เติมเต็มได้ เมื่อว่างก่อน

ชัยยศ จิรพฤกษ์ภิญโญ 9 ตุลาคม 2016

ทุกครั้งที่เราเคลื่อนไหวไปข้างหน้า หากเราสังเกตตนเองให้ดีจะพบว่า เพื่อที่จะก้าวไปข้างหน้า เราจำเป็นที่จะต้องปล่อยจังหวะเท้าข้างหลัง และส่งแรงไปข้างหน้า หรือหากเราถีบจักรยาน เราก็ต้องปล่อยจังหวะหลัง เพื่อไปจังหวะข้างหน้า  ในการเติบโต ร่างกายสร้างเซลล์ใหม่เพื่อทดแทนเซลล์เก่าที่ค่อยๆ เสื่อมและตายไป  เช่นเดียวกับการเติบโตทางด้านจิตใจ และการงอกงามของสติปัญญา เราจำเป็นที่จะต้องปล่อยวางสิ่งเดิมๆ ที่ยึดกุม เพื่อสามารถน้อมรับสิ่งใหม่ๆ ที่จะเข้ามาแทนที่

มานิจ (นามสมมุติ) วัยรุ่นอายุ ๑๕ ปี สภาพครอบครัวที่ความสัมพันธ์ของพ่อแม่ไม่ค่อยดีนัก รวมกับความเป็นคนเจ้าอารมณ์ ทำให้มานิจพบว่าแต่ละวันเต็มไปด้วยเรื่องราวที่สร้างความไม่พอใจ อึดอัด  หลายคนรอบตัวมานิจมองว่าเขามีภาวะซึมเศร้า แต่ดูเหมือนทางเลือกที่จะไปพบจิตแพทย์และต้องรับยารักษาทางจิต ก็มีแต่ยิ่งสร้างความอึดอัดทางใจให้กับมานิจ  รอบตัวมานิจมีแต่ความอึดอัดคับข้องใจ ผลกระทบต่อความสัมพันธ์ในครอบครัวและหมู่เพื่อน จึงมีแต่ความเครียดและความกดดันจากปฏิกิริยาความไม่พอใจที่เกิดขึ้น

เวลาที่เราพบพานเรื่องราวที่ไม่ชวนยินดี เรื่องราวที่สร้างผลกระทบเชิงลบ เช่น ความไม่พอใจ อึดอัด เศร้า ผิดหวัง ฯลฯ หากเปรียบเทียบจิตใจของเราเป็นภาชนะ ภาชนะใบนี้ก็จะเต็มไปด้วยปฏิกิริยาในรูปของความรู้สึกเชิงลบต่างๆ โดยที่ความคิด มุมมอง และความคาดหวังที่มาตอกย้ำปฏิกิริยาเชิงลบ ก็อาจมีแรงผลักในรูปของแรงจูงใจที่จะตอบโต้ ตามความคิดความเชื่อของปฏิกิริยาที่ขังอยู่ในภาชนะ ซึ่งคือ ตัวเรา  ปฏิกิริยาตอบโต้ที่คุกรุ่นในภาชนะหรือตัวเรา ค่อยๆ ก่อตัวสะสมพลังให้รุนแรงขึ้น จนบังคับให้เราต้องตอบโต้ตามปฏิกิริยา และแท้จริงการตอบโต้ก็อาจไม่ได้ทำให้เกิดการแก้ไข มันสามารถสร้างปัญหาอื่นต่อไปได้

ความไม่ชอบใจในสิ่งรอบตัว ความอึดอัดใจ บวกกับอาการป่วย ทำให้มานิจตัดสินใจลาออกจากโรงเรียน แม้พ่อแม่ไม่เห็นด้วยนัก  มานิจพบภายหลังว่า แม้ตนไม่ต้องอึดอัดกับสภาพที่โรงเรียน แต่ก็พบเสียงตำหนิในใจว่า “คนขี้แพ้” ที่ดังรบกวนในใจบ่อยๆ  จากปัญหาหนึ่ง มานิจก็พบว่าตนเองต้องมาพบกับปัญหาใหม่

เรื่องราวของมานิจ อาจคล้ายคลึงกับเรื่องราวชีวิตของหลายๆ คน แตกต่างกันไปบ้างตามรายละเอียดเฉพาะบุคคล  สิ่งที่สะท้อนความจริงของคนเราคือ ตราบที่เรายังติดขังอยู่กับการยึดกุมอะไรบางอย่าง ติดขังกับความคิด ความเชื่อ ยึดถือหน่วงเหนี่ยวอะไรบางอย่าง เราก็จะไม่สามารถขับเคลื่อนตนเอง ไม่สามารถสร้างการเปลี่ยนแปลงอะไรต่อไปได้  เพราะการยึดติด กอดกุม หน่วงเหนี่ยวอะไรไว้ ทำให้เราไม่สามารถรับอะไรได้ใหม่

จะเนื่องด้วยอะไรก็ตาม มานิจมีความเชื่อที่ยึดกุมโดยรู้ตัวหรือไม่รู้ตัวก็ตามว่า อารมณ์ของตนคือ สิ่งที่ “ใช่” และเป็นสิ่งที่ต้องตอบสนอง  ความไม่ชอบใจในสิ่งรอบตัว ทำให้มานิจไม่ยอมรับกับสิ่งรอบตัวที่ตนอึดอัดคับข้อง และยิ่งเมื่อมานิจมีปฏิกิริยาไม่ยอมรับกับความไมชอบใจมากเท่าใด อารมณ์อึดอัดก็ยิ่งดำรงอยู่และสร้างความอึดอัดให้กับมานิจมากขึ้น อารมณ์อึดอัดถูกหล่อเลี้ยงจากการไม่ยอมรับและเฝ้าขุ่นเคืองของมานิจเอง

มันคือการหนีจากปัญหาหนึ่ง เพื่อมาพบกับปัญหาใหม่

ในส่วนลึกความปรารถนาของมานิจคือ ความสงบสุข  พร้อมๆ กับที่มานิจก็ต้องการอาหารใจที่จะมาเต็มเติมความปรารถนาส่วนลึก ทั้งการเป็นที่รัก การมีความหมาย การยอมรับ ความมั่นคง ฯลฯ  แต่เพื่อจะได้อาหารใจเหล่านี้ วิถีทางคือ การเรียนรู้  มานิจจำเป็นต้องเรียนรู้ว่าอารมณ์โกรธ ไม่พอใจ ไม่ชอบใจ คือสิ่งที่มานิจเป็นเจ้าของ ซึ่งเป็นความรับผิดชอบของมานิจเองที่ต้องดูแล ไม่ใช่ใครหรือสิ่งใดอื่นจะมีหน้าที่มาทำให้มานิจชอบใจ

บทเรียนสำคัญนี้ คืองานชิ้นสำคัญ  มานิจจะเรียนรู้บทเรียนนี้ได้ ก็ต่อเมื่อมานิจเปลี่ยนความเชื่อที่ถืออารมณ์เป็นสิ่งที่ “ใช่” หรือถืออารมณ์เป็นเจ้านายที่เราต้องรับใช้ เพราะแท้จริงเราต่างหากที่เป็นเจ้าของอารมณ์ ดังนั้นเราจึงเลือกได้ที่จะรับมือและตอบสนองกับอารมณ์ ในฐานะที่เราเป็นเจ้าของอารมณ์นั้น  สิ่งยากลำบากที่มานิจต้องเผชิญคือ การอดทนต่อสิ่งไม่ชอบใจ การเรียนรู้ที่จะยอมรับกับสิ่งที่ไม่ชอบ  จะอดทนได้ จะเรียนรู้ได้ มานิจก็ต้องการได้รับการบำรุงหล่อเลี้ยงอาหารใจ เพื่อเห็นคุณค่าและมีความสามารถที่จะอดทนและเรียนรู้

ผลลัพธ์ของการผ่านบทเรียนนี้คือ มานิจจะเป็นมิตรกับตนเองมากขึ้น  และเมื่อเป็นมิตร พลังของการยอมรับตนเองก็จะช่วยให้มานิจสามารถเป็นภาชนะเปิดรับสิ่งใหม่ๆ ที่จะเข้ามาสร้างการเติบโตให้ตนเองได้  และหลักการ “การเลือกเผชิญความยากลำบากก่อน เพื่อสิ่งตอบแทนที่พึงปรารถนาภายหลัง” ก็เป็นรากฐานชีวิตที่สำคัญของเราทุกคน ไม่แต่เฉพาะมานิจ

สิ่งสำคัญที่พึงระลึกคือ การเรียนรู้เพื่อจะเติบโต เพื่อก้าวสู่การมีวุฒิภาวะสมวัยทั้งกายและใจ สิ่งเหล่านี้เป็นกระบวนการ ไม่ใช่สิ่งสำเร็จ ไม่ใช่เทคนิคขั้นตอน  การเติบโตต้องอาศัยปัจจัยหลัก เช่น การรับผิดชอบในตนเอง การลองผิดลองถูก การเรียนรู้สรุปบทเรียนของตนเอง  และปัจจัยสนับสนุน เช่น การช่วยเหลือสนับสนุน รวมถึงอาหารใจจากตัวอย่างชีวิตและการกระทำของพ่อแม่ คนใกล้ตัว และเจ้าตัวเอง  และหลักการ “ความรับผิดชอบอารมณ์ในฐานะเราเป็นเจ้าของอารมณ์” ก็ต้องอาศัยการเรียนรู้ที่จะดูแลอารมณ์ความรู้สึกของตนเอง

การทำงานเพื่อเข้าใจตนเองและเข้าใจความรู้สึกของตนเอง เป็นวินัยของชีวิตที่เราพึงรักษาและใช้เพื่อเกื้อกูลชีวิต สิ่งเหล่านี้ต้องลงทุนด้วยเวลา ด้วยบทเรียนชีวิต ด้วยทรัพยากรชีวิต  ข่าวดีคือ เรื่องราวความทุกข์เช่นนี้ ได้มีการสังเคราะห์เป็นองค์ความรู้ที่เราไม่จำเป็นต้องเริ่มต้นใหม่ทุกอย่าง  ข่าวร้ายคือ เราจำเป็นต้องลงมือเรียนรู้ ฝึกฝนปฏิบัติด้วยตนเอง ไม่ใช่ด้วยการคิดหรือการเข้าใจในองค์ความรู้เท่านั้น  เพราะถึงที่สุด จิตใจที่ยังดิ้นรน อึดอัด คับข้อง ไม่ยอมรับต่อสิ่งที่เกิดขึ้น คือผลสอบที่เกิดขึ้น และนั่นหมายถึงการที่เราต้องผ่านด่านพันธกิจนี้ต่อไป

ชีวิตของพวกเราหลายคนดำเนินอยู่ เพื่อผ่านด่านพันธกิจการเรียนรู้ที่จะยอมรับตนเอง ยอมรับอดีต และยอมรับความจริง เพื่อเราสามารถก้าวต่อไปได้


ภาพประกอบ

ชัยยศ จิรพฤกษ์ภิญโญ

ผู้เขียน: ชัยยศ จิรพฤกษ์ภิญโญ

นอกเหนือจากบทบาทนักเขียนประจำคอลัมน์ งานสำคัญ คือ กระบวนกร นักจิตปรึกษา, enneagram coach สนใจและรักที่จะทำงานด้านการทำงานเพื่อสร้างการเปลี่ยนแปลงกับโลกภายในผ่านทักษะ ประสบการณ์เรียนรู้ทั้งงานอบรม การทำจิตปรึกษา และงานเขียน