เกม..แห่งชีวิต (๑)

ชัยยศ จิรพฤกษ์ภิญโญ 18 ตุลาคม 2009

สมัยเมื่อสักเกือบ ๒๐-๓๐ ปีก่อน เกมออนไลน์หรืออินเทอร์เน็ตยังเป็นของล้ำสมัยมากๆ ของเล่นง่ายๆ ที่ให้ความเพลิดเพลินเป็นกิจกรรมยามว่างของครอบครัวได้ชนิดหนึ่ง ก็คือ เกมงูไต่ถัง เป็นเกมที่เราจะใช้ลูกเต๋าทอยออกแต้ม ผู้เล่นจะผลัดกันเล่นโดยทอยลูกเต๋า แล้วเดิมตามจำนวนแต้มที่ได้ คราวนี้ก็ขึ้นกับโชคชะตาว่าแต้มที่ได้นั้นจะพาเราไปพบอะไร  สิ่งที่พบอาจนำพาให้เราได้เลื่อนขั้นเพื่อไปถึงจุดหมายปลายทางของเกมได้เร็วขึ้น เปรียบเหมือนกับงูที่เลื้อยไต่ขึ้นสูงไป  หรือตรงกันข้าม งูอาจต้องตกบันได เหมือนกับที่เราอาจต้องถอยหลังไปมากหรือน้อยก็แล้วแต่ว่าจะเจออะไร และสัมพันธ์กับสิ่งนั้นอย่างไร

แผ่นกระดาษที่ใช้ในเกม แต่ละช่องจะประกอบเรื่องราวทั้งดีและร้าย ขื้นอยู่กับว่าเราจะพบเจออะไรในนั้น ผู้เขียนยังจำได้ถึงความสนุกสนานยามที่ได้เล่มเกมนี้กับพี่น้องในครอบครัว  กาลเวลาผ่านไป หลายคนคงไม่รู้จักเกมนี้แล้ว แต่เนื้อหาในเกมยังคงเป็นสิ่งที่อยู่กับชีวิตของพวกเราทุกคน  เราต่างล้วนเหมือนงูในเกมที่มีหน้าที่ในการนำพาชีวิตไปข้างหน้า ไปเรื่อยๆ จนกว่าจะหมดลมหายใจ แตกต่างกันตรงที่งูในเกมมีจุดหมายปลายทางที่ชัดเจน  และสิ่งที่กำหนดชะตาชีวิตคือ ลูกเต๋า  สำหรับพวกเราสิ่งที่ยากกว่าคือ ตัวเราเป็นผู้กำหนดเองว่าเราจะไปที่ไหน ไปอย่างไร ภายใต้สภาพแวดล้อม เหตุปัจจัยมากมาย ทั้งที่ส่งเสริมและขัดขวางการกระทำของเรา

ถ้าเปรียบชีวิตเหมือนเกม เกมชีวิตนี้เรามีหน้าที่เล่นให้ดีที่สุด ฉลาดที่สุด  การบรรลุผลเช่นนี้ได้ย่อมหมายถึงเราพึงต้องเข้าใจตัวเราเอง ตัวเราในฐานะยานพาหนะและผู้โดยสาร เปรียบเทียบก็คือ ร่างกายและจิตใจของเรานั่นเอง  สุขภาพกาย จิต และสุขภาพใจของเรามันเป็นอย่างไร  คุณสมบัติเด่น ด้อย คืออะไรและอย่างไร  พร้อมกันนี้หน้าที่สำคัญอีกประการคือ การทำความเข้าใจต่อเกมชีวิตว่า เกมที่เราเล่นอยู่นั้นคืออะไร และวิธีการเล่น เราต้องทำอย่างไรบ้าง  การรู้และเข้าใจเกมชีวิตเหล่านี้ได้ ย่อมหมายถึงการมีความรู้ ความเข้าใจ และทักษะการเรียนรู้และการศึกษา  ยิ่งหากเรามีความเชี่ยวชาญในเกมมากเท่าใด ย่อมหมายถึงโอกาสประสบความสำเร็จมากเท่านั้น เหมือนกับนักกีฬา ศิลปิน ที่ต้องผ่านการฝึกซ้อม การฝึกฝน การสร้างสรรค์มาอย่างหนักหน่วง  ครูบาอาจารย์ทางธรรมะมักย้ำเตือนกับลูกศิษย์เสมอว่า “ทุกสิ่งเกิดจากเหตุ ไม่อะไรเป็นเหตุบังเอิญ”  กล่าวให้ร่วมสมัยก็คือ “ไม่มีอะไรฟลุ๊ค ไม่มีอะไรฟรีๆ ในโลกนี้”

เกมชีวิตที่เราเล่นเป็นเกมที่หลากหลาย แต่ละเกมต่างตอบสนองความต้องการในตัวเราที่แตกต่างกันไป  เกมความรัก เกมผลประโยชน์ เกมความดี-ความชั่ว ฯลฯ  ดังนั้น หน้าที่ของผู้เล่นเกมชีวิตคือ การทำความเข้าใจต่อเกมชีวิตที่เราเล่น  การแยกแยะและแจกแจงเกมชีวิตที่เราเล่นว่ามีอะไรบ้าง จะช่วยให้เราตระหนักรู้ชัดเจนได้ว่า ณ ขณะนี้เราอยู่ ณ จุดใดของเกมชีวิต  การรู้ตำแหน่งของตัวเราในเกมชีวิต ก็คือ การได้หยุดคิด ได้ทบทวน และได้รับรู้ว่าตนเองนั้นเดินทางได้ใกล้ไกลเพียงใด ผ่านพบอะไรบ้าง และจะกำหนดท่าทีของตนเองต่ออนาคตข้างหน้าอย่างไรบ้าง  การเล่มเกมชีวิตจึงเปรียบได้กับเส้นทางชีวิตในแผนภาพที่เริ่มต้นด้วย บทนำ การดำเนินเรื่อง การพุ่งขึ้นสูงสู่สิ่งที่ปรารถนา การประคองรักษา และจบลงด้วยการคลี่คลายหรือเสื่อมสลาย ซึ่งก็สามารถเริ่มต้นใหม่ด้วยบทนำใหม่ได้อีกต่อไป วนเวียนไปได้เรื่อยๆ

หลากหลายเกมชีวิตที่เรากระโจนเข้าไปเล่น ต่างเป็นการเติบโต การเปลี่ยนแปลงได้ทั้งสิ้น  เริ่มต้นที่ ๑) สุขภาพร่างกาย ในฐานะเกมพนันระหว่างการใช้ประโยชน์จากร่างกายเพื่อทำงาน เพื่อหาความเพลิดเพลิน กับการดูแลรักษาสุขภาพ  ๒) เกมชีวิตทางสังคม : เศรษฐกิจ บทบาทหน้าที่ สถานภาพ การแข่งขันเพื่อช่วงชิงบทบาทหน้าที่ ความสำเร็จ ความมั่นคงทางเศรษฐกิจ หรือทางสังคม  ๓) เกมชีวิตทางจิตวิทยา : ความรัก ความสัมพันธ์ สุขภาพจิต อารมณ์ เพื่อตอบสนองความสุข ความต้องการทางจิตใจ อันเนื่องมาจากสัญชาตญาณความเป็นสัตว์สังคมที่ต้องการการยอมรับจากสังคม และความต้องการความสัมพันธ์ใกล้ชิดจากคนพิเศษ  และ ๔) เกมชีวิตทางจิตวิญญาณ  เราต่างล้วนต้องการความเข้าใจในความหมายของชีวิต ความตระหนักรู้ในคุณค่าของการดำรงและมีชีวิต ซึ่งหมายถึงการต้องดิ้นรนและแสวงหาความหมายและคุณค่าในชีวิต

ทุกเกมต่างล้วนอยู่ในตัวเรา พัวพันกับชีวิตเหมือนข่ายใยแมงมุมจนยุ่งเหยิงได้หากเรารีบร้อนและรีบเร่งในการเดินทาง  ดังนั้นก่อนที่จะพิจารณาว่าเราควรก้าวเดินต่อไปอย่างไรในแต่ละเกมชีวิต มาพิจารณาและทบทวนกฎกติกาของการเล่นเกมก่อน  ชีวิตเปรียบเหมือนเกมที่เราถูกบังคับให้เล่น กติกาของเกมหรือกติกาชีวิตที่สำคัญคือ ไม่มีผู้แพ้ ไม่มีผู้ชนะ มีแต่การนึกเปรียบเทียบเอาเอง  กติกาแท้จริงคือ มีแต่การเปลี่ยนแปลง สุข ทุกข์ วนเวียนกันไป  กับการเรียนรู้เพื่อการเปลี่ยนแปลง เพื่อการอยู่ร่วมกับการเปลี่ยนแปลงได้อย่างสันติ

“ทุกสิ่งเกิดจากเหตุ ไม่อะไรเป็นเหตุบังเอิญ” กล่าวให้ร่วมสมัยก็คือ “ไม่มีอะไรฟลุ๊ค ไม่มีอะไรฟรีๆ ในโลกนี้”

สิ่งที่เราต้องประสบในเกมชีวิตมี ๔ ปัจจัยสำคัญคือ ๑) ความทุกข์ในฐานะความเจ็บปวดที่เกิดขึ้น ทุกข์กาย อันเนื่องด้วยโรคภัยไข้เจ็บ การถูกทำร้ายร่างกาย อุบัติเหตุ หรือทุกข์ใจ อันเนื่องด้วยความผิดหวัง เศร้า เสียใจ โกรธ เกลียด กลัว  ๒) สิ่งมหัศจรรย์ในชีวิต ชีวิตดลบันดาลให้เราได้พบสิ่งมหัศจรรย์อยู่เสมอ ซึ่งสามารถปรากฏรูปโฉมต่อตัวเราได้หลากหลายรูปแบบ อาจเป็นคำพูดเตือนสติที่ผ่านเข้ามา การกระทำเล็กๆ ของคนแปลกหน้า คนใกล้ตัว โชคเคราะห์ที่คาดไม่ถึง หรือแม้แต่ตัวความทุกข์นั่นเอง

ปัจจัยสำคัญต่อมา คือ ๓) เทพ เทวดาประจำตัวในฐานะสิ่งศักดิ์สิทธิ์ ทั้งที่อยู่ภายในตัวเรา และอยู่เคียงข้างรอบตัวเรา เช่น คุณธรรม สติปัญญา สัมปชัญญะ คุณความดีในตัวเราและของบุคคลรอบข้าง ความมีน้ำใจของสังคม ชุมชน  และ ๔) อุปสรรค ในฐานะสิ่งถ่วงรั้งขัดขวางชีวิตเราไม่ให้ขับเคลื่อนไปข้างหน้า อุปสรรคที่อยู่ภายในตัวเราก็คือ อุปนิสัยความเคยชิน ความโง่เขลาเบาปัญญา ความรู้เท่าไม่ถึงการณ์ ความถือตัว อวดดี  ขณะที่อุปสรรคภายนอกก็คือ สภาพเศรษฐกิจ วัฒนธรรม สังคม ค่านิยม

กฎกติกาของชีวิต คือ การต้องอยู่ร่วมและเผชิญหน้ากับสิ่งเหล่านี้เพื่อเดินหน้าไปในเส้นทางชีวิตของเกมชีวิตแต่ละแบบ  แต่ละจังหวะของการก้าวเดิน หรือในทุกการตัดสินใจ เราต้องพบกับภาวการณ์มีเสรีภาพในการเลือก หมายถึงเราสามารถมีทางเลือกได้ พร้อมกับการมีความรับผิดชอบในการเลือกหรือตัดสินใจ บางปัญหาก็มีระดับความซับซ้อนมากน้อย แตกต่างกันไป

เข้าใจกฎกติกาและองค์ประกอบเกมชีวิตแล้ว หวังว่าเราทุกท่านจะได้เตรียมพร้อมและเดินหน้ากับเกมชีวิตในก้าวเดินไปต่อไป


ภาพประกอบ

ชัยยศ จิรพฤกษ์ภิญโญ

ผู้เขียน: ชัยยศ จิรพฤกษ์ภิญโญ

นอกเหนือจากบทบาทนักเขียนประจำคอลัมน์ งานสำคัญ คือ กระบวนกร นักจิตปรึกษา, enneagram coach สนใจและรักที่จะทำงานด้านการทำงานเพื่อสร้างการเปลี่ยนแปลงกับโลกภายในผ่านทักษะ ประสบการณ์เรียนรู้ทั้งงานอบรม การทำจิตปรึกษา และงานเขียน