ความกล้าหาญบนเส้นทางแห่งการเรียนรู้

ปรีดา เรืองวิชาธร 23 พฤษภาคม 2010

ในกระบวนการเรียนรู้ชนิดที่สามารถเปลี่ยนแปลงคนได้อย่างลึกซึ้งนั้น  ความกล้าหาญถือเป็นหนึ่งในปัจจัยสำคัญที่จะนำไปสู่การเรียนรู้ที่ลุ่มลึก เพราะเท่าที่สังเกตและรับฟังเรื่องเล่าจากประสบการณ์ของการเติบโตภายในที่สำคัญๆ ของหลายคน ล้วนมีกลิ่นไอของความเด็ดเดี่ยวกล้าหาญผสมอยู่ในการเรียนรู้ขณะนั้นๆ ที่กล่าวมานี้ก็มิได้หมายความว่า จะต้องพยายามสลัดทิ้งความกลัวภายในให้หมดก่อนทุกครั้งที่จะเรียนรู้สิ่งใด

สำหรับเราในฐานะผู้เรียน จะมีบางขณะที่กระบวนการเรียนรู้ดำเนินมาถึงบทเรียนสำคัญคือ ภาวะต้องเผชิญหน้ากับตัวตนภายใน โดยเฉพาะครูหรือกระบวนกร (ผู้จัดกระบวนการเรียนรู้ที่เน้นการมีส่วนร่วม) บางท่านสามารถนำพวกเราเรียนรู้ไปสู่โลกภายใน ทำให้เราเห็นกิเลสวาสนาที่เราติดยึด เห็นการทำงานอย่างสลับซับซ้อนและรวดเร็วของจิตซึ่งเกิดขึ้นบ่อยครั้งจนเป็นร่องลึกของอารมณ์ แต่เราก็แทบไม่รู้สึกตัวและแสดงออกมาเป็นบุคลิกด้านร้ายประจำตัว  หลายคนขณะที่บทเรียนเกี่ยวกับตัวตนภายในกำลังดำเนินมาอยู่ตรงหน้านี้จะรู้สึกไม่คุ้นเคยที่ได้เห็นมัน บางคนไม่อยากเชื่อไม่อยากเห็นว่าตัวตนภายในที่เป็นจริงของเราเป็นอย่างนี้ (ทั้งๆ ที่เราก็มีเมล็ดพันธุ์ด้านดีอยู่ไม่น้อย) เพราะการรับรู้ตัวตนภายในอย่างซื่อตรงนี้มักทำให้เราเจ็บปวด ไปจนถึงกลัวและเกลียดตัวเองได้ง่าย โดยเฉพาะคนที่ติดดีหรือมีภาพลักษณ์ภายนอกดูดี

ดังนั้น หากเราจะเรียนรู้บทเรียนราคาแพงนี้เพื่อไปสู่การเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญของชีวิต จึงจำเป็นต้องกล้าหาญ กล้าที่จะเสี่ยงต่อความเจ็บปวดอันเนื่องจากตัวตนที่เรายึดมั่นมานานแสนนานกำลังสลายพังทลายลง กล้าที่จะเผชิญความจริงหลากหลายด้านที่มีในตัว เพราะในชีวิตประจำวันเรามักจะเลือกมองและเลือกรับรู้บางด้านที่เราอยากเห็นอยากให้เป็น บางด้านที่ไม่อยากรับรู้ทั้งที่มันมีอยู่เราก็มักกลบเกลื่อนหรือฝังกลบมันลงไปในห้องมืดของจิตใจ นอกจากนี้เราอาจต้องกล้าที่จะยอมลดการปกป้องตัวตนด้วยกลวิธีสารพัดที่เราเคยใช้ ถ้าหากเพื่อนหรือคนคุ้นเคยรอบข้างเริ่มล่วงรู้และเริ่มเปลี่ยนแปลงความรู้สึกนึกคิดและท่าทีเป็นความสัมพันธ์ที่แย่ลง แม้ว่าพวกเขาเหล่านั้นจะมองเราอย่างตัดสินตายตัวก็ตาม

ความกล้าหาญที่พร้อมจะเผชิญหน้ากับตัวตนภายใน มักจะเป็นต้นธารของการมองเห็นและยอมรับตัวเองตามที่เราเป็น ความปลื้มปิติสุขอันเนื่องจากการเริ่มเห็นและยอมรับจะค่อยๆ เยียวยาความเจ็บปวดจากสภาวะที่ตัวตนเก่าของเราถูกฉีกขาดลง และความสุขน้อยๆ ที่กำลังก่อตัวนี้มักจะทำให้เกิดประกายแห่งความสร้างสรรค์ความสัมพันธ์ใหม่ระหว่างเรากับคนอื่น  สายสัมพันธ์ใหม่น่าจะมีความแน่นเหนียวมากกว่าที่จะเปราะบางเพราะเป็นการคบคุ้นกันด้วยจิตใจที่มีการปรุงแต่งบิดเบือนน้อยลงไปทุกที ความสัมพันธ์ใหม่จึงมีความตรงไปตรงมาแต่แฝงไว้ด้วยความอ่อนโยนและพร้อมที่จะเข้าใจ

ในอีกแง่หนึ่ง บางครั้งบางคราวผู้เรียนจำต้อง กล้าหาญที่จะยอมละทิ้งหรือวางความคิดความเชื่อบางอย่างที่เรายึดถือศรัทธามานาน กล้าหาญที่จะไม่พยายามปกป้องความเชื่อหรือทิฐิที่เรารักและแหนหวง ถ้าหากกระบวนการเรียนรู้นั้นมาถึงการปะทะสังสรรค์ทางความเชื่อความคิดจนเกิดมุมมองใหม่ที่น่าสนใจหรืออธิบายความจริงได้มากกว่า  พูดอย่างรวบรัดก็คือ กล้าที่จะปล่อยวางความติดยึดในความคิดความเชื่อ ไม่ว่าความคิดความเชื่อนั้นจะมาจากครูบาอาจารย์ที่เราเคารพศรัทธามาก จะมาจากกระแสของกลุ่ม ชุมชน หรือสังคมที่เราสังกัดอยู่ หรือแม้แต่จะเป็นความคิดความเชื่อที่เคยถูกพิสูจน์ว่าเป็นจริงจากบริบทของอดีตแล้วก็ตาม  ด้วยเหตุนี้เราจึงต้องกล้าหรือพร้อมที่จะเป็นแกะดำของกลุ่มกระแสความเชื่อเดิม หรือเป็นคนชายขอบของกลุ่มหรือสังคมที่เราอยู่ ซึ่งอาจจะทำให้เรารู้สึกโดดเดี่ยวบ้างในบางช่วงของชีวิต ความกล้าหาญในแง่นี้จึงเป็นปัจจัยสำคัญในการสลายอัตตาที่เรียกว่า ทิฏฐุปาทาน หรือความยึดมั่นถือมั่นในความเห็นนั่นเอง

ความกล้าหาญในแง่สุดท้ายที่จะกล่าวถึงนี้ก็คือ กล้าที่จะเผชิญหน้ากับผู้ที่คิดหรือเชื่อต่างไปจากเรา กล้าที่จะเรียนรู้ร่วมกับคนที่มีวิธีการเรียนรู้ต่างจากเรา รวมถึงคนที่ไม่ได้อยู่กลุ่มกระแสเดียวกับเรา เพราะคนเหล่านี้ล้วนทำให้เราต้องกลับมาใคร่ครวญภายใน ทำให้เราต้องถูกทดสอบหรือพิสูจน์ทั้งความเห็น ความใจกว้าง และการติดยึดตัวตนภายในของเรา  เพราะคนที่มีบางอย่างต่างไปจากเรามักจะตั้งคำถามท้าทายหรือถึงกับโจมตีความเห็นความเชื่อไปจนถึงโจมตีตัวตนของเรา จะด้วยหวังดีหรือหวังร้ายก็ตาม  ซึ่งด้านหนึ่งทำให้เราไม่หลงใหลติดยึดความเห็นความเชื่อไปได้โดยง่าย แต่กลับจะเพิ่มสำนึกในการทบทวนค้นคว้าเพื่อตรวจสอบชุดความเชื่อความเห็นของเราอยู่เสมอ  แต่หากเราเรียนรู้เฉพาะกับคนที่คิดคล้ายๆ กับเราอยู่เสมอๆ หรือพอใจเลือกเรียนรู้กับกลุ่มคนที่เป็นพรรคพวกเดียวกับเรา ก็มักจะทำให้เราหลงติดยึดความเห็นความเชื่อจนขาดการใคร่ครวญได้ง่าย ความกล้าหาญในแง่นี้จึงมาในรูปของการเชื้อเชิญ เปิดพื้นที่ มองคนที่ต่างจากเราเป็นผู้ชี้ขุมทรัพย์ทางสติปัญญา เพื่อพร้อมที่จะเรียนรู้อย่างสร้างสรรค์ท่ามกลางความแตกต่างหลากหลายได้

การรับรู้ตัวตนภายในอย่างซื่อตรงมักทำให้เราเจ็บปวด โดยเฉพาะคนที่ติดดีหรือมีภาพลักษณ์ภายนอกดูดี

ความกล้าหาญในกระบวนการเรียนรู้ยังมีอีกหลายแง่มุมที่ไม่ได้กล่าวในที่นี้  อย่างไรก็ตามความกล้าก็ไม่ได้เกิดขึ้นได้โดยง่าย ดังนั้นมันจึงควรเป็นบทฝึกประจำตัวของผู้ใฝ่เรียนรู้เพื่อเปลี่ยนแปลงภายในอย่างลึกซึ้ง ดังนั้นแต่ละขณะของชีวิตเราควรหมั่นมองเข้าไปข้างในจนสัมผัสรับรู้สภาวะของจิตที่กำลังเกิดขึ้นแต่ละขณะ มองเห็นการปรุงแต่งของจิตซึ่งเปลี่ยนรูปแปลงร่างไปแต่ละขณะว่าเป็นอย่างไร  การสัมผัสรับรู้ถึงความกล้าและความกลัวภายในบ่อยๆ ก็จะทำให้เราคุ้นเคยกับธรรมชาติของมัน ในด้านหนึ่งหากเราหมั่นสัมผัสรับรู้ถึงเมล็ดพันธ์แห่งความขลาดกลัว ก็จะเริ่มรู้ว่าอะไรที่เป็นเหตุแห่งความขลาดกลัว เราจะค่อยๆ รู้ชัดเจนว่าเหตุปัจจัยนั้นจะสลายและอ่อนกำลังลงได้อย่างไร ในทางตรงข้ามหากเราหมั่นสัมผัสรับรู้ถึงเมล็ดพันธุ์แห่งความกล้าหาญก็จะเริ่มรู้ว่าอะไรที่เป็นเหตุปัจจัยแห่งความกล้าและจะบ่มเพาะให้เกิดความเติบโตงอกงามได้อย่างไร

การสร้างบรรยากาศการเรียนรู้ที่คอยเกื้อกูลให้กำลังใจซึ่งกันละกันหรือรับฟังกันอย่างลึกซึ้ง ก็เป็นปัจจัยหนุนเสริมความกล้าหาญของเหล่าผู้เรียนได้ดีอีกทางหนึ่ง รวมถึงจัดกระบวนการที่เปิดพื้นที่ด้วยความใจกว้าง เป็นพื้นที่การเรียนรู้ที่แม้จะเสี่ยงแต่ก็ไม่อันตรายจนเกินไปย่อมช่วยให้ผู้เรียนเกิดความกล้าหาญได้ทีละเล็กทีละน้อย สองสามปัจจัยที่กล่าวมานี้คงพอจะทำให้รู้สึกมีความหวังในการบ่มเพาะความกล้าหาญได้ไม่มากก็น้อย


ภาพประกอบ

ปรีดา เรืองวิชาธร

ผู้เขียน: ปรีดา เรืองวิชาธร

สนใจและศึกษาเรื่องการเรียนรู้แนวจิตวิญญาณและกระบวนการเรียนรู้แบบมีส่วนร่วม โดยเป็นกระบวนกรให้กับเสมสิกขาลัยนับแต่ปี 2546 จนถึงปัจจุบัน