การเรียนรู้ที่ทรงพลังที่จะกล่าวถึงในที่นี้ จะหมายเน้นถึงการจัดกระบวนการเรียนรู้ที่มุ่งเน้นการเปลี่ยนแปลงภายในระดับลึกของผู้เรียน ทั้งด้านพฤติกรรม ความสัมพันธ์กับผู้อื่นในสังคม ด้านจิตใจและปัญญา ซึ่งเป้าหมายทั้ง ๔ ด้านล้วนเชื่อมโยงสนับสนุนกันอย่างแยกไม่ออก และมักจะเป็นเป้าหมายที่สถาบันการศึกษาหลักในสังคมเกือบทั้งหมดไม่ได้ให้ความสำคัญ เพราะมุ่งให้ความสำคัญเฉพาะการศึกษาเรียนรู้เพื่อประกอบวิชาชีพเท่านั้น
เพื่อให้เห็นภาพชัดเจนขึ้น ในที่นี้จะขอกล่าวถึงการจัดองค์ประกอบต่างๆ เพื่อการเรียนรู้ที่ลงลึกถึงด้านในของคน โดยจะขอเสนอไว้ในรูปของบทบาทหน้าที่ของกระบวนกร (ผู้จัดกระบวนการเรียนรู้ที่เน้นการมีส่วนร่วม) เพื่อจะได้นำไปใคร่ครวญพิจารณาเพื่อความเหมาะสมสอดคล้องตามบริบทของกระบวนกรแต่ละคนต่อไป
การจะทำบทเรียนให้ลงลึกถึงความจริงและการเปลี่ยนแปลงระดับจิตใจและปัญญาของคนนั้น กระบวนกรจำต้องเชื่อมโยงบทเรียนให้โยงใยสัมพันธ์ไปถึงความเป็นจริงด้านต่างๆ ของมนุษย์ ดังเช่น ความรู้ความจริงอันเกี่ยวกับการเกิดขึ้นและการเคลื่อนไหวเปลี่ยนแปลงความเชื่อหรือทัศนคติ ความคิดและวิธีคิดของมนุษย์ ความจริงที่เกี่ยวกับอารมณ์ความรู้สึกภายในทั้งฝ่ายบวกและลบ ร่องพฤติกรรมที่แสดงออกอย่างคุ้นเคย ความรู้ความจริงอันเกี่ยวกับความสามารถในการรู้เท่าทันสภาวะภายในตนจนเกิดปัญญาหยั่งรู้ความจริงของสรรพสิ่งตามที่มันเป็น ตลอดจนการผสมผสานเชื่อมโยงอย่างเป็นองค์รวมของความสามารถด้านต่างๆ ในตัวมนุษย์ เป็นต้น
เพราะการเรียนรู้ในกระแสหลักมักมุ่งเน้นให้บทเรียนครอบคลุมเฉพาะระดับของความรู้ ความเข้าใจ ความทรงจำในเรื่องที่เรียน ซึ่งมักแยกเรื่องที่เรียนออกจากความจริงด้านต่างๆ ของมนุษย์ที่มีมากกว่าความรู้ที่เกี่ยวกับเรื่องที่เรียน ยกตัวอย่างบทเรียนเกี่ยวกับการทำงานเป็นกลุ่มที่เข้มแข็ง (Teamwork) มักจะพูดถึงการเปลี่ยนมุมมองเพื่อนร่วมงานจากแง่ลบมาเป็นการมองในเชิงบวกหรือมองตามที่เป็นจริง ซึ่งถ้ากล่าวถึงเพียงแค่นี้ก็เชื่อได้ว่าผู้เรียนจะรู้ได้ไม่ยาก แต่ก็จะเป็นเพียงรู้ว่ามันดีเฉยๆ หรือรู้แล้วจะทำได้จริงมากน้อยเพียงใดในสถานการณ์จริง ดังนั้นกระบวนกรจึงอาจต้องทำบทเรียนให้ลงลึกถึงว่าในความเป็นจริงอะไรเป็นปัจจัยทำให้คนเรามักมองคนในแง่ลบ การเปลี่ยนแปลงการมองจากลบมาเป็นบวกหรือมองตามที่เป็นจริงจะเกิดขึ้นจากภายในได้จริงอย่างไร หรือจะหล่อเลี้ยงสภาวะการมองแบบนี้ได้อย่างไร มันสัมพันธ์อย่างไรกับร่องพฤติกรรมเดิมและความสัมพันธ์กับผู้อื่น จะปรับใช้ได้จริงในสถานการณ์ที่เป็นจริงในชีวิตประจำวันได้อย่างไร หรือกระบวนกรอาจต้องทำให้ผู้เรียนสัมผัสโดยตรงกับสภาวะที่เขากำลังมองเชิงบวก จนผู้เรียนเข้าถึงผลอันน่าทึ่งของการมองเชิงบวกหรือมองตามที่เป็นจริง เป็นต้น
กล่าวโดยสรุป กระบวนกรควรทำเนื้อหาของบทเรียนให้เชื่อมโยงเข้าใกล้ตัวผู้เรียนให้มากที่สุด โดยเฉพาะด้านในของมนุษย์ ทำบทเรียนให้สอดคล้องสัมพันธ์กับบริบทรอบตัวผู้เรียนที่เป็นสถานการณ์ในชีวิตจริง นอกจากนี้เนื้อหาของบทเรียนจะต้องเป็นปลายเปิด ไม่หยุดนิ่งตายตัว และต้องพร้อมที่จะถูกตรวจสอบถูกตั้งคำถามจากผู้เรียนได้เสมอ อีกทั้งควรเป็นบทเรียนที่เป็นปลายเปิดเพื่อโยงใยสัมพันธ์กับองค์ความรู้ด้านอื่นศาสตร์สาขาอื่น
นอกจากกระบวนกรจะจัดวางเนื้อหาของบทเรียนให้เชื่อมโยงถึงมิติด้านจิตใจและปัญญาแล้ว กระบวนกรจำเป็นต้องใช้กระบวนการเรียนรู้ที่หลากหลายและทรงพลัง เพื่อทำให้ผู้เรียนเข้าถึงบทเรียนได้ระดับที่เขาจะสัมผัสได้ถึงความรู้สึกภายใน สัมผัสถึงตัวสภาวะของสิ่งต่างๆ กระบวนการเรียนรู้ที่ดีจะไม่เพียงทำให้ผู้เรียน รู้หรือเข้าใจเท่านั้น แต่กลับสามารถทำให้ผู้เรียนสัมผัสลึกถึงภายในที่กำลังสั่นไหว เปลี่ยนแปลง เรียนรู้อย่างใคร่ครวญได้ กล่าวอีกแง่หนึ่งก็คือ ทำให้ผู้เรียนเกิดประสบการณ์ตรงซึ่งเป็นการสัมผัสสภาวะโดยตรง ไม่ได้ใช้แค่เพียงความคิดหรือเหตุผลในการเข้าถึงตัวสภาวะ
ด้วยเหตุนี้ตัวกระบวนกรจึงต้องใส่ใจเป็นพิเศษถึงการออกแบบและใช้กระบวนการเรียนรู้ที่เปลี่ยนแปลงคนอย่างลงลึกได้ ลักษณะสำคัญของกระบวนการเรียนรู้ที่ทรงพลังมีดังนี้
๑) การให้ผู้เรียนได้เรียนผ่านประสบการณ์ตรง เช่น การเรียนรู้นิเวศวิทยาแนวลึก เราจะพาผู้เรียนเข้าไปเดินรอนแรมในป่า อดอาหาร หรืออยู่คนเดียวเพื่อเผชิญกับความกลัวภายใน ซึ่งมักจะทำให้ผู้เรียนได้สัมผัสถึงความจริงรอบตัวที่เกิดขึ้นรวมถึงสภาวะที่เกิดขึ้นภายใน กิจกรรมหรือกระบวนการผ่านประสบการณ์ตรงมักทำให้ผู้เรียนได้เปิดประตูการรับรู้ทุกทางหรือเกือบทุกทาง ซึ่งจะทำให้เกิดพลังการเรียนรู้ที่ลึกซึ้งดื่มด่ำกับความเป็นจริงที่เกิดขึ้น ทั้งนี้ก็เพราะสภาวะความเป็นจริงระดับลึกซึ้งจะเข้าถึงได้ก็ต่อเมื่อได้ผ่านประสบการณ์ตรงไม่ใช่เพียงแค่คิดวิเคราะห์หรือสนทนากันเท่านั้น กระบวนการเรียนรู้ผ่านประสบการณ์ตรงสามารถทำได้หลากหลายรูปแบบ ตัวอย่างได้แก่ การพาเดินรอนแรมในป่า ทดลองอดอาหารและอยู่คนเดียว การพาผู้เรียนเข้าไปใช้ชีวิตอยู่กับชาวบ้านชาวเขาที่กำลังเผชิญวิกฤตการณ์ต่างๆ การฝึกฝนทำสมาธิภาวนาอย่างเข้มข้น การทำงานศิลปะ การแสดงละคร การสวมบทบาทสมมติ การออกไปฝึกฝนคลี่คลายความขัดแย้งในพื้นที่จริง การใช้เกมหรือสถานการณ์จำลองที่คล้ายคลึงกับสภาพในชีวิตจริง เป็นต้น
๒) กิจกรรมหรือกระบวนการเรียนรู้ที่ใช้ ควรสอดคล้องสัมพันธ์กับจุดมุ่งหมายการเรียนรู้ เนื้อหาการเรียนรู้ ตัวผู้เรียนและข้อจำกัดเรื่องเวลา กล่าวคือกระบวนการหรือกิจกรรมที่ใช้ควรทำให้เข้าถึงบทเรียนที่ชัดเจนลงลึกได้ง่าย ไม่ยากไม่ง่ายเกินไปสำหรับกลุ่มผู้เรียน และไปกันได้กับข้อจำกัดของเวลา
๓) เป็นกิจกรรมหรือกระบวนการเรียนรู้ที่ทำให้เกิดการกระทบสัมผัสกับความรู้สึกภายในได้ง่าย หรือเป็นกับดักหรือหลุมพรางที่เมื่อผู้เรียนได้ทำหรือได้ผ่านแล้วทำให้เกิดการฉุกคิดใคร่ครวญ เกิดปัญญาได้ง่าย ทำให้มองเห็นความจริงภายในที่มักมองข้ามหรือไม่เคยใส่ใจมอง รวมถึงทำให้เกิดการเผชิญหน้ากับตัวตนที่แท้จริงภายในได้ง่าย
๔) เป็นกิจกรรมหรือกระบวนการเรียนรู้ที่บางครั้งบางขณะทำให้ผู้เรียนเกิดความนิ่งสงัด เกิดสภาวะที่ใคร่ครวญหรือตระหนักรู้ได้อย่างแจ่มชัด
๕) เป็นกิจกรรมหรือกระบวนการเรียนรู้ที่ทำให้ผู้เรียนรู้สึกเชื่อมั่นไว้วางใจในระดับที่จะยอมเปิดตัวลงมาเรียนรู้อย่างเต็มที่ แต่บางครั้งกระบวนกรอาจจำเป็นต้องใช้กระบวนการเรียนรู้ที่ทำให้ผู้เรียนเกิดความรู้สึกเสี่ยง หวั่นไหว หมิ่นเหม่ต่อการเปิดเผยตัวตน ซึ่งกระบวนการเรียนรู้ที่เสี่ยงระดับหนึ่งมักจะทำให้บทเรียนมีความลึกซึ้ง ซึ่งผู้เรียนบางคนถึงกับเปลี่ยนแปลงภายในอย่างชนิดถอนรากถอนโคนเลยทีเดียว ทั้งนี้กระบวนกรจำต้องประเมินตัวกระบวนกรเอง ผู้เรียน จังหวะและสถานการณ์ในขณะเรียนรู้เป็นสำคัญ
ในสัปดาห์หน้าจะได้กล่าวถึงองค์ประกอบการเรียนรู้ที่เกี่ยวกับการจัดบรรยากาศการเรียนรู้ที่สร้างสรรค์ และการสรุปหรือถอดบทเรียน