“สามีเอาแต่เล่นเกมส์ เราทำงานมาเหนื่อย เครียดจากงานก็ต้องมาดูแลลูกและทำงานบ้าน แม่สามีก็เข้าข้างลูกชายตนเอง มักพูดลำเลิกบุญคุณที่ช่วยดูแลลูกตอนกลางวัน เราทนไม่ไหวในที่สุดก็เลยพาลูกกลับมาอยู่กับพ่อแม่ตนเอง สามีก็ตามมาง้อ เราไม่อยากกลับไปเพราะไม่อยากเจอสภาพแบบเดิม สามีก็คิดแต่จะพึ่งพาพ่อแม่ตนเอง เป็นหลักกับชีวิตไม่ได้เลย”
“ทุกวันนี้มีความรู้สึกเหมือนอยู่คนเดียว เหงา โดดเดี่ยว พยายามมีกิจกรรมเพื่อให้ชีวิตมีสีสัน ซึ่งทำได้บ้าง ไม่ได้บ้าง บอกตัวเองให้สู้”
“อึดอัดกับรัฐบาลทหาร อ่านข่าวทีไรก็เครียด ไม่ชอบ รับไม่ได้เลยกับพฤติกรรมเลวร้ายของเผด็จการทหารแบบนี้”
ฯลฯ
ทุกคนล้วนมีประสบการณ์พบเจอความทุกข์และปัญหาชีวิตไม่มากก็น้อย ทั้งในบทบาทของเจ้าทุกข์เองที่มีเรื่องราวปัญหารุมล้อมจิตใจ หรือบทบาทที่ต้องเป็นผู้รับฟังเรื่องราวความทุกข์ที่คนใกล้ตัวมาบอกเล่าปัญหาชีวิต ปรับทุกข์ให้ฟัง หรือขอให้ช่วยหาทางออก
เรื่องราวความทุกข์ยามเมื่อเกิดขึ้น บางเรื่องอาจมีภัยคุกคามความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน แต่ความทรมานในใจหรือความวิตกกังวล จะมีความรุนแรงแค่ไหน ขึ้นกับความอ่อนไหวที่เจ้าตัวมีต่อเรื่องราวความทุกข์ใจนั้น
สิ่งที่หลายคนหลงลืม คือ ความทุกข์ที่เผชิญนี้เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นกับชีวิตของคนจำนวนมาก เรื่องราวที่เราเผชิญเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นกับคนจำนวนมาก ทั้งในอดีต ปัจจุบัน และเกิดขึ้นได้ในอนาคตด้วย ความแตกต่างอาจอยู่ที่รายละเอียดเฉพาะตัว บริบทเรื่องราวที่แวดล้อม
ยามเมื่อเกิดปัญหาและความทุกข์ในใจ เรามักสัมผัสได้ถึงอาการของปัญหา เช่น เครียด นอนไม่หลับ กังวล เบื่อชีวิต ท้อแท้ หมดพลัง ฯลฯ ขณะที่ตัวปัญหาความทุกข์ มีองค์ประกอบ ๓ ส่วนคือ ๑) ตัวเราในฐานะเจ้าของประสบการณ์เรื่องราวความทุกข์ ๒) คู่กรณี หรือบุคคลที่เกี่ยวข้อง และ ๓) บริบทแวดล้อมเรื่องราวนั้น
ตัวอาการกับตัวปัญหาคือสิ่งที่สืบเนื่องจากกัน แต่ไม่ใช่สิ่งเดียวกัน งานสำคัญของการรับมือกับปัญหาหรือพายุร้ายในจิตใจมี ๒ ส่วนคือ
เช่น อะไรคือตัวปัญหา อะไรคืออาการ การแยกแยะนี้ได้ก็จะช่วยให้เรารู้ว่า ระหว่างตัวปัญหากับตัวอาการ สิ่งที่เราพึงทำคือ เราจะอย่างไรดีกับตัวปัญหา และอย่างไรดีกับตัวอาการ ทั้ง ๒ ส่วนต้องการการจัดการที่อาจแตกต่างกัน
ความสามารถในการค้นหาว่า “อะไร” เกิดขึ้นในตัว เกิดขึ้นกับคนรอบข้าง และในบริบทบทแวดล้อม เป็นเรื่องของการเรียนรู้สั่งสมประสบการณ์เพื่อเพิ่มพูนความสามารถนี้ เหมือนแพทย์เรียนรู้ที่จะวินิจฉัยโรค สมมุติฐานของโรคภัยไข้เจ็บได้ หรือนักวิชาการเรียนรู้เพื่อบอกเล่า อธิบายปรากฏการณ์ทางสังคมได้ว่ากำลังเกิดอะไรขึ้น แล้วสาเหตุคืออะไร ส่วนตัวเราในฐานะมนุษย์ก็ต้องเรียนรู้ว่า ชีวิต ณ ขณะหนึ่งกำลังเกิดอะไรขึ้น
คุณความดีของความทุกข์ประการหนึ่งคือ การมีแรงกระตุ้นให้ต้องค้นหาว่า อะไร ที่เกิดขึ้นนั้นมันคือ อะไร นอกจากนี้ความทุกข์ยังบีบบังคับให้เราต้องทำบางสิ่งบางอย่าง เพื่อข้ามผ่านปัญหาความทุกข์นั้น ไปสู่สภาพที่หลุดพ้นหรือคลี่คลายจากภาวะทุกข์ใจนั้น
การมีความสามารถค้นหานี้คือ กระบวนการอริยสัจ ๔ ที่เริ่มต้นด้วย ทุกข์ (สภาพตัวปัญหา หรืออาการที่ก่อกวน) และสมุทัย (สาเหตุความทุกข์ หรือตัวปัญหา) กระบวนการนี้จะมีความถูกต้องแม่นยำหรือไม่ ก็ขึ้นกับประสบการณ์ ความรู้ที่สั่งสม รวมถึงการเรียนรู้ รับฟัง
ขั้นตอนสำคัญต่อมาคือ เราจะวางท่าที “อย่างไร” ดีกับตัวปัญหา ตัวความทุกข์ ตัวพายุร้ายในจิตใจดี เช่น แพทย์ต้องเลือกว่าจะรักษาอาการป่วยนี้อย่างไรดี นักวิชาการต้องเลือกว่าจะมีแนวทางข้อเสนอแนะเพื่อแก้ไข หรือเปลี่ยนแปลงสภาพสังคมที่ไม่พึงประสงค์ ไร้คุณภาพ ให้เป็นสังคมมีคุณภาพอย่างไร ในส่วนของตัวเรา เราจะอย่างไรดีกับปัญหาที่ประสบอยู่ เช่น แก้ไข คลี่คลาย ซ่อมแซม เยียวยา หรือป้องกันตนเอง เพื่อให้ความทุกข์ ปัญหา หรือพายุร้ายในใจจบลงหรือสิ้นสุดได้ ขั้นตอนนี้ก็คือ กระบวนการอริยสัจ ๔ ในการกำหนดว่านิโรธ (สภาพพ้นทุกข์) และ มรรค (วิธีการหรือหนทางดับทุกข์ หรือคลี่คลายปัญหา) จะเป็นไปอย่างไร
กระบวนการอริยสัจ ๔ จึงมีอยู่ในการรับมือกับปัญหา ความทุกข์ หรือพายุร้ายในจิตใจ เริ่มต้นด้วย ๑) ค้นหาทุกข์ สมุทัย ผ่านกระบวนการสืบค้น ทำความรู้จัก ทำความเข้าใจหน้าตาปัญหาความทุกข์ ๒) ทำงานกับกระบวนการเพื่อนำไปสู่การดับทุกข์ คลี่คลายปัญหา หรือทำให้พายุในใจสลายหรือสุขสงบได้
ความทุกข์บีบบังคับให้เราต้องทำบางสิ่ง เพื่อข้ามผ่านไปสู่สภาพที่หลุดพ้นจากภาวะความทุกข์ใจนั้น
แน่นอนว่าชั่วขณะที่พายุรุมเร้า หรือช่วงที่บาดแผลชีวิตกำลังอักเสบ กลัดหนอง ดูเป็นชั่วขณะที่เหมือนไม่สิ้นสุด ความทุกข์ทรมานดูไม่จบสิ้น กระนั้นสิ่งที่พึงระลึกคือ ท้องฟ้ายามหลังพายุฝนพัดผ่านไปมีความสดใสเบิกบานได้ฉันใด ก็คือ พยานหลักฐานที่บอกว่าสภาพพ้นทุกข์ สภาพที่ปราศจากปัญหารบกวนนั้นมีอยู่จริงฉันนั้น
เพียงแต่การจัดการกับความทุกข์ในจิตใจนั้น เราทุกคนต้องการการมีความสามารถในการทำงานกับคำถามสืบค้นในตนเอง คือ
และเพื่อที่จะเพิ่มพูนการมีความมีสามารถ เราต้องการการองค์ประกอบของสนับสนุนการมีความสามารถนั้น ในความเห็นผู้เขียน องค์ประกอบสนับสนุนที่สำคัญคือ
๑) ทรัพยากร เช่น เครือข่ายการสนับสนุนที่แวดล้อม เพื่อน มิตร ญาติพี่น้อง ทรัพย์สิน ความรู้ ข้อมูลข่าวสาร และรวมถึงทรัพยากรภายในตัวเรา เช่น อุปนิสัย ทัศนคติ คุณภาพจิตใจ
๒) โอกาส และความพร้อม เรารับรู้ ใส่ใจ มองเห็น เปิดรับกับโอกาสที่เข้ามา เราตระเตรียมความพร้อมให้ชีวิต ตระเตรียมทุนชีวิตไว้พร้อมรับกับโอกาสที่เข้ามาหรือไม่ อย่างไรบ้าง
๓) ท่าทีเจตนา ตัวเรามีเจตนา ความตั้งใจอะไร อย่างไรกับตนเอง กับสัมพันธภาพ บริบทรอบตัว : ยอมรับ ต่อต้าน ดิ้นรน ปฏิเสธ อดทน มุ่งมั่น คร่ำครวญ ฯลฯ สิ่งเหล่านี้สะท้อนเรื่องของการจัดวางอำนาจให้ตนเอง เราจัดวางอำนาจให้ตนเองอย่างไร เพราะเมื่อเราจัดวางอำนาจให้ตนเอง ก็คือการเลือกบทบาทตนเองในฐานะผู้กระทำ แต่เมื่อเราจัดวางอำนาจให้ตนเองในเชิงลดน้อย ถอยห่าง บทบาทที่เราทำได้ คือการเป็นผู้ถูกกระทำ
สิ่งที่เราจะพบพานคือ แต่ละคนมีความสามารถในกระบวนการอริยสัจ ๔ มากน้อยไม่เท่ากัน แต่ละคนมีองค์ประกอบสนับสนุนความสามารถนี้ไม่เท่ากัน และนี่คือสังคมที่แวดล้อมเราให้เราเผชิญหน้า ให้เราได้เชื่อมโยง ปฏิสัมพันธ์กัน การมีความสามารถนี้จึงต้องการความมีเมตตา กรุณา ความเอื้อเฟื้อต่อเพื่อนร่วมสังคม หนทางการเติบโตจึงไม่ใช่เพียงการมีความสามารถดูแลตนเอง ให้ก้าวผ่านความทุกข์หรือปัญหาชีวิตได้ แต่ยังรวมถึงการมีความสามารถที่จะเมตตาเอื้อเฟื้อผู้อื่นด้วย
นี่คือ งานชีวิต