สัมพันธ์แนวราบ กับ การเป็นหุ้นส่วน
ในการพัฒนาระบบการดูแลผู้ป่วยระยะสุดท้ายโดยชุมชนนั้น หลังจากระบุกลุ่มเป้าหมาย และคัดคนเข้าร่วมทีมทำงานแล้ว สิ่งสำคัญประการต่อมาคือการสร้างสัมพันธภาพและความเป็นหุ้นส่วนให้กับทีม ซึ่งเป็นมากกว่าการรับรู้ว่าใครเป็นใคร มาจากไหน มีความสามารถอะไรเท่านั้น แต่เป็นการสร้าง ความสัมพันธ์แนวราบ หรือ สมดุลของพลังอำนาจ (equalized power) ระหว่างบุคคลหรือกลุ่มบุคคลที่มีสถานภาพแตกต่างกัน ไม่ใช่ฝ่ายหนึ่งสามารถร้องขอให้อีกฝ่ายทำบางสิ่งบางอย่างให้ โดยอีกฝ่ายต้องยอมทำตามแม้ไม่อยากทำ และไม่สามารถบอกความต้องการที่แท้จริงของตัวเองได้ ซึ่งเป็นความสัมพันธ์ที่เรารับรู้กันว่ามีอยู่มากมายในระบบ เช่น คนไข้มักไม่กล้าถามหมอถึงความคืบหน้าในการรักษาเพราะเกรงว่าหมอจะหงุดหงิด ไม่พอใจ และปฏิเสธคนไข้ หรือพยาบาลไม่กล้าแสดงความคิดเห็นต่อหน้าแพทย์อาวุโส เป็นต้น
การสร้างสัมพันธภาพแนวราบ เราจึงจำเป็นต้องตระหนักว่า สถานภาพของแพทย์ พยาบาล หรือเจ้าหน้าที่ในมุมมองของจิตอาสาหรือชาวบ้าน คือผู้มีความรู้ มีประสบการณ์ และมีอำนาจเหนือกว่า ซึ่งโดยวัฒนธรรมแบบอุปถัมภ์ที่ถ่ายทอดและสั่งสมมานาน ย่อมทำให้ชาวบ้านมองว่าตัวเองด้อยกว่าและต้องยอมทำตาม เพราะเมื่อเจ็บป่วยเขายังต้องพึ่งพาบุคคลเหล่านี้ ความพยายามรักษาสัมพันธภาพโดยการเอาอกเอาใจและว่าง่ายของจิตอาสาหรือชาวบ้าน จึงเป็นเรื่องที่เราพบเห็นจนคุ้นชินและเกิดขึ้นโดยไม่รู้ตัว การทำงานในบริบทที่ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งมีอำนาจเหนือกว่า จึงเป็นเรื่องที่เราต้องใส่ใจปรับมุมมองหรือวิธีคิดของตัวเอง เพื่อไม่ให้ไปกดทับหรือลดทอนพลังอำนาจของอีกฝ่ายโดยไม่ตั้งใจ
การสร้างทีมที่แท้จริง จึงต้องปรับทัศนคติให้ต่างฝ่ายต่างเห็นคุณค่าซึ่งกันและกัน ปรับสมดุลของพลังอำนาจให้อยู่ในระดับใกล้เคียงกัน มองเห็นกันและกัน ว่าแต่ละคนเป็นใคร มีความมุ่งมั่นตั้งใจอย่างไร มีศักยภาพอะไร สามารถเข้ามาเติมเต็มงานที่ทำอยู่ได้อย่างไร จนเกิดความรู้สึกมั่นใจและไว้วางใจว่า สมาชิกในทีมทุกคน คือหุ้นส่วนในการทำงาน และ “เรา” คือส่วนหนึ่งของทีม ที่ต้องคิด วางแผน ลงมือทำ และรับผลของสิ่งที่เกิดขึ้นร่วมกัน
บุคลากรสาธารณสุขจำเป็นต้องปรับความคาดหวังของตัวเองว่า จิตอาสาหรือชาวบ้านไม่ใช่เจ้าหน้าที่สาธารณสุข พวกเขาไม่จำเป็นต้องมีความรู้ทางด้านการพยาบาล แต่เขาสามารถเป็นตัวของตัวเอง และใช้ศักยภาพที่ตนเองมีในการสนับสนุนงานของโรงพยาบาลได้ เพราะจุดแข็งของจิตอาสา คือความใกล้ชิดชุมชน เข้าใจวิถีชีวิต ประเพณี วัฒนธรรมชุมชนเป็นอย่างดี การไม่มีความรู้เรื่องโรค เรื่องยา เรื่องการพยาบาล จึงไม่ใช่ข้อจำกัด เพราะการทำงานเป็นทีม คือการนำศักยภาพที่มีอยู่มาร่วมไม้ร่วมมือและสนับสนุนการทำงานซึ่งกันและกัน
การมองเห็นศักยภาพดังกล่าว จะทำให้เกิดความชื่นชมและเคารพความแตกต่างของกันและกัน
ซึ่งเป็นหัวใจสำคัญในการทำงานเป็นทีม เพราะจิตอาสาไม่ใช่ลูกน้องที่มารับคำสั่ง หรือมีหน้าที่ไปเยี่ยมผู้ป่วยภายใต้การกำกับดูแลของบุคลากรสุขภาพ แต่ทุกคนกำลังทำหน้าที่สนับสนุนช่วยเหลือกันทำงานอย่างเป็นองค์รวมเพื่อให้คนไข้และครอบครัวได้รับการดูแลอย่างดีที่สุด การมีทัศนคติเช่นนี้ทำให้เกิดความรู้สึกชื่นชมและเคารพในความแตกต่างหลากหลายของเพื่อนร่วมทีม ส่งเสริมให้เกิดสัมพันธภาพในแนวราบ ทำให้การรวมตัวมีความหมายและมีศรัทธา ไม่ว่าหนทางข้างหน้าจะมีอุปสรรคใดๆ ก็พร้อมจะเรียนรู้และฝ่าฟันไปด้วยกัน
แต่การสร้างสัมพันธภาพแนวราบและความเป็นหุ้นส่วน ไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะเรามักจะตกร่องความคิดที่ว่าคนเราไม่เท่ากัน คนเสียงดังกว่า รวยกว่า หรือสถานภาพสูงกว่า มีสิทธิกำหนดสิ่งต่างๆ ทำให้คนจำนวนหนึ่งรู้สึกว่าตัวเองด้อยกว่าหรือรู้น้อยกว่า จึงไม่กล้ามีปากเสียงหรือคิดต่าง ซึ่งเป็นอุปสรรคต่อการทำงานในลักษณะหุ้นส่วน
การปรับทัศนคติในการทำงานจึงต้องทำอย่างเป็นกระบวนการตั้งแต่เริ่มสร้างทีม ซึ่งในโครงการนี้เราจัดให้มีการอบรมเชิงปฏิบัติการเพื่อให้สมาชิกได้สัมผัสประสบการณ์และมุมมองที่แตกต่างออกไป ก่อนที่จะวางแผนการทำงานร่วมกัน โดยใส่เงื่อนไขบางอย่างเพื่อให้เกิดสัมพันธภาพแนวราบและความเป็นหุ้นส่วน เริ่มตั้งแต่สมาชิกในทีมทั้งหมดจะต้องมาทำความรู้จักกันจริงๆ ในมิติที่ไม่เป็นทางการ เช่น ได้ทำกิจกรรมสนุกๆ ด้วยกัน ได้หัวเราะกัน ได้เล่าที่มาที่ไปของตัวเอง สิ่งที่ภาคภูมิใจ สิ่งที่เป็นแรงบันดาลใจในการทำงาน ทำให้เรารู้จักอีกฝ่ายในมิติที่ลึกซึ้งยิ่งขึ้น ซึ่งอาจไม่เคยรับรู้มาก่อน เช่น บางคนเคยไปเยี่ยมและดูแลผู้ป่วยที่โรงพยาบาล เห็นพยาบาลทำงานหนักเลยอยากมาช่วย หรือสามีเคยป่วยที่บ้านแล้วพยาบาลมาเยี่ยม มาใส่ใจดูแลอย่างดีมากจนทำให้ผ่านช่วงเวลาที่ยากลำบากไปได้ จึงอยากช่วยเหลือคนอื่นบ้าง เป็นต้น
ต่อมาคือ การทำความเข้าใจในสิ่งที่จะทำร่วมกันว่า งานที่ตั้งใจจะทำคืออะไร เป้าหมายอยู่ตรงไหน บทบาทของพยาบาลเป็นอย่างไร บทบาทของจิตอาสาสำคัญอย่างไร เมื่อรับรู้ร่วมกันแล้วจึงมาระดมความคิดกันว่าแต่ละฝ่ายจะทำอะไรได้บ้างในศักยภาพที่มี หลังจากนั้นจึงค่อยมาพูดคุยเรื่องทักษะ ซึ่งผู้จัดกระบวนการเรียนรู้ให้จะต้องสำรวจก่อนว่า สมาชิกในทีมมีความรู้และทักษะอะไรอยู่แล้วบ้าง และอะไรคือสิ่งที่อยากจะพัฒนาหรือเพิ่มเติม พร้อมกับเสริมแรงเพื่อทำให้ทีมรู้สึกมั่นใจในศักยภาพของตัวเองไปด้วย
ความที่จุดเด่นของจิตอาสาคือประสบการณ์ตรง กระบวนการอบรมจึงไม่ใช่การเอาความรู้นำหน้า แต่เป็นการดึงประสบการณ์ตรงที่มีอยู่แล้วออกมาและบูรณาการใช้กับการดูแลผู้ป่วย เพื่อทำให้จิตอาสาเกิดกำลังใจและมั่นใจในศักยภาพตนเอง ตัวอย่างเช่น จะมีกิจกรรมให้จิตอาสาจับคู่กับพยาบาล แล้วสร้างสถานการณ์จำลองให้พยาบาลเป็นผู้ป่วยแล้วจิตอาสาเป็นผู้มาเยี่ยม และฝึกสลับบทบาทกัน พยาบาลบางคนบอกเลยว่า แม้ว่าปกติจิตอาสาบางคนจะดูเงียบๆ ไม่ค่อยพูด แต่เวลาเข้าหาผู้ป่วยกลับทำได้เนียนมาก ดีมาก จนเธอประทับใจ และเริ่มเชื่อมั่นว่าจิตอาสาเป็นได้มากกว่าที่เธอเคยคิด ความคลางแคลงใจว่าจิตอาสาจะทำได้หรือไม่จึงเบาบางลงมาก จนบางคนบอกว่า เอาเข้าจริงๆ เวลาไปเยี่ยมผู้ป่วย จิตอาสาทำได้ดีกว่าพยาบาลด้วยซ้ำ ฯลฯ ประสบการณ์ตรงนี้สำคัญมาก เพราะเมื่อพยาบาลหรือเจ้าหน้าที่ได้สัมผัสด้วยตัวเอง จึงเริ่มเคารพและยอมรับในตัวจิตอาสาอย่างที่เขาเป็นมากขึ้น เกิดกระบวนการปรับเปลี่ยนทัศนคติไปทีละน้อยๆ จากที่คิดว่าจะไปควบคุม สั่งสอน หรือแนะนำ ก็กลายเป็นมาช่วยกันทำงานและเรียนรู้ไปด้วยกัน
อย่างไรก็ดี กระบวนการสร้างสัมพันธภาพแนวราบและการเป็นหุ้นส่วนดังกล่าวข้างต้น ยังต้องนำไปสู่กระบวนการอีกอย่างหนึ่ง คือ การออกแบบและวางแผนการทำงานร่วมกัน เช่นว่าในการไปดูแลผู้ป่วย จะไปเยี่ยมใครบ้าง เยี่ยมอย่างไร ถี่ห่างแค่ไหน เพื่อปรับความคาดหวังให้ตรงกันและสร้างกลไกที่ให้ความมั่นใจว่าการทำงานเป็นทีมจะเกิดได้จริง ไม่ไปตกร่องวิธีทำงานแบบสั่งการเหมือนที่ผ่านๆ มาอีก
ต่อเมื่อเกิดการวางแผนร่วมกันแล้ว กระบวนการต่อมาคือ การลงพื้นที่จริง ไปเยี่ยมผู้ป่วยจริง เพื่อให้มีประสบการณ์ในการทำงานร่วมกันว่าเป็นอย่างไร มีปัญหาอุปสรรคอะไร และจะแก้ไขอย่างไร
ก่อนจะนำมาสู่กระบวนเรียนรู้ที่สำคัญมากๆ อีกประการหนึ่ง ซึ่งจะขาดไปไม่ได้เลยในการทำงานเป็นทีม คือ การถอดบทเรียนร่วมกัน ซึ่งจะนำเสนอในฉบับต่อไป