กำแพง

นาม ไร้นาม 3 ธันวาคม 2017

มีคำบางคำในแวดวงนักฝึกอบรม หรือศัพท์สมัยใหม่เขาเรียกกันว่า กระบวนกร น่าสนใจเอามาศึกษาต่อ เช่น กำแพง หรือ ขอบ

ในความหมายของคำก็คงตรงตัวตามนั้น แต่กลับมีนัยยะสำคัญที่ลึกลงไปกว่านั้น  กำแพง เอาไว้กั้น กัน ขวาง ป้องกัน บอกเขต ขอบ ของพื้นที่ นั่นน่าจะเป็นความหมายของกำแพง  แต่ลึกลงไประดับจิตใจ ระดับจิตวิญญาณ กำแพงที่เรามักพูดถึงกันก็คือ สิ่งที่ขวางกั้นเราไม่ให้ก้าวพ้นออกไปจากพื้นที่เดิมๆ  ว่าก็คือ เมื่อเราอยู่ในพื้นที่ของเรา อยู่ในบ้านของเรา เรารู้สึกปลอดภัย มันเป็นที่ๆ เราคุ้นเคย เรารู้จักมัน เรารู้ว่าเราทำอะไรได้ ตรงไหน  ด้วยความที่มันเป็นพื้นที่คุ้นชิน คุ้นเคย เราจึงไม่ต้องลำบากอะไรกับการใช้ชีวิต นั่นทำให้เกิดการดำรงอยู่อย่างซ้ำๆ วนๆ

เมื่อเราดำรงอยู่กับความคุ้นเคย เราก็เลยไม่ต้องคิด ไม่ต้องแสวงหาความรู้อะไร เพราะทั้งหมดนั้นเรารู้อยู่แล้ว  ในทางหนึ่งมันก็เป็นความสบาย เฉื่อยชา ละเลย หลับใหล  ภาวะนั้นมันคงไม่มีปัญหาอะไรกระมัง หากคนพอใจที่จะเป็นเช่นนั้น แต่ชีวิตกลับไม่ได้เป็นไปตามที่คิด

หากเราเรียกพื้นที่นั้นว่าเป็นเขตภายในกำแพง ในนั้น มันไม่ได้ดำรงอยู่อย่างโดดเดี่ยว แต่มันกลับมีบางสิ่งบางอย่างเล็ดลอดเข้ามาเสมอ  เราไม่ได้ก้าวออกไป แต่สิ่งที่เข้ามาก็ส่งผลต่อวิถีชีวิตอันจำเจของเราได้  และเมื่อเราไม่มีความสามารถที่จะรับมือมันได้ นั่นก็เป็นความทุกข์ เป็นความท้อแท้สิ้นหวัง

สำคัญไม่ใช่การตั้งรับ แต่คือการออกไปเผชิญหน้ากับความจริงนอกกำแพง  ว่ากันว่า ในพื้นที่ๆ เราไม่คุ้นเคยนั้น เป็นพื้นที่แห่งการเรียนรู้  เพราะเราไม่รู้ เราจึงต้องทำความรู้จักกับมัน และในการทำความรู้จักกับมันนั่นเองที่เป็นการเรียนรู้ ยิ่งเราเดินทางออกไปไกลเท่าไหร่ การเรียนรู้ก็มากขึ้นเท่านั้นตามไปด้วย

และถ้าเรามองพื้นที่นอกกำแพงนั้นอย่างลึกซึ้ง เราจะไม่เห็นว่านั่นเป็นพื้นที่อันตรายที่เราไม่คุ้นเคย แต่เราจะเห็นเป็นพื้นที่แห่งโอกาส เป็นโอกาสที่เราจะพัฒนาตนเอง พัฒนาจิตวิญญาณตนให้ก้าวไปพ้นจากความคุ้นชินอันหลับไหล ไปสู่การตื่น ไปสู่การเรียนรู้ชีวิตอย่างมีความหมาย

ด้วยความเป็นพื้นที่คุ้นชิน เราจึงไม่ต้องลำบากอะไร นั่นทำให้เกิดการดำรงอยู่อย่างซ้ำๆ วนๆ

ขอบ ที่พูดถึงก็คงเป็นความหมายเดียวกับกำแพง สองสิ่งในความหมายเดียวกันนี้ก็มีไว้เพื่อให้เราข้ามไป ไม่ว่าจะข้ามขอบ หรือข้ามกำแพง นั่นก็คือการข้ามไปสู่โอกาสของการเรียนรู้และเปลี่ยนแปลงตนเอง  เคยมีคนสงสัยว่า ทำไมเราต้องเปลี่ยนแปลงตัวเองด้วย ในเมื่อเราเชื่อมั่นว่า เราเป็นอย่างนี้ก็ดีแล้ว เราพอใจในสิ่งที่ตัวเองเป็นอยู่แล้ว

เคยได้ฟังเรื่องเล่าเกี่ยวกับเหลาจื๊อ ขงจื๊อ เรื่องหนึ่ง อาจจะเป็นเรื่องที่ไม่มีใครยืนยันได้ว่านี่เป็นเรื่องจริง เอาเป็นว่าเอามาเทียบเคียงและเรียนรู้ได้  เรื่องก็คือ ขงจื๊อวางแผนการปกครองบ้านเมือง จัดวางระบบ ระเบียบอย่างละเอียด สมบูรณ์แบบ เมื่อท่านได้คุยเรื่องนี้กับเหลาจื๊อ เหลาจื๊อบอกว่า นี่เป็นแผนที่ยอดเยี่ยม แต่….พรุ่งนี้โลกก็เปลี่ยนไปแล้ว

เคยเห็นผู้เฒ่าบางคน ที่มีความมั่นใจในตัวเองอย่างสูง มั่นใจในความรู้ ภูมิปัญญาของตน  นานวันเข้า สิ่งที่ผู้เฒ่าพร่ำบอกลูกหลานมันเป็นสิ่งที่ใช้ไม่ได้ในโลกสมัยใหม่ เพราะที่พร่ำกล่าวมานั้นมันเป็นความรู้ของเมื่อครึ่งทศวรรษมาแล้ว

กลับมาว่าเรื่องกำแพง อะไรคือกำแพงที่คอยขวางเราจากการก้าวออกไปเผชิญ และเรียนรู้  ว่ากันอย่างกว้างๆ ก็คือใจของเราเอง ว่าให้ย่อยลงไป ก็เป็น ทิฎฐิ  มานะ ตัวตน ความยึดมั่นถือมั่น ว่าก็คือกิเลสทั้งปวงนั่นเอง หรืออาจมีคำเรียกอื่น ในศาสนา หรือความเชื่ออื่น แต่ในที่นี้เราจะพูดถึงแค่เรื่อง ใจ ของเราเอง ใจที่ขี้เกียจด้วย

ทุกวัน ทุกเวลา ตลอดเวลาที่ใจของเรา สร้างกำแพงขึ้นมาครอบงำตัวเองเอาไว้  มีบางครั้งบางคราวที่เราได้รับแรงบันดาลใจ หรือแรงกระตุ้นให้สนใจกระทำบางอย่าง สิ่งที่เราสร้างไว้มันก็จะเริ่มสำแดงฤทธิ์

เมื่อมีความคิดใหม่ผุดขึ้นมา มันจะเริ่มมีเงื่อนไขตามเข้ามาทันทีทันใดว่า ทำไม่ได้หรอก เพราะ….. เหตุผลนานัปการ ที่กลายเป็นเงื่อนไขว่า ทำไม่ได้ สุดท้ายเราก็ไม่ได้ทำ เพราะเราก็มักจะเชื่อเงื่อนไขเหล่านั้น แล้วเราก็ให้ความดีความชอบตัวเองว่า เราคิดละเอียด รอบคอบ  จนเมื่อมีเรื่องใหม่เข้ามาอีก เงื่อนไขมันก็ตามมาอีกเหมือนเคย แล้วเราก็ให้ความชอบตัวเองอีกว่า เราคิดละเอียด รอบคอบ

สุดท้าย เราก็ผ่านวันเวลาของชีวิตมาโดยที่ไม่ทำอะไรเลย นอกจากความเคยชินเดิมๆ แล้วเราก็อธิบายตัวตนของเราด้วยเงื่อนไขต่างๆ ที่เราสร้างขึ้นนั้น แม้บางครั้งมันจะเป็นเหตุผลที่ฟังไม่ขึ้นเอาเลย แต่เราก็หาเหตุผลประกอบ อ้างอิง จนมันดูดีขึ้นจนได้

ทั้งหมดทั้งปวงชีวิตเราก็ย่ำอยู่กับความหลับใหล เฉื่อยชา เรื่องเดียวที่เราเก่งขึ้นเชี่ยวชาญขึ้น ก็มีเพียงการหาเหตุผล สร้างคำพูดขึ้นมาเพื่อให้มันดูดี นั่นเป็นเรื่องเดียวจริงๆ ที่เราทำได้ดีขึ้นเรื่อยๆ

เมื่อมีความคิดใหม่ผุดขึ้นมา เราจะมีเหตุผลนานัปการว่า ทำไม่ได้หรอก สุดท้ายเราก็ผ่านวันเวลาของชีวิตมาโดยที่ไม่ทำอะไรเลย

ว่ากันที่สุดแล้ว ชีวิตไม่ใช่ใช้ไปตามที่เราพอใจ แต่เราต้องก้าวออกไปให้พ้นรูปแบบที่มันไม่สามารถเติบโตได้ ก็คือการก้าวข้ามขอบ หรือก้าวข้ามกำแพง หรือจะทะลายกำแพงนั้นลงเสีย ก็แล้วแต่ว่าเราจะใช้ภาษา หรือถ้อยคำแบบใด

แต่สิ่งสำคัญคือการก้าวออกไป โดยไม่มีเงื่อนไข แต่ต้องหาความเป็นไปได้ใหม่ๆ ที่มันจะนำเราออกไปให้ได้  ไม่อย่างนั้นแล้ว อีกสามสิบ สี่สิบปีข้างหน้า เราก็จะกลายเป็นคนแก่ ที่เอาแต่พร่ำพูดถึงแต่ความรู้ความสามารถของตัวเองในอดีต ซึ่งมันหาคุณค่าอันใดไม่ได้เสียแล้ว