ส่งเสริมบทบาทพระสงฆ์ โรงพยาบาล และชุมชน

monks

โครงการช่วงที่หนึ่ง : ส่งเสริมบทบาทพระสงฆ์ โรงพยาบาล และชุมชน ในการเยียวยาจิตใจผู้ป่วยเรื้อรังและระยะสุดท้าย

ในปี 2551 มีการสำรวจผู้ป่วยกว่า 2 ล้านคนในโรงพยาบาล 44 จังหวัด พบว่ามีอัตราการป่วยด้วยโรคเรื้อรังเพิ่มสูงขึ้นเดือนละกว่า 60,000 ราย เฉลี่ยนาทีละ 1 คน  ซึ่งในจำนวนผู้ป่วยดังกล่าวร้อยละ 56 เป็นผู้สูงอายุ และโรคที่พบมากที่สุดคือ เบาหวาน ความดันโลหิตสูง หัวใจขาดเลือด โรคหลอดเลือดสมอง และโรคเรื้อรังของระบบทางเดินหายใจ (สำนักระบาดวิทยา กระทรวงสาธารณสุข : 2551)  จึงมีแนวโน้มว่าประเทศไทยจะมีจำนวนผู้สูงอายุที่ป่วยเรื้อรังระยะสุดท้ายเพิ่มสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว และหากรวมผู้ป่วยมะเร็งที่เพิ่มสูงขึ้นในทุกกลุ่มอายุและทุกระบบ ก็จะทำให้ภาระในการดูแลผู้ป่วยเรื้อรังและระยะสุดท้ายเพิ่มสูงขึ้นอย่างแน่นอน

จำนวนผู้ป่วยระยะสุดท้ายในโรงพยาบาลที่มีอัตราเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ไม่เพียงแต่สร้างความเดือดร้อนให้กับญาติและครอบครัวเท่านั้น ยังจะกลายเป็นภาระหนักของโรงพยาบาลในการให้บริการสุขภาพอีกด้วย  เนื่องจากผู้ป่วยในกลุ่มนี้แม้ว่าจะหมดหวังที่จะรักษาให้หาย แต่ก็ยังต้องได้รับการดูแลอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะการดูแลให้ได้รับความสุขสบายและมีคุณภาพชีวิตที่ดีในช่วงบั้นปลายของชีวิต  ในขณะที่จำนวนบุคลากรในโรงพยาบาลของรัฐแทบทุกแห่งล้วนอยู่ในสภาพขาดแคลน บางแห่งมีจำนวนแพทย์พยาบาลไม่เพียงพอต่อจำนวนผู้ป่วยที่ต้องการการดูแล และคาดหวังให้โรงพยาบาลช่วยทำหน้าที่ในการดูแลอย่างดีที่สุด

สภาพการณ์เช่นนี้ทำให้การดูแลอย่างเป็นองค์รวมที่ครอบคลุมทั้งกาย ใจ สังคม และจิตวิญญาณจึงเป็นเรื่องที่เป็นไปได้ยากหรือเกิดขึ้นได้อย่างจำกัดมากขึ้นทุกที  ครอบครัวของผู้ป่วยเองก็ไม่สามารถทำหน้าที่ผู้ดูแลได้เฉกเช่นในอดีต อันเนื่องมาจากสภาพแวดล้อมทางสังคมที่เปลี่ยนแปลงไป พ่อแม่มีลูกน้อยลง ครอบครัวมีความเป็นปัจเจกมากขึ้น ลูกหลานต้องทำมาหากินจนไม่มีเวลาดูแลผู้ป่วย  และที่สำคัญคือ ญาติของผู้ป่วยส่วนใหญ่ก็มักขาดความรู้ในการดูแลผู้ป่วย และไม่มีความเชื่อมั่นว่าตนเองสามารถดูแลผู้ป่วยได้  คนที่น่าเวทนามากที่สุดในสถานการณ์เช่นนี้ก็คือผู้ป่วยระยะสุดท้าย ที่ถูกทอดทิ้งให้ต้องเผชิญความเจ็บป่วยและความตายอย่างโดดเดี่ยว

จากประสบการณ์ของเครือข่ายพุทธิกา ในการทำงานด้านการช่วยเหลือผู้ป่วยระยะสุดท้าย  พบว่าปัจจัยสำคัญที่จะช่วยบรรเทาความทุกข์ทรมานของผู้ป่วยและช่วยให้ผู้ป่วยจากไปอย่างสงบก็คือ การพัฒนาระบบการดูแลผู้ป่วยระยะสุดท้ายที่เปิดพื้นที่ให้ชุมชนหรือภาคส่วนอื่นๆ ในสังคมได้เข้ามาส่วนร่วมหรือมีบทบาทในการดูแลเพิ่มขึ้น อาทิ พระสงฆ์ นักบวช แม่ชี อาสาสมัครหรือจิตอาสา เป็นต้น  เพราะกลุ่มคนเหล่านี้ คือ ทุนมนุษย์ที่มีศักยภาพในการเยียวยาด้านจิตใจแก่ผู้ป่วย และยังเป็นผู้นำทางจิตวิญญาณที่สามารถน้อมนำจิตของผู้ป่วยระยะสุดท้ายให้จากไปอย่างสงบได้

โครงการส่งเสริมบทบาทพระสงฆ์ โรงพยาบาลและชุมชน ในการเยียวยาจิตใจผู้ป่วยเรื้อรังและระยะสุดท้าย จึงพัฒนาขึ้นเพื่อส่งเสริมและสนับสนุนให้บุคลากรสุขภาพและภาคีเครือข่ายในชุมชน ได้แก่ พระสงฆ์ แม่ชีนักบวช จิตอาสา ผู้นำชุมชน ฯลฯ ที่สนใจทำงานช่วยเหลือผู้ป่วยเรื้อรังและระยะสุดท้าย ให้มีความรู้และทักษะในการดูแลด้านจิตใจแก่ผู้ป่วยมากขึ้น  รวมทั้งพัฒนาให้เกิดระบบและกลไกในการดูแลผู้ป่วยระยะสุดท้าย ที่เปิดพื้นที่ให้พระสงฆ์และชุมชนเข้ามามีบทบาทสำคัญในการดำเนินงาน จนเกิดรูปธรรมที่ใช้เป็นตัวอย่างให้กับโรงพยาบาลอื่นๆ นำไปขยายผลต่อไป

วัตถุประสงค์

  1. เพื่อเสริมศักยภาพบุคลากรในโรงพยาบาล พระสงฆ์ และชุมชนให้สามารถดูแลและช่วยเหลือเยียวยาผู้ป่วยเรื้อรังและระยะสุดท้ายให้มีคุณภาพชีวิตที่ดี และเมื่อถึงวาระสุดท้ายก็สามารถจากไปอย่างสงบและสมศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์
  2. ส่งเสริมบทบาทพระสงฆ์ในการเป็นผู้นำจิตวิญญาณให้กับผู้ป่วยระยะสุดท้าย ครอบครัว และชุมชน
  3. พัฒนากลไกในการทำงานร่วมกันระหว่างบุคลากรสุขภาพ กับ พระสงฆ์ ชุมชน และจิตอาสา เพื่อให้เกิดระบบการดูแลที่ครอบคลุมทั้งด้านกาย ใจ สังคม และปัญญา และมีความต่อเนื่องยั่งยืน
  4. พัฒนาหลักสูตรและคู่มือ (แนวทาง) สำหรับพยาบาล พระสงฆ์ และจิตอาสาในการเยียวยาจิตใจผู้ป่วยเรื้อรังและระยะสุดท้าย และกรณีตัวอย่างการจัดบริการสุขภาพที่เอื้อให้พระสงฆ์และชุมชนมีส่วนร่วมในการดูแลผู้ป่วยเรื้อรังและระยะสุดท้าย


โครงการช่วงที่สอง : ขับเคลื่อนมิติสุขภาวะทางปัญญาผ่านการดูแลผู้ป่วยระยะสุดท้าย

ความตายคือความจริง ที่ทุกคนต้องพบเจอแต่ไม่สามารถทดลองศึกษาได้ด้วยตนเอง  เราอาจศึกษาความตายจากการจากไปของสรรพสิ่งหรือชีวิตมนุษย์ผู้อื่นได้  แต่เราไม่สามารถบอกได้ชัดเจนว่าความตายเป็นอย่างไร จนกว่าจะถึงวาระของตัวเราเอง  ดังนั้น “การเรียนรู้” ความตาย และ “การเตรียมพร้อม” ก่อนตาย น่าจะเป็นวิธีศึกษาเรื่องความตายได้ระดับหนึ่ง  รวมถึงการมีความคิดต่อความตายในทางที่ดี และเตรียมพร้อมที่จะตายอย่างสงบหรือ “ตายดี”

การเตรียมพร้อมก่อนตาย มิใช่เป็นเรื่องเฉพาะผู้ที่กำลังจะตายหรือผู้ป่วยระยะสุดท้าย แต่เกี่ยวข้องกับบุคคลรอบตัวผู้ป่วยหลากหลาย  โดยเฉพาะปัจจุบันที่ความคิดต่อการตายกลายเป็นเรื่องของโรงพยาบาล เมื่อผู้ป่วยอาการหนักสิ่งที่ญาติพี่น้องกระทำคือนำส่งโรงพยาบาลเพื่อยื้อชีวิต และปล่อยให้เทคโนโลยีทางการแพทย์ดูแลไปจนกว่าจะสิ้นใจ

อย่างไรก็ดี ในวงการแพทย์มีการตื่นตัวต่อแนวทางการรักษาแบบประคับประคอง (Palliative Care) ขึ้นมาก  โดยเฉพาะเมื่อเดือนตุลาคม 2556 ประเทศไทยเป็นเจ้าภาพจัดงานการประชุมเครือข่ายฮอสพิซและการดูแลแบบประคับประคองแห่งเอเชียแปซิฟิค ครั้งที่ 10 (10TH ASIA PACIFIC HOSPICE CONFERENCE 2013) โดยมีสมาคมบริบาลแห่งประเทศไทยเป็นเจ้าภาพหลัก  ในการประชุมมีแพทย์ พยาบาล นักวิชาการ เจ้าหน้าที่ อาสาสมัคร และคนที่ทำงานด้านนี้จากหลากหลายประเทศ มานำเสนองานที่ได้ทำในหลายมิติ

ในปี 2554 เครือข่ายพุทธิกา ได้ริเริ่ม โครงการส่งเสริมบทบาทพระสงฆ์ โรงพยาบาลและชุมชน ในการเยียวยาจิตใจผู้ป่วยเรื้อรังและระยะสุดท้าย เพื่อส่งเสริมและสนับสนุนให้บุคลากรสุขภาพและภาคีเครือข่ายในชุมชน ได้แก่ พระสงฆ์ จิตอาสา ผู้นำชุมชน ฯลฯ ที่สนใจทำงานช่วยเหลือผู้ป่วย เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งในการดูแลแบบประคับประคองให้แก่ผู้ป่วยระยะสุดท้าย

โครงการดังกล่าวเป็นการริเริ่มเปิดพื้นที่ความร่วมมือ ระหว่างบุคลากรสุขภาพ ร่วมกับชุมชนและพระสงฆ์ ซึ่งการดำเนินงานที่ผ่านมายังคงพบปัญหาอุปสรรคหลายด้าน เช่น พยาบาลแกนนำยังขาดความมั่นใจในการเคลื่อนงาน สถานการณ์ความเจ็บป่วยมีความซับซ้อนขึ้น การดูแลแบบประคับประคองจำเป็นต้องอาศัยทักษะหลายด้าน เป็นต้น

เครือข่ายพุทธิกาจึงได้ดำเนินโครงการในระยะที่สอง เพื่อพัฒนาพื้นที่ความร่วมมือ (Platform ) ที่ได้ริเริ่มไว้ให้เป็นระบบมากขึ้น  โดยมุ่งหวังสร้างกลไกการดูแลแบบประคับประคอง และสร้างพื้นที่เรียนรูู้ผ่านการทำงานดูแลผู้ป่วยระยะสุดท้ายแบบประคับประคอง (Palliative Care) ร่วมกันของกลไกที่เกี่ยวข้อง ทั้งพยาบาล จิตอาสา ชุมชน และพระสงฆ์  ซึ่งบุคลากรดังกล่าวจะเป็นทีมทำงานที่มีทักษะความรู้เรื่องการตายดี และการดูแลแบบประคับประคองอย่างเป็นองค์รวมในอนาคต

วัตถุประสงค์หลัก

เพื่อขับเคลื่อนมิติสุขภาวะทางปัญญาในสังคมไทย ผ่านพื้นที่เรียนรู้และกระบวนการมีส่วนร่วมในการดูแลผู้ป่วยระยะสุดท้ายด้วยวิถีพุทธโดยพยาบาล พระภิกษุ และจิตอาสา


ผลผลิตบางส่วนจากโครงการ

– โครงการจบแล้ว –