Error message

  • Deprecated function: Methods with the same name as their class will not be constructors in a future version of PHP; views_display has a deprecated constructor in require_once() (line 3066 of /home/budnetorg/domains/budnet.org/public_html/sunset/includes/bootstrap.inc).
  • Deprecated function: The each() function is deprecated. This message will be suppressed on further calls in menu_set_active_trail() (line 2385 of /home/budnetorg/domains/budnet.org/public_html/sunset/includes/menu.inc).

ความสุขเล็กๆ ของอาสาข้างเตียง

-A +A

          เมื่อวันที่ ๒๐ ตุลาคม พ.ศ.๒๕๕๖ ดิฉันเดินทางฝ่าสายฝนไปโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ เพื่อร่วมประชุมสรุปบทเรียนในการเป็นอาสาข้างเตียงของนิสิตแพทย์จุฬาฯ ปี ๑ และ ปี ๒ มีเรื่องราวน่าประทับใจจากนิสิตแพทย์มาเล่าให้ฟังสองสามเรื่อง

          นิสิตแพทย์กลุ่มนี้สมัครใจเข้าร่วมโครงการอาสาข้างเตียงเพื่อเยี่ยมผู้ป่วยโรคเรื้อรังและโรคระยะสุดท้ายเป็นเวลาต่อเนื่องตั้งแต่เดือนสิงหาคม-ตุลาคม น้องๆ อาสามีความตั้งใจที่อยากจะใกล้ชิดผู้ป่วยเพื่อทำความเข้าใจความเจ็บป่วยและความทุกข์ในฐานะมนุษย์ด้วยกัน ไม่ใช่ในฐานะแพทย์รักษาโรค

          ก่อนเริ่มกิจกรรมดิฉันไถ่ถามเรื่องราวที่น้องๆ ได้มีโอกาสไปดูงานที่วัดคำประมง จังหวัดสกลนคร น้องๆ ประทับใจที่ได้เป็นส่วนหนึ่งในการได้เยี่ยมผู้ป่วยร่วมกับพระอาจารย์ปพนพัชร์ ได้เรียนรู้การรักษาแบบแพทย์ทางเลือก ซึ่งแตกต่างจากการเรียนการสอนในห้องเรียนที่เป็นแพทย์แผนปัจจุบัน แต่เนื่องจากเวลามีจำกัด ดิฉันจึงฝากประเด็นนี้ให้คุยกันต่อนอกรอบกันอาจารย์ต่อไป

          จากนั้น จึงแบ่งกลุ่มย่อยเพื่อให้แต่ละคนได้เล่าความประทับใจในการเยี่ยมผู้ป่วยเรื้อรังและระยะสุดท้ายตลอดสามเดือน แล้วมานั่งรวมกันเป็นวงใหญ่ นักศึกษาคนหนึ่งเล่าว่า มีโอกาสเยี่ยมผู้ป่วยคนหนึ่งอายุ ๑๕ ปี ซึ่งเป็นโรคเส้นเลือดในสมองแตก ในช่วงต้น ผู้ป่วยไม่ค่อยคุยกับน้องอาสามากนัก แม้น้องจะพยายามชวนคุยแล้ว แต่ด้วยความที่อายุแตกต่างกันไม่มากนัก ทำให้สามารถหาเรื่องมาพูดคุยและเกิดความสนิทสนมกันอย่างรวดเร็ว บางครั้งน้องอาสาต้องเตรียมตัวสอบไม่มีเวลาไปเยี่ยม แต่ก็สามารถติดต่อผ่านทางเทคโนโลยีโดยส่งข้อความผ่านทางมือถือไถ่ถามว่าเป็นอย่างไรบ้าง 

          จากการสอบถามเพิ่มเติมพบว่า ผู้ป่วยคนนี้มาอยู่ตั้งแต่เดือนมกราคม และญาติอยู่ต่างจังหวัดไม่สามารถมาเยี่ยมได้บ่อยครั้ง ทำให้ดิฉันคิดไปว่าวันเวลาอันเนิ่นนานในโรงพยาบาลและการขาดญาติมิตรมาเยี่ยมเยียน ประกอบกับอายุยังน้อย คงทำให้ผู้ป่วยอยู่ในโรงพยาบาลด้วยความเหงาและทุกข์ทรมาน แต่สำหรับผู้ป่วยคนนี้ เธอกลับสร้างพลังใจให้กับตนเองด้วยกิจกรรมเล็กๆ น้อยๆ  เช่น ไปซื้อของที่เซเว่นอีเลฟเว่นทุกวัน เพื่อสะสมแสตมป์ บางครั้งก็ขอแสตมป์จากพยายาล ซึ่งทำให้เธอลืมความกังวลและความทุกข์ไปได้ 

          พอฟังเรื่องราวของคนไข้ ทำให้ดิฉันนึกถึงความทุกข์ของคนรอบข้างที่ไม่ถึงครึ่งของน้องคนนี้ ไม่ได้ป่วยหนักอยู่ในโรงพยาบาล มีครอบครัวที่อบอุ่น แต่กลับไม่สามารถมีความสุขได้เพราะเหตุการณ์ไม่ได้เป็นอย่างที่คาดหวัง แต่น้องผู้ป่วยคนนี้ชีวิตดูเหมือนไม่มีทางเลือกมากนัก แต่เธอสามารถหาทางเลือกให้กับชีวิตตนเองได้ว่าจะอยู่อย่างมีความทุกข์หรืออยู่อย่างมีความสุข

          อีกกรณีหนึ่งเป็นเรื่องราวของคุณป้าท่านหนึ่งที่ป่วยเป็นโรคตับแข็ง สามีกับลูกไม่ค่อยมาเยี่ยม น้องอาสาก็เพียรพยายามมาพูดคุย แต่เนื่องจากความแตกต่างระหว่างวัยทำให้ยากที่จะมีเรื่องพูดคุยร่วมกันได้ อย่างไรก็ตาม แม้คุณป้าจะบอกว่าไม่สนใจที่ไม่มีใครมาเยี่ยม แต่น้องอาสาก็สามารถจับความรู้สึกได้ว่าคุณป้ามีความน้อยใจ และน้องอาสายังคงมาเยี่ยมบ่อยครั้งจนวันที่คุณป้าออกจากโรงพยาบาล ในวันนั้นคุณป้ายิ้มแย้มแก้มแทบปริแตกต่างราวกับคนละคน ที่เป็นเช่นนี้ไม่ใช่เพราะได้ออกจากโรงพยาบาลแต่เพราะสามีกับลูกมารับคุณป้า น้องอาสาเองก็รู้สึกดีใจที่คุณป้าสามารถออกจากโรงพยาบาลพร้อมด้วยใบหน้าที่แย้มยิ้ม คนไข้มีความสุขอาสาก็มีความสุขไปด้วย

          กรณีสุดท้ายเป็นเรื่องราวของคุณลุงที่ป่วยเป็นมะเร็งกล่องเสียง วันแรกที่น้องอาสาไปเยี่ยม คุณลุงเล่าเรื่องชีวิตของตนเองตลอดสองชั่วโมงเต็ม แต่ละครั้งที่มาเยี่ยม คุณลุงก็ยังคงเล่าเรื่องชีวิตของตนเองอีก แต่พูดคุยน้อยลงๆ มากขึ้นทุกวัน จนบางวันไม่คุยเลย ความเจ็บป่วยจากโรคทำให้คุณลุงเหนื่อยไม่สามารถพูดได้เมือนเดิม แต่น้องอาสาก็ยังคงไปเยี่ยมคุณลุงอย่างสม่ำเสมอวันละประมาณ ๓๐ นาที โดยไม่ได้พูดคุย เพียงไปนั่งข้างๆ คุณลุง วันสุดท้ายที่คุณลุงออกจากโรงพยาบาล คุณลุงยกมือไหวน้องอาสา น้องๆ รับไหว้แทบไม่ทัน ใจหนึ่งรู้สึกตกใจ ใจหนึ่งก็รู้สึกตื้นตันใจอย่างสุดซึ้งที่รับรู้ถึงความรู้สึกขอบคุณของคุณลุงที่ออกมาจากใจจริงๆ 

          กำลังใจจากอาสาอาจดูเหมือนเล็กน้อย แต่ถ้ามาจากใจ และมีความจริงใจ มาอย่างสม่ำเสมอ ก็ทำให้ผู้ป่วยมีพลังใจได้มากอย่างที่คิดไม่ถึง 

          เราอาจมีหมอที่ดี มียาดีที่รักษา แต่ถ้ามีคนดูแลดี ผู้ป่วยมีกำลังใจที่ดี โรคภัยก็ไม่อาจเอาชนะได้ โดยเฉพาะใจของเรา ท่านทั้งหลายคิดอย่างดิฉันไหมคะ

 

คอลัมน์:

ผู้เขียน: