การเดินทางอันยาวนาน: บทสะท้อนจากนิทรรศการภาพถ่าย

เอกภพ สิทธิวรรณธนะ 15 พฤษภาคม 2016

คุณไม่จำเป็นต้องเข้าใจภาพเหล่านั้นหรอก ว่าพวกเขาเป็นใคร อยู่ที่ไหน อพยพจากไหนและกำลังจะไปไหน

ไม่ต้องเข้าใจว่าเขาหนีอะไร ลี้ภัยอะไร

เพียงจ้องเข้าไปในดวงตาแดงก่ำคู่นั้น มองให้เห็นประสบการณ์ลี้ภัยของพวกเขา รับรู้ความทุกข์ ความหิว การดิ้นรนเอาชีวิต

มองให้เห็นความหวังในใบหน้า ร่องรอยความรุนแรงระหว่างการเดินทางอันยาวไกล…

การอพยพและลี้ภัย คือประสบการณ์ที่ผมไม่รู้สึกเกี่ยวพัน ไม่ต้องใส่ใจก็ได้ แม้ที่ผ่านมา จะเคยได้ยินเรื่องราวของค่ายผู้ลี้ภัยตามค่ายชายแดน ได้ยินเสียงเล่าลือว่าในที่นั้นแต่ความทุกข์ยาก รอคอยการช่วยเหลือ

ได้ยินเสียงลือในหนังสือพิมพ์และโทรทัศน์เกี่ยวกับปัญหาในซีเรีย ผู้อพยพชาวโรฮิงญา ชาวบังคลาเทศ ฯลฯ เป็นเรื่องที่ผ่านมาแล้วผ่านไป เป็นเรื่องของรัฐที่จะต้องจัดการ ไม่เกี่ยวกับเรา

แต่การเพ่งพิจารณาภาพถ่ายดวงตาคู่นั้นในนิทรรศการภาพถ่าย “การเดินทางอันยาวนาน” (Odysseys – Photographic Exhibition) ทำให้ผมพอจะรู้สึกถึงความใกล้ชิดระหว่างผมกับผู้อพยพลี้ภัย

…บางทีเราไม่ได้ห่าง และต่างกันขนาดนั้น

สืบย้อนบรรพบุรุษของผมไปเพียงชั่วไม่กี่อายุคน ทวดของผมเป็นหนึ่งในผู้อพยพลี้ภัยจำนวนหลายล้านคน หนีความทุกข์ยากแร้นแค้นจากจีนแผ่นดินใหญ่ เดินทางด้วยเรือสำเภาข้ามมหาสมุทรมาแสวงหาโอกาสที่ดีกว่าในสุวรรณภูมิ ขึ้นฝั่งได้ก็รับจ้างรายวัน เก็บเงินซื้อที่ดิน ทำไร่ทำนาเป็นของตนเอง

ปู่ทวดส่งต่อชีวิตและการต่อสู้ ตกทอดมาถึงรุ่นปู่ย่า พ่อแม่ มาจนถึงตัวผม

จากผู้อพยพเมื่อร้อยกว่าปีก่อน บัดนี้ลูกหลานของเขา (รวมถึงตัวผมเอง) ลงหลักปักฐานกลายเป็นประชากรท้องถิ่น มีเชื้อชาติและสัญชาติที่มั่นคง กระทั่งไม่เคยคิดว่า วันหนึ่งผมอาจจะต้องอพยพ-ลี้ภัยอีกครั้ง

แต่ใครจะให้สัญญา ใช่หรือไม่ว่า คนในภาพถ่ายเหล่านั้นก็เคยคิดเช่นเดียวกันกับผม

การเพ่งพิจารณาภาพถ่ายดวงตาคู่นั้น ทำให้รู้สึกถึงความใกล้ชิดระหว่าง “ตัวเรา” กับ “ผู้อพยพลี้ภัย”

ปัจจุบันการอพยพและลี้ภัย เป็นเรื่องลำบากยากเย็นกว่าอดีตมากนัก เขตแดนระหว่างประเทศปรากฏขึ้นอย่างชัดเจน รั้วกำแพงหรือก็มั่นคงแข็งแรง มีทหารและด่านตรวจคนเข้าเมืองที่หนาแน่นและมีประสิทธิภาพ กระทั่งน่านน้ำมหาสมุทรยังเหมือนมีกำแพงลวดหนามล่องหน เพราะเทคโนโลยีระบุพิกัดมีความละเอียดถี่ถ้วน และเรือรบของประเทศต่างๆ ก็พร้อมโจมตีผู้บุกรุกหากพวกเขาฝ่าฝืนกฎบัตรเรื่องเขตแดน

ถึงกระนั้น ก็ยังมีผู้คนจำนวนมากที่หนีอันตรายจากประเทศของตน กลายมาเป็นผู้อพยพลี้ภัยชั่วคราว บ้างถูกมองว่าเป็นผู้ควรได้รับความช่วยเหลือ บ้างถูกมองเป็นตัวปัญหา เป็นภัยคุกคาม

การจัดการผู้อพยพและลี้ภัยถูกมอบหมายให้เจ้าหน้าที่บ้านเมืองรับผิดชอบ รวมถึงองค์กรช่วยเหลือระดับนานาชาติ ความเป็นอยู่ของพวกเขาจะดีหรือร้ายขึ้นอยู่กับปัจจัยนานัปการ ตั้งแต่นโยบายระดับชาติ ความพร้อมด้านทรัพยากรสำหรับการช่วยเหลือ ตลอดจนเสียงสนับสนุนและคัดค้านจากประชาชนเจ้าของประเทศนั้นๆ

พิจารณาให้ดี ก็จะพบว่าประสบการณ์สุขทุกข์ของเพื่อนมนุษย์ มีอิทธิพลโยงใยถึงกันไปหมด สุดท้ายความทุกข์ของประชาชนชาวซีเรียและบังคลาเทศก็ต้องเคาะประตูห้องนอนประชาชนชาวนอร์เวย์และชาวไทย ให้ตื่นขึ้นมารับรู้ ร่วมแก้ปัญหา และช่วยเยียวยากันและกันอยู่ดี

ใช่หรือไม่ว่า ภัยที่แท้จริงของการอพยพและลี้ภัยมิใช่อื่นใด นอกจากความฉ้อฉล ความรุนแรง และความไม่เป็นธรรมที่ยังคงดำรงอยู่ในชีวิตและสังคม ซึ่งเป็นรูปธรรมของความอยาก ความโกรธ และความหลงที่แฝงอยู่ในจิตใจนั่นเอง

ผมเองเดินชมนิทรรศการแล้วก็รู้สึกหนักใจ แต่ก็ยังขอแนะนำให้ทุกท่านไปชม อย่างน้อยก็เพื่อตระหนักและระลึกว่าโลกนี้มีความทุกข์อีกมากมาย ที่รอให้เราเข้าไปรับรู้และให้ความช่วยเหลือในขอบเขตที่เราพอจะช่วยได้ ในวันนี้หรือสักวัน


เครดิต

เอกภพ สิทธิวรรณธนะ

ผู้เขียน: เอกภพ สิทธิวรรณธนะ

Backstage writer, Urban sketcher