ฉากหนึ่งในละครเรื่อง “โหมโรง” ที่หลายคนสนใจ คือ ฉากประชันการตีระนาดระหว่างขุนอินทร์กับนายศร ขุนอินทร์เป็นผู้เชี่ยวชาญ มีชื่อเสียงและมีฝีมือระดับครูที่หลายคนหวาดหวั่น ขณะที่นายศรเป็นเพียงเด็กเมื่อวานซืน แต่ด้วยฝีไม้ลายมือ รวมกับความคิดนอกกรอบบางอย่างก็ทำให้ผู้อุปถัมภ์เชื่อมั่นนายศรที่จะส่งเข้าประกวดแข่งขันกับขุนอินทร์
ก่อนหน้าการแข่งขัน นายศรทุกข์ทรมานกับความหวาดวิตก ความกลัว ความกังวลต่อความพ่ายแพ้ จนเลือกที่จะหลบหนี ไม่เข้าแข่งขัน กระทั่งในที่สุดด้วยการสนับสนุนของหลายคน และการเป็นสาเหตุให้พ่อต้องล้มป่วย ด้วยสถานการณ์ที่กดดัน นายศรรักพ่อเกินกว่าจะทำให้พ่อผิดหวัง จึงยอมตัดสินใจเข้าแข่งขัน แม้ว่าจะไม่เห็นชัยชนะ แต่ด้วยคำปลอบประโลมและการให้กำลังใจว่า “อย่าคิดเรื่องแพ้ ชนะ ทำสุดฝึมือ” แล้วการล้มยักษ์ก็เกิดขึ้น นายศรสามารถเอาชนะขุนอินทร์ได้ ฉากการดวลประชันจึงเป็นฉากสนุกสนาน สร้างความตื่นเต้นเร้าใจ และสมใจที่นายศรในฐานะพระเอก ผู้มีเค้าของความเป็นผู้แพ้สามารถเอาชนะขุนอินทร์ที่เป็นตัวแทนของยอดฝีมือ ตัวแทนของฝ่ายได้เปรียบ และการเอาชนะนี้ก็เป็นชัยชนะด้วยฝึมือ ขุนอินทร์พ่ายแพ้กับเด็กเมื่อวานซืน
อย่างไรก็ดี ผ่านพ้นฉากนี้ไป ฉากต่อมาคือฉากที่มีคุณค่าและน่าสนใจมาก คือ ฉากที่นายศรถือดอกไม้เข้าไปกราบขอขมาขุนอินทร์ เพื่อขออภัยในโทษที่ได้ล่วงเกินทำให้ขุนอินทร์ต้องขุ่นข้องใจ ซึ่งขุนอินทร์ก็ได้แสดงน้ำใจตอบรับ ยินดีในชัยชนะของนายศร พร้อมให้อภัยไม่ถือโทษ อีกทั้งขุนอินทร์ยังแสดงน้ำใจของผู้ใหญ่ที่น่านับถือโดยการมอบไม้ตีระนาดประจำตัวให้เป็นของรับไหว้กับนายศร
ชัยชนะของนายศรที่มีต่อขุนอินทร์ไม่ได้ทำให้นายศรหลงลืมตน ไม่ได้ทำให้นายศรกำเริบเสิบสานในชัยชนะ นายศรยังคงมีความอ่อนน้อมถ่อมตนต่อขุนอินทร์ในฐานะผู้ใหญ่ ขณะเดียวกันความพ่ายแพ้ของขุนอินทร์ก็ไม่ได้ทำให้ขุนอินทร์ยึดถือมาเป็นอารมณ์หรือยึดถือเป็นศักดิ์ศรีหน้าตา ขุนอินทร์ยังสามารถดำรงตนเป็นผู้ใหญ่ที่น่านับถือ มีน้ำใจต่อผู้น้อยโดยไม่ได้ถือความพ่ายแพ้มาบดบังความมีน้ำใจของตน ขุนอินทร์มีความเข้มแข็งในตนเอง ยอมรับความพ่ายแพ้โดยไม่ได้ยึดถือคุมแค้น อีกทั้งยังมีความเมตตาต่อผู้น้อย ทั้งขุนอินทร์และนายศรจึงต่างเป็นผู้ชนะทั้งคู่
คุณธรรมของนายศรและขุนอินทร์จึงเป็นความงดงาม ขณะเดียวกันความเคารพในความอาวุโสก็ทำให้นายศรเป็นที่รักแม้แต่กับขุนอินทร์ ซึ่งในเวทีการแข่งขันก็คือคู่แข่งหรือศัตรู ความเมตตา ความเข้มแข็งของขุนอินทร์ก็ทำให้ขุนอินทร์เป็นผู้ใหญ่ที่สมควรแก่การเคารพนับถือ
อะไรและอย่างไรที่หล่อหลอมให้ตัวละครทั้งสองมีความงดงามในความประพฤติเช่นนี้ คงเป็นคำถามที่น่าศึกษาวิจัย โดยเฉพาะในแวดวงการศึกษา คำอธิบายที่ผู้เขียนมีคือ พฤติกรรมการเรียนรู้ของคนเราที่สำคัญคือ การสังเกต และกระบวนการภายใน เด็กทารกแรกเริ่มเรียนรู้ผ่านการเลียนแบบ จากนั้นการทดลองทำ การคิดวิเคราะห์ก็ค่อยๆ ตามมาเมื่อเติบโตขึ้น ตัวอย่างหรือแบบอย่างจึงเป็นแนวทางที่ก่อให้เกิดการประพฤติตาม พื้นฐานครอบครัวและการอบรมบ่มนิสัยทำให้นายศรมีความประพฤติเช่นนี้ ขุนอินทร์ก็คงไม่ต่างกัน แบบอย่างในครอบครัว แบบอย่างของคนรอบข้างจึงเป็นปัจจัยสำคัญที่ให้การศึกษากับเด็กและเยาวชน
เหตุปัจจัยที่สำคัญอีกประการ คือ กระบวนการภายใน อันเป็นคุณสมบัติภายใน เริ่มตั้งแต่การมีความใส่ใจ การคิดนึกทบทวน การฝึกฝน ซึ่งมีความตั้งใจและความสนใจเป็นแรงขับเคลื่อน รวมถึงความพร้อมที่จะเรียนรู้ และทำตามคำสั่งสอน บอกกล่าว กระบวนการภายในจึงเป็นอีกองค์ประกอบที่สำคัญของต้นทุนของแต่ละคน
เราทุกคนต่างเติบโต ทั้งการเติบโตทางร่างกายและจิตใจ เราต้องการอาหารบำรุง การออกกำลังกาย และกระบวนการเผาผลาญอาหารเพื่อเป็นพลังงาน เราต้องอาศัยการเอื้อเฟื้อจากธรรมชาติ จากผู้คนรอบข้าง และเราก็ต้องอาศัยกระบวนการชีวิตในตนเอง สำหรับมิติทางกาย เราเห็นได้ชัดจากร่างกายที่เติบโตและสูงวัยขึ้นจากเด็กสู่ผู้ใหญ่ จากนั้นก็ร่วงโรยสู่วัยชรา แต่มิติทางจิตใจ และรวมถึงจิตวิญญาณมีแต่การเติบโตขึ้นเรื่อยๆ วุฒิภาวะ คุณธรรมภายในมีแต่การเติบโต งดงามขึ้นเรื่อยๆ
นักการศึกษา โฮเวิร์ด การ์ดเนอร์ (Howard Gardner) ได้ให้แนวคิดการเข้าใจภาวะภายในถึงภาวะจิตใจ ๕ ลักษณะ คือ จิตเชี่ยวชาญ จิตรู้สังเคราะห์ และจิตสร้างสรรค์ ในจิตใจ ๓ ลักษณะนี้เป็นจิตใจในระดับการคิดนึก นายศรสามารถเอาชนะขุนอินทร์เพราะการฝึกฝนที่หนักหน่วง การมีความคิดสร้างสรรค์ในการตีระนาดที่สร้างความก้าวหน้าและพัฒนาวงการดนตรีไทย รวมถึงการสามารถที่จะรวมรวมข้อเด่น พัฒนาข้อด้อยเพื่อสังเคราะห์การตีระนาดเป็นของตนเองได้ กระนั้นภาวะจิตใจอีก ๒ ส่วนที่สำคัญมากด้วย คือ จิตคุณธรรม และจิตรู้จริยธรรม จิตทั้งสองนี้คือภาวะจิตที่มีคุณธรรม และสำนึกของคุณค่าความสัมพันธ์ระหว่างตนเองกับผู้อื่นอย่างสอดคล้องกับคุณธรรมภายใน ดังที่นายศรมีความเคารพในผู้อาวุโส รู้กาลเทศะ ความเหมาะความควร หรือขุนอินทร์ที่มีความเมตตากับผู้เยาว์ โดยไม่ถือโทษหรือยึดถือแพ้ ชนะ มาเป็นเครื่องบดบังวุฒิภาวะในตน
ภาวะจิตใจทั้ง ๕ ลักษณะสะท้อนคุณภาพความเป็นคนเก่งและคนดี ที่นักการศึกษาคาดหวังในระบบการศึกษาว่าจะสามารถผลิตเยาวชนที่มีคุณสมบัติดังกล่าว ไม่ต่างจากวงการเมืองที่คาดหวังคุณภาพนักการเมือง หรือข้าราชการ แต่ความคาดหวังนี้เป็นจริงมากน้อยก็เป็นอีกประเด็นที่ต้องศึกษาต่อไป สิ่งที่น่าสนใจคือ คุณภาพนักการเมือง ข้าราชการ นักเรียน นักศึกษา รวมถึงเยาวชนและผู้ใหญ่มีคุณภาพเช่นใด ก็หมายถึงภาพสะท้อนภาวะคุณภาพของจิตใจของสังคมโดยรวมที่เป็นอยู่ ภาวะวงจรอุบาทว์จึงเกิดขึ้นจากการมีแบบอย่างและทำตาม การหักล้างวงจรอุบาทว์จึงหมายถึงการฝืนค่านิยมผิดๆ ทัศนคติผิดๆ ซึ่งสิ่งที่น่ายินดีคือ ในทุกครั้งที่วิกฤติการณ์เกิดขึ้นก็เป็นโอกาสอันดีที่คุณธรรมมีโอกาสได้แสดงตัว ดังเช่น กระบวนการและผู้คนที่ร่วมแรงแรงใจทำงานจิตอาสา การช่วยเหลือผู้อื่น
จุดเริ่มต้นที่เราทุกคนเริ่มได้ คือ การรู้จักเลือกและสรรหาสื่อที่ดีมีคุณภาพเพื่อการเรียนรู้ โดยอาจรวมถึงการเสพเพื่อความบันเทิงก็ได้ การเลือกสรรที่จะคบหากัลยาณมิตร การคิดนึกทบทวนเรียนรู้ชีวิต
ชีวิตเรางดงามและงอกงามได้ แม้ว่าเราจะสูงวัยเพียงใดก็ตาม และในเส้นทางของการสูงวัย เราก็เป็นแบบอย่างงดงามของเยาวชนได้ตลอดเวลา