เธอกับฉัน และอื่นๆ (๓)

ชัยยศ จิรพฤกษ์ภิญโญ 22 พฤษภาคม 2011

เอริน กรูเวลล์ (Erin  Gruwell) จบการศึกษาด้านครุศาสตร์จากมหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย  งานแรกของอาชีพครูไม่ได้เริ่มต้นอย่างสวยงาม และเกินเลยกว่า “ธรรมดา” เพราะห้องเรียนที่เธอได้รับมอบหมายให้ดูแลนั้น บรรยากาศยิ่งกว่าสยองขวัญ  นักเรียนของเธอก้าวร้าว หยาบคาย พัวพันกับยาเสพติด อาชญากรรม การเหยียดผิว แบ่งแยกเชื้อชาติ บรรยากาศเต็มไปด้วยความเกลียดชัง  ตัวเธอในฐานะครูก็ถูกปฎิเสธ ถูกก้าวร้าว หยาบคาย และแบ่งแยกในฐานะที่เธอเป็นคนผิวขาวและมีฐานะ

เอรินเลือกที่จะสู้ต่อ อาจจะเพราะเธอศรัทธาในวิชาชีพครู ในคุณค่าการคึกษา หรือเพราะเธอรักเด็กและเยาวชนมากจึงเลือกที่จะไม่ถอยหนี  เธอเปลี่ยนเทคนิคการสอน โดยเฉพาะการพานักเรียนไปเรียนรู้จากประสบการณ์จริง ไปพิพิธภัณท์ ไปพูดคุยกับบุคคลที่มีประสบการณ์จริง เธอเสียสละทุนทรัพย์ส่วนตัวเพื่อซื้อหาหนังสือ งานเขียนร่วมสมัยเพื่อประกอบการศึกษา  สิ่งสำคัญ คือ เธอมุ่งเน้นให้นักเรียนเห็นความเชื่อมโยง ความคล้ายคลึง ไม่แตกต่างของเพื่อนร่วมห้อง เพราะทุกคนต่างล้วนมีประสบการณ์เลวร้ายร่วมกัน  เธอก่อตั้งเว็บไซต์ freedomwriterfoundation.org เพื่อส่งเสริมงานเขียนของเด็กนักเรียน รวมถึงรวบรวมเทคนิคประสบการณ์การสอน  คำพูดตอนหนึ่งที่นักเรียนคนหนึ่งกล่าวถึงเธอ คือ “ครูได้สอนพวกเราให้พยายามต่อสุู้เพื่อความสำเร็จในแบบที่เราต้องการ  และสอนไม่ให้พวกเรายินยอมให้อุปสรรคใดๆ มาขวางกั้น และครูก็ได้ทำให้พวกเราเห็นเป็นตัวอย่างเป็นคนแรก”

เรื่องราวของเอริน กรูเวลล์ ถูกถ่ายทอดเป็นภาพยนตร์ หนังสือของเธอสร้างแรงบันดาลใจให้ผู้คนมากมาย  สิ่งน่าสนใจคือ เธอเลือกที่จะต่อสู้ ผลักดันในสิ่งที่เธอรักและศรัทธา เธอมีความรักกับนักเรียนกับวิชาชีพครู กับการศึกษา  สิ่งที่พึงระลึกคือ ความรักไม่ใช่เพียงแค่ความรู้สึก แต่แท้จริง คือ การกระทำ และมีแต่การกระทำเท่านั้นที่เป็นเครื่องพิสูจน์  หลายคนสับสนกับเรื่องนี้เพราะการปะปนระหว่าง ความรัก กับ ความรู้สึกรัก  เราอาจจะรู้สึกรักใครหรืออะไร แต่หากเราไม่สื่อสาร ไม่ต่อสู้ ไม่กระทำ ความรักนี้ก็ไม่อาจแสดงออกซึ่งอำนาจในตัวมันเองออกมาได้ เป็นเพียงคำพูดสวยหรู  ข้อสังเกตของนักสันติวิธีท่านหนึ่งที่กล่าวถึงเรื่องนี้คือ “ความรักที่ปราศจากอำนาจ คือ ความอ่อนแอ” ในมุมกลับกันที่พึงระลึกด้วยคือ “อำนาจที่ปราศจากความรัก ก็คือ ความโหดร้าย”

บริบทชีวิตของแต่ละคนแตกต่างกันไป แต่สิ่งที่เราทุกคนเหมือนกันคือ ความต้องการในความรักและเป็นที่รัก  ในความสัมพันธ์แต่ละแบบ เช่น ในครอบครัว ในคู่รัก ในองค์กร ในสถาบันทางสังคม  ความต้องการทั้งการได้รับ และการให้ความรักอาจแตกต่างกันไปในเรื่องของสัดส่วน ขนาด ปริมาณ หรือคุณภาพ  พ่อแม่มีหน้าที่ในการให้ความรักและมีความสุขกับการรับบ้าง ขณะที่คู่สามีภรรยาต้องการการแบ่งปันความรักทั้ง ๒ แบบในสัดส่วนไม่แตกต่างมากนัก  ความรักรูปแบบใดก็ตามเมื่อผ่านพ้นช่วงของความหอมหวานแล้ว เส้นทางของความรักเริ่มขรุขระ  เริ่มตั้งแต่ความไม่ลงรอยในความต้องการ ความคิดเห็น ความเชื่อ รสนิยม  ในเรื่องของความรักจึงมีเรื่องราวของความกล้าหาญอยู่ด้วย  นพ.เอ็ม สก็อต เปค (M. Scott Peck) จิตแพทย์ผู้เขียนหนังสือ “บทเรียนชีวิต ที่จิตแพทย์อยากบอกให้โลกรู้” อธิบายประเด็นนี้ว่า สิ่งที่ความรักต้องการเริ่มต้นที่

๑) กล้าที่จะเสี่ยงกับความผิดหวัง และความผิดหวัง

เพราะเมื่อเรารักใครหรืออะไร เราผูกพันทางอารมณ์ด้วย ซึ่งหมายถึงว่าเราต้องพร้อมรับการสูญเสีย การลาจากด้วย เพราะมันคืออีกด้านของความสุขในความรัก

๒) กล้าที่จะเป็นอิสระ โดยเฉพาะอิสระทางจิตใจ

เหตุผลสำคัญของการมีความรักคือ เพื่อการงอกงามเติบโตทางจิตใจ และในการนี้เราต้องการ อิสระด้วย

๓) กล้าที่จะผูกพันในพันธสัญญา

ในความรักมีความผูกพันและพึ่งพา อันหมายถึงความยินดีในการร่วมทุกข์และร่วมสุข  และสามารถที่จะไว้วางใจได้ในพันธสัญญาที่ผูกพันกัน เพราะหากพันธสัญญาไม่มีความหมาย ย่อมกระทบต่อความเชื่อถือ ความไว้วางใจ และนั่นไม่ใช่ความรัก แต่เป็นความหลงใหลชั่วครู่

๔) กล้าที่จะเผชิญหน้าและเคารพในวินัย

ในความสัมพันธ์ระหว่างกัน บางครั้งเหมือนการเล่นเกมตีปิงปอง ซึ่งกระทบกันไปมา ง่ายมากที่เรื่องราวจะเลยเถิดจนเกินภาวะควบคุม ในความรักจึงต้องการการยืนหยัดและเผชิญหน้าบ้าง โดยเฉพาะการยืนหยัดในเรื่องราวที่สำคัญด้วยสติปัญญา ไม่ใช่อารมณ์ ขณะเดียวกันวินัยก็เป็นสิ่งสำคัญในการควบคุมแบบแผนชีวิต แทนการใช้อารมณ์หรือความพอใจ

๕) การยอมรับในความแตกต่าง ความเป็นปัจเจกของแต่ละคน

เพราะหากมีการปะปน หมายถึงภาวะสับสนและการครอบงำอีกฝ่ายโดยไม่รู้ตัว

“ความรักที่ปราศจากอำนาจ คือ ความอ่อนแอ” และในมุมกลับกัน “อำนาจที่ปราศจากความรัก ก็คือ ความโหดร้าย”

ภาพเปรียบเทียบปัญหาความรักระหว่างคู่ชีวิตก็คือ ยอดเขากับค่ายพักแรม  เมื่อฝ่ายหนึ่งมุ่งมั่นกับความสำเร็จในหน้าที่การงาน ต่อสู้และบากบั่นเพื่อได้มาซึ่งความสำเร็จหรืออาจเป็นความอยู่รอด  แต่เมื่อเขากลับถึงบ้าน ความคาดหวังว่าบ้านในฐานะค่ายพักแรมจะเตรียมพร้อมทุกอย่าง อาหาร บรรยากาศ ข้าวของเครื่องใช้ เพื่อให้ตนเองสามารถออกเดินทางสู่ยอดเขาได้อีกครั้ง  แต่เมื่ออีกฝ่ายไม่เคยให้การบำรุงรักษาหรือดูแลค่ายพักแรมบ้าง  เหมือนกับการดูแลสมาชิกในครอบครัว การให้เวลา ความรัก ความใส่ใจ  ค่ายพักแรมย่อมไม่อาจมีความพร้อมได้ตลอด ครอบครัวอาจแตกแยก อีกฝ่ายขอเลิกราความสัมพันธ์  นี้คือสภาพที่ความรักไม่ได้แสดงออกด้วยการกระทำ

ท้ายที่สุดของความสัมพันธ์ ฉันและเธอ กับสิ่งอื่นๆ รอบตัว  สิ่งสำคัญคือ เราแต่ละคนที่ต้องเรียนรู้ ตระหนักรู้กับความเป็นไป และลงมือกระทำสิ่งสำคัญในชีวิต  สิ่งที่พึงระลึกคือ “ถ้าไม่ใช่คุณ แล้วจะเป็นใครล่ะ” “ถ้าไม่ใช่ตอนนี้ แล้วจะเป็นเมื่อไรล่ะ”

ชัยยศ จิรพฤกษ์ภิญโญ

ผู้เขียน: ชัยยศ จิรพฤกษ์ภิญโญ

นอกเหนือจากบทบาทนักเขียนประจำคอลัมน์ งานสำคัญ คือ กระบวนกร นักจิตปรึกษา, enneagram coach สนใจและรักที่จะทำงานด้านการทำงานเพื่อสร้างการเปลี่ยนแปลงกับโลกภายในผ่านทักษะ ประสบการณ์เรียนรู้ทั้งงานอบรม การทำจิตปรึกษา และงานเขียน