาลง และบอกให้พยาบาลไปทำงานต่อ
การน้อมนำให้ผู้ป่วยมีสติ อยู่ร่วมกับความเจ็บป่วย
ความทุกข์ใจมักเกิดจากความคิดปรุงแต่ง เสียดายหรือโกรธแค้นกับอดีต กังวลกับอนาคต จิตใจที่ฟุ้งซ่านดังกล่าวมักทวีความเจ็บปวดทรมาน ผู้ดูแลสามารถน้อมนำผู้ป่วยให้ออกจากความคิดปรุงแต่งดังกล่าวด้วยการสร้าง “เครื่องยึดเหนี่ยวจิตใจ” ให้จิตได้มีเครื่องเกาะเกี่ยวไม่หลุดลอยฟุ้งซ่านไปยังห้วงทุกข์
ผู้ดูแลอาจเชิญชวนผู้ป่วยให้เฝ้าดูลมหายใจ บริกรรรมพุทโธ หงายมือคว่ำมือ สวดมนต์ แผ่เมตตา บริกรรมบทภาวนา หรือแม้แต่การฟังเพลงที่ชอบเพื่อให้เป็นเครื่องยึดเหนี่ยวจิตใจ เมื่อจิตมีงานทำก็จะไม่ฟุ้งซ่านไหลไปกับอดีตหรืออนาคต ความทุกข์ใจย่อมลดลง ความปวดกายก็พลอยบรรเทาด้วย อย่างไรก็ตาม การน้อมนำผู้ป่วยด้วยเทคนิคต่างๆ ผู้ดูแลควรมีสติ มั่นใจ มั่นคงในการน้อมนำ และควรมีประสบการณ์รับอานิสงส์จากการนำเอาเทคนิคต่างๆ มาจัดการความทุกข์ของตนเองอยู่บ้าง
การดูแลเยียวยาจิตใจผู้ป่วยอย่างมีสตินั้นได้ให้อานิสงส์อย่างกว้างขวาง ไม่เพียงผู้ป่วยจะได้รับการดูแลจากผู้ดูแลเท่านั้น แต่ผู้ดูแลเองก็ได้รับการเยียวยาจากความกรุณาของตนเองด้วยเช่นกัน ผู้ดูแลยังได้ฝึกฝนการเจริญสติ ความสามารถที่จะอยู่กับปัจจุบันขณะ เท่าทันความคิดจิตใจของตนเอง ได้โอกาสพิจารณาความจริงของชีวิต การดูแลผู้ป่วยด้วยสติจึงมรรคาที่นำไปสู่ชีวิตที่สว่างของผู้ดูแล และการตายที่สงบของผู้ป่วย