ฟ้าเปลี่ยนสี

ชัยยศ จิรพฤกษ์ภิญโญ 15 มีนาคม 2009

เหมือนท้องฟ้าจะรู้ว่าจิตใจของคนทุกข์กำลังเต็มไปด้วยเมฆหมอก หนักอึ้งและหมองหม่น  หลายคนกำลังเครียด และทุกข์ตรมกับเรื่องชีวิตและการงาน  หลายคนไม่รู้ว่าข่าวลือที่ว่าจะมีการปลดพนักงานบางส่วนเพื่อลดต้นทุนขององค์กรจะเป็นจริงหรือไม่ และตนเองจะโดนหางเลขด้วยหรือไม่  อนาคตคงเป็นเรื่องเลวร้ายมากทีเดียว หากคนนั้นมีภาระครอบครัวต้องดูแล  หลายคนหมองหม่นและเศร้าซึมกับภาระหน้าที่ของการเป็นหัวหน้าครอบครัวที่ดูไม่ประสบความสำเร็จเอาเสียเลย ลูกๆ ไม่เชื่อฟัง ช่องว่างของความไม่เข้าใจดูใหญ่โตเหลือเกิน  จะปรึกษาคู่ชีวิตหรือเพื่อนสนิท ความเครียดและเงื่อนไขเวลาที่บีบรัด ก็ทำให้ได้รับแต่ความหงุดหงิดรำคาญ คำแนะนำง่ายๆ สั้นๆ ว่า อย่าคิดมาก

เหมือนน้ำตาที่ไหลรินในจิตใจ  ท้องฟ้าที่มืดครึ้ม ปั่นป่วน ก็ถล่มทลายเป็นสายฝนที่หนักหน่วงและรุนแรง  ลมพัดแรงกรรโชก แสงฟ้าแลบแสบตา สลับกับเสียงฟ้าร้องกึกก้องครึกโครมอยู่นานราวไม่สิ้นสุด  แต่แล้วเมื่อเวลาผ่านไป สายฝนค่อยๆ โรยตัวเป็นเพียงละอองฝนบางๆ ท้องฟ้ากลับกลายเป็นสีสันสดใส สว่างเบิกบาน  และนั่นริมขอบฟ้า สายรุ้งปรากฏตัวขึ้น เสียงนกเริ่มขับขาน สายลมเย็นอ่อนโยนพัดโชยมา  จิตใจของคนทุกข์โปร่งเบาขึ้น สัมผัสได้ถึงความหวังและกำลังใจที่อยู่ในซอกหลืบเร้น ค่อยๆ แทรกตัวปรากฏขึ้น ในที่สุดโชคร้ายและความทุกข์ก็จะผ่านพ้นไป  ตราบที่ยังมีชีวิต สุขภาพยังแข็งแรง สติปัญญายังคงอยู่ ความรักความห่วงใยในจิตใจ ก็จะเป็นพลังนำพาชีวิตคนทุกข์และครอบครัว ไปสู่สีสันอันสวยงามของชีวิตได้ในที่สุด

ความรัก ความหวัง กำลังใจที่อยู่ในจิตใจของพวกเรา ในฐานะคนทุกข์หรือไม่ก็ตาม จะเป็นพลังที่มากเพียงพอและทำให้ท้องฟ้าในจิตใจคนทุกข์เปลี่ยนสีได้อย่างที่หลายคนปรารถนาหรือไม่  อาจได้หรือไม่ได้ เพราะเหตุปัจจัยที่ก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงมีมากมาย  เริ่มต้นด้วย

๑) อำนาจเหนือ 

อำนาจนี้เป็นพลังการเปลี่ยนแปลงจากสิ่งที่อยู่เหนือพ้นการควบคุมของเรา ดังเช่น วิบากกรรม อันเป็นผลกรรมที่เกิดขึ้นจากกรรมที่ได้ก่อไปแล้ว ไม่สามารถหลีกเลี่ยงได้  อำนาจเหนือในชีวิตประจำวันที่เราต้องพบเห็นและอยู่ร่วมด้วย เช่น ระบบกฎหมาย นโยบายบริษัท องค์กร  อำนาจนี้เป็นสิ่งที่โครงสร้างเบื้องบนสั่งการลงมา

๒) แนวร่วมจากสังคม วัฒนธรรม ประเพณี ความเชื่อ ฯลฯ 

เหล่านี้คือตัวอย่างของพลังจากสังคมที่คนหมู่มากยึดถือและกระทำร่วมกัน  แง่หนึ่งพลังนี้เป็นฐานพลังที่สามารถหนุนนำและส่งเสริมการเปลี่ยนแปลง หากการเปลี่ยนแปลงนั้นสอดคล้องกับแนวร่วมสังคมดังกล่าว  แต่หากการเปลี่ยนแปลงนั้นสวนทางกับสังคม กับวัฒนธรรม การเปลี่ยนแปลงนั้นก็ต้องเผชิญกับแรงต้าน เช่น เมื่อเราคิดเปลี่ยนแปลงอุปนิสัย ความเคยชินบางอย่างให้เป็นอุปนิสัยใหม่ๆ แรงต้านทานที่ต้องเผชิญก็คือ ความเชื่อ ความเคยชินเดิมๆ ที่แฝงฝังอยู่

๓) สิ่งแวดล้อมรอบตัวเรา 

การเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นได้จากสภาพแวดล้อมที่อยู่รอบตัวเรา ภูมิอากาศ ภูมิประเทศ เพื่อน มิตร คนแปลกหน้าที่ได้พบปะ สิ่งแวดล้อม  บ่อยครั้งสิ่งรอบตัวเล็กๆ เช่น ความสะอาด ความเป็นระเบียบ ก็เป็นเหตุปัจจัยที่ช่วยจัดระเบียบและความสะอาดในจิตใจ  ดอกไม้ ต้นไม้ ภาพวาด บทกวี สามารถสร้างแรงบันดาลใจที่เราอาจคาดไม่ถึง

๔) พลังชีวิตจากตัวเรา 

ท่าทีความคิด ความรู้สึก ความมุ่งมั่น แรงจูงใจ ค่านิยม ฯลฯ ถือเป็นพลังสำคัญมากในการสร้างการเปลี่ยนแปลง วีรกรรมของบุคคลสำคัญในโลกเกิดขึ้นได้ก็จากพลังชีวิตเช่นนี้

เมื่อเวลาผ่านไป ในที่สุดโชคร้ายและความทุกข์ก็จะผ่านพ้นไป

ในเส้นทางชีวิต เราเผชิญกับการเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา แรงขับเคลื่อนที่ทำให้เราต้องดิ้นรนเปลี่ยนแปลงก็คือ ความทุกข์  ขณะที่ความสุขทำให้เราพอใจที่จะยึดเหนี่ยวและเก็บรักษาให้ความสุขอยู่กับเราตลอดไป  แต่ความสุขก็เป็นเพียงผิวหน้าที่ปกคลุมความทุกข์ เพราะทุกสิ่งต้องเปลี่ยนแปลงไป แล้วความทุกข์ก็แสดงตัวออกมา  ความทุกข์จากการมี การได้ การประสบในสิ่งที่ไม่ปรารถนา เช่น การบังคับขู่เข็ญ การข่มเหงรังแก การผิดหวังเสียใจ การโกหกหลอกลวง การอยู่กับสิ่งที่ไม่รัก ไม่ชอบ  อีกรูปโฉมของความทุกข์คือ การไม่มี การไม่ได้ในสิ่งที่ปรารถนา เช่น ความรัก ความอบอุ่นจากคนพิเศษ ความมั่นคง ปลอดภัย ทรัพย์สิน บทบาทฐานะที่อยากได้ อยากเป็น ฯลฯ  ความทุกข์ทั้งจากการมี การเป็น และการไม่มี การไม่เป็น รุมเร้าให้เราต้องดิ้นรนและต่อสู้เพื่อมุ่งเปลี่ยนแปลงสภาพการณ์ความทุกข์ที่รุมเร้าให้หายไป  แต่ความทุกข์ไม่ใช่สิ่งที่อยู่ในสูญญากาศ ในการเปลี่ยนแปลงและขับเคลื่อนความทุกข์ เราต้องเผชิญกับแรงต้านทานหรือแรงหนุนเสริมใน ๔ ลักษณะที่กล่าวมา

แล้วในเส้นทางของการเปลี่ยนแปลง เราเรียนรู้และเติบโตตลอดเวลา คนทุกข์หลายคนมองเห็นการเปลี่ยนแปลงของท้องฟ้าที่มืดครึ้ม สีดำทะมึนกลายเป็นหนักหน่วงและบางเบา มองเห็นสีสันของท้องฟ้าที่ดูน่ากลัวกลับกลายมาเป็นท้องฟ้าสดใส สวยงาม  พร้อมกับที่เราได้เรียนรู้ว่า ท้ายที่สุดความทุกข์ที่รุมเร้า “มันก็จะผ่านไป” ความทุกข์ไม่ใช่สิ่งที่เที่ยงแท้ถาวร แปรเปลี่ยนตามเหตุปัจจัย เช่นเดียวกับความสุข  เหตุปัจจัยนำพาให้ความสุขและความทุกข์เปลี่ยนแปรไปมาเสมอ

ย้อนรำลึกถึงประวัติชีวิตของอหิงสกะ (องคุลิมาลและพระอริยบุคคลในท้ายที่สุด) จากชีวิตของนักศึกษาผู้ใฝ่รู้ กลายมาเป็นโจรร้ายผู้ฆ่าฟันชีวิต แล้วเพียงไม่กี่นาทีเมื่อได้พบปะและได้รับคำเทศนาสั่งสอนจากพระพุทธเจ้า ชีวิตของโจรร้ายก็แปรเปลี่ยนมาเป็นพระอริยเจ้า  ก่อนหน้านี้ อหิงสกะได้รับคำสั่งสอนจากอาจารย์ที่เป็นมิจฉาทิษฐิ ประสานกับความเชื่อของสังคมในเรื่องการบูชายัญ เป็นพลังนำพาชีวิตให้ไปสู่ความรุนแรง  แต่การได้พบปะกัลยาณมิตร เช่น พระพุทธเจ้า และกอรปกับการมีพื้นฐานธรรมะในจิตใจที่พร้อมรับคำสั่งสอนอันถูกต้องจากพระพุทธเจ้า เป็นพลังคัดง้างที่ทำให้โจรร้ายองคุลิมาลซึ่งเป็นเต็มไปด้วยกรรมชั่วและความรุนแรง หันเหสู่เส้นทางของธรรมมะและสันติสุขได้ในที่สุด

เราทุกคนมีศักยภาพของ “ฟ้าเปลี่ยนสี”  สิ่งสำคัญคือ การได้ก้าวเดิน และเปิดเผยชีวิตเพื่อเรียนรู้และเติบโตจากเส้นทางชีวิต เส้นทางการเปลี่ยนแปลง


ภาพประกอบ

ชัยยศ จิรพฤกษ์ภิญโญ

ผู้เขียน: ชัยยศ จิรพฤกษ์ภิญโญ

นอกเหนือจากบทบาทนักเขียนประจำคอลัมน์ งานสำคัญ คือ กระบวนกร นักจิตปรึกษา, enneagram coach สนใจและรักที่จะทำงานด้านการทำงานเพื่อสร้างการเปลี่ยนแปลงกับโลกภายในผ่านทักษะ ประสบการณ์เรียนรู้ทั้งงานอบรม การทำจิตปรึกษา และงานเขียน