เรื่องแบบนี้เกิดขึ้นกับฉันได้อย่างไร ทำไมฉันยอมให้เรื่องแบบนี้เกิดขึ้น?
ฉันรู้ว่าเขาหวังดี แต่ฉันไม่ต้องการความหวังดีแบบนี้ ฉันปฏิเสธความหวังดีของเขาได้มั้ย?
เด็กหญิงอายุ ๗ ขวบกำลังรับประทานอาหารอย่างเรียบร้อย ความน่ารักน่าเอ็นดูของเธอทำให้คุณยายกล่าวทักทายและจูบไปยังกระหม่อมของเธอ และด้วยอะไรก็ตามเด็กหญิงพูดเสียงเข้มว่า “คุณยายขาไม่จูบแบบนี้ หนูไม่ชอบ” คุณยายตกใจเล็กน้อยแต่ก็ตอบรับไปว่า “โอเคจ้ะ ยายไม่จูบหนูตรงนั้นแล้ว” แล้วเด็กหญิงก็หันไปรับประทานอาหารจนจบ
พวกเราหลายคนคงมีประสบการณ์คล้ายคุณยายที่พบว่าลูกหลานเด็กๆ ของตนไม่ยินดี ไม่ชื่นชม ไม่ตอบรับ และอาจรวมถึงการปฏิเสธ ต่อต้านกับสิ่งที่ผู้ใหญ่ทำให้ และผู้ใหญ่หลายคนอาจเลือกทำแบบคุณยาย และหลายคนอาจจะต่อรอง อธิบายว่าทำเพราะความรัก ความเอ็นดู ขณะที่ผู้ใหญ่หลายคนก็อาจจะแสดงท่าทีโกรธ ต่อว่าที่เด็กปฏิเสธความรักที่เราแสดงออก
จินตนาการถึงตัวเราเวลาที่มีคนอื่นกระทำบางอย่างกับเรา เช่น ดูแลใส่ใจ คอยแนะนำ คอยบอก กล่าว ตักเตือน คอยตรวจตรา รวมถึงเข้ามาดูแลสิ่งที่เป็นเรื่องส่วนตัว เช่น การแต่งกาย การใช้ชีวิต ฯลฯ โดยมีคำอธิบายสำคัญคือ การกระทำนั้นเนื่องด้วยความรัก ความเอ็นดู ความใส่ใจ ความปรารถนาดี เราจะรู้สึกและตอบสนองอย่างไร สิ่งสำคัญคือ เราแต่ละคนน่าที่จะมีสิทธิและอำนาจที่จะตอบรับหรือปฏิเสธการกระทำเหล่านั้น หากว่าการกระทำนั้นกระทบต่อตัวเรา ต่อการดำเนินชีวิตของเรา ทั้งทางร่างกาย ความคิด หรือจิตใจ การมีเจตนาที่ดีไม่ควรถือเป็นอำนาจในการละเมิดขอบเขตสิทธิเสรีภาพของใครได้
โชคดีที่เด็กหญิงมีคุณยายที่เข้าใจและเคารพในขอบเขตความเป็นส่วนตัวของหลาน สิ่งที่คุณยายขานรับช่วยให้เด็กหญิงรับรู้ได้ว่า คุณยายอนุญาตให้ตนเองมีความเป็นตัวเองได้ มีขอบเขตว่าอะไรคือสิ่งที่เธอชอบ เธอไม่ชอบ และคนอื่นก็เคารพสิ่งนี้ในตัวเธอ และสิ่งสำคัญคือ เธอมั่นใจในตนเองได้ว่า แม้เธอจะปฏิเสธสิ่งที่คุณยายทำ และเลือกเป็นตัวเอง คุณยายก็ยังรักเธอ
แต่เด็กหลายคนอาจไม่โชคดีแบบนี้ เพราะผู้ใหญ่รอบตัวหลายคนที่รู้เท่าไม่ถึงการณ์ตอบสนองกับเด็กโดยอ้างความรัก ความปรารถนาดีให้เด็กต้องยอมรับสิ่งที่ผู้ใหญ่ทำให้ สิ่งที่เด็กได้รับรู้คือ เธอต้องเชื่อฟังและยอมรับอำนาจของคนที่เหนือกว่า เธอไม่มีอำนาจที่จะบอกว่าอะไรคือสิ่งที่ชอบ หรือไม่ชอบ ผู้ใหญ่บางคนอาจจะตอบสนองโดยท่าทีกดดันหรือไม่พอใจที่เด็กทำแบบนี้ด้วยคำตัดสินเชิงลบว่า ไม่เชื่อฟัง ดื้อ ไม่น่ารัก ส่งผลให้สิ่งที่เด็กรับรู้คือ ตนไม่มีอำนาจในการบอกความรู้สึก ความต้องการของตนเอง
การมีเจตนาที่ดีไม่ควรถือเป็นอำนาจในการละเมิดขอบเขตสิทธิเสรีภาพของใครได้
ขอบเขตเป็นบทเรียนชีวิตสำคัญที่ยากต่อการสื่อสาร ยากต่อการอธิบาย ขอบเขตเป็นสำนึกรู้ภายในที่เราแต่ละคนเรียนรู้จากบทเรียนชีวิตจริง หากว่าเด็กถูกละเมิดขอบเขต ถูกปฏิบัติโดยไม่ได้รับความเคารพอย่างที่เด็กพึงได้ เด็กก็จะมีมุมมองต่อชีวิตว่าตนเองไม่สามารถดูแล จัดการ หรือควบคุมตนเองในขอบเขตที่พึงมีพึงเป็น ซึ่งเด็กก็จะเรียนรู้ว่าเพื่อให้ได้ความรัก ความปลอดภัย ตนต้องตอบรับและยินยอมให้คนอื่นเข้ามาในขอบเขตของตนได้ ขณะที่ความรู้สึก ความต้องการส่วนตัวไม่ใช่เรื่องสำคัญ
ขอบเขตเป็นสิ่งสำคัญที่ทำให้เรารับรู้ถึงความเป็นตัวเองที่แยกขาดจากคนอื่น หมู่คณะ หรือสังคม ขอบเขตไม่ใช่เพียงเส้นในอากาศที่ขีดแบ่งระหว่างเรากับคนอื่น แต่เป็นสำนึกภายในตัวเราที่ช่วยให้เรารับรู้ถึงความเป็นตัวเอง รสนิยม ความคิด ความรู้สึก ความต้องการของตนเอง กาลเทศะ บริบทชีวิตรอบตัว สถานการณ์ที่เกิดขึ้น และสำนึกรู้ในตนเอง ดังนั้นเมื่อขอบเขตสับสน องค์ประกอบชีวิตอันประกอบด้วยตัวเราเอง การงาน ความสัมพันธ์ก็จะสับสนไปด้วย และเมื่อเด็กที่สับสนในขอบเขตของตนเติบโตขึ้น ก็จะเป็นผู้ใหญ่ที่สับสนในเรื่องขอบเขตของตน ในขอบเขตอำนาจของตนเอง ในขอบเขตบทบาทหน้าที่ ความเหมาะควร ในสถานที่ สิ่งแวดล้อม และบุคคลรอบข้าง
ควบคู่ไปกับเรื่องขอบเขต — อำนาจ คือ การมีความสามารถในการเคลื่อนย้ายทรัพยากร ทั้งในความหมายถึงสิ่งที่จับต้องได้ เช่น ทรัพย์สินเงินทอง ข้าวของเครื่องใช้ หรือสิ่งจับต้องไม่ได้ เช่น ความรู้ ทักษะ บทบาทหน้าที่ ดังนั้นอำนาจจึงเป็นสิ่งที่มีอยู่ในตัวเรา เรามีอำนาจที่จะกำหนดความเป็นตัวเรา คือ ร่างกาย ความคิด จิตใจ เรามีอำนาจที่จะสื่อสารแสดงออกถึงการปฏิสัมพันธ์กับผู้คนและสิ่งรอบตัว สำนึกอำนาจในการแสดงออก หรือสำนึกรู้ในตนเองถึงอำนาจภายในตน ทำงานร่วมกับสำนึกรู้ในขอบเขต ดังนั้นคุณภาพการแสดงออกจึงเป็นภาพสะท้อนของ “สำนึกรู้ในขอบเขต” และ “อำนาจภายในตน”
คำกล่าวสำคัญของนักปราชญ์ที่ว่า “ไม่มีใครทำร้ายเราในทางจิตใจได้ หากว่าเราไม่อนุญาต” สะท้อนถึงการตระหนักรู้ในขอบเขตว่าอะไรที่อยู่ในขอบเขตวิสัยที่ตนควบคุมได้ หรือควบคุมไม่ได้ ในสิ่งที่เป็นวิสัยควบคุมได้ เรามีอำนาจที่จะสร้างการเปลี่ยนแปลงได้ พ้นไปจากนั้นไม่อยู่ในอำนาจที่เราควบคุมได้
สำนึกในอำนาจและขอบเขต ช่วยให้เราเรียนรู้การเป็นการตัวของตัวเอง กำหนดสุข ทุกข์ และท่าทีความสัมพันธ์ที่เรามีกับคนอื่นและสิ่งแวดล้อมได้ และเรื่องนี้เป็นเรื่องที่เราต้องเรียนรู้ตลอดเวลา