เธอกับฉัน และอื่นๆ (๒)

ชัยยศ จิรพฤกษ์ภิญโญ 1 พฤษภาคม 2011

โฟรโดและแซมเป็นตัวละครสำคัญในวรรณกรรมเอก The Lord of the Rings  ภารกิจสำคัญของพวกเขาคือ การนำพาแหวนแห่งความชั่วร้ายไปทำลาย ณ ภูเขาไฟแห่งหนึ่ง  มันเป็นภารกิจที่ยากลำบากเพราะนอกเหนือจากอุปสรรคในการเอาชีวิตให้รอดจากเส้นทางทุรกันดาร เหล่าศัตรูที่หมายเอาชีวิต  อุปสรรคสำคัญคือ การต่อสู้กับศัตรูภายในตนเอง คือ กิเลสความชั่วร้ายที่พร้อมแปรเปลี่ยนผุ้ถือครองแหวนให้กลายเป็นความชั่วร้ายเสียเอง

บ่อยครั้งโฟรโดมักมีคำถามที่ตัดพ้อโชคชะตาและต่อตนเองว่า “ทำไมต้องเป็นฉันด้วย” แต่ก็เพราะคุณความดีของตัวโฟรโดเองที่เสียสละแบกรับภารกิจสำคัญอันนี้  ภารกิจที่ต้องมีใครสักคนแบกรับเพื่อช่วยเหลือเพื่อน เพื่อชุมชนท้องถิ่น เพื่อโลกที่เราอยู่อาศัย  แต่ความชั่วร้ายมีอยู่ในทุกหนทุกแห่ง  ท่ามกลางสถานการณ์ยากลำบาก และการยุแหย่ของกอลลัม อมนุษย์ที่ร่วมทาง  โฟรโดเริ่มไม่ไว้วางใจแซม เพื่อนรักที่ซื่อสัตย์ของตนเอง  ความโลภและความหวงแหนแหวนในฐานะสิ่งมีค่าเริ่มเกาะกิน และแปรเปลี่ยนจิตใจโฟรโดให้ค่อยๆ กลายเป็นอมนุษย์มากขึ้น  และถึงขนาดพ่ายแพ้แก่ความชั่วร้าย กระทั่งหลงลืมภารกิจสำคัญในจังหวะสุดท้าย

เราแต่ละคนต่างมีภาวะและสภาพชีวิตที่ไม่แตกต่างจากโฟรโด เรามีคุณความดีในตัว พร้อมกับหน่อเชื้อแห่งความชั่วร้ายซุกซ่อนอยู่  มันขึ้นกับว่าสิ่งไหนที่เราหมั่นบ่มเพาะ รดน้ำพรวนดินให้เจริญเติบโตอยู่เสมอๆ

นักปราชญ์ท่านหนึ่งได้ให้ข้อสังเกตที่สะท้อนความยิ่งใหญ่ของคนเราว่า “ไฟเป็นตัวทดสอบทองแท้ที่ดีฉันใด สถานการณ์ที่ยากลำบากก็เป็นตัวทดสอบความแข็งแกร่งของคนเราฉันนั้น”  กระนั้นในชีวิตของพวกเราทุกคนภายใต้สถานการณ์สำคัญ บ่อยครั้งเราก็มักทำผิดพลาดบ่อยๆ ด้วยความโง่เขลา ความกลัว ความรู้เท่าไม่ถึงการณ์  และสิ่งสำคัญคือ ความเห็นแก่ตัว  แต่ความเห็นแก่ตัวนี้ไม่ได้ทำงานตลอดเวลา  ความเสียสละ ความกล้าหาญ ความมีน้ำใจ ความศรัทธา รวมถึงคุณธรรมความดีอื่นๆ ของทั้งโฟรโดและแซม ทำให้การเดินทางของทั้งคู่ประสบความสำเร็จได้ในที่สุด และที่สำคัญพวกเขาปกป้องสิ่งที่รัก สิ่งที่มีคุณค่า มีความหมายได้ในที่สุด

ภาวะจิตใจของคนเราต่างล้วนขับเคลื่อนด้วยแรงจูงใจภายในที่สำคัญ ๔ ลักษณะ คือ

๑) ทางเศรษฐกิจ 

สัญชาตญาณการเอาตัวรอด รวมถึงการสะสม และสำนึกความอยู่รอดปลอดภัย ทำให้เราต่างมีสำนึกของการคิดคำนวณผลได้ ผลเสียอยู่เสมอๆ “ทำแล้ว ฉันจะได้อะไร” คำพูดทำนองนี้เรามักพบเห็นบ่อยๆ  หรือหากการกระทำใดที่เป็นการเสียสละ ช่วยเหลือผู้อื่นอย่างมาก จนดูคล้ายปราศจากความเห็นแก่ตัว ก็ไม่ได้เป็นสิ่งที่แวดวงพุทธศาสนาให้การสรรเสริญ เพราะหากการกระทำดังกล่าวเบียดเบียนตนเอง ก็ถือเป็นโทษ เป็นกิเลส ไม่ใช่การกระทำด้วยสติปัญญา หัวใจสำคัญคือ การถือประโยชน์ตน ประโยชน์ท่าน

๒) แรงจูงใจทางสังคม 

เนื่องด้วย วัฒนธรรมประเพณี การศึกษา ค่านิยม ระบบ โครงสร้างสังคม ที่เป็นเบ้าหลอมให้ผู้คนในสังคมคิดนึก และเชื่อตามกรอบหรือแนวทางที่สังคมให้ไว้ หรือควบคุมไว้ ดังเช่นกระแสบริโภคนิยม ที่เป็นกระแสผลักดันสังคมขนาดใหญ่ที่กระตุ้น จูงใจให้เรามุ่งถือการบริโภค อุปโภคเป็นที่พึ่ง เป็นแนวทางของชีวิต  ศัตรูตัวร้ายที่ล่อหลอกให้เราใช้จ่ายโดยมุ่งหวังให้สิ่งที่ถือครอบ บริโภค เช่น เสื้อผ้า ข้าวของเครื่องใช้มียี่ห้อ ราคาแพง ฯลฯ เข้ามาทดแทนหรือเติมเต็มตัวตนที่อยากมี อยากเป็น  และหากไม่เท่าทัน เราก็จะกลายเป็นเหยื่อการบริโภคด้วยหนี้สิน

๓) แรงจูงใจทางจิตวิทยา 

สำนึกรู้ถึงตัวตนและการแสวงหาการยอมรับ ความพึงพอใจ และการยอมรับตนเอง ปกป้องตนเอง  ทำให้การกระทำของเราหลายเรื่องเนื่องกันกับแรงผลักของอัตตาตัวตน บทบาทฐานะ การแข่งขัน แย่งชิง รวมถึงการแสดงออกในหลายเรื่องเพื่อตอบสนองและยืนยัน รักษาการมีอยู่ของตัวตน

๔) แรงจูงใจทางศีลธรรมและรวมถึงทางจิตวิญญาณ 

สำนึกในคุณธรรม ความละอายและเกรงกลัวต่อบาป รวมถึงการมีสติปัญญา สัมปชัญญะ มาจากการอบรมเลี้ยงดู รวมถึงการอบรมบ่มเพาะจิตใจจากสมาธิภาวนา อันเป็นปัจจัยสำคัญที่กำหนดความเข้มแข็ง อ่อนแอของแรงจูงใจในส่วนนี้  จิตใจของมนุษย์มีธรรมชาติของการแปรเปลี่ยน และพร้อมที่จะไหลลงต่ำไปตามกิเลส ความหลงและโง่เขลา  หากแรงจูงใจทางศีลธรรมหรือจิตวิญญาณนี้อ่อนแอ แม้เราจะมีแรงจูงใจอื่นๆ แข็งแรงเพียงใด ก็จะถูกฉุดดึงให้ตกต่ำลงไปด้วย

เรามีคุณความดีในตัวพร้อมกับหน่อเชื้อแห่งความชั่วร้ายซุกซ่อนอยู่ ขึ้นกับว่าสิ่งไหนที่เราหมั่นรดน้ำพรวนดินให้เจริญเติบโตอยู่เสมอๆ

ท่ามกลางความสัมพันธ์ฉันและเธอกับสิ่งอื่นๆ รอบตัว  ยามที่เราแต่ละคนต้องตัดสินใจกระทำสิ่งใดๆ ก็ตาม ภายในตัวเราก็มีการทำงานด้วยแรงจูงใจต่างๆ  ต่อสู้ ต่อรอง ขัดแย้งและสับสน  ลักษณะที่ชัดเจนคือ ความขัดแย้งปั่นป่วนระหว่างเหตุผลกับความรู้สึก และยิ่งหากเป็นสถานการณ์วิกฤติสำคัญ ภาวะปั่นป่วนยิ่งมีความรุนแรงสับสน  ในท่ามกลางความขัดแย้งในความสัมพันธ์ คำพูดที่มักเกิดขึ้นในรูปแบบการตัดพ้อหรือวิวาทระหว่างกันเสมอ เช่น “ทำอะไรไม่มีเหตุผล” “เธอ .. ชอบทำอะไรตามใจตนเอง” ขณะที่อีกด้านของการวิวาทก็คือ “อย่าเหตุผลให้มันมากนัก ใช้หัวใจบ้าง” “มีความสุขบ้าง ทำตามหัวใจเรียกร้องเถิด”  และนี่คือตัวอย่างของสงครามในจิตใจท่ามกลางความสัมพันธ์

บางทีคำแนะนำจากนักปรัชญาท่านหนึ่ง คือ ลู มารินอฟ (Lou  Marinoff) อาจช่วยให้เราเห็นแง่มุมคำตอบในเรื่องนี้

“ในจิตใจหรือวิญญาณของมนุษย์ อารมณ์กับเหตุผลต่างพยายามเอาชนะกันโดยไม่รู้จักหยุดจักหย่อน เหมือนกับผู้โดยสารสองคนที่แย่งกันขึ้นรถ  กฏอีกข้อคือ โดยปกติจะเป็นเรื่องที่ดีกว่า หากเราใช้ความรู้สึกเป็นเชื้อเพลิง และใช้เหตุผลจับพวงมาลัยรถ”

ชัยยศ จิรพฤกษ์ภิญโญ

ผู้เขียน: ชัยยศ จิรพฤกษ์ภิญโญ

นอกเหนือจากบทบาทนักเขียนประจำคอลัมน์ งานสำคัญ คือ กระบวนกร นักจิตปรึกษา, enneagram coach สนใจและรักที่จะทำงานด้านการทำงานเพื่อสร้างการเปลี่ยนแปลงกับโลกภายในผ่านทักษะ ประสบการณ์เรียนรู้ทั้งงานอบรม การทำจิตปรึกษา และงานเขียน