เพื่อเพื่อนร่วมโลก

พระวิชิต ธมฺมชิโต 2 มิถุนายน 2013

เรื่องหนึ่งที่ช่วยสร้างสีสันระหว่างการเดินทางไปยังสังเวชนียสถานต่างๆ ในแดนพุทธภูมิคือการเฝ้าสังเกตดูสัตว์ป่าข้างทางที่ยังคงหากินและใช้ชีวิตอยู่ร่วมกันกับชาวบ้านได้อย่างไม่น่าเชื่อ ถ้าเป็นลิงที่เที่ยวขออาหารจากคนเดินทางก็คงไม่ใช่เรื่องแปลกให้เราต้องเฝ้าดู แต่นี่มีทั้งนกกะเรียน ค่าง อีเห็น และที่น่าตื่นเต้นที่สุดก็คงเป็นนิลกายที่ไม่ได้อยู่ในกรงสวนสัตว์

ยิ่งเดินทางขึ้นไปทางตอนเหนือแถวๆ เมืองกุสินารา สาวัตถี เลยไปถึงที่ลุมพินี ประเทศเนปาลยิ่งมีโอกาสพบได้มาก สัตว์เหล่านี้บางส่วนก็อาศัยอยู่ตามทุ่งหญ้าป่าละเมาะริมทาง เช่น ค่าง นกยูง และนิลกาย ส่วนนกกะเรียนมักพบอยู่เป็นกันคู่ๆ ยืนเด่นเป็นสง่าโชว์หัวที่แต้มสีแดงสดอยู่กลางทุ่ง สำหรับกระรอก กระแต หมูป่า นกแก้ว นกแปลกๆ ตามหนองน้ำ รวมทั้งนกกระยางสารพัดชนิดนั้นเห็นได้ทั่วไป

เรื่องที่น่าสนใจก็คือสัตว์ป่าเหล่านี้ยังมีอยู่ได้อย่างไรในประเทศที่มีผู้คนยากจนมากมาย พื้นที่ธรรมชาติก็เหลือน้อยลงทุกที แถมระเบียบวินัย การเคารพกฎกติกาของคนอินเดียก็ดูไม่เคร่งครัดนัก

ด้านหนึ่งที่ต้องยอมรับว่าอยู่ที่ธรรมชาติของสัตว์เหล่านี้เอง ที่ปรับตัวเข้ากับสิ่งแวดล้อมที่เปลี่ยนไปได้ดีกว่าสัตว์ชนิดอื่น ทั้งเรื่องอาหาร ที่อยู่ และที่สำคัญต้องขยายพันธุ์ได้เร็วด้วย

ลิงดูจะเป็นตัวอย่างที่เห็นได้ชัดที่สุดในด้านการปรับตัว อาศัยความฉลาดบวกกับความน่ารักที่พอจะมีติดตัวอยู่บ้าง แทนที่มันจะหากินอย่างอดๆ อยากๆ ในป่า ก็เลยมาด้อมๆ มองๆ ปักหลักขอขนมจากคนเดินทางเสียเลย โดยเฉพาะลิงที่ป่าสาละพุทธชยันตี เมืองโครักขปูร์ ใกล้ๆ กุสินารา อันเป็นทำเลทองของนักแสวงบุญที่ใช้ในการปลดทุกข์หนักเบา เจ้าจ๋อที่นั่นคุ้นเคยกับคนจนทำให้พวกเราชักปลดทุกข์กันอย่างไม่ค่อยถนัดนัก (แม้มั่นใจว่าไม่เข้ามาทำร้าย แต่ก็อายมันอยู่นิดๆ)

อีกด้านหนึ่งที่สำคัญไม่น้อยไปกว่ากันคือ ชาวบ้านที่นั่นไม่ได้เป็นศัตรูของสัตว์เหล่านี้ พวกมันจึงใช้ชีวิตอยู่ในโลกใบนี้ร่วมไปกับคนได้ อาจแอบมากินพืชผลการเกษตรกันบ้าง อย่างมากก็แค่ไล่ไปให้พ้น ไม่ถึงกับฆ่าแกงกัน ถ้าเป็นเมืองไทยหากมีหมูป่าหลงเข้ามาในหมู่บ้านสักตัวสองตัว ไม่ต้องบอกก็รู้ว่าอาหารเย็นของชาวบ้านวันนั้นคืออะไร เพราะขนาดเขาอยู่กันดีๆ ในป่า เราก็ยังดั้นด้นไปล่ามากินได้

ลำพังกฎหมายอย่างเดียวคงไม่สามารถช่วยอนุรักษ์สัตว์เหล่านี้ไว้ได้ สาเหตุสำคัญนั้นมาจากศาสนา ชาวฮินดูซึ่งเป็นคนส่วนใหญ่ในอินเดียไม่ฆ่าสัตว์เหล่านี้ เพราะนอกจากกินมังสวิรัติกันส่วนใหญ่แล้ว เขายังเชื่อว่าสัตว์เหล่านี้เป็นของเทพเจ้า การไปทำร้ายหรือรังแกสัตว์จะสร้างความไม่พอใจให้กับเทพเจ้าซึ่งจะนำหายนะมาสู่ตัวเขาและครอบครัว แล้วก็พลอยทำให้คนที่นับถือศาสนาอื่นเกรงใจไม่ทำร้ายสัตว์เหล่านี้ไปด้วย

เราชาวพุทธซึ่งไม่ได้เชื่อในเทพเจ้าหรือพลังอำนาจเหนือธรรมชาติใดๆ แต่เราก็มีเหตุผลพื้นฐานง่ายๆ ที่จะไม่ไปทำร้ายคร่าชีวิตผู้ใดว่าทุกชีวิตรักชีวิตของตน รวมทั้งรักชีวิตของผู้ใกล้ชิดหรือเผ่าพันธุ์ของตนด้วย เราเองก็ไม่อยากถูกใครมาลอบทำร้ายหรือไล่ล่า ดังนั้นการไม่ฆ่าไม่เบียดเบียนใครไม่ว่าคนหรือสัตว์ และอาจตีความรวมไปถึงธรรมชาติสิ่งแวดล้อมอื่นๆ ด้วย จึงเป็นศีลข้อแรกสุดที่เราชาวพุทธไม่ละเลย

แต่ถ้าไม่ใช่เพราะว่าเราไม่จริงจังที่จะเรียนรู้และปฏิบัติตามหลักพุทธธรรม ก็ไม่ทราบว่าจะนึกถึงเหตุผลอื่นใดอีกที่จะมาอธิบายว่า ทำไมคนไทยจึงฆ่าและเบียดเบียนเพื่อนร่วมโลกใบนี้กันจนเห็นเป็นเรื่องสนุก เริ่มตั้งแต่เด็กเล็กที่รังแกสัตว์เลี้ยง ยิงนก ตกปลา ฆ่าผีเสื้อ ไปจนถึงขั้นพัฒนาเป็นเกมกีฬาของบรรดาเศรษฐีที่ต้องลงทุนซื้อปืน เช่าเฮลิคอปเตอร์ หลบเลี่ยงฝ่าฝืนกฎหมายไปไล่ล่ากันถึงในป่าในดง

บ้างอาจโทษแนวคิดตะวันตกที่มาพร้อมกับวิทยาศาสตร์ และลัทธิทุนนิยม-บริโภคนิยมว่าเป็นต้นเหตุ ทำให้วิถีชีวิตไทยแต่เดิมที่ดำรงอยู่อย่างเคารพต่อธรรมชาติจืดจางไปพร้อมๆ กับสัตว์ป่าและธรรมชาติที่หมดไป เพราะมาเปลี่ยนมุมมองต่อสรรพสัตว์เพื่อนร่วมโลกของเราทั้งหลายว่า เป็นเพียงทรัพยากรที่ใช้ตอบสนองความอยากอันไม่สิ้นสุดของมนุษย์เราเท่านั้น ซึ่งก็คงมีส่วนจริงอยู่บ้าง

แต่ถ้าเราเป็นคนยุคใหม่ที่เชื่อในวิทยาศาสตร์ ศรัทธาในเรื่องเหตุผลและการพิสูจน์ความจริง  แทนที่พุทธศาสนาซึ่งตั้งอยู่บนหลักของเหตุผลและทนต่อการพิสูจน์ควรจะได้รับความสนใจมากขึ้น (เช่นเดียวกับในโลกตะวันตก) แต่กลับถูกละเลย มิหนำซ้ำความกลัวในอำนาจลึกลับ กลัวกรรมเก่า หรือการอาฆาตของเจ้ากรรมนายเวร กลับเฟื่องฟูขึ้นพร้อมไปกับการเติบโตของความรู้และเทคโนโลยีอย่างแยกไม่ออก

เพราะไม่จริงจังที่จะเรียนรู้และปฏิบัติตามหลักธรรม เราจึงเบียดเบียนเพื่อนร่วมโลกใบนี้จนเห็นเป็นเรื่องสนุก

ความจริงเรื่องนี้พระพุทธองค์ตระหนักอยู่แล้ว ถ้าไม่ใช่เพราะพระกรุณาคุณของพระองค์ ไม่ใช่เพราะทรงเห็นว่าผู้ที่มีธุลีในดวงตาน้อยยังพอมีอยู่ในโลก พระองค์ก็คงไม่สอนไม่ประกาศธรรมอันลึกซึ้งนี้หรอก

ในเบื้องต้นสำหรับคนหมู่มาก การใช้พลังแห่งศรัทธา การสอนให้รักบุญกลัวบาป กลัวถูกลงโทษนั้นยังเป็นสิ่งจำเป็น แต่ในที่สุดแล้วพุทธศาสนิกชนจะต้องอาศัยปัญญา อาศัยความเข้มแข็งของจิตใจในการเพียรฝึกฝนพัฒนาตนเท่านั้น จึงจะเอาชนะกิเลสในใจตนได้

ตอนแรกเราอาจไม่ฆ่าสัตว์เพราะกลัวตกนรก หรือกลัวชาติหน้าจะเจ็บป่วย พิการ หรืออายุสั้น (ซึ่งไม่ได้แปลว่าเรื่องเหล่านี้ไม่จริง) แต่ในที่สุดแล้ว เราต้องมีปัญญาเห็นว่า การเอาเปรียบเบียดเบียนทำร้ายผู้อื่นไม่ว่าในลักษณะใด เป็นสิ่งที่มนุษย์ทุกคนไม่ควรทำจริงๆ (ซึ่งรวมถึงเบียดเบียนทรัพย์สิน ของรักของหวงของเขา และเบียดเบียนต่อความจริงที่เขาควรได้รับ คือศีลใน ๔ ข้อแรกด้วย)

เช่นเดียวกับการที่เราไม่ฝ่าไฟแดง ไม่ทิ้งขยะเรี่ยราดนั้น ในที่สุดต้องไม่ใช่เพราะกลัวถูกตำรวจจับหรือโดนใครตำหนิ แต่เพราะเข้าใจ เห็นถึงอันตรายและผลเสียที่ตามมาจากการกระทำนั้นๆ ด้วยตนเองอย่างชัดเจน (ส่วนการถูกจับ ถูกปรับก็เช่นกัน ไม่ใช่แค่มีไว้ขู่ให้กลัวกันเฉยๆ)

ไหนๆ เราก็เป็นคนยุคใหม่ที่เชื่อว่าตนเองมีความรู้ คิดเป็น เชื่อในเหตุผล ในสิ่งที่พิสูจน์ได้ ลองเปิดใจศึกษาพระพุทธศาสนาแล้วลองมาปฏิบัติพิสูจน์ด้วยตัวเองให้ชัดๆ กันสักตั้งว่าเป็นอย่างไร

ถ้าทำได้ การมีนิลกายเดินเล่นข้างทางอาจกลายเป็นเพียงเรื่องขำๆ เพราะสำหรับเมืองพุทธแท้ๆ แล้ว สรรพสัตว์ทั้งหลายล้วนเป็นเพื่อนพี่น้องของเราที่สามารถอยู่ร่วมกันได้อย่างเข้าใจกัน


ภาพประกอบ