ความขัดแย้ง เผชิญได้ หนีไม่ได้ (๒)

ปรีดา เรืองวิชาธร 17 ธันวาคม 2005

เมื่อความขัดแย้งเกิดขึ้น ไม่ว่าจะเป็นระดับบุคคล กลุ่มองค์กร สังคมหรือระดับประเทศ หลายคนเชื่อว่า หากไม่ใช้ความรุนแรงเข้าจัดการก็มักจะยอมจำนนกับความขัดแย้ง  แต่จากข้อเท็aจจริงพบว่า ในเกือบทุกหนแห่งได้ใช้สันติวิธีเข้าคลี่คลายความขัดแย้งอย่างได้ผลมากมายหลายตัวอย่าง และใช้มานานแล้ว  การใช้ความรุนแรงเข้าคลี่คลายความขัดแย้งให้ผลกระทบในแง่ร้ายมากกว่าดี (การใช้ความรุนแรงในมุมกว้างนั้นไม่ได้หมายเพียงการฆ่าหรือทำร้ายทำลายชีวิตและทรัพย์สินเท่านั้น แต่หมายถึงสิ่งใดหรือวิธีการใดก็ตามที่กระทำต่อบุคคลในทางบั่นทอน ขัดขวาง หรือกดให้ต่ำลงจนทำให้เขาไม่สามารถบรรลุถึงศักยภาพที่เขาพึงมีพึงเป็นได้)

การใช้ความรุนแรงมันอาจจะกดอาการความขัดแย้งให้หายได้ แต่ตราบใดที่รากเหง้าแห่งความขัดแย้งยังคงอยู่ ก็เพียงหายไปชั่วคราวเท่านั้น และอาจนำไปสู่ความขัดแย้งที่สลับซับซ้อนขึ้น หรืออาจนำไปสู่การใช้ความรุนแรงเข้าตอบโต้จนเกิดผลเสียหายร้ายแรงกันทุกฝ่าย  ดังนั้นจึงไม่มีผู้ชนะในหมู่คนที่ใช้ความรุนแรง มีแต่ความชั่วร้ายภายในที่สิงสู่ผู้คนเท่านั้นที่เป็นฝ่ายชนะ  เช่นเดียวกันการยอมจำนนหรือเพิกเฉยต่อความขัดแย้งก็ก่อผลร้ายมากกว่าดี เพราะเรากำลังหล่อเลี้ยงความโกรธเกลียด ความรู้สึกไม่ถูกต้องชอบธรรม ตลอดจนความทุกข์ร้อนของทุกฝ่ายที่ตกอยู่ในสถานการณ์ของความขัดแย้งให้สะสมเป็นพลังต้านที่แรงขึ้นเรื่อยๆ จนนำไปสู่การใช้ความรุนแรงโต้ตอบในที่สุด

ดังนั้นเมื่อเกิดความขัดแย้งขึ้นมาไม่ว่าระดับไหนก็ตาม เราควรวิเคราะห์กำหนดให้ชัดถึงประเด็นแห่งความขัดแย้ง และคลี่คลายความขัดแย้งไปที่เหตุปัจจัยแห่งความขัดแย้ง ซึ่งหากเหตุปัจจัยเป็นเรื่องของความแตกต่างหลากหลาย ที่ต้องมีเป็นพื้นฐานอยู่แล้ว ก็เพียงเรียนรู้ความเหมือนและต่างจากกันและกัน เพื่อยอมรับตามที่มันเป็น (ดังได้กล่าวในสัปดาห์ที่แล้ว) แต่หากเป็นเหตุปัจจัยที่หนุนเสริมความขัดแย้งให้รุนแรงสลับซับซ้อนหรือนำไปสู่ความรุนแรงสลับซับซ้อน หรือนำไปสู่ความรุนแรง เราควรร่วมมือกันเฝ้าระวัง จัดปรับแก้ไขให้เหตุปัจจัยชุดนั้นให้ลดน้อยถอยลงเท่าที่จะทำได้

สำหรับวิธีการหรือกระบวนการคลี่คลายความขัดแย้งตามแนวทางสันติวิธีนั้น ในทางรูปธรรมมีมากมายหลายวิธี ตั้งแต่การพูดคุยปรับความเข้าใจกัน การเจรจาต่อรอง การประชุมกลุ่มที่ใช้สิทธิ์แสดงออกอย่างเท่าเทียม กระบวนการกลุ่มที่มุ่งเน้นให้ทุกฝ่ายพูดคุยเพื่อปรับความเข้าใน รวมถึงการจัดกิจกรรมเพื่อสร้างความไว้วางใจและสร้างความสัมพันธ์ใหม่ภายในกลุ่ม

การใช้ความรุนแรงอาจช่วยกดอาการได้ชั่วคราว แต่รากเหง้าแห่งความขัดแย้งไม่ได้หายไป

ยังมีวิธีการคลี่คลายความขัดแย้งด้วยสันติวิธีอีกมากที่ไม่ได้กล่าวถึง ซึ่งจริงๆ แล้วเราสามารถพัฒนาปรับปรุงวิธีการหรือกระบวนการได้อีกมากมายไม่สิ้นสุด ดังนั้นเราอาจใช้หลักการพื้นฐานสำคัญต่อไปนี้ เพื่อใช้เป็นแนวทางกว้างๆ ในการกำหนดและกำกับวิธีการจัดการความขัดแย้ง

๑. ในการดำรงอยู่ร่วมกันเป็นกลุ่มเป็นสังคม ความขัดแย้งเป็นสัจธรรมข้อหนึ่งที่เราต้องยอมรับตามที่มันเป็น จะหลีกเลี่ยงหลบหนีหาได้ไม่  สิ่งที่ต้องตระหนักคือ เราต้องเผชิญความจริงข้อนี้อย่างรู้เท่าทัน โดยเริ่มที่การมองความขัดแย้งเสียใหม่ว่า มันสามารถพลิกเปลี่ยนพลังสร้างสรรค์อันเป็นประโยชน์ต่อปัจเจกบุคคลและสังคม  ความขัดแย้งไม่จำเป็นต้องลงเอยด้วยความทุกข์ร้อนและใช้ความรุนแรง หากทุกฝ่ายเชื่อมั่นอย่างลึกซึ้งว่า เราสามารถคลี่คลายความขัดแย้งร่วมกันได้ เราร่วมกันปะทะสังสรรค์ความรู้สึกนึกคิดเพื่อมุ่งแสวงหาทางออกหรือข้อเสนอใหม่ๆ ที่สร้างสรรค์ได้  การให้โอกาสตนเองและผู้อื่นเพื่อพูดคุยกันด้วยใจที่เปิดกว้างและบรรยากาศฉันท์มิตร มักจะทำให้ความคิดสร้างสรรค์เกิดขึ้น  ไม่เพียงเท่านั้นระหว่างที่อยู่ในขั้นตอนของกระบวนการคลี่คลายความขัดแย้ง จะเป็นโอกาสสำคัญที่ทำให้ทุกฝ่ายได้เรียนรู้ความเหมือนความต่าง และเบื้องหลังของความรู้สึกนึกคิดของกันและกัน

๒. ระหว่างอยู่ในสถานการณ์ความขัดแย้ง หรือกำลังอยู่ในขั้นตอนของการคลี่คลาย ทุกฝ่ายควรสะกิดเตือนสำนึกภายว่าเราควรปฏิบัติต่อกันในฐานะที่เป็นมนุษย์ซึ่งรักสุขเกลียดทุกข์เหมือนกัน ทุกคนมีศักดิ์ศรีแห่งความเป็นมนุษย์เหมือนกัน มีสิทธิ์เสรีภาพขั้นพื้นฐานที่จะพึงได้เหมือนกัน  เราทุกคนมีความเหมือนมากกว่าความต่าง ไม่ควรคิดหรือมองแบบแบ่งแยกเป็นขาวเป็นดำล้วนๆ  ที่สำคัญเตือนตัวเองอยู่เสมอว่ามนุษย์ไม่ได้เป็นศัตรูของเรา สิ่งที่ต้องละต้องกำจัดก็คือ ความชั่วร้ายที่สิงสู่ในผู้คนรวมถึงปัจจัยหรือโครงสร้างที่ทำให้เกิดความอยุติธรรม

๓. วิธีการหรือกระบวนการคลี่คลายความขัดแย้งที่ใช้ ควรทำให้ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องกับความขัดแย้งเข้าใจอย่างชัดเจนถึงประเด็นแห่งความขัดแย้ง มองเห็นพัฒนาการของความขัดแย้งที่ขยายเชื่อมโยงไปสู่ประเด็นอื่น รวมถึงการแผ่วงขยายของความขัดแย้งไปสู่อีกหลายคนหลายฝ่าย  ที่สำคัญยิ่งก็คือ ทำให้ทุกฝ่ายมองเห็นเหตุปัจจัยที่ทำให้ความขัดแย้งเกิดและขยายตัว

๔. วิธีการหรือกระบวนการคลี่คลายความขัดแย้งที่ใช้ ในอีกด้านหนึ่งควรเป็นกระบวนการเรียนรู้ให้ทุกฝ่ายเกิดการแลกเปลี่ยนแบ่งปันความรู้สึกนึกคิด จุดยืน ความต้องการและภูมิหลังอย่างเท่าเทียม  รวมถึงการเข้าไปรับรู้สัมผัสสถานการณ์ที่แท้จริงของทุกฝ่าย ซึ่งจะนำไปสู่ความเข้าใจ เข้าถึงความเป็นจริงทุกด้านทุกแง่มุมของความขัดแย้ง  ดังนั้นกระบวนการคลี่คลายความขัดแย้งใดๆ จึงต้องทำให้ทุกฝ่ายตระหนักถึงการดำรงสติอย่างมั่นคง อดทนอดกลั้น การใส่ใจรับฟังกันอย่างลึกซึ้ง การสร้างบรรยากาศแห่งความไว้วางใจกัน สร้างบรรยากาศที่ไม่เคร่งเครียดกดดันกัน การถ่ายถอนความคิดหรือมองแบบตัดสินตายตัวไม่ผูกขาดความจริงและข้อเท็จจริงว่าตนเท่านั้นที่รู้ความจริงแท้อยู่เพียงผู้เดียว การระมัดระวังเรื่องอารมณ์ความรู้สึกโดยเฉพาะการยั่วยุและการแสดงออกอย่างก้าวร้าว เป็นต้น

๕. วิธีการ หรือกระบวนการคลี่คลายความขัดแย้งที่ใช้ ควรทำให้ทุกฝ่ายมีส่วนร่วมในการเสนอหรือกำหนดข้อตกลง ซึ่งอาจเป็นข้อตกลงที่เกิดขึ้นใหม่หลังจากมีการพูดคุยปรับความเข้าใจกัน  ทั้งนี้การแสวงหาข้อตกลงร่วมกัน ควรเอาความถูกต้องดีงาม หรือธรรมเป็นรากฐานในการกำหนดข้อตกลง

๖. วิธีการหรือกระบวนการคลี่คลายความขัดแย้งที่ใช้ นอกจากจะช่วยให้เกิดข้อตกลงที่สร้างสรรค์แล้ว ควรทำให้ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องกับความขัดแย้งเติบโตทางจิตวิญญาณด้วย  กล่าวคือช่วยให้ทุกฝ่ายรู้เท่าทันกิเลสวาสนาภายใน โดยเฉพาะความทะยานอยากที่เกินเลยทั้งหลายทั้งปวง ความถือตัวสำคัญตน และความยึดติดในความเห็นความเชื่อ

๗. หากมองเห็นชัดเจนว่าในความขัดแย้งที่เกิดขึ้น มีฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งที่ตกอยู่ในสภาพไร้สิทธิ์ไร้เสียง ดังนั้นวิธีการหรือกระบวนการคลี่คลายความขัดแย้งที่ใช้ ควรมีส่วนช่วยทำให้เสียงที่แผ่วเบาของฝ่ายที่ไร้สิทธิ์ไร้เสียงมีพลังมากขึ้น

๘. หากเห็นชัดเจนว่าความขัดแย้งที่เกิดขึ้นมาจากโครงสร้างองค์กรหรือสังคมที่ไม่เป็นธรรม ดังนั้นวิธีการหรือกระบวนการคลี่คลายความขัดแย้งที่ใช้ ควรมุ่งส่งเสริมให้การเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้าง ทั้งระดับกลุ่มองค์กร และระดับสังคมให้มีความเป็นธรรมมากขึ้นด้วย ทำให้โครงสร้างมีการกระจายอำนาจ ตรวจสอบดูแล และไม่ก่อให้เกิดการเอารัดเอาเปรียบและทุจริตได้ง่าย

หลักการทั้ง ๘ ประการที่กล่าวมา เป็นหลักกว้างๆ ของการคลี่คลายความขัดแย้งด้วยสันติวิธี เราสามารถประยุกต์วิธีการหรือกระบวนการคลี่คลายให้เหมาะสมสอดคล้องกับบริบทความขัดแย้งที่เรากำลังเผชิญ ซึ่งสามารถใช้เป็นหลักพื้นฐานได้ตั้งแต่ความขัดแย้งในครอบครัว กลุ่มองค์กร ชุมชน หรือระดับสังคม  เพียงเราเชื่อมั่นว่า ความขัดแย้งไม่ได้เป็นวิกฤติเสมอไป แต่เป็นโอกาสอันดีเยี่ยมสำหรับเติบโตของบุคคลและสังคม รวมถึงเปลี่ยนเป็นพลังสร้างสรรค์ได้อย่างคาดไม่ถึง


ภาพประกอบ

ปรีดา เรืองวิชาธร

ผู้เขียน: ปรีดา เรืองวิชาธร

สนใจและศึกษาเรื่องการเรียนรู้แนวจิตวิญญาณและกระบวนการเรียนรู้แบบมีส่วนร่วม โดยเป็นกระบวนกรให้กับเสมสิกขาลัยนับแต่ปี 2546 จนถึงปัจจุบัน