Error message

  • Deprecated function: Methods with the same name as their class will not be constructors in a future version of PHP; views_display has a deprecated constructor in require_once() (line 3066 of /home/budnetorg/domains/budnet.org/public_html/sunset/includes/bootstrap.inc).
  • Deprecated function: The each() function is deprecated. This message will be suppressed on further calls in menu_set_active_trail() (line 2385 of /home/budnetorg/domains/budnet.org/public_html/sunset/includes/menu.inc).

บันทึกอาสาข้างเตียง “เรียนรู้เขา เพื่อเรียนรู้ตัวเอง”

-A +A

           ข้าพเจ้าเข้าร่วมเป็นส่วนหนึ่งในกิจกรรมอาสาข้างเตียงปี ๒๕๕๓ โดยขอสมัครเข้ามาดูแลเด็กที่ป่วยเป็นโรคเรื้อรังและโรคระยะสุดท้ายที่โรงพยาบาลเด็กในระยะเวลา ๓ เดือนกว่า นับเป็นช่วงเวลาที่ล้ำค่ามาก เพราะเป็นช่วงแห่งการเรียนรู้ทั้งชีวิตตนเองและชีวิตผู้อื่น ซึ่งเป็นบทเรียนที่หาไม่ได้ในตำราและห้องเรียน

           น้องเป็นเด็กผู้ชายอายุย่าง ๗ ขวบ เข้ารับการรักษาด้วยโรคกล้ามเนื้อหัวใจไม่แข็งแรง และส่งผลกระทบต่อตับ ได้รู้ตอนหลังว่าน้องเขาไม่มีแม่ เนื่องจากพ่อแม่แยกทางกันตั้งแต่เขาอายุได้ ๑ เดือน ปัจจุบันน้องอาศัยอยู่กับปู่ ย่า และพ่อซึ่งต้องไปทำงานทุกวันตั้งแต่เช้ายันมืด วันแรกที่ได้เจอกัน น้องเพิ่งออกจากห้องไอซียู ไม่มีญาติหรือผู้ปกครองมาเฝ้าดูแลเลย น่าสงสารมาก น้องไม่พูด ไม่คุยอะไร ไม่ยิ้ม เอาแต่นอนอย่างเดียว 

           แรกๆ ที่ไปเยี่ยมน้อง รู้สึกอึดอัดมากเพราะพูดอะไรไปเขาก็ไม่พูดตอบ ไม่ยิ้มเลย ดูเขาซึมๆ ข้าพเจ้าเลยยิ้มให้เขาอย่างเดียว และนั่งเงียบๆ อยู่เป็นเพื่อนข้างเตียง แล้วอยู่ๆ เขาก็พูดขึ้นมาว่า “พี่...ยิ้มทำไม?” ข้าพเจ้าอึ้งไปนิด ไม่คิดว่าจะได้เจอคำถามนี้ เลยตอบไปว่า “ยิ้มให้หนูไง เป็นกำลังใจให้ หนูจะได้ไม่เจ็บมาก หนูต้องยิ้มบ่อยๆ ด้วยนะ ความเจ็บปวดจะได้หายไป” น้องเขาเหมือนจะฝืนยิ้มให้หนหนึ่ง แล้วกลับมาหน้านิ่งเหมือนเดิม เราภาวนาอยู่ในใจว่าให้น้องหายเจ็บปวดด้วยเถอะ น้องเขายิ้มให้แล้ว แค่หนหนึ่งก็ยังดี ระหว่างนั้นข้าพเจ้าช่วยนวดท้องให้น้องเพราะเขาปวดท้องมาก

           หลังจากนั้น ข้าพเจ้าได้ไปเยี่ยมน้องเขาอีกหลายครั้ง ได้เห็นพัฒนาการของเขาจากที่ไม่ยิ้มเลย แต่พอเจอหน้าเรา เขาจะยิ้มให้ก่อนเลย ย่าของน้องบอกว่าเขาไม่ค่อยจะยิ้มให้ใครเลย และมักจะถามย่าอยู่บ่อยๆ ว่า พี่จะมาหรือเปล่า รู้สึกประทับใจมากเนื่องจากน้องเขามีปัญหาทางจิตใจขาดความอบอุ่นจากครอบครัว เพราะอยู่กับปู่และย่าเป็นส่วนใหญ่ ช่องว่างระหว่างวัยที่ต่างกันมาก ทำให้เขาไม่ค่อยได้เปิดใจกับใครง่ายๆ 

           การไปเยี่ยมน้องเขาแต่ละครั้งใช้เวลาไม่มากนัก ส่วนใหญ่ข้าพเจ้าจะไปเล่านิทานให้ฟัง ชวนเขาคุย แต่ส่วนใหญ่แล้วข้าพเจ้าจะคุยเองเสียมากกว่า จนในที่สุดเขาจึงได้เปิดใจและสนิทกับข้าพเจ้ามากขึ้น เขาจำนิทานที่ข้าพเจ้าเล่าให้ฟังได้หมดทุกเรื่อง เมื่ออาการเจ็บป่วยทุเลาลง จนแพทย์อนุญาตให้กลับบ้านได้ เราดีใจกับน้องที่ได้กลับบ้าน แต่อีกใจอดคิดถึง แอบเป็นห่วงไม่ได้ ได้แต่ทำใจ เพราะมาพบเพื่อที่จะจากกัน น้องเขาได้กลับบ้านแล้วดีกว่าต้องมาอยู่ที่โรงพยาบาล เลยให้เบอร์โทรศัพท์น้องเขาไป เผื่อมีเรื่องอะไร จะได้ส่งข่าวบอกกัน 

           จากนั้นไม่ถึงเดือน ข้าพเจ้าได้รับโทรศัพท์จากพ่อของน้องเขาว่าน้องต้องกลับเข้าไอซียูอีกครั้ง ด้วยอาการที่หนักกว่าเดิม เลยไปเยี่ยมน้องเขา ได้เห็นสภาพเขาแล้วน่าสงสารมาก ตัวบวมไปหมด พอน้องเห็นข้าพเจ้า เขายิ้มให้ก่อนเลยทั้งๆ ที่ปากยังมีเครื่องช่วยหายใจคาอยู่ ข้าพเจ้าน้ำตาซึมเพราะไม่คิดว่าจะได้เจอกันอีกในสภาพนี้ ข้าพเจ้าไปเยี่ยมเขาที่ไอซียูทุกวันจนกระทั่งเขาจากไปอย่างไม่มีวันกลับ ระหว่างนั้นได้เรียนรู้ถึงสภาวะจิตใจของคนที่กำลังจะพบกับความสูญเสีย ความทุกข์ใจของผู้เป็นพ่อ ปู่ ย่า ความไม่แน่นอนของชีวิต ช่วงนั้นข้าพเจ้าเศร้ามากๆ และพอดีได้มีโอกาสเข้าร่วมฟังการสัมมนาที่โรงพยาลจัดขึ้น คุณหมอท่านหนึ่งพูดได้ประทับใจมากว่า “เราก็เหมือนกับห้องรับแขก มีแขกมาก็ต้อนรับให้ดี” ประโยคนี้เหมือนฉุดข้าพเจ้าขึ้นจากภวังค์ ว่ามันยึดอะไรไม่ได้ ใจมันคลายออกเลย

           สิ่งที่ประทับใจในการเป็นอาสาครั้งนี้คือ ในท่ามกลางความเจ็บป่วย ความทุกข์ ความทรมาน ได้เห็นชีวิตที่งดงามทั้งผู้ให้และผู้รับ ไม่ว่าจะเป็นผู้ป่วย ญาติผู้ป่วย แพทย์ พยาบาล จิตอาสา ต่างดำเนินไปกันได้อย่างสอดคล้องสวยงาม ทีมแพทย์ พยาบาล และเจ้าหน้าที่ฝ่ายต่างๆ ได้พยายามหาวิธีการที่จะเยียวยารักษาอาการเจ็บป่วยทั้งทางร่างกายและจิตใจ ให้กับตัวผู้ป่วยเองและญาติผู้ป่วยด้วย ผลักดันให้มีกิจกรรมต่างๆ มากมายให้ผู้ป่วยและญาติได้ทำ พยายามสร้างความสัมพันธ์ที่ดี ให้กำลังใจ เป็นกันเอง เพื่อเยียวยาให้ผู้ป่วยและญาติได้หายจากการเจ็บป่วยหรือยอมรับต่อสภาพการณ์นั้น อีกประการหนึ่งคือ การได้เห็นถึงพัฒนาการของชีวิต ความผูกพัน การพรากจาก ซึ่งสุดท้ายแล้วไม่มีอะไรที่จะสามารถยึดเอาไว้ได้ ทุกๆ สิ่ง ทุกๆ บทบาท เป็นเพียงปรากฏการณ์ที่เข้ามาทักทายแล้วผ่านไปเท่านั้นเอง 

           “เรียนรู้เขา เพื่อเรียนรู้ตัวเอง” เป็นสิ่งสำคัญที่ข้าพเจ้าได้รับจากการทำงานจิตอาสาในครั้งนี้ การเรียนรู้และเข้าใจชีวิตได้อย่างลึกซึ้งนั้น บางครั้งการมีผู้อื่นช่วยเป็นกระจกสะท้อน ทำให้เรามองเห็นสิ่งต่างๆ ได้อย่างชัดเจนและกระจ่างมากขึ้น อย่างเช่น การตระหนักรู้ว่าเราใกล้ชิดกับ “ความตาย” เพียงใด ทำให้เราได้เตือนตัวเองบ่อยขึ้น ทำให้รู้สึกว่าสายตาเราเวลาที่มองเด็กๆ หรือผู้คนอ่อนโยนขึ้น หัวใจนุ่มนวลกว่าเดิม นอกจากนั้นยังได้เรียนรู้ถึงการแบ่งปันและเสียสละ ได้แสดงบทบาทของการเป็นผู้ให้และผู้รับในเวลาเดียวกัน และสำคัญสุดคือ ทำให้เราได้ตระหนักรู้ว่าชีวิตมีค่ายิ่งนัก ทุกๆ วัน ทุกๆ เวลา ทุกๆ นาที 

คอลัมน์: