บางฉากจากบางขวาง

วีระศักดิ์ จันทร์ส่งแสง 25 มีนาคม 2012

ปี ๒๕๕๔ ที่ผ่านมา เครือข่ายพุทธิกา ร่วมกับโครงการกำลังใจในพระดำริพระเจ้าหลานเธอพระองค์เจ้าพัชรกิติยาภา  ได้ไปเปิดห้องเรียนการเขียนที่เรือนจำกลางบางขวาง ในชื่อโครงการเรื่องเล่าจากแดนประหาร  ด้วยความเชื่อและความหวังที่จะใช้การเขียนเป็นเครื่องมือในการฟื้นฟูเยียวยาจิตใจที่ติดค้างอยู่กับอดีตที่ผิดพลาด อีกทั้งสิ่งที่เขาถ่ายทอดผ่านตัวหนังสือออกมายังเป็นตัวอย่างจริงที่จะเป็นบทเรียนให้กับคนร่วมสังคมได้ตระหนักและเรียนรู้เพื่อไม่ต้องตกเป็นผู้ผิดพลาดเองด้วย

เปิดห้องเรียนกันที่แดนการศึกษาของเรือนจำกลางบางขวาง สัปดาห์ละวันเป็นเวลา ๔ เดือน  และอีก ๔ เดือนต่อมา เป็นกิจกรรมต่อเนื่องภายใต้ชื่อโครงการจิตอาสาจากบางขวาง เปิดโอกาสให้พวกเขาเข้าเป็นอาสาสมัครถักหมวก ผ้าพันคอ ส่งไปถวายพระสงฆ์ และผู้ป่วยเด็กตามโรงพยาบาล  เอาหนังสือมาเขียนเป็นอักษรเบรลล์ ส่งให้คนตาบอดอ่าน  ให้คนที่ทำได้เห็นคุณค่าในตัวเองอีกครั้งว่า แม้ถูกจองจำอยู่ในแดนพันธนาการที่แทบไม่ได้เห็นเดือนเห็นตะวัน ก็ยังทำสิ่งเป็นประโยชน์ให้กับคนอื่นได้  และสิ่งนี้ยังอาจช่วยถ่ายถอนความรู้สึกผิดจากสิ่งที่เคยกระทำมาและยังติดค้าง ออกไปจากใจเขาได้บ้าง

สำหรับโครงการเรื่องเล่าจากแดนประหาร ครั้งที่ ๑ นั้น กล่าวกันตามความจริงก็ต้องนับว่าประสบความสำเร็จล้นหลาม  อย่างน้อยที่สุดก็ในหมู่ผู้เข้าร่วมอบรม ๓๐ คน ที่เป็นตัวแทนจากแต่ละแดนในจำนวนผู้ต้องขัง ๔,๐๐๐ กว่าคนของเรือนจำกลางบางขวาง

นอกจากเทคนิคความรู้ใหม่ๆ ในการเล่าเรื่องด้วยตัวหนังสือ ที่เป็นเป้าหมายหลักของโครงการซึ่งทุกคนจะรับอย่างเต็มที่และเท่าเทียมกัน  บางคนยังสารภาพอีกว่านับแต่มาเข้าร่วมห้องเรียนการเขียน เขาไม่ต้องพึ่งยาผีบ้า (ยาระงับประสาทสำหรับผู้ป่วยจิตเภท) ที่กินมาโดยตลอดอีกต่อไปแล้ว

แดนประหารเป็นแดนที่มีการควบคุมสูงตามโทษทัณฑ์ที่ถือว่าเป็นขั้นสูงสุด  เวลาส่วนใหญ่ในแต่ละวันของผู้ต้องขัง อยู่ภายในเรือนนอนรวมขนาดใหญ่ความจุหลายสิบคนหรืออาจเป็นร้อยคน  ประตูจะเปิดออกหลัง ๘ โมงเช้า และต้องกลับเข้าไปก่อน ๓ โมงเย็นเสมอ  นับแต่เข้ามาอยู่ในนี้พวกเขาจึงไม่เคยได้เห็นเดือนเห็นตะวัน (ขึ้นและตก) จริงดังคำที่กล่าวขานกัน

หนึ่งวันในแต่ละสัปดาห์ที่จะได้มาเข้าห้องเรียนจึงเป็นช่วงเวลาที่รอคอย  เป็นห้องเรียนที่ไม่มีใครโดดเรียนและไม่มีคนหลับในห้องเรียน  ยังไม่นับถึงว่าวิทยากรพิเศษที่สละเวลามาให้ความรู้ความคิดใหม่ๆ แก่พวกเขาในแต่ละสัปดาห์ ล้วนแต่เป็นผู้หลักผู้ใหญ่และบุคคลสำคัญเป็นที่รู้จักในวงกว้าง  ทั้งพระสงฆ์  นักคิดนักปฏิบัติที่เน้นมิติด้านจิตใจ  กวีระดับชาติ  ศิลปินแห่งชาติด้านการเขียน ฯลฯ ซึ่งในบางคราวก็มีการถ่ายทอดสดจากห้องเรียนไปยังทุกแดนในเรือนจำด้วย

และโดยที่เป้าหมายหลักของโครงการนี้อยู่ที่การเขียน “เรื่องจริง” คณะวิทยากรที่สอนประจำจึงเป็นกลุ่มนักเขียนสารคดี

ทักษะความรู้ที่ได้เรียนรู้คงติดอยู่ในตัวเขา  ส่วนสิ่งที่เขาได้ถ่ายทอดออกมานั้น ก็สร้างความสะเทือนไม่น้อย ทั้งโดยตัวบทที่ปรากฏอยู่ในหน้าหนังสือ และต่อชีวิตเขากับคนแวดล้อม

นักเขียนบางขวางคนหนึ่งเขียนเล่าว่า ตอนที่ยังอยู่ข้างนอกเขามุ่งแต่กับเรื่องงานไม่ค่อยได้กลับไปเยี่ยมไปใช้เวลากับพ่อที่เริ่มเข้าสู่วัยชรา  จนเมื่อเข้ามาอยู่ที่บางขวางต้องโทษหลายสิบปี  พ่อก็ยังฝากพี่สาวมาบอกกับเขาว่า พ่อออกกำลังกายทุกวัน เพื่อรักษาสุขภาพเอาไว้รอให้เขากลับออกไปหา  รู้อย่างนั้นเขาเองจึงออกวิ่งด้วยทุกเช้า พร้อมๆ กับที่พ่อวิ่งอยู่ข้างนอก  ในความรู้สึกเสมือนว่าเขากับพ่อกำลังออกกำลังกายอยู่ด้วยกัน-โดยไม่ต้องเห็นกัน แต่รู้อยู่ภายในใจว่ากำลังทำสิ่งเดียวกันอยู่

ที่แดนประหาร ประตูจะเปิดออกหลัง ๘ โมงเช้า และต้องกลับเข้าไปก่อน ๓ โมงเย็นเสมอ พวกเขาจึงไม่เคยได้เห็นเดือนเห็นตะวัน (ขึ้นและตก) จริงดังคำที่กล่าวขานกัน

วันแรกที่หนังสือ อิสรภาพบนเส้นบรรทัด ๑๓ นักโทษประหาร เสร็จจากโรงพิมพ์เดินทางมาถึงแผง  ลูกค้ารายแรกที่มาถามหาหนังสือเล่มนี้จากร้านหนังสือของสำนักพิมพ์สารคดี  เป็นสาววัยรุ่นอายุไม่ถึง ๒๐  เธอบอกว่าเพื่อนที่ชลบุรีขอให้ช่วยมาซื้อ เพราะมีเรื่องที่พ่อเขาเขียนอยู่ในนั้นด้วย

ผู้เขียนอีกคนเล่าว่า เขาต้องมาอยู่บางขวางตั้งแต่ลูกสาวเพิ่งได้ ๔ ขวบ เขาติดคุกมา ๑๒ ปีแล้ว ลูกโตอยู่กับแม่ที่ต่างจังหวัด  ไม่เคยรู้จักไม่เคยเห็นหน้าพ่อ  เขาให้ญาติๆ บอกกับลูกว่าพ่อไปทำงานอยู่ต่างประเทศ  ญาติเคยส่งรูปลูกสาวมาให้ดู  เขาได้เห็นหน้าตาลูก แต่บุคลิกท่าทางการเดินของเธอจะเป็นอย่างไรเขาไม่เคยรู้เลย

จนเมื่อเขียนหนังสือได้ตีพิมพ์ เขาก็อยากจะอวดลูกบ้าง

เขาใช้โทรศัพท์สาธารณะที่ทางเรือนจำอนุญาตให้ได้สัปดาห์ละ ๑๐ นาที โทรบอกลูกสาวให้ไปหางานเขียนของพ่อมาอ่าน

“เรื่องอะไร”  ลูกสาวถามชื่อเล่ม

เขาบอกชื่อหนังสือ “อิสรภาพบนเส้นบรรทัด  ๑๓ นักโทษประหาร

“ทำไมหนังสือพ่อตั้งชื่ออย่างนั้น?”  ลูกสาวงง

เขาเพิ่งเอะใจขึ้นมาในตอนนั้นเองว่าอาจมีความผิดพลาดบางอย่างเกิดขึ้นแล้ว  แต่ก็ตัดสินใจบอกความจริงกับลูกไป  “พ่อเป็นหนึ่งใน ๑๓ คนนั้น”

แล้วจากนั้นต่างฝ่ายต่างก็เงียบไปเป็นเวลานาน  แต่เขาได้ยินเสียงสะอื้นมาจากปลายสายอีกด้าน

“เสียใจไหม โกรธพ่อไหม ที่เป็นอย่างนี้”  เขาถามลูกสาวเมื่อจะหมดเวลาการใช้โทรศัพท์  ลูกสาวตอบว่า ไม่  และจะมาหาพ่อที่บางขวางในงานวันพบญาติประจำปีครั้งหน้า

มีเรื่องราวมากมายอยู่ในหนังสือเล่มกะทัดรัดหนาราว ๒๐๐ หน้า ทั้งเรื่องราวอันเข้มข้นโชกโชนที่ผ่านมาของเขา และโลกหลังกำแพงที่เขาได้เข้ามาพบและจำต้องอยู่  เป็นภาพและความเป็นอยู่ที่ถูกเล่าออกมาตามความเป็นจริง  โดยผู้ที่สัมผัสอยู่ด้วยตัวเองโดยตรง  เมื่อตีพิมพ์ออกมาจึงได้รับความสนใจจากคนผู้อย่างกว้างขวาง  เป็นหนังสือขายดีที่สุดของสำนักพิมพ์สารคดีตั้งแต่ต้นปีมาจนบัดนี้

อ่านหนังสือเล่มนี้แล้วนอกจากจะได้เห็นบทเรียนชีวิตที่ผิดพลาดจากผู้เป็นเจ้าของเรื่อง (ผู้เขียน) โดยตรง  ยังจะได้เห็นอีกว่า แม้ในยามที่ชีวิตใครแต่ละคนตกอยู่ท่ามกลางความมืดมนอับจนหนทางอย่างถึงที่สุด  แต่เขาก็ยังเรียนรู้และพบสิ่งที่ดีๆ ได้  หากได้รับโอกาสให้กลับใจ  และตัวเขาเองไม่ยอมสิ้นหวังทอดอาลัยในชีวิต

วีระศักดิ์ จันทร์ส่งแสง

ผู้เขียน: วีระศักดิ์ จันทร์ส่งแสง

เกิดในครอบครัวชาวสวนยางจังหวัดกระบี่ ทำงานเขียนสารคดีมา ๒๐ กว่าปี มีผลงานกว่า ๓๐ เล่ม เคยได้รับรางวัลชนะเลิศ "ลูกโลกสีเขียว" (ปี ๒๕๕๑) รางวัลชนะเลิศ "เซเว่นบุ๊ค อวอร์ด" (ปี ๒๕๔๙ และ ๒๕๕๔) ปัจจุบันเป็นผู้ช่วยบรรณาธิการนิตยสาร "สารคดี" โดยยังคงเขียนสารคดีอยู่เป็นประจำ