เรียงความวันแม่

วีระศักดิ์ จันทร์ส่งแสง 12 สิงหาคม 2018

เป็นนักเขียนมาหลายปี ผมยังไม่เคยเขียนถึงแม่

ไม่เคยโพสต์เรื่องแม่ในเฟสบุ๊ค

นึกฉุกใจขึ้นมาเมื่ออ่านเจอวรรคหนึ่งใน “นกขมิ้นหลงรัง” ว่า เราเขียนบรรยายความรู้สึกถึงใครมากมาย แต่ไม่เคยเขียนอะไรให้แม่  และนักเขียนใหม่หลายคนในโครงการเขียนชีวิตบุพการี “หอมกลิ่นลำดวน” เขียนถึงแม่ได้อย่างลึกซึ้งกินใจ

ผมเขียนหนังสือมา ๒๐ กว่าปีแล้ว ทั้งยังมีส่วนร่วมอยู่ในคณะผู้ให้แนวทางแก่คนอื่นเขียนถึงบุพการี แต่ตนเองยังไม่เคยเขียนถึงแม่เลย

เราเป็นชาวชนบทอยู่กันตามประสาชีวิตบ้านนอกที่ราบเรียบ ไม่มีอะไรเด่นโดดโลดโผนให้คนอ่านตื่นเต้น แต่ผมไม่กังวล งานเขียนเรื่องนี้ผมจะเขียนให้แม่อ่าน

ผมเป็นลูกติดแม่อยู่จนอายุราว ๒๐ ปี  ครอบครัวชาวสวนบ้านป่าจะปลูกบ้านอยู่ห่างๆ กัน เวลาพ่อออกไปทำงานหรือทำธุระที่ไหน วันเดียวหรือหลายวัน เราก็อยู่บ้านกันสองคนแม่ลูก ไม่ค่อยได้ออกไปไหน ได้พบปะผู้คนไม่มาก

ตอนผมจะไปโรงเรียนแม่ก็ตัดผมให้เอง ด้วยกรรไกรแบบที่ใช้ตัดกระดาษ จึงไม่ได้เกรียนเกลี้ยงเกลาเหมือนไถด้วยปัตตาเลี่ยน หากเหลือตอเป็นริ้วๆ เหมือนเกล็ดปลา คนใต้จะเรียกแบบล้อๆ ว่า ทรงเกล็ดฟ้า

ผมไม่อายเรื่องนี้ เพราะเด็กผู้ชายแทบทั้งโรงเรียนก็เป็นทรงเกล็ดฟ้าเหมือนๆ กันหมด

เรื่องที่รู้สึกอายเมื่อนึกแม้ในบัดนี้ เป็นเหตุการณ์ในตลาดนัดของหมู่บ้าน ซึ่งมีสัปดาห์ละครั้งตอนเช้าวันจันทร์ คนจากหมู่บ้านโดยรอบจะมาซื้อเกลือ กะปิ ปลาแห้ง ฯลฯ ไว้เก็บกินตลอดทั้งสัปดาห์

แม่มีเงินมาตลาดอย่างจำกัด สำหรับซื้อข้าวของและขนมให้ลูก ซึ่งอาจเพราะเป็นลูกชายคนเดียวแม่จึงตามใจมาก โตจะเข้าโรงเรียนแล้วแม่ยังป้อนข้าว ยังยอมให้นั่งตัก และไม่เคยตีลูก

เด็กชายไม่รู้หรอกว่าน้ำสีหลากหลายละลานตาพวกนั้นคืออะไร ใช้ทำอะไร แต่มันอยู่ในขวดใสทรงสูงรูปปิรามิดที่เข้ากันอย่างสวยจับใจ เขาดึงชายเสื้อแม่ว่าอยากได้

ทีแรกแม่จะซื้อให้ แต่พอถามราคามันแพงจนแม่คงไม่มีเงินเหลือพอซื้อกับข้าว จึงจำต้องปฏิเสธ

เท่านั้นเด็กชายก็ร้องไห้ลั่นตลาด สะบัดแขนขาชักดิ้นชักงอ คนเดินผ่านไปมาต่างพากันถามว่าเป็นอะไร

แม่ต้องคอยตอบใครต่อใครว่า “มันอยากได้น้ำยาทาเล็บ”

เป็นนักเขียนมาหลายปี ยังไม่เคยเขียนถึงแม่ งานเขียนเรื่องนี้จะเขียนให้แม่อ่าน

แม่เองไม่เคยใช้เครื่องสำอาง นอกจากที่จำเป็นพื้นฐานพวก สบู่ ยาสีฟัน ยังไม่ต้องพูดถึงว่าจะเข้าร้านเสริมสวยหรือคลินิกเสริมความงาม แต่ฟันแม่ยังขาวสะอาดแม้เมื่อเข้าสู่วัยชรา เพราะแม่เป็นเพียงไม่กี่คนในหมู่บ้านที่ไม่ติดกินหมาก

แม่ไม่แต่งหน้าทาเล็บ ไม่เคยเขียนคิ้วเขียนปาก แต่แม่สวยและดูอ่อนเยาว์กว่าวัยมาก  ช่วงผมเป็นวัยรุ่นเวลาขับมอเตอร์ไซค์พาแม่ไปไหน  ใครๆ มักแซวแม่ว่า มากับน้องชายใช่ไหมนี่

ในหมู่ชาวบ้านป่าเรามีวิธีแสดงตัวว่าโตเป็นหนุ่มแล้วได้หลายทาง อย่างหนึ่งคือการทำอะไรอย่างที่พวกผู้ใหญ่เขาทำกัน

พอเริ่มหนุ่มผมจึงริสูบยาอย่างพวกผู้ชายในหมู่บ้าน

แทนที่จะได้รับการยอมรับว่าโตแล้ว ผมถูกแม่ดุ

ครั้งหนึ่งแม่ถึงกับร้องไห้ พอรู้ว่าผมสูบมากกว่าบุหรี่

ช่วงเป็นสิบปีที่ติดบุหรี่ ผมสูบให้แม่เห็นไม่ได้เลย

จนถึงวันนี้เลยหลัก ๔ มาแล้ว ยังถูกดุถ้าดูดยาให้แม่เห็น

แม่เป็นที่สุดของความอ่อนโยน คนทั้งหมู่บ้านต่างก็รู้ว่าแม่ไม่เคยดุด่านินทาให้ร้ายใคร  ไม่ใช่แค่ต่อผู้คนเพื่อนบ้าน แต่รวมถึงต่อโลกด้วย

ช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมาเราพูดกันมากเรื่องรณรงค์ลดโลกร้อน ผมนึกย้อนไปแม่ลดโลกร้อนมาแต่ไหนแต่ไรแล้ว วิถีชีวิตของแม่แทบไม่ก่อขยะมลภาวะให้โลกเลย

คนคุ้นอาหารใต้จะรู้ว่าแกงใต้พวกแกงพุงปลายิ่งอุ่นซ้ำจะยิ่งอร่อยเข้มข้น จนถึงแกงส้ม แกงคั่ว แม่ก็อุ่นกินจนเกลี้ยงหม้อ แทบไม่มีเททิ้งเป็นขยะ

ถึงยุคที่โลกพูดกันเรื่องลดพลาสติก แม่ยังสะเทือนใจกับเศษถุงเศษห่อขนมที่แพร่เข้ามาทิ้งกันกลาดเกลื่อนทุ่งและตามริมทางในหมู่บ้าน แทนใบตองใบไม้ที่ใช้กันมาแต่เดิม

แม่เรียนหนังสือจบแค่ชั้น ป.๔ แต่ผมคิดว่าแม่เท่าทันโลก  ในยุคที่โลกชุ่มโชกด้วยสารเคมี แม่รู้และพาลูกหลานละเลี่ยงอาหารเคมีพวกหมูไก่จากฟาร์ม ผักผลไม้จากการเกษตรพาณิชย์ แม่ก็ไม่อยากซื้อเข้าบ้าน

ความจริงแม่แอนตี้สารเคมีมาชั่วชีวิตแม่ก็ว่าได้  บ้านเราไม่เคยมีผงชูรสอยู่ในบ้าน อาหารจากครัวของแม่ปลอดผงชูรสหรือแม้กระทั่งรสดีมาตลอดกาล

ครัวของบ้านนั่นแหละโลกของแม่

แม่อยู่กับครัวมาตั้งแต่สร้างครอบครัว มีความสุขกับการหุงหาข้าวปลาแล้วคอยเรียกทุกคนมากินเมื่อถึงเวลา จะยากแค้นแสนขัดสนอย่างไรลูกหลานต้องได้กินอิ่มครบ ๓ มื้อ  ใครผ่านไปมาบ้านเรา มักพบแม่อยู่แต่ในครัวก็กระเซ้าว่า ท่าจะแก่อยู่ในครัวนี่ล่ะ

แม่ไม่โต้ตอบว่ากระไร แต่ผมรู้ว่าแม่มีความสุข และรู้สึกเป็นเจ้าของพื้นที่ตรงนั้นอย่างแท้จริง

แม่ไม่สนใจเรื่องจะไปเปิดหูเปิดตาที่ไหน ลูกหลานชวนกันไปเที่ยวโน่นนี่ หลายครั้งชวนแม่ไปด้วย บางครั้งกลับมาเล่ากันอย่างตื่นเต้น หวังให้แม่ไปด้วยในครั้งหน้า แต่แม่ยืนยันว่าแม่มีความสุขดีที่สุดที่บ้าน

แถวบ้านเราอยู่ห่างวัด ห้าหกหมู่บ้านจะมีวัดสักแห่ง ปีหนึ่งๆ แม่มีโอกาสไปวัดนับครั้งได้ แต่ก็เช่นเดียวกับชาวชนบทโดยทั่วไป แม่เคร่งครัดศีลอยู่ในชีวิตประจำวัน

ใจบุญและเป็นคนใจดีอยู่โดยวิถีชีวิต

เลี่ยงการปาณาฆ่าสัตว์มาตลอด โดยเฉพาะช่วงที่แม่ตั้งท้องน้องชาย แม้แต่เอาไข่ลงต้มในหม้อน้ำร้อนแม่ยังไม่ทำ เช่นเดียวกับที่หญิงตั้งครรภ์ทุกคนในหมู่บ้านถือปฏิบัติกันมา

น้องเกิดหลังผม ๑๐ ปี ผมอายุห่างจากแม่ ๒๐ ปี และเป็นลูกติดแม่อยู่เป็น ๒๐ ปีแรกของชีวิต  เรียนหนังสือในหลายสถาบันการศึกษาในจังหวัดบ้านเกิดแบบเรียนบ้างหยุดบ้าง ซึ่งอาจนับว่าเป็นโฮมสคูลแบบหนึ่งก็ว่าได้ เพราะผมอยู่กับครอบครัวโดยตลอด กินนอนอยู่ด้วยกัน จนวันที่ออกจากบ้านผมก็ยังไม่เคยมีห้องนอนส่วนตัว

แม่มาเล่าทีหลังว่าตอนผมจากบ้านไปอยู่ในเมืองหลวงใหม่ๆ แม่ร้องไห้อยู่เป็นเดือนๆ เหมือนจะขาดใจ

จนวันหนึ่งนึกขึ้นมาได้ว่าถ้ายังโศกตรอมใจอยู่อย่างนั้น คงตายก่อนได้เห็นลูกกลับมา แม่จึงหยุดร้องมาได้แต่วันนั้น

ใครก็กล่าวกันว่า ยุคนี้ออนไลน์ได้เชื่อมโลกถึงกันหมดราวกับเป็นหมู่บ้านเล็กๆ

แต่หมู่บ้านของเรายังเป็นหมู่บ้านเล็กๆ จริงๆ

สภาพการเป็นอยู่ ขนาดหมู่บ้าน จำนวนคน ต่างจากเมื่อสิบๆ ปีก่อนไม่มาก

ถ้าเรื่องที่เป็นงานเป็นการ ไม่ว่าธุระการงาน หรือบอกข่าวเชิญร่วมงานมงคล จะต้องเจอตัวพูดจากันต่อหน้า-มาถึงบ้าน ไม่ผ่านโซเชียลมีเดีย

ผมเขียนเรื่องนี้จะให้แม่อ่าน  แต่แม่จะได้อ่านไหม เพราะแกไม่ได้เล่นเฟสบุ๊ค

ผมต้องกลับไปหาแม่


ภาพประกอบ

วีระศักดิ์ จันทร์ส่งแสง

ผู้เขียน: วีระศักดิ์ จันทร์ส่งแสง

เกิดในครอบครัวชาวสวนยางจังหวัดกระบี่ ทำงานเขียนสารคดีมา ๒๐ กว่าปี มีผลงานกว่า ๓๐ เล่ม เคยได้รับรางวัลชนะเลิศ "ลูกโลกสีเขียว" (ปี ๒๕๕๑) รางวัลชนะเลิศ "เซเว่นบุ๊ค อวอร์ด" (ปี ๒๕๔๙ และ ๒๕๕๔) ปัจจุบันเป็นผู้ช่วยบรรณาธิการนิตยสาร "สารคดี" โดยยังคงเขียนสารคดีอยู่เป็นประจำ