เผชิญวิกฤติชีวิต ยามเมื่อทุกข์รุมเร้า

ชัยยศ จิรพฤกษ์ภิญโญ 24 พฤศจิกายน 2006

สาคร (นามสมมุติ) เธอเป็นคนสมัยใหม่ ใช้ชีวิตอิสระ อายุกำลังเข้าสู่วัยเลข ๔ ในไม่กี่ปีข้างหน้า มีผู้ชายหลายคนที่เธอคบหา แต่ดูเหมือนว่าความลงตัวคงหลงลืมเธอไป  เธอกำลังมีปัญหากับเพื่อนร่วมงานที่ร่วมกันมาหลายปี เธอรู้สึกเครียด ไม่สบายใจมากกับความสัมพันธ์ที่เธอไม่สามารถหาความลงตัวระหว่างผลประโยชน์กับมิตรภาพ  เธอเชื่อและรู้สึกว่าตนทำงานหนักและมากกว่าคนอื่นในกลุ่มเพื่อนร่วมงานด้วยกัน แต่เมื่อมีการเปลี่ยนระบบการจัดสรรค่าตอบแทนที่ทำให้เธอรู้สึกว่าไม่ยุติธรรม และใช้มติของกลุ่มบังคับให้เธอต้องยอมรับตามข้อตกลงนี้  เธอคิดว่าเธอมีสิทธิเรียกร้อง แต่ความถือตัว ความรู้สึกผิดหวัง และเสียใจกับเพื่อนร่วมงานก็ทำให้เธอไม่อยากเผชิญหน้าหรือปะทะสังสรรค์เรื่องนี้กับเพื่อนร่วมงาน  แต่ขณะเดียวกันความรู้สึกในใจว่าเธอถูกเอาเปรียบ และไม่ได้รับความยุติธรรมก็รุมเร้า เฆี่ยนตีเธอเสมอ

เธอจะหาทางออกให้กับตัวเองอย่างไรดี  ความรู้สึกลึกๆ ซึ่งเป็นกลไกป้องกันตนเองในทางจิตวิทยากระซิบบอกเธอว่า “ถอนตัวซะ” “หนีไปให้ไกล อย่าไปยุ่งกับพวกเขา”  เธออยากจะทำตามเสียงกระซิบนั้นเหลือเกิน  แต่สติและปัญญาส่งสัญญาณเตือนเธอว่า มันอาจไม่ใช่ทางออกที่ดีนัก พวกเขาคงมีเหตุผลบางอย่างที่ตัวเธออาจเห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วยก็ได้  เธอเลือกอดทนและนิ่งเงียบกับภาวะลำบากใจเช่นนี้  เธออาจหลงลืม ตกหล่นหรือมองข้ามอะไรไปบางอย่าง เธอหวังว่าเมื่อจิตใจของเธอสงบลงพอสมควร เธออาจมองเห็น ทำความเข้าใจกับเรื่องนี้ได้ในมิติใหม่ๆ และพบคำตอบหรือทางออกบางอย่างได้

เพราะสาครเป็นบุคคลในชีวิต ทางเลือกเพื่อหาทางออกของเธอจึงไม่สามารถลงเอยแบบในนวนิยายได้ว่า เธอพบทางออกจากการทำความเข้าใจกับเพื่อนได้ในที่สุด หรือมีคนพิเศษเข้ามาเคียงข้าง และช่วยเหลือหาทางคลี่คลายความทุกข์ให้เธอ และมีความสุขในที่สุด  ทางออกที่เข้ามาคือ คุณพ่อของเธอป่วยด้วยโรคร้ายแรง และอาจมีเวลาไม่มากนัก  ความเจ็บป่วยของพ่อคราวนี้จึงหมายถึงสัญญาณเตือนภัยที่บอกเธอว่า เธอกำลังประสบกับการสูญเสีย พลัดพรากจากคนที่เธอเคารพรัก  เธอกำลังต้องเผชิญกับโจทย์ใหม่ในชีวิต ทั้งความทุกข์จากการสูญเสีย ความทุกข์ของพ่อที่กำลังป่วยหนัก ความทุกข์และยากลำบากในการพยาบาลคนไข้และนำพาให้พ่อไปสู่การตายที่ดีและสุขสงบในที่สุด  เธอไม่เคยพยาบาลหรือดูแลคนไข้ป่วยหนักมาก่อน มันดูน่ากลัวเวลาที่คนไข้ คนที่เรารักกำลังทุกข์ทรมาน

ไม่ถนัด ไม่บ่อย และไม่รู้อะไรเลยกับการอยู่ตรงนี้ กับความขัดแย้งที่อาจนำไปสู่การแตกหัก กับการปลอบประโลมให้ใครคลายความทุกข์โศก  แต่ความเชื่อมั่นลึกๆ ของเธอก็บอกเธอว่า เธอจะพบคำตอบของมันเองในที่สุด  สิ่งสำคัญคือ การจัดการให้ดีที่สุดในแต่ละวันที่เข้ามา เท่าที่สติปัญญาและสำนึกรู้จะนำพาเธอไปได้  เธอเลือกเตือนตนเองว่าสิ่งที่เธอทำ ไม่ใช่เพื่อความถูกต้อง ความสมบูรณ์แบบ ดังนั้นเธออาจผิดพลาดก็ได้  หัวใจของเรื่องคือ เธอจะเรียนรู้กับมัน และก้าวข้ามอะไรบางอย่างในตัวเองอย่างไร

ดูเหมือนความทุกข์ ความเครียดจากเรื่องความขัดแย้งกับเพื่อนร่วมงานจะจางคลายไปทันที เมื่อเธอพบว่าพ่อป่วยด้วยโรคร้ายแรงเช่นนี้  แน่นอนยามที่เธอเผลอคิดนึกขึ้นมา ความคับข้องใจในเพื่อนร่วมงานก็เกิดขึ้น แต่มันก็ทำร้ายเธอไม่ได้มากนัก  ถึงที่สุดเธอพบว่าหัวใจของคำตอบสำคัญคือ การปล่อยวาง  โดยเฉพาะการปล่อยวางกับอคติ ความขุ่นข้อง และกระทำในสิ่งที่ถูกต้อง และเหมาะสม  มันอาจไม่ง่ายอย่างที่คิดนึก แต่ใจของเธอก็รู้สึกว่านี่คือ กุญแจคำตอบ และทำเท่าที่สติปัญญา สามัญสำนึกจะนำพาเธอไป

แล้วจะปล่อยวางอย่างไร  แน่นอนความสัมพันธ์ที่กำลังแตกร้าวต้องการการเยียวยา การปล่อยวางต้องไม่ใช่การเพิกเฉยแล้วทำใจยอมรับแบบนั้น  จะปล่อยวางได้ เราต้องการทำความเข้าใจในเรื่องนั้น  จะทำความเข้าใจสิ่งใดหรือกับใครได้ ทางออกวิธีเดียว คือ การเผชิญหน้ากับความจริง ด้วยการเปิดใจ การรับฟังเหตุผล ความรู้สึกนึกคิดของอีกฝ่าย  บางทีเราอาจพบคำตอบของเรื่องราว พบความเข้าใจ มุมมองใหม่ๆ จากการรับฟัง การปรับความเข้าใจ  แน่นอนเราคงต้องก้าวข้ามตนเอง ลดทอนทิฎฐิในตนเอง  ความถือตัว ความถือดีเป็นอุปสรรคก้าวแรกที่ยิ้มเยาะอยู่  แต่การเรียนรู้ที่จะฝึกฝนความเมตตา ความปรารถนาที่จะเติบโตทางจิตวิญญาณก็เป็นเพื่อนที่ส่งแรงเชียร์อยู่  โดยมีความอดทน อดกลั้นและความกล้าที่จะเผชิญหน้ากับสิ่งที่มาปะทะจากการปฏิสัมพันธ์กับคนอื่น กับความไม่รู้ก็คอยตบบ่าเราอยู่

ธรรมชาติง่ายๆ อย่างหนึ่งของคนเรา คือ รักสุข เกลียดทุกข์  เราหลีกเลี่ยงทุกข์ด้วยการเกาะเกี่ยวสุขราวกับเชื่อว่าเราทำได้ หรือบางทีเราก็สับสนในทุกข์ที่ควรเผชิญหรือหลีกเลี่ยง เพื่อพบสุขที่แท้จริง นั้นคือ ความทุกข์ที่ลดน้อยลง  กล่าวกันว่าสุขภาพจิตที่ดีของคนเรา หาใช่สุขภาพจิตของคนที่มีความสุข แต่คือ สุขภาพจิตของคนที่สามารถเผชิญหน้า อดทน อดกลั้นและอยู่กับความทุกข์นั้นๆ ได้  และสิ่งที่ยอดเยี่ยมยิ่งไปกว่านั้นคือ การที่คนผู้นั้นสามารถเรียนรู้ ยอมรับและปล่อยวางความทุกข์ที่เข้ามารุมเร้าได้โดยไม่สูญเสียสติสัมปชัญญะ  จะทำได้ คนผู้นั้นก็ต้องเรียนรู้ที่จะก้าวข้ามตนเอง ก้าวข้ามอัตตาตนเอง

สุขภาพจิตที่ดี คือ ความสามารถที่จะเผชิญหน้าและอยู่กับความทุกข์ แต่สิ่งที่ยอดเยี่ยมกว่าคือ ความสามารถที่จะยอมรับและปล่อยวางความทุกข์นั้นได้

ในทางจิตวิทยา เราทุกคนมีสิ่งที่เรียกว่า “กลไกป้องกันตนเอง” เช่น การถอนตัว การเก็บกด การเหตุผลอธิบายใหม่ การปฏิเสธ การโยนใส่ การทำให้มึนชา ฯลฯ  กลไกเหล่านี้ช่วยให้เราสามารถรับมือกับความทุกข์ทางจิตใจที่เข้ามา โดยเฉพาะในช่วงที่จิตใจของเรายังไม่พร้อมนัก  กลไกป้องกันตนเองช่วยให้อยู่รอดได้โดยเฉพาะทางด้านจิตใจ แต่หากเราใช้กลไกนี้มากเกินไป ก็ทำให้เราไม่สามารถเผชิญหน้าความทุกข์เพื่อเรียนรู้ เพื่อทำความเข้าใจ และเพื่อยอมรับความจริงจากความทุกข์นั้นได้ในที่สุด  และหากเราไม่สามารถข้ามพ้นสู่ขั้นตอนนี้ การปล่อยวางก็ไม่อาจเกิดขึ้น  การรับรู้ตนเองเพื่อเข้าใจตนเองก็ยังเป็นการรับรู้แบบผิดๆ ว่ามีเราที่ทุกข์ มีเราที่ถูกกระทำ ถูกทำร้าย ไม่อาจไปถึงคำตอบที่แท้จริงว่าการรู้จักและเข้าใจที่แท้จริง คือ การไม่มีอะไร หรือสิ่งใดที่พึงยึดมั่นถือมั่น

ท่านอาจารย์พุทธทาส มักนำพระธรรมบทที่สำคัญพร่ำเตือนตนเองและกล่าวเทศนาบ่อยๆ ในเรื่องนี้ว่า “สัพเพ ธัมมานาลัง อภินิเวสายะ”  ธรรมทั้งหลายทั้งปวงไม่ควรยึดมั่นถือมั่น  สิ่งที่ลึกซึ้งและซ่อนอยู่ในธรรมบทนี้คือ เราไม่ควรยึดมั่นกับความถือตัว ถือดี ถือความสำคัญ ถือตัวตน และเราก็ต้องสามารถปฏิสัมพันธ์กับคนอื่นด้วยการเรียนรู้และเปิดใจรับฟัง เพื่อก้าวสู่ความเข้าใจ อันนำไปสู่การปล่อยวางที่แท้ได้


ภาพประกอบ

ชัยยศ จิรพฤกษ์ภิญโญ

ผู้เขียน: ชัยยศ จิรพฤกษ์ภิญโญ

นอกเหนือจากบทบาทนักเขียนประจำคอลัมน์ งานสำคัญ คือ กระบวนกร นักจิตปรึกษา, enneagram coach สนใจและรักที่จะทำงานด้านการทำงานเพื่อสร้างการเปลี่ยนแปลงกับโลกภายในผ่านทักษะ ประสบการณ์เรียนรู้ทั้งงานอบรม การทำจิตปรึกษา และงานเขียน