นิวรณ์ คือ สิ่งที่ขวางกั้นจิตทำให้สมาธิไม่อาจเกิดขึ้นได้ หรือ อกุศลธรรมที่คอยทำลายล้างความดี ได้แก่
1. อยาก (กามฉันทะ)
อยากได้อยากเอาในรูป รส กลิ่น สัมผัส ที่น่าปรารถนา ความอยากที่เน้นเรื่องการติดใจพอใจ ในสิ่งต่าง ๆ โดยเฉพาะ รูป รส กลิ่น เสียง สัมผัสที่ชอบและใหม่เสมอ ๆ อยู่นิ่งกับอารมณ์ใดอารมณ์หนึ่งไม่ได้ ต้องวิ่งไปหาอารมณ์แบบอื่น ๆ อยู่เรื่อย ไม่พอใจกับสิ่งที่มีอยู่เรื่อยไป
2. โกรธ (พยาบาท)
ความกลัดกลุ้ม อยู่ด้วยความไม่พอใจ โกรธแค้น เกลียดชัง อารมณ์หงุดหงิด ไม่พอใจชีวิต เห็นคนอื่นเป็นศัตรู ขี้โมโห ขัดใจไปหมด ทำใจเย็นได้ยาก
3. เหงา หรือเซ็งและซึม (ถีนมิทธะ)
อาการเซ็ง ๆ และซึม ๆ แยกเป็นทางกายกับใจ อาการทางกาย คืออาการเซื่องซึม ง่วง อืดอาด มึน ๆ อาการทางใจ คือความหดหู่ ห่อเหี่ยว ท้อแท้ เหงาและหงอย อาการทั้งสองอย่างทำให้ขาดความเพียรพยายาม
4. ฟุ้งซ่าน และวุ่นวายใจ (อุทธัจจกุกกุจจะ)
ความฟุ้งซ่าน รำคาญ กระสับกระส่าย ในลักษณะที่ตรงกันข้าม กับความเหงา ความฟุ้งซ่านแบบที่ใจมันวิ่งพล่าน ไม่หยุดนิ่ง คิดเห็นอะไรก็ไม่ชัดเจน กับ ความวุ่นวายใจ ที่รู้สึกมันมีอะไรทำให้ใจมันรำคาญ ระแวง กลุ้มกังวล ทั้งสองอย่างทำให้ใจมันหมุนไปมาไม่รู้จักหยุด
5. ลังเลสงสัย (วิจิกิจฉา)
ความสงสัยหรือไม่แน่ใจ กับเรื่องต่าง ๆ ที่เขาว่าดีมีคุณค่า (ให้คุณค่ากับเรื่องดี ๆ ไม่ได้) ลังเลไม่รู้จะเชื่อตามดีหรือไม่ ลังเลไม่รู้จะปฏิบัติตามดีหรือเปล่า อันนี้ดีไหม อันนั้นดีไหม ต้องตกอยู่บนทางแยกอยู่ตลอดเวลา
กระแสโลกาภิวัตน์ในช่วงที่ผ่านมา ได้เปลี่ยนแปลงสังคมไทยจากวัฒนธรรมที่มีศาสนธรรมเป็นฐานในการดำรงชีวิต มาสู่วัฒนธรรมบริโภคนิยม (Consumerism) ที่เชื่อในคุณค่าของความสุขทางวัตถุและความสุขจากภายนอก กระตุ้นให้ผู้คนในสังคมมุ่งแสวงหา ขวนขวาย และแข่งขันเพื่อให้ได้มาซึ่งความมั่งคั่งร่ำรวยที่จะบันดาลให้มีอำนาจในการบริโภคความสุข สบาย ฟุ้งเฟ้อ ในแบบปัจเจกนิยม (Individualism) ที่หมกมุ่นแต่ความต้องการของตนเองเป็นสำคัญ จิตสำนึกสาธารณะ ความเอื้ออาทร และมีน้ำใจต่อผู้อื่น อันเคยเป็นคุณลักษณะสำคัญของสังคมไทยได้เลือนหายไปอย่างรวดเร็ว ในขณะเดียวกัน ปรากฏการณ์ดังกล่าวก็สร้างแรงเหวี่ยงย้อนกลับสู่สังคม เมื่อผู้คนหมกมุ่นเสพติดวัตถุและแสวงหาความสุขอย่างไม่นำพาต่อจริยธรรมและความเดือดร้อนทุกข์ยากของผู้อื่น ทำให้สังคมเต็มไปด้วยการเบียดเบียน ความขัดแย้ง แก่งแย่ง ฯลฯ ที่รุนแรงมากขึ้นเป็นลำดับ ชีวิตขาดความสงบสุข จิตใจไร้อิสรภาพ ติดอยู่ใน “บ่วง” หรือกับดักของความทุกข์มากมายและอย่างง่ายดายจากความกระสับกระส่าย อยากมี-อยากเป็น ร้อนรุ่มจากความโกรธเกลียด อาฆาต จ่อมจมกับความเหงาเซ็ง หดหู่ หรือฟุ้งซ่าน สับสน ฯลฯ ยิ่งขาดทักษะในการจัดการกับอารมณ์ต่างๆ ก็นำชีวิตบุคคลไปสู่การเบียดเบียนตนเองและผู้อื่น ทั้งกับคนใกล้ตัวและคนในสังคมเดียวกัน
ปัญหาเหล่านี้เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องและเพิ่มมากขึ้น โดยเฉพาะในกลุ่มคนรุ่นใหม่ซึ่งเติบโตมาในช่วงเวลาการขยายตัวอย่างกว้างขวางของวัฒนธรรมบริโภคนิยมในรอบ 2 ทศวรรษที่ผ่านมา ที่เกิดขึ้นพร้อมๆ กับความเสื่อมถอยในการทำหน้าที่ของสถาบันครอบครัว ศาสนา และการศึกษา จึงยิ่งมีผลให้เยาวชนคนรุ่นใหม่ขาดภูมิต้านทานต่อแรงดึงดูดของวัฒนธรรมดังกล่าว และถูกครอบงำจากอารมณ์ความรู้สึกทั้งหลายอย่างขาดความรู้และทักษะในการจัดการ นำมาสู่ปรากฏการณ์ของวิกฤตการณ์เด็กและเยาวชนที่มีแนวโน้มรุนแรงมากขึ้นอย่างน่าวิตกยิ่ง กระนั้นก็ตาม ในท่ามกลางความรุนแรงของกระแสบริโภคนิยมนี้ ก็ยังมีผู้คนจำนวนหนึ่งซึ่งรวมถึงเยาวชนหรือคนรุ่นใหม่ที่สามารถประคองชีวิตด้วยหลักพุทธธรรมที่สอนให้รู้จักความหมายของชีวิตที่แท้ โดยเฉพาะความสุขสงบทางจิตวิญญาณ มีทักษะที่จะสร้างอิสรภาพทางจิตใจ หลุดพ้นจากบ่วงอารมณ์ทุกข์ อันเนื่องมาจากอำนาจของวัฒนธรรมบริโภคนิยม สามารถใช้ชีวิตอย่างเหมาะสม เป็นประโยชน์ต่อตนเองและผู้อื่นด้วยความสุขอันหลากหลายมิติ
แม้จะตระหนักชัดว่า พุทธธรรมมีพลังสำคัญยิ่งในการสร้างอิสรภาพให้แก่ชีวิต แต่การจะโน้มน้าวให้เยาวชนคนรุ่นใหม่ที่เติบโตมาท่ามกลางมายาคติและวาทกรรมที่คลุมครอบศาสนธรรมว่าเป็นเรื่องคร่ำครึ ล้าสมัย น่าเบื่อ ไกลตัว ไม่รู้เรื่อง ฯลฯ ก็เป็นเรื่องยากอย่างยิ่งเช่นกัน คนรุ่นใหม่จำนวนมากมักปฏิเสธศาสนธรรมโดยที่ยังไม่มีโอกาสได้สัมผัสเรียนรู้อย่างเหมาะสมและจริงจัง ดังนั้น การคัดสรรหลักธรรมที่ตอบโจทย์ชีวิตของคนรุ่นใหม่และการแสวงหารูปแบบใหม่ ๆ ของการประยุกต์หลักธรรมดังกล่าว เพื่อให้เป็นที่น่าสนใจของคนรุ่นใหม่จึงมีความสำคัญ และจะมีคุณูปการหากการริเริ่มดังกล่าวนำไปสู่นวัตกรรมของการประยุกต์หลักธรรมให้สมสมัยแก่ชีวิตของเยาวชนได้
“โครงการศิลปะเพื่อชีวิตและอิสรภาพของคนรุ่นใหม่” ริเริ่มขึ้นโดยเครือข่ายพุทธิกา ร่วมกับกลุ่มคนรุ่นใหม่จำนวนหนึ่งที่ได้รับประโยชน์จากศาสนธรรมในการพัฒนาชีวิตตนเองและมีความมุ่งมั่นที่จะเผยแผ่ นำคุณูปการของพุทธศาสนากลับคืนสู่สังคม โดยเฉพาะให้กับคนในกลุ่มวัยเดียวกับตนเอง จากการวิเคราะห์สถานการณ์ดังที่กล่าวมาข้างต้น นำมาสู่การคิดค้นที่จะนำเอาศิลปะในรูปแบบที่หลากหลาย มาพัฒนาเป็นกิจกรรมเชิงประสบการณ์ที่จะเอื้อให้เยาวชนได้มีโอกาสเรียนรู้พุทธธรรมที่จะพาก้าวข้ามอารมณ์ในทางลบต่าง ๆ และมีทักษะในการสร้างอิสรภาพทางจิตใจได้ด้วยตนเอง
จัดกิจกรรมในรูปแบบมหกรรม มีแกนเรื่อง (Theme) คือ “อิสรภาพของคนรุ่นใหม่” เน้นนำเสนอกิจกรรมให้เยาวชนประเมินและรู้จักอารมณ์ตนเอง แล้วเสนอกิจกรรมทางศิลปะที่สอดคล้องกับความนิยมของกลุ่มเยาวชนในหลายรูปแบบ เพื่อให้เลือกเอารูปแบบที่สอดคล้องกับปัญหาของตนเองที่ประเมินออกมา โดยกิจกรรมทางศิลปะดังกล่าวจะประยุกต์สอดแทรกหลักธรรมอย่างไม่ต้องอ้างอิงศาสนาในเบื้องต้น เมื่อผ่านกิจกรรมแล้วผู้เข้าร่วมจะเรียนรู้ จุดอ่อนของอารมณ์และแนวทางแก้ไขด้วยตนเอง แล้วตระหนักรู้ในคุณูปการของหลักธรรมด้วยตนเองในที่สุด