ในเส้นทาง: อ่านสัญญาณความทุกข์ใจ

ชัยยศ จิรพฤกษ์ภิญโญ 21 มิถุนายน 2015

“ฉันคาดหวังและมีความฝันว่า วันหนึ่งที่ฉันทำงานเต็มที่ ฉันจะได้หยุดทำงานและมีความสุขจริงๆ เสียที  ฉันจะได้มีโอกาสทำสิ่งที่อยากทำ หลังจากที่ผัดผ่อนมาตลอดเวลา

“แต่ในตอนนี้กับภาระหนี้สิน ภาระทางบ้าน มันเหมือนมีแส้โบยตีอยู่กลางหลัง  ยิ่งงานที่เป็นอยู่เป็นงานค้าขาย หากไม่จำเป็นจริงๆ ฉันเลือกที่จะไม่หยุดงาน แม้จะเป็นวันหยุดเสาร์อาทิตย์ ฉันเสียดายรายได้  ฉันได้แต่หวังว่าคนอื่นจะเข้าใจ แต่สิ่งที่ต้องแลกมาคือ บรรยากาศในบ้านที่ดูเคร่งเครียดกับการงาน ความห่างเหินจากการที่พวกเราไม่ค่อยมีเวลาส่วนตัวร่วมกันนัก”

ชีวิตของหลายๆ คนคงมีส่วนเสี้ยวคล้ายคลึงกับชีวิต “ฉัน” มากน้อยไปตามสภาพเงื่อนไข  เราแต่ละคนเดินหน้าไปกับชีวิต พร้อมกับกฎกติกาสำคัญคือ การต้องอยู่รอดของตนเอง ของคนใกล้ตัว และครอบครัว  สำนึกการอยู่รอดขับเคลื่อนให้เราดิ้นรนเพื่อได้มาซึ่งความมั่นคงปลอดภัย  แต่ในสำนึกการดิ้นรนเพื่ออยู่รอด ในรูปของการไปให้ถึงภาพฝัน ไปให้ถึงดวงดาว  สำนึกความต้องการอื่นๆ ก็มีอยู่ด้วย เช่น ความสำเร็จ ความสุข ความเป็นที่ชื่นชม ความเชื่อมโยง รวมไปถึงการยอมรับตนเอง

จะโดยรู้ตัวหรือไม่รู้ตัวก็ตาม เราแต่ละคนดำเนินชีวิตไปด้วยต้นทุนชีวิตที่เราพกติดตัว  ทุนชีวิตสำคัญที่ว่านั้นคือ ประสบการณ์ในอดีตที่ผ่านและสั่งสมมา พร้อมกับข้อสรุปชีวิตที่เราพกติดตัวในรูปของความเชื่อ ทัศนคติ  และเราก็จะใช้ทุนชีวิตเหล่านี้เป็นเครื่องมือสร้าง และดำเนินชีวิตไปตามแบบแผนชีวิต

แบบแผนชีวิตกลายเป็นสิ่งที่เราใช้บ่อย และคุ้นเคยจนหลายคนไม่สามารถแยกตัวเองกับแบบแผนชีวิตที่ใช้ได้  และยิ่งหากชีวิตดูราบรื่นปกติ หรืออาจมีความทุกข์แต่ไม่สาหัสรุนแรงพอ โอกาสการสำรวจทำความเข้าใจแบบแผนชีวิตก็จะมีโอกาสน้อย

ความคุ้นเคยในแบบแผนชีวิต ทำให้เราดำเนินชีวิตไปกระทั่งเราพบบางอย่างที่เป็นข้อสะดุดหกล้ม เช่น ชีวิตและสัมพันธภาพมีบางอย่างเกิดขึ้น เช่น การเจ็บป่วย การประสบเรื่องราวที่สร้างความทุกข์ทรมานทางใจ ความสัมพันธ์กับคนรอบตัวมีความขัดแย้ง แตกร้าวในสัมพันธภาพ  ปฏิกิริยาต่อสภาพไม่พึงปรารถนา คือ ความทุกข์ทรมานและการพยายามดิ้นรนแก้ไข เอาชนะปัญหา ซึ่งสำหรับปัญหาทางเทคนิค เช่น น้ำไม่ไหล ไฟไม่ติด การมุ่งมั่นเอาชนะปัญหาอาจพาไปสู่ทางออก  แต่สำหรับปัญหาที่กล่าวมา ความพยายามแก้ไขปัญหาอาจสร้างปัญหาใหม่ เช่น ความเครียด หรือการนำไปสู่เรื่องราวความทุกข์อื่นๆ

แท้จริง สภาพไม่พึงปรารถนา คือสัญญาณที่สะท้อนว่าแบบแผนชีวิตมีบางอย่างติดขัด เช่น ความเชื่อที่ไม่สอดคล้องกับความจริง การมีทัศนคติที่บิดเบือน ความเข้าใจที่คลาดเคลื่อน ไม่สอดคล้องกับบริบทที่เปลี่ยนไป  การพบความเข้าใจเชิงประจักษ์เหล่านี้ คือ ความตระหนักรู้ และช่วยให้เราสามารถปรับเปลี่ยนความเชื่อ ทัศนคติ  ดังเช่น “ฉันเชื่อว่าความสุขเกิดขึ้นเมื่อไม่ต้องทำงาน”ความเชื่อนี้อาจไม่สอดคล้องกับความจริง และเข้าใจคลาดเคลื่อนว่าความสุขกับการทำงานเป็นสิ่งที่ขัดแย้งกัน  มุมมองนี้อาจไม่ถูกต้อง แต่การพบความเข้าใจเชิงประจักษ์ในเรื่องนี้ต้องการการสำรวจให้ตระหนักรู้อย่างแท้จริง

ความตระหนักรู้ เป็นหัวใจสำคัญที่ก่อเกิดการเปลี่ยนแปลง  เรารู้ตัวว่าเราสามารถเลือกได้ ก็ต่อเมื่อเราพบความเข้าใจเชิงประจักษ์ว่า เราเห็นทางเลือกที่เราสามารถเปลี่ยนแปลงการตัดสินใจใหม่ได้  หัวใจสำคัญคือ เราได้เกิดความสว่างจากสภาพความมืดบอด เปรียบเทียบได้กับการมีประสบการณ์ที่แตกต่างไปจากเดิม จากสภาพที่ไม่เคยประสบมาก่อน

“ผมรู้สึกอึดอัดกับตนเอง ทุกข์ทรมานใจกับความรู้สึกอิจฉาอยู่ภายใน  เวลาที่ได้ข่าวคราวความสำเร็จของคู่แข่ง ผมรู้สึกราวกับหัวใจมันถูกเฆี่ยนตี และหัวใจเต้นด้วยความเจ็บปวด  สิ่งที่เกิดขึ้นต่อมาคือ เสียงของความคิด คำตัดสินต่างๆ ที่ประดังกันเข้ามาในหัวสมอง ทำไม ทำไม ผุดขึ้นมาเต็มไปหมด  ผมอยากจะหยุดเสียงพวกนี้ในหัว”

การได้มาซึ่งความตระหนักรู้ในหลายกรณี เราก็ต้องการความช่วยเหลือจากผู้มีประสบการณ์ จากการเรียนรู้ จากกระบวนการฝึกฝน  ตัวอย่างข้างต้นเป็นความอิจฉาที่ทุกชีวิตต่างประสบมากน้อยตามสภาพอุปนิสัย  อิจฉาเป็นความรู้สึกที่เนื่องมาจากการเปรียบเทียบในลักษณะคนอื่นมี แต่ตัวเราไม่มี และตัวเราก็ต้องการจะมีสิ่งนั้น  แต่เงื่อนไขข้อจำกัดหรือความจริงบางประการทำให้ความต้องการนั้นไม่บรรลุผล

การกลับมาสำรวจความรู้สึกอิจฉาจากมุมมองต่างๆ ช่วยให้เราได้พบความตระหนักรู้บางอย่างที่ซ่อนอยู่  คำถามเชิงสำรวจต่อความอิจฉาที่รบกวนชีวิต ดังเช่น  ความรู้สึกอิจฉาส่งผลกระทบต่อเราอย่างไร  ความอิจฉาที่เรามีความต้องการบางอย่างนั้น เราต้องการมันเพื่ออะไร  สิ่งที่เราต้องการมันมีความจำเป็นกับเราอย่างไร  เป็นไปได้ไหมว่าความอิจฉาเกิดขึ้น เพราะเราต้องการเสพความรู้สึกบางอย่าง  การที่เราจะมีหรือไม่มี ได้หรือไม่ได้  มันทำให้คุณค่าของเราหายไปหรือไม่ อย่างไร ฯลฯ

หากชีวิตดูราบรื่นปกติ โอกาสที่เราจะกลับมาสำรวจตัวเองก็มีน้อย

ในเส้นทางชีวิตที่เรามุ่งไปข้างหน้า แม้ว่าแรงผลักสำคัญคือ การมุ่งหมายเพื่อการอยู่รอด พร้อมกับการปกป้องตนเอง  แต่แรงผลักชีวิตที่ซ่อนอยู่ คือ แรงผลักเพื่อการเติบโต  และการเติบโตเกิดขึ้นเมื่อเราปลดปล่อยความกังวลต่อความอยู่รอด และผ่อนคลายจากการปกป้องตนเอง

ความอิจฉาเป็นแรงขับของการปกป้องตนเอง ในอีกด้านความอิจฉาสามารถเป็นสัญญาณให้เราหันกลับมาทำงานภายในเพื่อค้นหาความตระหนักรู้กับความมีคุณค่าในตนเอง  ไม่ว่าเราจะมี หรือไม่มี เมื่อเปรียบเทียบกับคนอื่น คุณค่าของเราก็จะยังคงอยู่  แต่การทำงานเพื่อได้ความตระหนักรู้แท้จริงนี้ มิอาจเกิดขึ้นโดยอาศัยเพียงการคิดเชิงเหตุผล แต่ต้องการความประจักษ์แจ้งในใจ

นอกจากความอิจฉา เส้นทางชีวิตเราจะพบแบบแผนชีวิตที่เราใช้ เราจะพบสัญญาณจากผลกระทบที่เกิดขึ้นจากแบบแผนที่เราใช้ จากความเชื่อ ทัศนคติที่ซ่อนอยู่ เช่น โกรธ กลัว กังวล ฯลฯ  การทำงานภายใน คือ การค้นหาความเข้าใจเชิงประจักษ์ ก่อเกิดเป็นความตระหนักรู้ และทำให้เราเติบโตจากความไม่รู้ ไม่เข้าใจตนเอง ไปสู่การเข้าใจและดำเนินชีวิตสู่การเติบโตภายใน สู่การงอกงามของวุฒิภาวะ

“ถึงตอนนี้ผมไม่เจ็บปวดแบบเมื่อก่อน เพราะมีความเข้าใจและเท่าทันตนเองว่า ผมเองก็มีสิ่งดีๆ ในแบบของผม ไม่จำเป็นต้องเปรียบเทียบ และเราก็สามารถใช้พลังดูแลสิ่งที่เรามี ทำมันให้ดีขึ้น  มันมีความสุขและความพอใจมากกว่าเอาพลังไปมุ่งเปรียบเทียบกับคนอื่น มันสร้างสรรค์กว่ามากเลย”


ภาพประกอบ

ชัยยศ จิรพฤกษ์ภิญโญ

ผู้เขียน: ชัยยศ จิรพฤกษ์ภิญโญ

นอกเหนือจากบทบาทนักเขียนประจำคอลัมน์ งานสำคัญ คือ กระบวนกร นักจิตปรึกษา, enneagram coach สนใจและรักที่จะทำงานด้านการทำงานเพื่อสร้างการเปลี่ยนแปลงกับโลกภายในผ่านทักษะ ประสบการณ์เรียนรู้ทั้งงานอบรม การทำจิตปรึกษา และงานเขียน