ดื่มเหล้าเคล้าความรับผิดชอบ

เอกภพ สิทธิวรรณธนะ 20 สิงหาคม 2017

“อย่าอาเจียนลงอ่าง”

ผมเห็นป้ายห้ามนี้แขวนอยู่เหนือร้านข้าวต้มรอบดึกแห่งหนึ่ง เห็นแวบแรกก็รู้สึกขำ นึกในใจว่า คนเมาจะมีสติดีพอที่จะอ่านข้อความนี้ไหมหนอ

กลับมานั่งโต๊ะกินข้าวต้มต่อ ผมจึงฉุกคิดได้ว่า ป้ายห้ามเช่นนี้ สะท้อนสิ่งที่น่ากังวลหลายอย่างเกี่ยวกับพฤติกรรมการดื่มบางลักษณะ

มิใช่ว่าการดื่มเครื่องดื่มที่มีแอลกฮอล์เป็นสิ่งผิดหรือเลวร้ายในตัวเอง สุรากับมนุษย์มีความสัมพันธ์อย่างลึกซึ้งยาวนาน พฤติกรรมการใช้สุรามีหลากหลาย เราไม่สามารถกำจัดสุราจากสังคมให้สิ้นซากไปได้ เพราะเครื่องดื่มชนิดนี้เกี่ยวพันกับสังคมมนุษย์ทั้งมิติพิธีกรรม มิติยารักษาโรค มิติอาหารการกิน มิติความสัมพันธ์ทางสังคม

ดื่มสุราผิดไหม? คำถามนี้ตอบยากมาก การพิจารณาความเหมาะสมของการดื่มครั้งหนึ่งเกี่ยวพันกับหลายสิ่ง เช่น ผู้ดื่ม ปริมาณการดื่ม เวลาดื่ม สถานที่ดื่ม โอกาสที่ดื่ม เป็นต้น

ดื่มเบียร์ในผับเวลาหัวค่ำ แม้จะดื่มถูกสถานที่ แต่ดื่มจนเมากระทั่งขับรถกลับบ้านไม่ได้ แบบนี้แน่นอนว่าผิด

ดื่มเบียร์ในผับเวลาหัวค่ำ แม้จะดื่มในระดับที่ไม่เมา แต่ถ้าผู้ดื่มคือนักบินที่มีกำหนดขับเครื่องบินในวันรุ่งขึ้น เราก็ยังบอกได้อีกว่าไม่เหมาะสม

ดื่มสุราจนเมามายไร้สติ แต่ถ้าเมาที่บ้าน ผู้ดื่มพิจารณาแล้วว่าไม่มีเรื่องสำคัญที่ต้องตัดสินใจ และไม่มีใครต้องดูแลในวันนั้น เราอาจกล่าวได้ว่า การดื่มแบบนี้ก็ไม่เสียหายเท่าใดนัก

อะไรล่ะ ที่จะแยกพฤติกรรมการดื่มที่เหมาะสมและไม่เหมาะสมออกจากกัน ผมคิดว่าเกณฑ์สำคัญอย่างหนึ่งที่เป็นตัวตัดสินคือ “ความรับผิดชอบ”

“ดื่มอย่างมีความรับผิดชอบ” เป็นประเด็นรณรงค์ที่ต่างประเทศยอมรับมากขึ้น การรณรงค์เช่นนี้ไม่ปฏิเสธการดื่มสุรา แต่ปฏิเสธการดื่มที่เกินปริมาณ การดื่มที่อาจก่อให้เกิดความเดือดร้อนต่อตัวผู้ดื่ม ก่อภาระแก่ผู้อื่น

แม้เราจะกล่าวได้ว่า “นี่ร่างกายของฉัน ฉันจะดื่ม ก็เป็นเรื่องของฉัน” แต่ถ้าดื่มจนเมาไม่ได้สติ แน่นอนว่า ต้องมีใครบางคนที่เดือดร้อนจากตัวผู้ดื่มอยู่ดี ตั้งแต่ความเดือดร้อนเล็กน้อย เช่น ผู้ดื่มอาเจียนรดอ่างล้างมือส่งกลิ่นรบกวน จนถึงความเดือดร้อนถึงแก่ชีวิต เช่น อุบัติเหตุจากการเมาแล้วขับ เป็นต้น

คงจะเป็นเรื่องไม่ยุติธรรมนัก หากตอนดื่มเหล้า ผู้ดื่มบอกว่าเป็นเรื่องของฉัน แต่เมื่อเกิดความเสียหาย กลับเป็นผู้อื่นที่ต้องมาร่วมรับเคราะห์กรรม เป็นผู้อื่นที่ต้องเสียชีวิตจากอุบัติเหตุเมาแล้วครับเป็นพนักงานที่ต้องมาทำความสะอาดอ่างเลอะอาเจียน เป็นครอบครัวหรือรัฐที่ต้องเสียค่าใช้จ่ายในการบำบัดการติดแอลกฮอล์

สุราเป็นเครื่องมือที่มีทั้งประโยชน์และโทษ ไม่ต่างจากเครื่องมืออื่นๆ ที่ผู้ใช้ต้องรับผิดชอบและรู้วิธีใช้งาน เช่น เดียวกับมีดหรือปืน ที่ผู้ใช้ต้องเก็บให้พ้นมือเด็ก เช่นเดียวกับรถยนต์ ซึ่งผู้ใช้ต้องขับด้วยความระมัดระวังไม่ให้เฉี่ยวชนผู้อื่น

ผู้ดื่มสุราก็เช่นกัน ที่ควรจะมีความรับผิดชอบไม่ต่างจากการมีมีด ปืน หรือรถยนต์ในครอบครอง

คงไม่ยุติธรรม หากตอนดื่มบอกว่าเป็นเรื่องของฉัน แต่เมื่อเกิดความเสียหาย ผู้อื่นต้องมารับเคราะห์

“การดื่มอย่างมีความรับผิดชอบ” ย่อมแสดงให้เห็นถึงวุฒิภาวะของผู้ดื่มสุรา ว่าสามารถดูแลความปลอดภัยของตนเองและดูแลความปลอดภัยของสังคมในคราวเดียวกันได้ รูปธรรมของการดื่มอย่างมีความรับผิดชอบ คือดื่มในปริมาณที่ไม่มากเกินไป ดื่มในสถานที่ที่สอดคล้องเหมาะสมกับการดื่ม การดื่มที่ไม่ต้องรบกวนให้ใครมาทำหน้าที่ “เก็บศพ”

ขณะเดียวกัน สังคมอาจช่วยสนับสนุนการดื่มอย่างมีความรับผิดชอบได้ด้วย เช่น การไม่ขายสุราให้ผู้ที่มีอายุต่ำกว่า 20 ปี การไม่จำหน่ายสุราให้ผู้ที่มีอาการเมามายจนครองสติไม่ได้ การตักเตือนผู้ที่มีแนวโน้มดื่มสุราเกินขนาด การให้ความรู้เกี่ยวกับปริมาณการดื่มแอลกฮอล์ที่เหมาะสม เป็นต้น

นอกเหนือจากการรณรงค์ในเชิงห้ามปราม เช่น งดเหล้าเข้าพรรษา ห้ามจำหน่ายเครื่องดื่มที่มีแอลกฮอล์ในสถานที่หรือเวลาที่กำหนด ผมเชื่อว่ามิติอีกด้านที่ควรสนับสนุน คือการส่งเสริมวุฒิภาวะของผู้บริโภคเครื่องดื่มที่มีแอลกฮอล์ เพราะไม่เพียงแต่จะช่วยลดความเสียหายจากการการดื่มสุราเกินขนาดเท่านั้น แต่ยังช่วยบ่มเพาะสำนึกแห่งความเป็นพลเมือง สำนึกสาธารณะ หรือสำนึกรับผิดชอบต่อสังคม

ใช่หรือไม่ว่า สำนึกเหล่านี้เป็นสิ่งที่สังคมไทยต้องการมาโดยตลอด


ภาพประกอบ

เอกภพ สิทธิวรรณธนะ

ผู้เขียน: เอกภพ สิทธิวรรณธนะ

Backstage writer, Urban sketcher