ฉากหนึ่งในตอนท้ายของภาพยนตร์ซูเปอร์ฮีโร The Amazing Spider-Man เป็นฉากที่อาจารย์ผู้สอนตั้งคำถามกับนักเรียนในห้อง ซึ่งคาดว่าน่าจะเป็นวิชาเกี่ยวกับวรรณกรรม ประเด็นคำถามคือ เราอาจพบว่าวรรณกรรมมากมายต่างมีแก่นแกนของเรื่องราวที่หลากหลาย แต่แท้จริงแล้วแก่นแกนเรื่องราวชีวิตมีเพียงแก่นเดียวคือ การค้นหาว่า “เราคือใคร”
คำถาม “เราคือใคร” เป็นคำถามสำคัญเบื้องหลังชีวิตที่ขับเคลื่อนและต้องการการอุทิศตัวเพื่อค้นหาคำตอบ หากเราพิจารณาเรื่องราวชีวิตผู้คนผ่านคำบอกเล่า สื่อภาพยนตร์ หรือวรรณกรรม ท่วงทำนองเรื่องราวทั้งหมดมักมีขนบของเรื่องราวที่เริ่มต้นด้วยการแนะนำบอกกล่าวความเป็นมาของตัวเอกในเรื่องราว ตัวละครมีความปรารถนาหรือพันธกิจบางประการที่ต้องบรรลุผล พร้อมกับการมีอุปสรรคมาขัดขวางความปรารถนาหรือพันธกิจนั้น ตัวละครต้องต่อสู้ ดิ้นรน เพื่อเอาชนะอุปสรรค ก่อนที่จะจบลงด้วยสุขนาฎกรรม หรือโศกนาฎกรรม แล้วแต่ว่าตัวละครเอาชนะหรือพ่ายแพ้ต่ออุปสรรคนั้น
คนส่วนใหญ่มักคุ้นเคยกับอุปสรรคที่เข้ามาในชีวิตในรูปของตัวร้าย ตัวโกง นางอิจฉา เชื้อโรค สัตว์ประหลาด กรณีซับซ้อนมากขึ้นก็อาจเป็นระบบสังคม วัฒนธรรม กรอบประเพณี ความคิด ความเชื่อ แต่ทั้งหมดคือกรณีอุปสรรคที่เป็นปัจจัยภายนอก สิ่งที่หลายคนไม่คุ้นเคยคือ อุปสรรคที่อยู่ภายในตัวเรา โทสะ โมหะ โลภะ หรือ ความกลัว ความอยาก ความหลง รวมไปถึงความคิด ความเชื่อบางอย่างในตัวเราเป็นอคติที่ แฝงฝังในใจ เป็นอำนาจชั่วร้ายที่มองเห็นได้ยาก ดังนั้นเส้นทางชีวิตของเราทุกคนทั้งในภาพยนตร์ คำบอกเล่า วรรณกรรม หรือในชีวิตจริง ก็คือ เส้นทางของการเรียนรู้ ค้นหาตนเอง ผ่านการผจญภัยและเอาชนะอุปสรรคนั้น
โจเซฟ แคมพ์เบลล์ นักคติชนวิทยา ผู้ศึกษาปรัชญาและความหมายในเทพปกรณัมได้นำเสนอแนวคิดเรื่องการเดินทางของวีรบุรุษในความหมายสากล ไม่แบ่งแยกโดยวัฒนธรรมหรือความเชื่อใดๆ โดยชี้ว่า การเดินทางหรือเส้นทางชีวิตของวีรบุรุษ วีรสตรี ประกอบด้วย ๔ ขั้นตอน คือ ๑) การเดินทาง ตัวเอกออกเดินทาง ผจญภัย หรือพบการเปลี่ยนแปลงบางอย่างเพื่อตามหาบางสิ่งที่ปรารถนา อาจจะเป็นความสุข หรือการสะสางสิ่งตกค้าง สิ่งที่หายไป ๒) การเข้าสู่สภาวะใหม่ ตัวเอกอาจพบบทเรียนชีวิต ได้รับการต้อนรับหรือเข้าสู่สภาวะ สถานภาพใหม่ ๓) การกลับคืน ตัวเอกหวนคืนสู่สังคม ถิ่นกำเนิด หรืออาจรวมถึงการกลับมาเชื่อมโยงกับตน เองใหม่ และ ๔) สิ่งล้ำค่า ตัวเอกนำสิ่งที่เรียนรู้มาส่งคืน มอบหมาย หรือเอื้อประโยชน์ต่อคนอื่น ต่อสังคม
แต่ละขั้นตอนต่างมีความหมาย ความสำคัญในฐานะเบ้าหลอม เป็นเสมือนกระบวนการที่สร้างสรรค์ให้เกิดความเป็นวีรบุรุษ วีรสตรีที่แท้ กรอบคิดของแคมพ์เบลล์ช่วยให้เราเห็นเส้นทางชีวิตของตัวละครเอกในเรื่องราวต่างๆ มากมายที่ดำเนินภายใต้ขั้นตอนต่างๆ ข้างต้น
เหตุการณ์ในชีวิตอาจมีมากมาย แต่แก่นแกนของชีวิตมีเพียงเรื่องเดียว คือการค้นหาว่า “เราคือใคร”
ตัวอย่างเช่น วรรณกรรมเรื่อง แฮร์รี พอตเตอร์ ที่เรื่องราวการผจญภัยเริ่มต้นเมื่อแฮร์รีก้าวเข้าสู่โรงเรียนฮอกวอตส์ในฐานะสถาบันการศึกษา และเป็นสถานที่ผจญภัย แต่ละปีในสถาบันการศึกษา แฮร์รีและเพื่อนๆ ต้องออกผจญภัยเพื่อบรรลุพันธกิจ แต่ละการผจญภัยหรือพันธกิจที่ต้องดำเนินการให้ลุล่วงจึงเป็นเสมือนการเข้าสู่สภาวะใหม่ๆ ผ่านบทเรียนชีวิต ซึ่งแต่ละบทเรียนอาจหมายถึง การสูญเสียชีวิตของผู้เป็นที่รัก ความทุกข์ ความเจ็บปวด หรือการได้เรียนรู้ตนเอง การเรียนรู้ถึงความสัมพันธ์ มิตรภาพ ความรัก ความไว้วางใจ สิ่งที่น่าสนใจคือ พันธกิจในช่วงท้ายๆ ยิ่งมีความยากลำบากและต้องอาศัยบทเรียนชีวิตมากมายมาเป็นฐานทุนชีวิต หรือฐานทรัพยากรเพื่อฟันฝ่าและบรรลุพันธกิจที่ยากที่สุด คือ การเผชิญหน้ากับความตาย และท้ายที่สุดดังที่หลายคนได้ทราบ เรื่องราวการผจญภัยของแฮร์รีก็สามารถจบลงได้ด้วยการนำสันติสุขกลับคืนสู่สังคม และคืนสู่ชีวิตตนเองด้วยในที่สุด
ความหมายที่ซ่อนเร้นคือ ปฏิกิริยาที่เรามีต่ออุปสรรคภายนอก แท้จริงก็คือ ภาพสะท้อนจากอุปสรรค อำนาจชั่วร้ายที่อยู่ภายในตัวเรานั่นเอง
เราแต่ละคนต่างล้วนเป็นวีรบุรุษ วีรสตรีด้วยกันทั้งสิ้นในแบบของเราเอง เรื่องราวชีวิตของเราแต่ละคนต่างมีความเข้มข้นไม่แตกต่างจากเรื่องราวของคนอื่นๆ เพราะทุกชีวิตต่างสามารถมีประเด็นแก่นแกนเรื่องราวชีวิตในแบบเดียวกันคือ การค้นหาและรู้จักตนเอง กระนั้นพันธกิจนี้มีราคาที่ต้องจ่าย นั่นคือ การอุทิศตนเอง ซึ่งหมายถึงการยอมมอบกาย มอบใจ มอบสติปัญญาให้กับพันธกิจดังกล่าว ซึ่งถือเป็นเรื่องสำคัญของทุกชีวิต เพราะหากเราไม่รู้จักตนเอง การดำเนินชีวิตก็จะเป็นไปตามแรงกระตุ้นของสิ่งภายนอก และมุมมองของโลกภายในหรืออุปสรรคภายในตัว คือ ความกลัว ความโกรธ ความหลง
ตัวเอกของภาพยนตร์ที่มีชื่อเสียง สตาร์วอร์ส คือ อนาคิน หรือ ดาร์ธ เวเดอร์ เป็นตัวเอกที่เริ่มต้นชีวิตในฐานะผู้นำการเปลี่ยนแปลง และแวดล้อมด้วยเพื่อน อาจารย์ฝ่ายเทพ แต่ด้วยความกลัวต่อการสูญเสีย การถูกล่อลวง การพ่ายแพ้ต่ออำนาจฝ่ายต่ำ อนาคินก็กลับกลายเป็นดาร์ธ เวเดอร์ ผู้ชั่วร้าย เรื่องราวของตัวเอกผู้นี้จึงมีเส้นทางของวีรบุรุษที่ผ่านการเรียนรู้ การเปลี่ยนแปลงสภาพใหม่ และสิ่งที่เปลี่ยนแปลงคืนสู่คนรอบข้าง เพียงแต่ในทิศทางตรงข้ามกับตัวเอกทั่วไปที่คุ้นเคย เพราะการยอมสวามิภักดิ์ต่ออำนาจชั่วร้ายที่อยู่ภายนอก และอยู่ภายในตนเอง
การอุทิศตนเองในเส้นทางการเป็นวีรบุรุษ วีรสตรี เรียกร้องคุณธรรมภายในตัวเราให้ตื่นและทำงาน ดังเช่น ความกล้าหาญ ความศรัทธา การทุ่มเทเสียสละ ซึ่งหมายถึงการต้องฝ่าด่านสำคัญ คือ ความกลัว ความลังเลสงสัย และที่สำคัญคือ ความไม่รู้ ความโง่เขลา สิ่งที่น่าสนใจคือ ทั้งอุปสรรคและคุณธรรมที่อยู่ภายในตัวเราต่างเป็นเสมือนสองด้านในเหรียญเดียวกัน ความกลัวกับความกล้าหาญ ความศรัทธากับความลังเลสงสัย ความหลงกับความตื่นรู้
ในแต่ละขั้นตอนของชีวิตจึงประกอบด้วยเรื่องราวย่อยๆ และเรื่องราวย่อยๆ เหล่านี้สามารถเป็นเหตุการณ์เล็กๆ ที่เกิดขึ้นประจำวัน เรื่องราวเหล่านี้อาจมีความสำคัญอย่างมากในฐานะจุดเปลี่ยน หรืออาจเป็นรากฐานสำคัญของเรื่องราวอันยิ่งใหญ่ที่เกิดขึ้นตามมา การดำเนินชีวิตในแต่ละวันของเราจึงมีความสำคัญอย่างมาก ในฐานะส่วนหนึ่งของเรื่องราวชีวิตทั้งหมด
ท้ายที่สุด เราทุกคนจึงต่างต้องตรวจสอบตนเองในแต่ละวันว่า วันนี้เรากำลังทำอะไรอยู่ เพื่ออะไรและอย่างไร สอดคล้องสัมพันธ์กับเส้นทางชีวิตวีรบุรุษ วีรสตรี ในแบบของเราหรือไม่ อย่างไร