จดหมายเขียนความสุข

สุวีโร ภิกขุ 12 กรกฎาคม 2009

คงจะเคยได้รับและรู้สึกอิ่มอกอิ่มใจมากบ้างน้อยบ้าง เวลาอ่านจดหมายของเพื่อนสนิท ญาติพี่น้อง คนรัก รวมทั้งใครอีกหลายคนที่ทำให้เราสุขใจ กระทั่งเขียนจดหมายตอบกลับยังเต็มไปด้วยความรู้สึกเบิกบานใจ ทั้งๆ ที่แรกเริ่มเดิมทีเราอาจเขียนจดหมายไม่เก่งเลย และไม่รู้ว่าจดหมายฉบับหนึ่งจะต้องเขียนอะไรบ้างในนั้น? เขียนอย่างไร?  เมื่อความรู้สึกด้านบวกมากมายปรากฎขึ้นหลังเปิดอ่านจดหมายตอบกลับครั้งแล้วครั้งเล่า เมื่อนั้นเราจะเข้าใจมันได้เองว่า หากจะเขียนให้เป็นจดหมายแห่งความสุขไม่ว่าฉบับใดก็เขียนได้ไม่ยากเลย เพราะความรู้สึกดีๆ ที่เกิดขึ้นระหว่างอ่านจดหมายฉบับหนึ่งจะส่งทอดสู่ใจเราผู้อ่านขณะลงมือเขียนตอบจดหมายฉบับนั้นกลับไปด้วย

เมื่อย้อนระลึกนึกถึงวิชาที่ได้ร่ำเรียนมาเพื่อการสื่อสารอย่างสัมฤทธิ์ผล เราต้องรู้และเข้าใจสิ่งที่ต้องการจะสื่อออกไปก่อนอื่นใด รู้จักวิธีการสื่อความหมายผ่านตัวแทนสมมติ ที่เรียกกันว่า “ภาษา” ซึ่งแบ่งออกเป็นภาษาพูด ภาษาเขียน ภาษาท่าทาง เป็นต้น  และแน่นอนว่า เราจะต้องมีประเด็นหรือใจความสำคัญในแต่ละหัวข้อเรื่อง  ถ้าจะเขียนบันทึกข้อความเป็นลายลักษณ์อักษรก็คงต้องมีเค้าโครงของการจัดวางลำดับเนื้อหาก่อนหลัง และรู้ว่าเนื้อความที่เราต้องการจะสื่อออกไปคืออะไร  และคงไม่ใช่แค่ว่ามีแต่เรื่องดีๆ เท่านั้นที่สื่อให้รู้กันได้ ถ้าจะหาเรื่องทะเลาะยังต้องให้คู่กรณีรู้ด้วยเลยว่า อีกฝ่ายกำลังจะหาเรื่องแล้ว มันเป็นเรื่องอะไร เป็นยังไง

หลายปีก่อนเคยอ่านข้อเขียนธรรมะเรื่อง Love Letter (จดหมายรัก) ที่เขียนโดยท่านติช นัท ฮันห์ พระมหาเถระชาวเวียดนามที่เคยเดินทางมาเยือนประเทศไทยเมื่อปีกลาย (พ.ศ. ๒๕๕๑) ที่ผ่านมา ถ้อยความในจดหมายรักช่วยเตือนใจเราทุกคน ไม่ว่าชีวิตคู่หรือชีวิตใคร ล้วนสามารถมีความสุขในชีวิตได้ต่อไปตราบนานเท่าที่เรายังคงรู้จักทบทวนพฤติกรรมและรู้เห็นความเปลี่ยนแปลงในอดีตที่เราเป็น เพื่อให้เรารู้ตัวเองและเข้าใจปัจจุบันที่เป็นอยู่  และ Love Letter (จดหมายรัก) ก็คือพยานรักที่บันทึกอดีตของเหตุการณ์ผ่านวันเวลามาเนิ่นนานจนคู่รักต่างก็ลืมเลือนไปว่า ความสัมพันธ์ที่ดีต่อกันอย่างที่ควรจะเป็น มันเป็นเช่นไร?

ท่านติช นัท ฮันห์ เล่าว่า หญิงชาวฝรั่งเศสคนหนึ่งเก็บรักษาจดหมายรักเก่าๆ ของสามีเอาไว้ในกล่องขนมปังกรอบเสมอมา เพราะในจดหมายรักแต่ละฉบับที่สามีเขียนถึงเธอนั้น นอกจากจะบอกเล่าถึงช่วงเวลาอันแสนวิเศษระหว่างสามีภรรยาคู่รักในวัยหนุ่มสาวแล้ว ทุกประโยคทุกถ้อยคำในจดหมายยังหวานซึ้งไพเราะและเต็มไปด้วยความรักความเข้าอกเข้าใจกันอย่างดี  การอ่านได้จดหมายอีกครั้งทำให้อดีตของวันชื่นคืนสุขหวนกลับคืนมาให้เธอระลึกนึกถึง เหมือนผืนดินอันแห้งผากได้รับความสดชื่นขึ้นมาหลังจากฝนโปรยปราย

หลังจากยืนอ่านจดหมายฉบับแรกจบ เธอนำเอาจดหมายในกล่องที่เหลือทั้งหมดมานั่งอ่านต่อฉบับแล้วฉบับเล่า กระทั่งทุกฉบับถูกอ่านจบหมดสิ้น ท่านติช นัท ฮันห์ บอกว่า เมล็ดพันธุ์แห่งความสุขในอดีตยังคงอยู่ที่นั่น อยู่ใต้ความทุกข์ระทมที่เราซ้อนทับมันลงไปชั้นแล้วชั้นเล่า เมื่อเธอได้อ่านจดหมายเก่าที่สามีเขียนมาหาด้วยความรักซึ้งตรึงใจ น้ำฝนที่ปะพรมพื้นผิวจึงค่อยๆ ซึมแทรกผ่านแผ่นชั้นของความทุกข์ที่เธอซ้อนทับเมล็ดพันธุ์แห่งความสุขเอาไว้ เมล็ดพันธุ์เหล่านี้เริ่มได้รับน้ำอีกครั้งหลังจากที่ขาดแคลนมานาน

หญิงชาวฝรั่งเศสผู้นี้ใช้เวลาชั่วโมงครึ่งเพื่ออ่านจดหมายทั้งหมด ๔๖ ฉบับ ความสุขเติบโตขึ้นมาอีกครั้ง หลังจากคืนวันแห่งความทุกข์ที่ทั้งคู่ร่วมกันสร้างขึ้น ทั้งสองไม่รู้จักวิธีรดน้ำใส่เมล็ดพันธุ์แห่งความสุขของกันและกัน ไม่ได้รู้สึกยินดีที่จะมองหน้ากัน ไม่เพลิดเพลินในการพูดคุยกันอีกแล้ว และไม่ได้เขียนจดหมายถึงกันอีกเลย  สิ่งที่ทั้งสองทำเป็นเพียงการฝืนทนอยู่ร่วมกัน ปฏิบัติต่อกันไปตามหน้าที่ภาระจำยอมและปล่อยให้วันเวลาเคลื่อนผ่านไปอย่างสูญเปล่า คงเป็นเพราะที่แล้วๆ มาไม่เคยมีอะไรมาเตือนใจให้ตระหนักถึงการดำเนินชีวิตอย่างไร้สุขเช่นที่ว่านี้เลย

ทว่า ตอนนี้จดหมายบันทึกชีวิตรักในอดีตหวนกลับมาสร้างแรงจูงใจให้แก่ภรรยา เพื่อให้โอกาสสำหรับการเริ่มต้นใหม่ เธอใช้เวลาอีก ๔๕ นาทีเพื่อเขียนจดหมายบอกสามีว่า ช่วงเวลาที่เราสองคนเริ่มมีความสัมพันธ์ต่อกันนั้นทำให้เธอมีความสุขเพียงใด เธอเขียนลงไปว่าปรารถนาให้ปีแห่งความสุขอันทรงคุณค่าเหล่านั้นหวนกลับคืนมาอีกครั้ง และตอนนี้อยากจะเรียกเขาว่า “สุดที่รักของฉัน” ด้วยความสัตย์ซื่อจริงใจอย่างเต็มเปี่ยม “ฉันเป็นคนหนึ่งที่มีหน้าที่ต้องรับผิดชอบในความทุกข์ของเรา เป็นความจริงที่ว่า เราไม่มีความสุขอย่างที่เราทั้งคู่สมควรจะได้รับ ขอให้มาเริ่มต้นพูดคุยกันใหม่ ขอให้ความสงบสันติ ความปรองดองและความสุขเกิดขึ้นจริงอีกครั้ง”

เมื่อสามีเห็นจดหมายบนโต๊ะที่ภรรยาเขียนวางเอาไว้และใช้เวลาอ่านมันอย่างลึกซึ้ง เมล็ดพันธุ์แห่งความสุขในตัวเขาก็ได้รับน้ำด้วยเหมือนกัน จากบันทึกความทรงจำที่เต็มไปด้วยความเข้าใจรักใคร่ในอดีต กลายเป็นความสุขในเวลานี้เดี๋ยวนี้ เมื่อเราอ่านและเห็นสิ่งที่เราเป็น นั่นเป็นจุดเริ่มต้นให้เราหันกลับมามองตัวเองและทำความเข้าใจมัน ไม่ว่าจะเป็นเรื่องดีหรือร้ายที่ผ่านมาล้วนแล้วแต่เป็นบทหนึ่งในบันทึกชีวิตอันน่าอัศจรรย์ใจ และคงจะไม่มีอะไรที่เหมาะสมไปกว่าการได้อ่านชีวิตของเราและประจักษ์ได้ถึงการเปลี่ยนแปลงในตัวเราอีกแล้ว

เมล็ดพันธุ์แห่งความสุขในอดีตยังคงอยู่ที่นั่น อยู่ใต้ความทุกข์ระทมที่เราซ้อนทับมันลงไปชั้นแล้วชั้นเล่า

จดหมายยังคงสืบทอดหน้าที่เป็นสิ่งแทนตัวที่ดี หากเรารู้จักเอากลับมาอ่านทวน และระลึกรู้เข้าใจในสิ่งที่ตัวเรา เพื่อนสนิท คนรัก และผู้คนใกล้ชิดต้องการจะสื่อในตอนนั้น  จดหมายเป็นมากกว่าบันทึกช่วยให้จำได้ เพราะว่าในขณะที่อ่าน เราจะรำลึกความหลังความทรงจำในอดีตทั้งหมดที่ทำให้รู้สึกเจ็บปวดไม่สบายใจ กับที่รู้สึกยินดีเป็นสุขคลุกเคล้ากันไปในบรรยากาศเก่าๆ พฤติกรรมที่เราทำในอดีตซึ่งก็มีที่ดีบ้างไม่ดีบ้าง แต่คงจะดีแน่หากเรารู้จักยอมรับความไม่คงเส้นคงวาของตัวเราเองและให้อภัยทุกคนเกี่ยวข้องกับชีวิตเรา พร้อมกับน้อมรับสิ่งที่จะเกิดขึ้นในชีวิตต่อไปไม่ว่ามันจะดีหรือร้ายก็ตาม

แม้ว่าจะมีการเปลี่ยนแปลงรูปแบบของจดหมายตามเทคโนโลยีอย่างมากมาย แต่ผู้คนก็ยังคงเขียนจดหมายถึงกันเรื่อยมาจวบจนในยุคสมัยนี้ การเขียนจดหมายจะดำรงอยู่ได้ตราบเท่าที่ผู้คนยังใช้ภาษาเป็นและมีประเด็นที่ต้องการจะเขียนถึงผู้อื่น  หากสังเกตดูให้ดี จดหมายได้ทำให้เราเป็นทั้งผู้ส่งและผู้รับหมุนเวียนกันไป ซึ่งก็หมายถึงการเป็นคนเขียนกับคนอ่านสลับกัน ในแต่ละขณะที่เขียนเรายังต้องอ่านทวน แม้อ่านไปแล้วก่อนที่จะตอบก็คงต้องกลับไปอ่านจดหมายอีกครั้งเพื่อให้แน่ใจ  ดังนั้นการอ่านและเขียนจึงเป็นเรื่องเดียวกัน เหมือนๆ กับความสุขที่ใส่ลงไปในจดหมายขณะที่เขียนเป็นตัวอักษรจะยังคงอยู่ไม่ได้หายไปไหน เพราะมันได้ถูกบันทึกเอาไว้และรอคอยผู้รับมาเปิดอ่านอยู่เสมอ


ภาพประกอบ