การสื่อสารอย่างสันติ

ภัสน์วจี ศรีสุวรรณ์ 22 กุมภาพันธ์ 2015

มีคนไทยไม่มากนักรู้จักชื่อ ดอกเตอร์มาร์แชล โรเซนเบิร์ก (Marshall Rosenberg) ผู้ก่อตั้งการสื่อสารอย่างสันติ (Nonviolent Communication) ผู้เขียนไม่รู้จักเขาเป็นการส่วนตัว แต่มีโอกาสได้เรียนรู้จากคุณกัญญา ลิขนสุทธิ์ ลูกศิษย์ของเขาที่นำการสื่อสารอย่างสันติมาเผยแพร่ในเมืองไทย และกลายเป็นส่วนหนึ่งของทีมฝึกอบรมเรื่องการสื่อสารอย่างสันติในบ้านเรา เมื่อฝึกฝนจึงเห็นว่าแนวคิดนี้เป็นแนวทางที่สามารถแก้ปัญหาความขัดแย้งได้ทั้งระดับบุคคลในการดำรงชีวิตประจำวัน ระดับองค์กร และสังคม

มาร์แชลเป็นชาวอเมริกันที่เติบโตมาในเมืองที่มีความขัดแย้งรายวันอย่างดีทรอยต์ ด้วยอยากรู้ถึงรากเหง้าสาเหตุของความขัดแย้ง เขาจึงเลือกเรียนจิตวิทยาคลีนิค ระหว่างเป็นนักจิตวิทยาคลีนิคเขาก็ทำงานด้านสิทธิพลเมืองและเป็นคนกลางด้านความขัดแย้งในองค์กรไปด้วย จนทำให้เขาค้นพบเครื่องมือสำคัญในการแก้ปัญหาความขัดแย้งอย่างสงบที่เรียกว่า การสื่อสารอย่างสันติ หรือการสื่อสารโดยไม่ใช้ความรุนแรง

หัวใจหรือหลักการสำคัญของการสื่อสารอย่างสันติคือ 1. มนุษย์ทุกคนมีความกรุณาเป็นพื้นฐาน 2. เบื้องหลังการกระทำของมนุษย์เป็นไปเพื่อตอบสนองความต้องการบางอย่าง 3. การใส่ใจและให้คุณค่ากับความต้องการของทุกฝ่าย และ 4. ให้ความสำคัญกับความสัมพันธ์และความเข้าใจปัญหาก่อนแก้ปัญหา

นอกเหนือจากหลักการ การสื่อสารแบบนี้ต้องอาศัยทักษะด้านภาษาเพื่อจะเข้าถึงเนื้อแท้ในใจของอีกฝ่ายอย่างแท้จริง ซึ่งจะช่วยให้ผู้ฟังเข้าถึงความกรุณาของอีกฝ่ายได้มากขึ้น โอกาสที่จะเข้าใจกันก็มีมากขึ้น ภาษาแบบนี้มาร์แชลเรียกว่า ภาษายีราฟ ซึ่งเป็นสัตว์บกที่หัวใจโตที่สุด

ภาษายีราฟ  ก็คือภาษาที่เข้าใจตัวเองและเข้าใจผู้อื่น โดยเข้าไปถึงความต้องการที่แฝงอยู่เบื้องหลังการกระทำหรือคำพูดที่บางทีรุนแรงจนบางครั้งเรารับไม่ได้ เขายกให้ภาษายีราฟเป็นเทคโนโลยีอันทรงพลังที่สุดในการแก้ปัญหาความขัดแย้ง  ส่วนภาษาตรงกันข้ามคือ ภาษาหมาป่า  หรือภาษาแห่งความรุนแรง ซึ่งเป็นภาษาที่เรามักใช้กันเพื่อตัดสินกล่าวโทษทั้งตัวเองและผู้อื่น ซึ่งยิ่งภาษาหมาป่ารุนแรงเท่าใด แสดงว่าผู้พูดมีความต้องการที่ยังไม่ได้รับการตอบสนองซ่อนอยู่แรงเท่านั้น

ในการสื่อสารอย่างสันติเราสามารถใช้ได้ทั้งภาษายีราฟและภาษาหมาป่า สิ่งสำคัญอยู่ที่ว่าเราต้องรู้ตัวหรือมีสติว่าเรากำลังใช้ภาษาแบบใด และผลที่ตามมาจะเป็นอย่างไร

ดอกเตอร์มาร์แชล โรเซนเบิร์ก ขณะเป็นวิทยากรให้ความรู้เรื่องการสื่อสารอย่างสันติเมื่อปี ค.ศ. 1990

มาร์แชลเล่าประสบการณ์การทำหน้าที่เป็นคนกลางให้ชนเผ่าคริสเตียนและมุสลิมในประเทศไนจีเรียที่ขัดแย้งกันรุนแรงถึงขั้น 40 เปอร์เซ็นต์ของประชากรของแต่ละฝ่ายถูกฆ่าตายในสงครามว่า เมื่ออยู่ต่อหน้าผู้นำของทั้งสองเผ่า เขาพูดว่าผมมั่นใจว่าเราจะได้ยินความต้องการของแต่ละฝ่าย เราจะแก้ปัญหาโดยไม่มีความขัดแย้งเกิดขึ้น  เมื่อถามความต้องการของฝ่ายคริสเตียน ฝ่ายนั้นก็ชี้หน้าอีกฝ่ายแล้วตะโกนว่า “คนของแกเป็นฆาตรกร” หูยีราฟของมาร์แชลก็แปลความว่า “คุณต้องการความปลอดภัยใช่มั้ย” หัวหน้าเผ่าบอกว่า “ใช่เลย!” จากนั้นเขาก็พยายามดึงให้อีกฝ่าย “ได้ยิน” ความต้องการนั้นด้วยการให้อีกฝ่ายทวนคำ เพื่อให้แน่ใจว่าอีกฝ่ายได้รับสารนั้นแล้ว แม้ว่าอีกฝ่ายจะไม่เห็นด้วยกับคำพูดนั้นก็ตาม

เมื่อถามถึงความต้องการของอีกฝ่ายก็มีเสียงตะโกนตอบว่า “พวกแกครอบงำพวกข้ามาแปดสิบปีแล้ว ข้าจะไม่ยอมพวกแกอีกต่อไป” หูยีราฟของมาร์แชลก็ทำหน้าที่แปลคำตีความและตัดสินเหล่านั้นเป็นความต้องการ  ใช้เวลาหลายชั่วโมงจนท้ายที่สุดหัวหน้าเผ่าหนึ่งก็หลุดคำพูดออกมาว่า “ถ้าเรารู้วิธีการพูดคุยแบบนี้ตั้งแต่ต้น เราก็คงไม่ฆ่ากันแบบนี้หรอก”

มาร์แชลบอกว่า ภาษาของการสื่อสารอย่างสันติคือ “ภาษาความต้องการ” แต่ภาษาที่เราคุ้นเคยเป็นภาษาที่ไม่เปิดให้พูดถึงความต้องการ เลยมีการตีความและการตัดสิน  ทุกครั้งที่เขาทำหน้าที่เป็นคนกลางให้กับคนสองกลุ่มที่ทะเลาะกัน เขาจะเปลี่ยนคำพูดเหล่านั้นให้เป็นความต้องการที่ยังไม่ได้รับการตอบสนอง และถ้าพูดกันที่ความต้องการโดยไม่มีการตัดสินใครผิดใครถูก จะแก้ปัญหาทุกอย่างได้

เขาบอกว่าน่าเศร้าที่ 80 เปอร์เซ็นต์ของคนที่มีความขัดแย้งที่เขาทำงานด้วยทั่วโลกไม่มีคำศัพท์เกี่ยวกับความต้องการอยู่ในหัวเลย และถ้าเราได้ยินความต้องการของแต่ละฝ่าย ส่วนใหญ่ปัญหาจะถูกแก้ไขด้วยตัวมันเอง ปัญหาบางอย่างยืดเยื้อมานานแปดปี แต่สามารถแก้ไขได้ด้วยการสื่อสารแบบสันติโดยใช้เวลาแค่เพียง 40 นาทีเท่านั้น

ด้วยเหตุนี้ ในชั้นเรียนเบื้องต้นของการสื่อสารอย่างสันติ จึงมุ่งเน้นไปที่การทำความรู้จักและฝึกใช้คำเกี่ยวกับความรู้สึกและความต้องการ โดยความรู้สึกจะเป็นตัวนำทางไปสู่การค้นหาความต้องการ เหมือนกลิ่นดอกไม้ที่นำไปสู่ดอกไม้  ความต้องการในที่นี้หมายถึงความการพื้นฐานที่มนุษย์ทุกคนทั่วโลกมีเหมือนกัน เช่น ความสุข ความรัก ความเข้าใจ การรับฟัง หรือความเสมอภาค เป็นต้น

เมื่อเราค้นพบความต้องการของตัวเองหรืออีกฝ่ายหนึ่ง ก็จะทำให้ “เข้าใจ” ความเป็นมนุษย์ของอีกฝ่ายมากขึ้น แต่คนส่วนใหญ่มักคิดว่าวิธีการให้ได้มาซึ่งความต้องการ คือการเรียกร้องในสิ่งที่ต้องการ เช่น ฉันต้องการเงิน ฉันต้องการอำนาจ โดยไม่ได้มองลึกลงไปว่าเงินและอำนาจคือสิ่งของหรือวิธีการที่จะนำไปสู่ความต้องการที่แท้จริงคือ ความปลอดภัยและความมั่นคง  เมื่อใดก็ตามที่เราหาความต้องการไม่พบ และเรียกร้องให้อีกฝ่ายทำตามวิธีการที่เราอยากได้ ก็จะกลายเป็นการออกคำสั่งแทนการขอร้องไปโดยปริยาย และมักตามมาด้วยการทะเลาะเบาะแว้ง

เบื้องหลังการกระทำของมนุษย์ เป็นไปเพื่อตอบสนองความต้องการบางอย่าง

มาร์แชลบอกว่าไม่มีใครผิดถูกดีเลว ผิดถูกดีเลวเป็นเพียงการตีความของคนใดคนหนึ่ง ดังนั้นทักษะการแยกข้อสังเกตและการตีความจึงเป็นเรื่องสำคัญ คนส่วนใหญ่มักทะเลาะกันเพราะการตีความคำตำหนิหรือตัดสิน เช่น “เธอกลับบ้านดึก” “เธอมาสาย” “ เธอทำงานไม่ได้เรื่องเลย” “เธอเลว” แต่หากให้ข้อสังเกตที่ชัดเจนว่าอีกฝ่ายทำอะไร เช่น “เธอกลับบ้านหลังตีสอง” “เธอมาทำงานหลังแปดโมงเช้า” “หรือเธอส่งงานฉันชิ้นเดียวทั้งๆ ที่บอกว่าจะส่งสองชิ้น” ก็จะทำให้อีกฝ่ายเห็นภาพชัดเจนขึ้นว่าอีกฝ่ายกำลังพูดเรื่องอะไร โอกาสที่จะทะเลาะกันเพราะการตีความก็น้อยลงเพราะเป็นข้อเท็จจริง

แท้จริงหลักการการสื่อสารอย่างสันติ คือหลักการสากลในการสร้างสันติภาพในใจผู้คนนั่นเอง มาร์แชลเคยพูดว่าหลังจากพบว่าการเป็นนักจิตวิทยาไม่ได้ช่วยผู้คนส่วนใหญ่มากนัก เขาจึงค้นคว้าหลักธรรมคำสอนศาสนาต่างๆ ใน 7 ศาสนาแล้วพบหลักการหนึ่งที่ทุกศาสนาพูดถึงคือ “มนุษย์มีความกรุณาเป็นพื้นฐาน” เพียงแต่มีบางสิ่งบางอย่างปิดกั้นความกรุณาเหล่านั้น

ในทางพุทธศาสนา พระไพศาล วิสาโล เคยกล่าวไว้ว่า การรับรู้และเข้าใจความรู้สึกและความต้องการของตัวเองโดยจะกล่าวออกมาหรือไม่คือการมีสตินั่นเอง  ด้าน เอกฮาร์ต โทลเล นักปรัชญาผู้โด่งดังแห่งยุคสมัยนี้ก็เคยกล่าวไว้ว่า เมื่อเกิดอารมณ์ใดขึ้น (ความรู้สึก) ให้ตระหนักรู้ว่าอารมณ์นั้นเกิดจากความคิดใด และอาจบอกกล่าวความรู้สึกนั้นกับคู่สนทนาได้ เพราะผู้คนย่อมอยากฟังสิ่งที่เกิดขึ้นกับคุณจริงๆ ให้โอบรับอารมณ์นั้นไว้ อย่ากดทับ ผลักไส ปฏิเสธ หรือกล่าวหาอารมณ์นั้น เพราะมันเป็นเช่นนั้นเอง ซึ่งเป็นการอธิบายทั้งเรื่องสติและการสื่อสารแบบสันติในอีกรูปแบบหนึ่ง สิ่งที่มาร์แชลเพิ่มเติมจึงเป็นการนำหลักการมาสู่การปฏิบัติ โดยจัดแบ่งหมวดหมู่เป็นทักษะที่สามารถฝึกฝนได้นั่นเอง

แม้มาร์แชล โรเซนเบิร์กจะเสียชีวิตเมื่อ 7 กุมภาพันธ์ 2557 ที่ผ่านมา รวมอายุ 81 ปี แต่การสื่อสารอย่างสันติยังดำรงอยู่และหยั่งรากลึกไปทั่วโลก เพราะเขาอุทิศชีวิตเดินทางไปแก้ปัญหาความขัดแย้งและฝึกอบรมในกว่า 60 ประเทศ และปัจจุบันลูกศิษย์ของเขาที่อยู่ในประเทศต่างๆ ยังคงเผยแพร่การสื่อสารอย่างสันติต่อไป ในบ้านเรา สถาบันเสมสิกขาลัยเป็นเจ้าภาพเปิดหลักสูตรการสื่อสารอย่างสันติตลอดทั้งปี


ภาพประกอบ

ภัสน์วจี ศรีสุวรรณ์

ผู้เขียน: ภัสน์วจี ศรีสุวรรณ์

อดีตนักข่าว นักเขียน บรรณาธิการนิตยสารสิ่งแวดล้อม และนักรณรงค์ด้านสิ่งแวดล้อม ปัจจุบันเป็นนักเขียนอิสระที่สนใจประเด็นด้านสิ่งแวดล้อม สุขภาพ และการศึกษา ขณะเดียวกันก็รักการเดินทางและการออกกำลังกาย นิยมการเดินป่า เล่นโยคะ ปั่นจักรยาน และทำสวน ปัจจุบันอาศัยอยู่ที่บ้านเกิดอำเภอวิเศษชัยชาญ จังหวัดอ่างทอง