สัปดาห์ที่แล้วได้กล่าวถึงองค์ประกอบที่ทำให้การเรียนรู้เปลี่ยนแปลงคนได้อย่างลึกซึ้ง ในแง่ของการจัดวางเนื้อหาการเรียนรู้ให้เชื่อมโยงถึงความจริงอันเกี่ยวกับสภาวะภายในของคน และการออกแบบการเรียนรู้ที่หลากหลายและทรงพลังไปแล้ว จากนี้ไปจะได้กล่าวถึงอีก ๒ องค์ประกอบที่สำคัญของการจัดการเรียนรู้ที่ทรงพลัง นั่นคือการจัดบรรยากาศการเรียนรู้ที่สร้างสรรค์และการสรุปหรือการถอดบทเรียน
นอกจากจะต้องใส่ใจการจัดวางเนื้อหาและกระบวนการเรียนรู้ที่เข้าสู่การเปลี่ยนแปลงภายในที่ลุ่มลึกแล้ว กระบวนกรควรใส่ใจในการปรับบรรยากาศที่โน้มนำให้เกิดพลังแห่งการเรียนรู้สูงจนเข้าสู่บทเรียนได้ง่ายรวมถึงเข้าถึงประสบการณ์ภายในอย่างลึกซึ้ง การสร้างบรรยากาศการเรียนรู้ที่สร้างสรรค์แบ่งเป็น ๒ นัย
ประการแรก บรรยากาศในด้านกายภาพ ในที่นี้หมายถึงสถานที่เรียนรู้ต้องเหมาะสมสอดคล้องกับเนื้อหา กระบวนการเรียนรู้ ดังเช่น หากจะเรียนรู้เรื่องนิเวศวิทยาเราก็ควรเลือกใช้ผืนป่าอันอุดมสมบูรณ์ รวมถึงหมู่บ้านชาวป่าชาวเขาที่อยู่ลึกในป่าเป็นสถานที่เรียนรู้ หากจะเรียนรู้เรื่องความยากจนของคนชั้นล่างในสังคมก็ควรเลือกที่ชุมชนรากหญ้าหรือสลัมในเมือง เป็นต้น แต่หากเป็นเนื้อหาการเรียนรู้ทั่วๆ ไป กระบวนกรควรใช้ห้องเรียนรู้ที่โปร่งโล่งและเงียบสงัด ที่สำคัญควรจัดห้องเรียนให้เป็นพื้นที่ว่างพอที่จะนั่งล้อมเป็นวงกลมได้ เพราะการนั่งล้อมเป็นวงกลมจะเอื้ออำนวยให้การเรียนรู้ออกมาในลักษณะถ่ายเทไหลเวียน สามารถแลกเปลี่ยนแบ่งปันกันอย่างเสมอบ่าเสมอไหล่ นั่นย่อมหมายถึงไม่มีผู้ใดผู้หนึ่งเป็นผู้ทำหน้าที่ให้หรือรับความรู้อย่างผูกขาด ประสบการณ์และองค์ความรู้เกิดขึ้นได้จากทุกๆ คน ไม่เฉพาะแต่จากกระบวนกรเท่านั้น ดังได้กล่าวถึงไว้แล้วในบทนำ
ประการที่สอง บรรยากาศด้านความสัมพันธ์ของกลุ่มผู้เรียนรวมถึงกระบวนกร ในที่นี้มุ่งเน้นการสร้างความสัมพันธ์ในกลุ่มผู้เรียนรวมถึงกระบวนกรให้เกิดความเป็นเพื่อนอันลึกซึ้ง ซึ่งหมายถึงรู้สึกไว้วางใจกันมากพอจนทุกคนสามารถแลกเปลี่ยนแบ่งปันประสบการณ์ได้อย่างเต็มที่ สามารถเปิดเผยตัวตนด้านในไม่ว่าดีหรือร้ายเพื่อหยิบยื่นบทเรียนแห่งการเติบโตให้แก่กันและกันได้ และเมื่อถึงคราวที่บทเรียนนำไปสู่ความเจ็บปวดภายในก็ยังสามารถช่วยเหลือเยียวยาภายในให้กันได้
นอกจากนี้ความเป็นเพื่อนที่แน่นแฟ้นมักจะนำไปสู่การแสวงหาความรู้ความจริงร่วมกันมากกว่าที่จะแข่งขันเพื่อเพียงจะได้ชื่อว่าเป็นผู้รู้เหนือผู้อื่น และยังทำให้ประจักษ์ชัดได้ว่า การเข้าถึงความลุ่มลึกและกว้างไกลของบทเรียนเกิดขึ้นได้อย่างดีเยี่ยมจากพลังกลุ่มที่แนบแน่น เนื่องเพราะพลังกลุ่มจะช่วยทำให้กลุ่มร่วมแสวงหาและผสมผสานประสานความรู้ความสามารถ ทำให้ทุกคนเข้าถึงบทเรียนที่กว้างไกลลุ่มลึกด้วยกัน นอกจากนี้ความเป็นเพื่อนในกระบวนการเรียนรู้ยังลดทอนกำแพงอัตตา ลดทอนความรู้สึกเปรียบเทียบว่าใครเด่นใครด้อย ใครเก่งใครโง่กว่า รวมถึงยังป้องกันการชี้นำบังคับหรือครอบงำทางความคิดอย่างตายตัว เพราะความเป็นเพื่อนที่แท้จริงมักจะให้เสรีภาพอย่างเต็มที่ที่จะเลือกเชื่อหรือไม่เชื่อ ไม่จำเป็นต้องเชื่อหรือเห็นตามกระบวนกร หรือไม่จำเป็นต้องเชื่อหรือคิดเหมือนกันทุกครั้งไป ดังนั้นการสร้างบรรยากาศที่เป็นเพื่อนอันลึกซึ้งระหว่างผู้เรียนรวมถึงกระบวนกรจึงเป็นพื้นฐานสำคัญของการเรียนรู้ที่เราต้องการ
ส่วนรูปธรรมการสร้างความเป็นเพื่อนที่สนิทใจกันนั้นสามารถทำได้หลากหลายวิธี ดังนี้
๑) การร่วมกันกำหนดข้อตกลงหรือกติกาการเรียนรู้ที่จะต้องถือปฏิบัติร่วมกัน เช่น เปิดพื้นที่แลกเปลี่ยนแบ่งปันให้กันและกันอย่างเพียงพอ รับฟังกันอย่างลึกซึ้ง ไม่ด่วนสรุปด่วนตัดสิน เชิญชวนให้ทุกคนถอดหัวโขนหรือสถานภาพที่เป็นอุปสรรคต่อการเรียนรู้ร่วมกัน เป็นต้น
๒) ใช้กิจกรรมผ่านประสบการณ์ที่สร้างพลังกลุ่มให้เกิดร่วมกัน ซึ่งมักจะเป็นกิจกรรมที่ทำให้ทุกคนต้องร่วมกันทำและร่วมกันรับผิดชอบ
๓) ใช้เกมหรือสันทนาการที่เล่นหัวด้วยกันได้ เพราะสันทนาการที่สร้างสรรค์มักนำทุกคนไปประสบกับภาวะความเป็นเด็กที่ห่างหายมานาน ในขณะเดียวกันก็ละลายหรือลดทอนความเป็นทางการที่มาในคราบของความเป็นผู้ใหญ่ลงบ้าง
๔) ใช้กิจกรรมที่ให้ผู้เรียนได้เปิดเผยภูมิหลังหรือเปิดเผยตัวตนด้านดีหรือร้าย โดยที่ต่างฝ่ายต่างไม่ตัดสินหรือโจมตีเพื่อนที่เป็นเจ้าของเรื่อง การเปิดเผยที่กว้างและลึกขึ้นเรื่อยๆ โดยต่างฝ่ายต่างยอมรับและเข้าใจเพื่อนตามที่เป็น จะเป็นบันไดสำคัญทำให้ความเป็นเพื่อนลึกซึ้งแน่นเหนียว เชื่อมั่นไว้วางใจกันอย่างสนิทใจ ทั้งนี้การทำกิจกรรมลักษณะนี้มักจะทำทีละขั้นและประเมินกลุ่ม แล้วค่อยๆ เพิ่มประเด็นลึกซึ้งเข้มข้นขึ้นเรื่อยๆ
๕) การใช้กลุ่มย่อยเพื่อแลกเปลี่ยนแบ่งปันสลับการเรียนรู้ในกลุ่มใหญ่ เพราะการพูดคุยในกลุ่มย่อยมักจะทำให้การแลกเปลี่ยนเกิดขึ้นได้ง่ายและพูดคุยกันได้อย่างลึกซึ้งซึ่งง่ายกว่ากลุ่มใหญ่
กล่าวโดยสรุปการจัดปรับบรรยากาศการเรียนรู้ให้เกิดความเป็นเพื่อนนั้น ถือเป็นปัจจัยสำคัญมากที่จะเหนี่ยวนำบทเรียนให้ถ่ายเทไหลเวียนได้ง่าย ทำให้พลังการเรียนรู้ตื่นตัวอยู่เสมอและลงลึกได้ง่าย ดังนั้นกระบวนกรจำต้องตระหนักถึงปัจจัยข้อนี้เสมอ
ว่ากันตามความเป็นจริงแล้ว ผู้เรียนบางคนโดยเฉพาะผู้ที่มีอุปนิสัยจับสังเกตเป็น มักจะสามารถเรียนรู้ได้ตั้งแต่ได้ลงมือทำกิจกรรมผ่านประสบการณ์ตรงโดยไม่จำเป็นต้องมีคนมาชี้แนะและชวนพูดคุยเลยก็ได้ อย่างไรก็ตามในกิจกรรมหรือกระบวนการเรียนรู้หนึ่งๆ ผู้เรียนแต่ละคนก็อาจมองเห็นบทเรียนต่างจุดต่างมุมกัน เน้นหรือสนใจต่างกัน เชื่อมโยงกับความคิดและประสบการณ์เก่าได้แตกต่างกัน หรือมองเห็นเรื่องเดียวกันแต่ให้คุณค่าความหมายต่างกัน ที่สำคัญผู้เรียนบางคนอาจจะยังไม่ทันได้จับสังเกตบทเรียนที่เกิดขึ้นได้อย่างฉับพลันทันที ดังนั้นกระบวนกรจึงจำเป็นต้องทำการสรุปหรือถอดบทเรียนร่วมกัน ซึ่งถือเป็นการทำให้บทเรียนที่แฝงฝังในตัวผู้เรียน และจากกระบวนการเรียนรู้โผล่ปรากฏเป็นบทเรียนที่ผลิบานงอกงามและเห็นเป็นประจักษ์ร่วมกัน ทั้งนี้การสรุปหรือถอดบทเรียนมีมากมายหลายวิธี ดังเช่น
๑) การใช้สุนทรียสนทนา โดยกระบวนกรไม่จำเป็นต้องดำเนินรายการมาก คงปล่อยให้กลุ่มแลกเปลี่ยนแบ่งปันกันไปตามจังหวะของความสดในแต่ละขณะ
๒) การใช้กลุ่มย่อยสรุปการเรียนรู้ โดยตั้งประเด็นกว้างๆ ให้แลกเปลี่ยนกัน
๓) การใช้พลังคำถามที่เชื่อมโยงลงลึก เพื่อดึงบทเรียนให้โผล่ปรากฏ การตั้งคำถามเพื่อสรุปบทเรียนที่เห็นบ่อยแบบหนึ่งในหลายแบบก็คือ กระบวนกรมักจะเริ่มต้นถามถึงประสบการณ์ตรงที่เกิดขึ้นสดๆ ก่อนว่าเป็นอย่างไร ที่ควรถามถึงความรู้สึกที่เกิดขึ้นเป็นลำดับแรกก็เพราะความรู้สึกภายในของคนมักเป็นด่านแรกที่ทำให้เกิดความหมายบางอย่างภายใน และมักจะนำไปสู่การนึกคิดปรุงแต่งเป็นความเห็นความเชื่อหรือทัศนคติ หลังจากนั้นกระบวนกรอาจตั้งคำถามต่อโดยถามจากประสบการณ์ตรงแล้วพลิกแพลงไปสู่การเรียนรู้ แล้วอาจถามเชื่อมโยงจากบทเรียนที่เกิดขึ้นนั้นไปสู่การประยุกต์บทเรียนไปใช้ในชีวิตจริงเป็นการปิดท้าย ดังนี้เป็นต้น อย่างไรก็ตามกระบวนการตั้งคำถามเพื่อสรุปหรือถอดบทเรียนสามารถพลิกแพลงไปได้อย่างไม่ตายตัว ทั้งนี้ประสบการณ์ที่เกิดจากการทำบ่อยๆ ย่อมช่วยให้กระบวนกรตั้งคำถามได้ทรงพลังยิ่งขึ้นเรื่อยๆ
๔) การสรุปบทเรียนโดยการเขียนบันทึกอย่างใคร่ครวญ หรือผ่านกิจกรรมอื่นๆ นอกเหนือจากการพูดคุย เช่น การวาดรูปเพื่อสะท้อนสิ่งที่ได้เรียนรู้ เป็นต้น
๕) การสรุปหรือการถอดบทเรียนด้วยการสนทนาแบบตัวต่อตัวเป็นการเฉพาะระหว่างกระบวนกรกับผู้เรียน ซึ่งมักจะเป็นบทเรียนที่เป็นการเติบโตภายในและผู้เรียนต้องการความเป็นส่วนตัวและความไว้วางใจสูงที่จะเปิดเผยตัวตนที่อยู่ลึกข้างใน แต่บางครั้งผู้เรียนคนนั้นก็อาจไว้วางใจผู้เรียนคนอื่นจึงให้กระบวนกรสนทนากับตนอย่างเปิดเผยต่อกลุ่มใหญ่ก็เป็นไปได้เช่นกัน
๖) การให้ผู้เรียนแลกเปลี่ยนประสบการณ์ผ่านการเล่าเรื่องอย่างเดียวหรือสลับกับการตั้งคำถามเพื่อลงลึก
ยังมีการสรุปหรือถอดบทเรียนอื่นที่ไม่ได้กล่าวถึงในที่นี้อีกมากมายหลายวิธี ดังนั้นกระบวนกรจึงควรแสวงหาวิธีการสรุปบทเรียนไว้ให้หลากหลายและพร้อมที่จะพลิกแพลงใช้มันได้อย่างมีศิลปะ