Error message

  • Deprecated function: Methods with the same name as their class will not be constructors in a future version of PHP; views_display has a deprecated constructor in require_once() (line 3066 of /home/budnetorg/domains/budnet.org/public_html/sunset/includes/bootstrap.inc).
  • Deprecated function: The each() function is deprecated. This message will be suppressed on further calls in menu_set_active_trail() (line 2385 of /home/budnetorg/domains/budnet.org/public_html/sunset/includes/menu.inc).

บทเรียนแรก การสร้างทีม

-A +A

          เมื่อพูดว่าเราจะ “พัฒนาระบบการดูแลผู้ป่วยเรื้อรังและระยะสุดท้ายโดยชุมชน” มีหลายคนถามดิฉันว่าทำไมต้องให้ชุมชนมีส่วนร่วมในการดูแลด้วยเล่า ในเมื่อเรามีโรงพยาบาลอยู่แล้ว ดิฉันตอบโดยสามัญสำนึกว่า เพื่อให้ทุกคน (แม้เขาจะป่วย) ได้ใช้ชีวิตอย่างมีคุณภาพและเมื่อจะตายก็ให้ได้ตายอย่างสงบ เพราะการตายดีเป็นสิทธิของมนุษย์ทุกคนที่เกิดมาบนโลกใบนี้ โดยที่การตายดีมีได้หลายนัยยะและความหมายก็แปรเปลี่ยนไปตามสภาพบริบททางสังคมวัฒนธรรมที่เปลี่ยนแปลงตลอดเวลา 

          จากประสบการณ์ที่ดิฉันคลุกคลีกับคนทำงานด้านนี้มากว่า ๘ ปี พบว่าสิ่งที่ผู้ป่วยและครอบครัวส่วนใหญ่ปรารถนาก็คือ หนึ่ง ต้องการเสียชีวิตที่บ้าน สอง อยากให้มีการดูแลเอาใจใส่อย่างเต็มที่เมื่ออยู่บ้านและขณะที่อยู่ในโรงพยาบาล สาม ได้รับการประคับประคองด้านจิตใจ สังคม เศรษฐกิจ ควบคู่ไปกับการดูแลอาการปวดและความไม่สุขสบายต่างๆ สี่ มีการดูแลอย่างต่อเนื่องจนกว่าจะเสียชีวิต และ ห้า ได้รับการสนับสนุนจากเครือข่ายทางสังคมในชุมชน 

          การช่วยให้ผู้ป่วยและครอบครัวมีคุณภาพชีวิตที่ดี และได้รับการตอบสนองตามความต้องการนั้น จำเป็นต้องมีระบบการดูแลที่ครอบคลุมทุกด้าน ไม่ว่าจะเป็นด้านร่างกาย จิตใจ สังคม และจิตวิญญาณ ซึ่งต้องอาศัยการทำงานร่วมกันของหลายฝ่าย ไม่ว่าจะเป็นเครือข่ายสหวิชาชีพ ครอบครัวของผู้ป่วย ชุมชนและองค์กรทางสังคมอื่นๆ เราจึงต้องช่วยกันค้นหาว่า มีใครในชุมชนบ้างที่จะเป็นกัลยาณมิตรในการดูแล และร่วมไม้ร่วมมือกันพัฒนาระบบการดูแลที่เหมาะสมกับชุมชนขึ้นมา โดยมีโรงพยาบาลชุมชนทำหน้าที่เป็นพี่เลี้ยง

          ในฉบับนี้ ดิฉันขอแบ่งปันบทเรียนที่เราได้เรียนรู้จากโครงการนำร่องการพัฒนาระบบการดูแลผู้ป่วยเรื้อรังและระยะสุดท้ายโดยใช้ชุมชนเป็นฐาน ซึ่งดำเนินการในชุมชนตัวอย่างภายใต้การดูแลของโรงพยาบาลน้ำพองและโรงพยาบาลอุบลรัตน์ จังหวัดขอนแก่น 

          เราเริ่มต้นโครงการด้วยการพูดคุยกับผู้อำนวยการโรงพยาบาล เพื่อทำความเข้าใจเป้าหมาย กระบวนการทำงาน และแนวทางการหนุนเสริมซึ่งกันและกันทั้งจากเครือข่ายพุทธิกาและโรงพยาบาลศรีนครินทร์ ขอนแก่น รวมทั้งค้นหาบุคลากรที่จะเป็นผู้ประสานงานและขับเคลื่อนงานในภาพรวม โดยผู้ประสานงานจะไปพัฒนาทีมของโรงพยาบาลขึ้นมา ซึ่งทีมในที่นี้จะต้องทำงานเชื่อมโยงกับชุมชน และในขณะเดียวกันก็ต้องทำงานร่วมกับโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพระดับตำบล (รพ.สต). และโรงพยาบาลชุมชนด้วย จึงต้องเน้นพยาบาลเยี่ยมบ้านหรือพยาบาลที่สนใจทำงานชุมชน

          เมื่อได้ทีมแล้วทางโรงพยาบาลต้องกำหนดพื้นที่เป้าหมายที่จะนำร่องในปีแรกโดยพิจารณาจากความพร้อมของคนทำงาน การมีผู้ประสานงานในชุมชนที่เข้มแข็ง และการมีทัศนคิตที่เกื้อกูลต่อการทำงานร่วมกันเป็นเครือข่าย ซึ่งทางโรงพยาบาลน้ำพอง เลือกทำในสามตำบล และโรงพยาบาลอุบลรัตน์ เลือก ๕ ตำบล ที่อยู่รอบๆ โรงพยาบาล

          ปัจจัยแรกที่โครงการใส่เข้าไปในระบบก็คือ การสร้างหุ้นส่วนในการทำงาน (Partnership) ร่วมกัน เริ่มตั้งแต่ค้นหาว่ามีใครในชุมชนที่พร้อมจะร่วมมือกับทางโรงพยาบาลและทาบทามให้เข้าร่วม โดยคนที่เข้าร่วมจะต้องมาฝึกอบรมร่วมกับเจ้าหน้าที่ของโรงพยาบาลที่รับผิดชอบชุมชนนั้นๆ และเมื่ออบรมแล้วจะต้องมีเวลาลงทำงานในพื้นที่อย่างต่อเนื่อง เป็นระยะเวลาอย่างน้อยหนึ่งปี 

          กิจกรรมแรกที่ทำร่วมกันในฐานะหุ้นส่วนในการทำงานก็คือ การมาฝึกอบรมทักษะพื้นฐานในการดูแลผู้ป่วยเรื้อรังและผู้ป่วยระยะสุดท้าย จำนวนสองครั้งๆ ละสองวัน (เน้นกลุ่มเป้าหมายเดิมต่อเนื่อง) ในการอบรมครั้งแรกมีเจตนาหลักก็คือ การปรับมุมมองในเรื่องการดูแลผู้ป่วยเรื้อรังและระยะสุดท้าย และการฝึกฝนทักษะพื้นฐานในการดูแล เช่น การฟัง การช่วยให้ผ่อนคลาย การให้คำแนะนำแก่ญาติหรือครอบครัว เป็นต้น ขณะเดียวกันก็มีเจตนาที่ซ่อนอยู่ด้วยก็คือ การสร้างสัมพันธภาพและความไว้วางใจในการทำงานร่วมกันในฐานะหุ้นส่วน (เน้นการร่วมคิด ร่วมทำ ร่วมเรียนรู้และร่วมประเมินผล) ซึ่งถือเป็นหัวใจสำคัญในการทำงานแบบมีส่วนร่วม

          จากประสบการณ์ที่เครือข่ายพุทธิกาเคยทำงานกับอาสาสมัคร ทำให้เรารู้ว่าสัมพันธภาพและความไว้วางในทีมทำงานเป็นเรื่องสำคัญมาก หากเจ้าหน้าที่โรงพยาบาลขาดความเชื่อมั่นในตัวอาสาสมัครหรือผู้นำชุมชนเสียแล้ว การทำงานร่วมกันก็จะเต็มไปด้วยอุปสรรค อะไรก็กลายเป็นเรื่องยากไปเสียทั้งหมด และมักลงเอยด้วยการตีความ ตัดสิน และตีตราว่าคนนั้นไม่ดี คนนี้ไม่ดี เช่นเดียวกันหากอาสาสมัครหรือผู้นำชุมชนขาดความศรัทธาเชื่อมั่นในตัวเจ้าหน้าที่ การประสานงานหรือการส่งต่องานมักไม่ราบรื่น ต่างฝ่ายต่างรู้สึกไม่ได้รับการใส่ใจ ถูกมองข้ามความสำคัญและขาดการเคารพให้เกียรติซึ่งกันและกัน การทำงานด้วยกันอย่างเข้าอกเข้าใจกันก็เป็นไปได้ยาก 

          ฉบับหน้าจะเล่าให้ฟังว่า วิธีสร้างสัมพันธภาพและความเป็นหุ้นส่วนในการทำงานทำได้อย่างไร

คอลัมน์: