คุณจะว่าอย่างไร หากมีใครคนหนึ่งบอกว่าคุณอยู่ในโลกของความรุนแรง ชีวิตของคุณถูกหล่อหลอมขึ้นจากความรุนแรง และคุณอาจกระทำรุนแรงโดยไม่รู้ตัว
ไม่ใช่เรื่องแปลก หากคุณจะเติบโตขึ้นด้วยความทะนุถนอมฟูมฟักของครอบครัว ได้รับการสนับสนุนให้เรียนโรงเรียนดีๆ อบรมทักษะให้เป็นคนเก่ง คุณจะได้มีแต้มต่อในสนามแข่งแห่งการเรียนและการทำงาน คุณจะได้มีความรู้ในการประกอบอาชีพที่มีรายได้และสวัสดิการที่น่าพอใจ เพื่อที่ตัวคุณและครอบครัวจะได้มีโอกาสที่ดีในการอยู่รอดอย่างไม่ลำบากนัก หากโชคดี คุณจะร่ำรวย มั่งคั่ง และส่งต่อความผาสุกไปยังรุ่นลูกรุ่นหลาน
อย่างไรก็ตาม โลกใบนี้มิได้มีแต่ผู้ชนะ ใช่ว่าเด็กทุกคนจะมีโอกาสประสบความสำเร็จเท่าๆ กัน ใช่ว่าทุกคนจะมีทุนเพียงพอสำหรับการแข่งขัน เพื่อคว้าชีวิตที่ดีเอาไว้ได้
ใครบางคนเห็นว่าโลกแบบนี้ไม่ถูกต้อง นี่คือโลกแห่งการแย่งชิง และเป็นโลกที่รุนแรง พวกเขาประกาศว่า ยังมีโลกอีกใบที่พวกเราช่วยกันสร้างมันขึ้นมาได้ นั่นคือโลกแห่งความไม่รุนแรง
หนึ่งในนั้น อาณีช ธิลเลนเคอรีย์ ชาวเกลาลา ประเทศอินเดีย หนึ่งในผู้นำองค์กรเอกตาปริษัท (Ekta Parishad) ซึ่งเป็นขบวนการเคลื่อนไหวในประเทศอินเดียด้วยความไม่รุนแรง ภารกิจขององค์กรคือการทวงสิทธิในผืนดิน ป่า และน้ำ องค์กรนี้ได้รับแรงบันดาลใจจากชีวิตของท่านมหาตมะ คานธี เคลื่อนไหวต่อสู้ทางการศึกษาและในทางนโยบาย เพื่อให้คนจนที่สุดในประเทศอินเดียได้มีชีวิตที่ผาสุกตามสิทธิ์ที่มนุษย์พึงได้รับ ผลงานสำคัญคือการจัดขบวนยาตราเพื่อทวงคืนสิทธิ์ในผืนดินที่คนจนถูกยึดไปด้วยกฎหมายที่ไม่ชอบธรรม
“…พวกเราอยู่ในโลกแห่งความรุนแรง” อาณีชกล่าวเปิดบทสนทนาในเวทีอภิปรายเมื่อกลางเดือนกันยายน 2559
“นอกเหนือจากความรุนแรงที่เราเห็นด้วยตา อ่านได้จากข่าวอาชญากรรม ได้ยินจากคำด่าทอของผู้คนรอบข้างแล้ว สังคมแห่งนี้ถูกสร้างขึ้นด้วยความคิดและวิธีการที่รุนแรง”
เขาขยายความ “สมมติว่าคนสองคนมีบ้านอยู่ติดกัน แต่คนหนึ่งรวยมาก อีกคนหนึ่งจนมาก คนรวยจะรู้สึกไม่ปลอดภัยเพราะกังวลว่าคนจนอาจมาขโมยทรัพย์สินบ้านเขาเมื่อไหร่ก็ได้ คนรวยจึงเริ่มคิดหาวิธีป้องกัน เขาอาจก่อกำแพงสูงๆ ล้อมบ้านของเขาไว้ เขาอาจซื้อปืนพกติดตัว หรือกระทั่งซื้อที่ดินของเพื่อนบ้าน จะได้ไล่เพื่อนที่จนกว่าออกไปได้ นอกจากนี้ คนรวยอาจเข้าไปมีส่วนร่างนโยบายเพิ่มโทษคนร้ายที่ปล้นทรัพย์ให้รุนแรง เพื่อที่คนจนจะได้หวาดกลัว ฯลฯ”
ตัวอย่างดังกล่าวอาจตัดทอนรายละเอียดและความซับซ้อนของสถานการณ์ไปบ้าง แต่ปฏิเสธไม่ได้ว่าความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจและสังคมเป็นปัจจัยหนึ่งที่ค้ำจุนความรุนแรงไว้ อาชญากรรมจึงไม่เคยหมดไปด้วยการปราบปรามที่เข้มข้นรุนแรง
คนจนติดคุกเป็นส่วนใหญ่ เพราะไม่มีเงินประกัน ไม่มีเงินจ้างทนายที่คุ้มครองสิทธิ์ให้พวกเขาได้ คนจนถูกไล่ที่อยู่ที่ทำกินเป็นส่วนใหญ่ คนจนมีคุณภาพชีวิตย่ำแย่กว่าเป็นส่วนใหญ่ ฯลฯ
เหตุที่คนจนต้องจนมิใช่เพราะขี้เกียจ หากเป็นเพราะสังคมแห่งนี้มีโครงสร้างบางประการที่ทำให้คนจนต้องจนอยู่วันยังค่ำ มีกลไกบางอย่างที่ริดรอนโอกาสที่คนจนจะมีชีวิตที่ดีออกไป อาณีช ระบุว่าโครงสร้างถือเป็นความรุนแรงด้วยเช่นกัน
อาณีชจึงเสนอให้ผู้ฟังสังเกตความรุนแรงที่ดำรงอยู่รอบตัว ทั้งที่ปรากฏชัดเจนและดำรงอยู่อย่างแฝงเร้น เสนอให้พวกเราตั้งหมุดหมายแห่งการดำเนินชีวิตไว้กับสิ่งตรงข้าม นั่นคือ ความไม่รุนแรง
โลกใบนั้นอาจหมายถึงโลกที่ไม่มีอาชญากรรม โลกที่ไม่จำเป็นต้องมีปืน โลกที่ยุติธรรม โลกที่แต่ละคนมีโอกาสมีชีวิตที่ดีพอๆ กัน โลกที่ผู้คนปฏิบัติต่อกันอย่างเคารพ ใฝ่สันติ โลกที่ทรัพยากรถูกแบ่งปันอย่างถ้วนทั่ว เป็นธรรม และยั่งยืน
มิใช่เพราะขี้เกียจ หากเป็นเพราะโครงสร้างบางประการ ที่ทำให้คนจนต้องจนอยู่วันยังค่ำ
การวิพากษ์วิจารณ์ การท้วงติง แม้ดูผิวเผินอาจมีนัยของความรุนแรง ความขัดแย้ง ความขัดใจอยู่บ้าง แต่การนิ่งเฉยปล่อยให้โลกแห่งความรุนแรงหมุนไปโดยไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลง ก็คือรูปแบบหนึ่งของความรุนแรงเช่นกัน การเมินเฉยเช่นนี้อาณีชกล่าวว่าคือ สันติวิธีแบบเฉี่อย (Passive non-violence) เขาแนะนำว่าผู้ใฝ่โลกที่ไม่รุนแรงควรมีบทบาทในการลุกขึ้นมากระทำการ มาเป็นผู้หมุนโลกแห่งสันติให้เคลื่อนไป ด้วยวิธีการที่ไม่รุนแรง ซึ่งอาณีชแนะนำว่าทำได้หลากหลายวิธี
ตั้งแต่การสังเกตความรุนแรงในชีวิตประจำวัน เพื่อที่จะงดเว้นการกระทำ เช่น การเห็นว่าการกินเนื้อสัตว์ในระบบอุตสาหกรรมส่งเสริมความรุนแรงต่อชีวิตอื่นๆ เมื่อเห็นดังนั้น เราอาจเริ่มงดเว้นเนื้อสัตว์ในมื้อใดมือหนึ่งของสัปดาห์ (เพื่อจะได้ไม่กระทำรุนแรงต่อหมู ไก่ หมึก กุ้ง ฯลฯ)
เราอาจบริโภคอาหารท้องถิ่นแทนที่จะเป็นอาหารข้ามชาติ (จะได้ไม่ปล่อยคาร์บอนเพิ่มในชั้นบรรยากาศ ซึ่งเป็นอันตรายต่อสิ่งมีชีวิตทั้งมวลในโลก) การปฏิเสธการคอรัปชันแม้เรื่องเล็กน้อย เพราะเห็นว่าการทุจริตคือหนึ่งในโครงสร้างที่ค้ำจุนความรุนแรงไว้อย่างต่อเนื่องยาวนานและซึมลึก
เราอาจลงมือสร้างสรรค์โลกแห่งความไม่รุนแรงในหน้าที่การงาน เช่น เข้าร่วมในขบวนการสันติภาพ เข้าร่วมทำงานหรือสนับสนุนองค์กรที่สนับสนุนโครงสร้างที่ไม่รุนแรง เช่น การส่งเสียงตรวจสอบความโปร่งใส การทำความเข้าใจแนวคิดสิทธิมนุษยชนและปกป้องสิทธิ์ของผู้ถูกล่วงละเมิดฯลฯ
โลกใบนี้จะหมุนไปทางไหน ขึ้นอยู่กับว่าเราจะหมุนมันไปทางใด
เราจะอยู่ในโลกแบบใด ขึ้นอยู่กับว่าเราดำเนินชีวิตด้วยความรุนแรง…หรือไม่รุนแรง
จากงานเสวนา “การเคลื่อนไหวทางสังคมอย่างสันติวิธี สำหรับคนรากหญ้า : ประสบการณ์จากองค์กรเอ็กตา ปาริฉัด ประเทศอินเดีย” (Non-Violence Social Movements for the Grass Roots People: Experience of Ekta Parishad Organization) โดย คุณอาณีช ธิลเลนเคอรีย์ (Aneesh Thillenkery) เมื่อวันที่ 14 กันยายน 2559 ณ มหาวิทยาลัยมหิดล ศาลายา