เส้นแบ่งระหว่างโลกของจินตนาการ ความฝัน กับการเข้าใจความเป็นจริงนั้นอยู่ใกล้กันมากเสียจนทำให้ บางครั้งเราอาจจะรู้สึกไม่แน่ใจหรือไม่มั่นใจเท่าใดนักต่อเรื่องราวที่ได้รับรู้มา หากมิได้เป็นผู้อยู่ในเหตุการณ์เหล่านั้นเสียเอง มันยากเกินจะเชื่อจริงๆ และถึงแม้ว่าบางคนจะมีประสบการณ์ร่วมในเหตุการณ์เดียวกัน แต่กระนั้นก็ตาม ใช่ว่าจะเห็นเหมือนกันก็หาไม่ อันว่าความรู้ความเห็นความเข้าใจต่อเรื่องๆ หนึ่งสำหรับคนที่พบเห็นมันจนชินชา อาจเป็นเพียงเรื่องพื้นๆ เท่านั้น แต่สำหรับบางคนแล้ว ถึงกับเชื่ออย่างสุดจิตสุดใจเลยว่า มันช่างเป็นประสบการณ์ที่แสนจะพิเศษอะไรเช่นนี้!! เป็นอิสระเสรีเหนือพันธนาการใดๆ หรือตรงกันข้าม มันอาจเป็นฝันร้ายที่สุดแห่งชีวิตเลยก็ว่าได้ แต่ไม่ว่ามันจะดีหรือร้าย มันคงไม่ธรรมดาแน่ๆ ในความคิดตอนนั้น
มีมากมายอีกนับไม่ถ้วน (เพราะนับไม่ทัน) ที่จินตนาการช่วยเสริมเติมแต่งสิ่งที่รับรู้ จนทำให้เราเชื่อมันซะเป็นจริงเป็นจัง บางทีมันดูเหมือนจริงเอามากๆ ทั้งๆ ที่เราก็รู้อยู่ว่าเป็นการเล่นละครหรือสร้างภาพขึ้นมา มันของแต่งแน่ๆ อย่างเทคนิค CG อะไรนั่น แต่ใจมันจะเชื่อซะอย่าง ห้ามไม่ได้เลย ทำไงดีล่ะ เมื่อเกินกว่าจะเอาเหตุผลหรือหลักฐานมาหักล้างทฤษฎีความเชื่อมากมายเหล่านั้น ก็ขอให้เชื่อไปเถอะ เชื่อดีหรือไม่?
คนผู้หนึ่งจะเชื่อในอะไร? สิ่งใด? เพียงเพราะเขาหรือเธอเชื่อมั่นอย่างเต็มหัวใจ หากมิใช่เรื่องที่จะทำให้เดือดเนิ้อร้อนใจ จะเป็นไรไปเล่า แม้มันจะดูไม่น่าเชื่อสำหรับคนอื่นๆ มันคงสมจริงมากๆนะ!! สำหรับผู้ที่เชื่อ ป่วยการจะไปสาวหาเหตุหาผลให้เสียเวลา เพราะมันเป็นแค่ความคิดเชื่อและเห็นว่าเป็นหยั่งงั้นหยั่งงี้เอง
ทั้งๆ ที่ก็มีประเด็นเนื้อหาวนเวียนอยู่กับเรื่องราวไม่กี่อย่าง อาทิ ความใฝ่ฝันความหวัง อุดมคติของชีวิต ความรู้ความเข้าใจ ความรักและความผูกพัน หรือจะเป็นเพียงประสบการณ์ภาพรวมในครั้งหนึ่งของชีวิต ที่คนๆ หนึ่งหลุดรอดออกมาจากฝันลมๆ แล้งๆ แล้วมาเห็นสิ่งที่เขาหรือเธอเป็นอยู่จริงๆ ว่า มันช่างต่างเหลือเกินกับที่ฝันไว้ตั้งแต่เยาว์วัย “ไกลสุดไกล สุดปลายรุ้ง ดวงตาน้อยน้อยมุ่งมองไปแสนไกล เด็กน้อยเอย เจ้าฝัน เจ้าใฝ่” จะฝันถึงสิ่งใด? เวลาไหน? ขอให้ฝันดี ใครๆ เขาก็อยากจะให้ฝันกลายเป็นจริงกันทั้งนั้น ฝันกันมาตั้งแต่จำความได้ “หนูหนูเอย หนูน้อย …ขอถามหนูหน่อย ได้ไหม? …หนูใฝ่หนูฝัน อยากเป็นอะไร” ก็ขอให้ฝันกันต่อไปถ้าฝันนั้นยังไม่เป็นจริง แม้จะเป็นแค่ฝันครั้งหนึ่ง ก็ยังดีที่เห็นฝันและรู้ว่าฝันไป
ความฝันกับจินตนาการนี้ใกล้ชิดกันมากเหมือนเป็นสองศรีพี่น้อง ในความฝันมักจะเกี่ยวกับ ความอยากความต้องการในสิ่งที่เรามุ่งมาดปรารถนา ส่วนจินตนาการนั้นเป็นผู้ช่วยสร้างภาพฝันให้ดูสมจริงยิ่งขึ้น บางครั้งเราก็ใช้มันในความหมายร่วมๆ กันอยู่ คือหมายเอาว่า เป็นสิ่งที่เรานึกคิดขึ้นมา มิใช่ความจริงแต่อาจจะจริงก็ได้ ใครจะไปรู้ เพราะตอนที่ฝันๆ กัน เรื่องราวมันยังไม่เป็นจริง อีกทั้งผลลัพธ์ก็ยังไม่ทันได้เห็น เราไม่รู้ว่ามันเป็นไปได้จริงหรือกำลังเป็นอยู่หรือไม่มีทางเป็นเลย คือไม่มีรูปธรรมจริงๆ ออกมาให้รับรู้นั่นเอง แต่ถ้ามันเป็นจริงแล้ว ยังไงซะก็ย่อมเป็นหยั่งงั้นอยู่วันยังค่ำ เราจะรู้หรือไม่ก็ตาม
ยกตัวอย่างง่ายๆ เช่น สมชายมักจะถอดแว่นวางบนโต๊ะตัวเดิมเสมอๆ แต่ไฉนหลังจากไปทำธุระอื่นๆ เสร็จแล้ว พอจะต้องใช้ดันหาแว่นไม่เจอซะงั้น หาอยู่เป็นนานหลายชั่วโมง ถึงได้เห็นแว่นอยู่บนหัวตัวเอง เมื่อพฤติกรรมของสมชายเปลี่ยน ความเป็นจริงที่เห็นก็เปลี่ยนไป คือมีการกระทำกับผลลัพธ์ที่ไม่เหมือนเดิม แม้นความรู้สึกในใจยังเปลี่ยนเลย เพียงแต่สมชายมิได้สังเกต ดังนั้นความเป็นจริงขณะใดๆ ย่อมเป็นไปตามปรากฏการณ์ของความเปลี่ยนแปลงขณะนั้นๆ ซึ่งก็คือ เมื่อกี้นี้ แว่นตาไม่ได้หายไปไหน (คาดอยู่บนหัว) เพียงแต่สมชายไม่รู้ตัว จึงหาไม่เห็น
ความเป็นจริงจะกลายเป็นความเชื่ออยู่ในความคิดเรื่อยๆ ไป จนกว่าจะมีความเข้าใจใหม่เกิดขึ้นมาว่า “มันไม่จริง” เอาใหม่นะ ลองพูดตามดูสิ ออกเสียงดังๆ นะ “ไม่จริง!!” ฉันไม่เชื่อ เห็นเขาชอบพูดกันในทีวี สังเกตคำพูดให้ดีๆ นะ ลึกๆ แล้วคนพูดยังเชื่อว่าจริงอยู่ใช่ไหม? เมื่อไหร่ที่เราได้พูดคำนี้ออกจากปากเอง จึงจะรู้ เพราะเวลาตัวละครพูดคำนี้ทีไร มักจะไม่เชื่อว่าจริง แต่พอเรื่องราวดำเนินไปถึงตอนที่รู้แน่ๆแล้วว่า “ไม่จริงแหงๆ” บทมันจะให้เชื่อก็เชื่อไปเลยสุดลิ่มทิ่มประตู ไม่ต้องมีเหตุผลอะไรยืนยัน ก็ใจมันจะเชื่อนี่นา…อ๋อ! รู้แล้วล่ะ เมื่อก่อนโง่เอง คิดเอาเอง แค่ฝันไปเอง
ความฝันมักจะเกี่ยวกับความต้องการในสิ่งที่เรามุ่งมาดปรารถนา ส่วนจินตนาการนั้นเป็นผู้ช่วยสร้างภาพฝันให้ดูสมจริงยิ่งขึ้น
ในเนื้อเพลง Tree Hugger (จากSoundtrack ภาพยนตร์เรื่อง Juno) ดอกไม้บอกว่า “ฉันปรารถนาจะเป็นต้นไม้” ส่วนต้นไม้บอกว่า “ฉันปรารถนาจะเป็นต้นไม้ที่ต่างชนิดไป” แมวปรารถนาให้มันได้เป็นผึ้ง ส่วนเต่าก็ปรารถนาให้มันสามารถบินได้ สูงขึ้นไปอยู่บนฟากฟ้า เหนือหลังคา จากนั้นจึงดำดิ่งลงสู่ทะเลลึก แต่ในทะเลมีปลาตัวหนึ่ง ปลาที่มีความปรารถนาลับๆ อยากเป็นกระบองเพชรต้นใหญ่ ออกดอกเป็นสีชมพู เป็นดอกไม้ที่มอบความรักให้แก่ทะเลทราย อันแห้งแล้งและเปล่าเปลี่ยว ที่สัตว์ทั้งหลายต่างก็ชื่นชมในความพยายามนั้น แม้จะเป็นความปรารถนาที่ไม่สามารถจะเป็นจริงได้ แต่ก็ยังชอบคิดๆ ฝันๆ กันอยู่ดี เพราะเราเชื่อว่า มันจริงได้ในฝันนี่เอง
ดอกไม้ ต้นไม้ แมว เต่า ปลาและกระบองเพชรคงไม่ได้ปรารถนาหยั่งงั้นหรอก ผู้แต่งเพลงต่างหากที่คิดๆ จินตนาการเอาเองว่า พวกมันปรารถนาจะเป็น… เหมือนที่คนคิดฝันกัน งูหางกระดิ่งพูดว่า “ฉันปรารถนาที่จะมีมือโอบกอดเช่นมนุษย์” จากนั้นกระบองเพชรก็พูดว่า “ขอเธออย่าเข้าใจว่า ผิวของฉันที่ปกคลุมด้วยหนามอันแหลมคม จะทิ่มแทงเธอเหมือนมีดพันเล่มกระนั้นเลย อ้อมกอดคงวิเศษทีเดียว หากกอดดอกไม้ของฉันด้วยการมองของเธอ” และในที่สุดภาพฝันเหล่านี้กับความเป็นจริงก็มาบรรจบลงกันพอดี ด้วยจินตนาการที่เรารู้จักเปรียบเปรย
เห็นไหมว่า ความฝัน จินตนาการและความเป็นจริงมันอยู่ใกล้กันเหมือนอย่างที่บอกเลย เพราะฉะนั้นจงอย่าเพิ่งเชื่อไป ว่ามันจริงแน่แท้เชียว เผื่อใจไว้หน่อย ว่า มันอาจไม่จริงก็ได้ มันเปรียบเอาเป็นว่า จริงหากเป็นเช่นนั้นเช่นนี้ คือมีเงื่อนไขต่างๆ กันไป มันจะจริงได้เมื่อยอมตามเงื่อนไข (อาจเป็นแนวคิด สมมติฐาน และเหตุที่มาที่ไปอื่นๆ) ตลอดจนเราแต่งเติมตามจินตนาการขึ้นมาเอาเอง ถ้ามัวแต่ตามจินตนาการฝันๆ อย่างนี้อยู่เรื่อยๆ มันก็จะเชื่อว่า เป็นจริงทุกครั้งไป
ขอให้ดูดีๆ เวลาที่เราออกจากฝันกันได้นั้น คือเวลาที่เราตื่นขึ้นมาแล้วรู้ว่า เมื่อกี้นี้ฝันไปใช่ไหมเล่า ตรงจุดนั้นเลย เมื่อรู้ตัวขึ้นมาแล้ว ฝันก็ไม่มี ที่อยากจะเป็น ที่เป็นอยู่ ก็ไม่อิน รู้สึกได้จริงมิใช่เป็นเหมือนที่ฝันไว้ เพราะรู้ตัวว่า กำลังจะฝันอะไร เป็นสะดุ้งตื่นซะทุกที อย่างนี้เรียกว่า ฝันค้างรึเปล่า ไม่รู้นะ แต่ฝันสลายเห็นๆ เลย เพื่อนเอ๋ย