๖ ข้อธรรม แด่เธอผู้เยาว์

วีระศักดิ์ จันทร์ส่งแสง 3 มิถุนายน 2012

คงด้วยสถานะของการเป็นนักเขียน  

ในช่วงราว ๕ ปีหลังมานี้จึงมักได้รับชวนไปพูดคุย แนะนำ บอกเล่าประสบการณ์เรื่องการเขียนหนังสืออยู่เป็นครั้งคราว ทั้งในสถานศึกษา องค์กร หน่วยงาน ชุมชน จนถึงในเรือนจำ สถานพินิจ ฯลฯ

ซึ่งกับกลุ่มที่มีความสนใจในเรื่องการอ่านการเขียนเป็นทุนในตัวเองอยู่บ้างแล้ว ก็ไม่ถือเป็นเรื่องยากเย็น และนับได้ว่าเป็นประโยชน์ในแง่ของการแลกเปลี่ยนความคิดความรู้ มุมมอง ประสบการณ์  ที่จะเป็นการจุดประกายส่งเสริมกำลังใจในเรื่องการขีดเขียนให้แก่กัน

ที่ยากคือกลุ่มที่จำใจมาตามหน้าที่ ถูกกวาดเกณฑ์ หรือเป็นชั่วโมงเรียนที่ต้องต้อนกันมาแบบยกชั้น

จำได้ครั้งหนึ่งไปบรรยายเรื่องการเขียนหนังสือในโรงเรียนแถววัดระฆัง ให้กับนักเรียนชั้น ม.ต้น

ถึงเวลาน้องๆ ก็มานั่งกันเต็มห้องประชุมอย่างน่าชื่นใจสำหรับคนพูดบนเวที  แต่แทบจะพร้อมกับที่การบรรยายเริ่มต้นขึ้น เสียงจ้อกแจ้กจอแจของเด็กๆ นักเรียนที่จับกลุ่มคุยกันเองก็ดังระงมขึ้นทันที และดูท่าว่าจะดังขึ้นเรื่อยๆ

จะหยิบยกเรื่องแนวไหน ตื่นเต้น เร้าใจ หวาดเสียว ขำ เศร้า  ในน้ำเสียงหนัก-เบา สูง-ต่ำอย่างไร  เสียงคุยของน้องๆ วัยใสก็ไม่ซาลงไปเลย

คงไม่ใช่เรื่องผิดแปลกอะไรของเด็กในช่วงสดใสวัยเยาว์ ที่จะรักการคุยเล่นกันมากกว่าจะอดทนฟังในเรื่องที่ไม่อยู่ในความสนใจของพวกเขา

แต่มันเป็นมลภาวะที่สร้างความหงุดหงิดรำคาญใจให้คนที่นั่งพูดอยู่ต่อหน้าเขาได้ไม่น้อย

“อย่างนี้ค่ะ”  เด็กๆ ตอบลั่นหอประชุม

คำตอบที่ไม่คาดคิดทำเอาผู้บรรยายยิ้มออกมาได้อย่างนึกเอ็นดูเขา ก็ขนาดกับครูของพวกเขาเอง ก็ยังเป็นกันอย่างนี้…

กับยังใจชื้นขึ้นมาบ้างว่า แม้เขาจะคุยกันระงม  แต่หูเขายังฟังอยู่ ถึงตอบคำถามกันได้อย่างพร้อมเพรียง

เห็นอย่างนั้นแล้วก็คิดว่าอย่างไรเสีย ได้มาคุยเรื่องการเขียนการอ่านกันแล้ว ก็ควรให้เขาได้ข้อคิดเกี่ยวกับเรื่องหนังสือติดตัวกลับไปบ้าง

นึกถึงกลอนบทหนึ่งของ แหลม ตะลุมพุก ที่ว่า

บ้านใดที่มีหนังสือ

บ้านนั้นก็คือบ้านป่า

ถ้าแม้นหนังสือนานา

สอนให้ประชามืดมน

ที่มีความหมายสะกิดเตือนใจในทำนองว่า หนังสือหนังหาที่หาสาระไม่ได้ มีไว้ก็รกบ้านรกช่องเปลืองเปล่า

ก็ชวนเด็กท่องตามเหมือนท่องอาขยาน จนพร้อมเพรียงเสียงดังพอฟังได้ ก็ชวนเขาเล่นสนุก ให้สมัครออกมาท่องหน้าชั้นทีละคน ใครจำได้ถูกหมดไม่ตกหล่นผิดเพี้ยน ก็มีหนังสือที่เหมาะกับวัยของพวกเขาให้เป็นรางวัล  คราวนี้เด็กๆ แย่งกันต่อคิวเข้าแข่งขัน

เป็นเรื่องผ่านมานานหลายปี แต่มานึกขึ้นได้อีกครั้ง

เมื่อได้ฟังธรรมบรรยายของท่านพุทธทาสภิกขุ เรื่อง “การดำเนินชีวิตของคนปฐมวัย”  ที่ท่านแสดงต่อกลุ่มนักเรียนและได้มีการบันทึกเสียงเอาไว้

น้ำเสียงเนิบนาบ มีกังวานเหมือนกลั้วยิ้มหรือเจือเสียงหัวเราะอยู่ในถ้อยคำนั้น ฟังดูเยือกเย็นและเปี่ยมความเมตตาจากภายในที่คนฟังรู้สึกได้

แต่ก็อย่างที่รู้ พระเทศน์กับเด็กหลับเหมือนเป็นเรื่องคู่กัน กระทั่งกำเนิดนิทานเรื่องที่ว่า ยายพาหลานไปวัดด้วยกันเสมอ และหลานก็เป็นเด็กดี ว่านอนสอนง่ายมาโดยตลอด ไม่มีที่จะทำให้พ่อแม่เดือดร้อนรำคาญใจ  จนวันหนึ่งเด็กก็เปลี่ยนไปเป็นคนละคน กลายเป็นคนนอนตื่นสาย เกียจคร้าน หนักเข้าจนพ่อแม่ต้องว่ากล่าว  แต่เด็กบอกหน้าตาเฉยว่า ที่ทำอยู่นี้เพราะเชื่อตามคำพระสอน

สอบถามกันก็ได้ความว่า คราวหนึ่งที่หลานไปฟังเทศน์ที่วัดกับยาย ก็ตามประสาเด็กเขาฟังไปบ้างหลับไปบ้าง  พอดีตื่นขึ้นมาได้ยินช่วงที่พระบอกว่า “…การนอนตื่นสายก็ดี  ความเกียจคร้านก็ดี…”  แล้วเขาก็หลับต่อ ก่อนจะได้ฟังข้อสรุปคำสอนว่า  “…ล้วนแต่เป็นสิ่งที่ไม่ดี ไม่ควรประพฤติ”

เจ้าหนูจับความเอาเท่าที่ได้ยิน ไปกระเดียดไว้และประพฤติไปตามนั้น จนพ่อแม่ต้องสอนใหม่

แต่ในการแสดงธรรมเทศนาของท่านพุทธทาสภิกขุ  เด็กๆ ดูจะไม่มีจังหวะได้ง่วงเหงาหาวนอน เพราะท่านดึงเด็กเข้ามามีส่วนร่วมอยู่ตลอดการบรรยายร่วมชั่วโมงนั้น

เริ่มจากการถามอย่างง่ายๆ ว่า “มีใครเกิดจากโพรงไม้? ใครเกิดเองได้?”  เพื่อจะย้ำเตือนกับเด็กๆ ว่า เราล้วนมีผู้ให้กำเนิด ที่จะต้องทดแทนคุณ

ระหว่างเทศน์ท่านมักแทรกคำถามให้เด็กตอบ  บางช่วงท่านชวนให้เด็กยกมือแสดงความเห็นร่วม-เห็นต่าง

บางทีก็พาเด็กกล่าวคำปฏิญาณตน ด้วยคติพจน์ที่คนวัยเยาว์พึงถือปฏิบัติ

และท้ายสุด ท่านให้ธรรม ๖ ข้อ ที่จะนับว่าเป็นข้อคิดคำสอนอันเป็นมงคลสูงสุดแห่งชีวิตของคนช่วงวัยเยาว์ก็ว่าได้

ทั้งยังเหมาะยิ่งที่ผู้ใหญ่จะใช้อบรมสั่งสอนและเป็นคำพรให้ลูกหลานได้อย่างไม่มีวันล้าสมัย

ธรรม ๖ ข้อนั้นมีว่า

จงเป็นลูกที่ดีของพ่อแม่

เป็นศิษย์ที่ดีของครูบาอาจารย์

เป็นเพื่อนที่ดีของเพื่อน

เป็นพลเมืองที่ดีของประเทศชาติ

เป็นสาวกที่ดีของพระศาสนา

และเป็นมนุษย์ที่มีความเต็มเปี่ยมแห่งความเป็นมนุษย์

วีระศักดิ์ จันทร์ส่งแสง

ผู้เขียน: วีระศักดิ์ จันทร์ส่งแสง

เกิดในครอบครัวชาวสวนยางจังหวัดกระบี่ ทำงานเขียนสารคดีมา ๒๐ กว่าปี มีผลงานกว่า ๓๐ เล่ม เคยได้รับรางวัลชนะเลิศ "ลูกโลกสีเขียว" (ปี ๒๕๕๑) รางวัลชนะเลิศ "เซเว่นบุ๊ค อวอร์ด" (ปี ๒๕๔๙ และ ๒๕๕๔) ปัจจุบันเป็นผู้ช่วยบรรณาธิการนิตยสาร "สารคดี" โดยยังคงเขียนสารคดีอยู่เป็นประจำ